ชำแหละเบื้องหลังเก็บ‘เบอร์รี่’เคล้าน้ำตา การต่อสู้ของคนงานชาวไทยในฟินแลนด์

จรรยา ยิ้มประเสริฐ 19 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 6258 ครั้ง

วันที่ 10 กันยายน พวกเรา 3 คนได้เดินทางมาเพื่อไปพบคนงานไทยที่อยู่ที่แคมป์ Saarijarvi และพวกเราและเพื่อนๆ นักกิจกรรมในพื้นที่อีกหลายคนที่ตามมาสมทบ ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อสภาพความจริงแห่งการใช้ชีวิตและการทำงานของกลุ่มคนงานภายใต้สถานภาพ “นักท่องเที่ยวจ้างงานตัวเอง” ที่ในความเป็นจริงช่างห่างไกลจากความเป็น “นักท่องเที่ยว” ตามที่ระบุในวีซ่า อย่างมากมายจนน่าตกใจ

แคมป์คนงานที่ Saarijarvi

แคมป์แห่งนี้ เป็นบ้านของคนฟินน์ที่ต้องการหารายได้พิเศษ จึงแบ่งพื้นบ้าน และห้องว่างที่ให้คนไทยไปพัก แต่พื้นที่ที่มีเพียงตัวบ้านและโรงเรียน เก็บของหลังเล็กหนึ่งหลัง ไม่มีศักยภาพพอ ที่จะรองรับคนงานจำนวนถึง 74 คน พวกคนงานจึงต้องอยู่กันอย่างแออัด และบางคนก็ต้องนอนในรถหรือในรถพวง

คนเก็บเบอร์รี่บอกว่า นี่เป็นลักษณะที่พักในแคมป์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ที่พวกเขาต้องเข้าคิวกันใช้ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องอาบน้ำที่มีอย่างละห้องเดียวเท่านั้น กว่าจะได้นอนก็ดึกดื่น และต้องตื่นแต่ตีสามตีสี่ คนงานบางกลุ่มต้องทำอาหารและกินกันในพื้นที่ที่ควรจะเป็นที่นอน กระนั้นบางคนก็ต้องนอนในรถและนอนในรถพ่วง

คนงานนักท่องเที่ยวชาวไทยเหล่านี้ - ทั้งเขาและเธอ - มีหน้าตาซูบซีดและผ่ายผอม ทั้งจากการกินอยู่อย่างอดยาก และจากการไม่ค่อยได้พักผ่อน เพราะต้องเดินทางไกลวันละกว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อหาแหล่งเบอร์รี่ดก และจากการเดินขึ้นเขาลงเขาเก็บเบอร์รี่กันวันละ 13 - 15 ชั่วโมง

คนงานส่วนใหญ่บอกว่านอนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น และไม่มีใครนอนเกินวันละ 5 ชั่วโมงนับตั้งแต่เดินทางมาถึงฟินแลนด์เมื่อวันที่ 29 และ 30 กรกฎาคม 2556

จะส่งกลับ-จะเรียกตำรวจ

วันที่ 10 กันยายน ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน เมื่อตัวแทนบริษัทเดินทางมาแจกแจงตัวเลขคร่าว ๆ ว่า การทำงานทุกวัน ๆ ละ 12 -15 ชั่วโมงของพวกเขา ตลอด 5 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่มีกำไรเลย เมื่อบริษัทบอกว่า ยอดเงินที่บริษัทจะหักออกจากรายได้พวกเขาสูงถึง 2,900 ยูโร และบางคนก็ยังหาเบอร์รี่ไม่พอกับจำนวนเงินที่จะหักนี้ มันก็ได้สร้างความโกลาหลให้กับกลุ่มคนงานไทยกลุ่มนี้อย่างทันที เพราะทุกคนต้องกู้หนี้ยืมสินกันมาคนละกว่าแสนบาท เพื่อจ่ายเป็นเงินค่าดำเนินการให้กับ Ber-Ex และค่าใช้จ่ายเพื่อการทำงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเงินที่กู้หนี้ยืมสินกันมา โดยคนงานกว่าครึ่งกู้เงินจากธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และยังต้องต้องพากันกู้เงินนอกระบบอีกหลายหมื่นบาท จากนายทุนเงินกู้ หรือจากตัวแทนของบริษัท Ber-Ex ที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ถึง ร้อยละ 5 ต่อเดือน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัว - ทั้งซื้ออาหาร ยา และอุปกรณ์การทำงานต่างๆ จากเมืองไทย

เมื่อบริษัทมีท่าทีกดดันมากขึ้น บอกกับเหล่าคนงานว่า “จะส่งกลับ และจะโทรเรียกตำรวจ” ซึ่งก็ทำจริง ๆ ซะด้วยในบ่ายวันนั้น โดยแจ้งให้ตำรวจจะมายึดรถ และไล่ให้คนงานออกจากแคมป์ แต่ตำรวจที่ฟินแลนด์ก็เที่ยงธรรมพอ บอกกับบริษัทว่าไม่สามารถ “บังคับ” ให้คนงานคืนรถและออกจากแคมป์ได้ คนงานต้องทำโดย “ความสมัครใจ”

เมื่อบริษัททำรุนแรงเช่นนี้ มันก็ถึงคราวถึงจุดสิ้นสุดความอดทน คนงาน 50 คน จึงประกาศจะสู้เพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ สู้เพื่อความยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องความเสียหาย และเมื่อได้รับคำชี้แจงข้อกฎหมายจากทนายความ พวกเขาตัดสินใจฟ้องร้องในคดี “ค้ามนุษย์” กับบริษัท Ber-Ex และผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 กันยายน ณ สถานีตำรวจ ที่เมือง Saarijarvi

บริษัท Ber-Ex เรียกตำรวจมาเพื่อให้ยึดรถจากคนงาน และให้ไล่คนงานออกจากที่พัก แต่ตำรวจที่นี่รู้จักเรื่องสิทธิมนุษยชนบอกว่า “ไม่สามารถบังคับได้ คนงานต้องทำโดยความสมัครใจ”

ความเป็นมา

คนงานที่ฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัท Ber-Ex เป็นคนงานไทย 50 คนจากจำนวน 350 กว่าคน ที่ยอมจ่ายเงินค่านายหน้าให้กับบริษัท  Arctic ซึ่งตัวแทนบริษัท Ber-Ex ที่ประเทศไทย คนละ 68,000 บาท ภายใต้แรงจูงใจว่า “ถ้าไม่มีผลไม้บริษัทจะย้ายแคมป์ให้” และ “ปีนี้มีเบอร์รี่เยอะ” “จะมีคน “หาแหล่งเบอร์รี่ให้” และ “บริษัทจะให้เงินล่วงหน้าสัปดาห์ละ 100 ยูโรเพื่อการใช้จ่าย” ฯลฯ ทั้งนี้ คนงานที่มากับบริษัทนี้รับรู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอาหารกินเอง และจ่ายค่ารถและค่าที่พักวันละ 16 ยูโร (640 บาท)

เมื่อรวมระหว่างเงินกู้เพื่อจ่ายค่าดำเนินการและกู้มาเพื่อซื้ออาหาร ยา และอุปกรณ์ทำงาน พวกเขาก็มีหนี้คนละ 100,000 - 130,000 บาทเข้าไปแล้ว

เมื่อมาถึงฟินแลนด์ – สภาพความเป็นอยู่และการทำงาน

แต่เมื่อมาถึงฟินแลนด์ หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทบอกไว้ ทั้งเรื่องที่พักที่แออัด ไม่มีการจัดหาคนหาแหล่งเบอร์รี่ให้ และที่สำคัญไม่ยอมย้ายแคมป์เมื่อไม่มีเบอร์รี่

เรื่องเงินจ่ายล่วงหน้าเพื่อการใช้จ่ายซื้อน้ำมัน อาหารและของจำเป็นที่บอกว่าจะจ่ายสัปดาห์ละ 100 ยูโรต่อสัปดาห์ แต่กลับจ่ายจริงเพียง 70 หรือ 50 ยูโรต่อสัปดาห์ ทำให้เมื่อใช้เงินส่วนใหญ่หมดไปกับค่าน้ำมัน คนงานนักท่องเที่ยว จะเหลือเงินซื้ออาหารกันเพียงวันละหนึ่งยูโร (40 บาท) เท่านั้นเอง ทำให้พวกเขาต้องประทังชีวิตด้วยอาหารที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองไทย ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นมาม่า ข้าวสวย และไข่ไก่

เพียงหนึ่งเดือนผ่านไป ทุกคนมีน้ำหนักลดกันตั้งแต่ 3 - 5 กิโลกรัม

อาหารหลักของคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ถ้าเก็บเห็ดและหาปลาได้ พวกเขาก็จะมีอาหารสุขภาพเสริมเข้ามา

ในจำนวนคนงาน 50 คนที่ต่อสู้ครั้งนี้ คนงาน 45 คน ถูกส่งไปยังแคมป์แรกที่เมือง Juva และอีก 5 คน ถูกส่งไปที่แคมป์แรกที่เมือง Kuhmo แต่หลังจากลงมือเก็บเบอร์รี่ไม่ถึงสัปดาห์ เมื่อบริษัทไม่ยอมให้ย้ายแคมป์ที่ต้้งอยู่ที่เมือง Juva ตามคำขอของคนงาน เมื่อเจอคำพูดว่า “ถ้าไม่เก็บก็จะส่งกลับเมืองไทย” ก็ทำให้คนงานหวาดกลัว และยอมขับรถไกลเพื่อหาแหล่งเบอร์รี่ถึงขนาดที่คนงานเกือบทุกคนต้องนอนค้างอ้างแรมกันในป่าเพราะต้องการประหยัดน้ำมัน (คนงานกลุ่มนี้กว่าครึ่งมีประสบการณ์นอนในป่าที่หนาวเย็น)

คนงานอยู่กับรถทั้งวิ่งหาเบอร์รี่ และใช้นอนอาศัย - นี่คือค่าเช่าวันละ 16 ยูโร (640 บาท)

ราคาเบอร์รี่ปีนี้ก็ต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว บลูเบอร์รี่ที่เคยมีราคา 2 ยูโร/กก. ปีนี้รับซื้อที่ 1.4 ยูโร เมื่อผนวกกับการเก็บบลูเบอร์รี่ได้น้อย (ดูตัวเลขจำนวนบลูเบอร์รี่ที่เก็บในแผนภาพ) เมื่อถึงฤดูลินงอนเบอร์รี่ (คนงานเรียกว่า “หมากแดง”) พวกเขาก็มีความหวังขึ้นมาบ้าง เพราะมีหมากแดงมากในบริเวณที่พวกเขาอยู่ เรื่องการขอย้ายแคมป์จึงกลายเป็นเรื่องการสู้เพื่อขออยู่ทีแคมป์นี้ต่อไป

และแม้ว่าจะไม่มีเบอร์รี่ และต้องเผชิญกับความยุ่งยากและลำบากมากมาย ทั้งยังต้องอยู่กินอย่างอัตคัด “หามนอน ห้ามป่วย ห้ามพัก” คนงานทั้ง 50 คน เก็บเบอร์รี่รวมกันให้บริษัท Ber-Ex ได้ถึงแปดหมื่นกว่าตันในเดือนเดียว แต่จนถึงบัดนี้ ทุกคนก็ยังไม่ได้รับเงินค่าเก็บเบอร์รี่จากบริษัท

สิทธิของทุกคนที่จะเก็บแต่ความเสี่ยงทั้งหมดอยู่กับคนงานไทย

แม้ว่าสิทธิในการเก็บของป่าที่ฟินแลนด์จะเป็น “สิทธิของทุกคนที่จะเก็บได้” ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนฟินน์ และไม่ว่าแม้ว่าจะเป็นพื้นป่ารัฐบาลหรือป่าเอกชนก็ตาม แต่ต้องอยู่นอกอาณาบริเวณบ้านเรือน

แต่คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยต้องพบเจอกันเกือบทุกคน กับการถูกเจ้าถิ่นไล่ออกจากพื้นที่ที่เข้าไป - ซึ่งรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา - ทั้งการใช้ไม้ถือไล่ ขับรถแทรกเตอร์ไล่ตาม ใช้หมาไล่ ยิงปืนขู่เมื่อคนงานผิวปากเรียกหากันในป่า มีคนงานกลุ่มหนึ่งเจอการกระทำที่รุนแรงจากคนท้องถิ่นที่เข้ามาจับถังเบอร์รี่เททิ้ง และจะเข้าไปยึดกระสอบเบอร์รี่เททิ้งอีก ตามมายิดกุญแจรถ และโทรเรียกตำรวจมากันเลยทีเดียว เหตุการณ์นี้ทำเอาคนงานหญิงคนหนึ่งถึงกับผวาเมื่อเห็นรถคนฟินน์หรือตำรวจ

ปัญหาการไล่ออกจากพื้นที่เก็บเบอร์รี่จากคนท้องถิ่น ส่งผลให้การหาแหล่งเบอร์รี่ปีนี้เป็นเรื่องลำบากมากขึ้นจำต้องอยู่ให้ห่างไกลบ้านเรือนผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเดินเข้าป่าไกลขึ้น หรือขึ้นเขาสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลังจากเก็บหมากแดงได้เพียง 10 วัน โดยไม่บอกกล่าว เมื่อคนงาน 45 คนที่ร้องเรียนกลุ่มนี้ เดินทางมาถึงแคมป์ที่พัก Juva ในค่ำวันที่ 5 กันยายน พวกเขาก็ถูกบอกว่าให้เก็บของ พรุ่งนี้จะย้ายแคมป์  แม้จะต่อรองว่าพวกเขาและเธอเพิ่งพบแหล่งเบอร์รี่ดกวันนี้ ขอเวลา 3 วันเก็บให้หมดก่อนได้ไหม บริษัทก็ไม่ยอม พร้อมกับคำขู่ครั้งที่สองว่า “ถ้าไม่ย้ายก็จะส่งกลับเมืองไทย”

บริษัทแยกคนงาน 73 คน ที่เดินทางมาด้วยกัน และอยู่ด้วยกันที่แคมป็ Juva ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยเฉพาะจับแยกหัวหน้าสาย 2 คนพร้อมลูกทีมรวมกันเป็น 8 คน ออกจากกลุ่ม และส่งไปยังแคมป์ที่เมือง Leiksa ที่อยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียเพียง 20 กม. ส่วนคนงานอีก 37 คนถูกย้ายมายังแคมป์ที่เมือง Saarijarvi ที่อยู่ทางตอนกลาง และอีก 28 คนถูกย้ายไปยังเมือง Tohmajarvi

“ถ้าไม่ไปเก็บผลไม้ ก็จะส่งกลับเมืองไทย”

แต่เพียงสัปดาห์แรก เมื่อพวกเขาเอ่ยปากต่อรองให้บริษัทย้ายแคมป์ เพราะในบริเวณที่อยู่ไม่มีบลูเบอร์รี่ และพวกเขาไปเจอแหล่งที่มีเบอร์รี่มากกว่า คนงานก็เจอกับคำขู่ว่า “ถ้าไม่ไปเก็บเบอร์รี่ก็จะส่งกลับบ้าน” ก็ทำให้ความวิตกกังวลเรื่องหนี้สินและการเก็บเบอร์รี่ไมได้เยอะตามหวัง เป็นเรื่องกังวลใหญ่ที่สุดของพวกเขา โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานที่มากันทั้งสามีภรรยา หรือหลายคนในครอบครัว ที่เมื่อคำนวณว่าหนี้สินรวมกันแล้วหลายแสนบาท และอาจจะต้องเสียทั้งบ้านและที่ดินทำกินที่เอาไปจำนองไว้กับนายทุนเงินกู้ที่เมืองไทย

และที่ฟินแลนด์ พวกเขาต้องถูกหักเงินรายได้เป็นค่าเช่าบ้านและค่าเช่ารถอีกวันละ 16 ยูโร (640 บาท) จากบริษัท รวมทั้งเงินที่บริษัทให้จ่ายล่วงหน้าสัปดาห์ละ 50 ยูโรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน การ์ดโทรศัพท์ และอาหาร

แต่เมื่อทั้งสองแคมป์ที่ถูกย้ายไป ไม่มีเบอร์รี่ การโทรปรึกษากันก็เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุด กลุ่มหัวหน้าคนงาน 8 คนที่ถูกย้ายไปยัง Leiksa ที่โทรปรึกษาปัญหากับผู้เขียน ก็ตัดสินใจย้ายมาสมทบกับเพื่อนที่ Saarijarvi เพื่อมาช่วยกันตระเวณหาเบอร์รี่ในบริเวณนี้ แต่มันก็ไม่มีเบอร์รี่

ในความหวาดวิตกเรื่องหนี้สิน การพูดคุยกับบริษัทก็มากขึ้น แต่ท่าทีของบริษัทก็ไม่เป็นมิตรมากขึ้นเรื่อย และกล่าวหาว่าคนงานกลุ่มนี้เป็นคน “ขี้เกียจ” และ “คนมาสร้างปัญหา” คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยทั้ง 50 คนนี้ จึงตัดสินใจดำเนินคดีกับบริษัท

          “พวกเราเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ของบริษัท  Ber-Ex Oy เพื่อกดดันและขัดขวางการใช้สิทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง และการชดเชยค่าเสียหาย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพวกข้าพเจ้ากลับคืนมา ... พวกข้าพเจ้า จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อไปในประเทศฟินแลนด์ เพื่อดำเนินการเรื่องเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศฟินแลนด์”

 

                                    คำประกาศของคนงาน Ber-Ex 50 คน , 13 กันยายน 2556

 

ธุรกิจส่งออกทาสแรงงานยุคใหม่ ปีละ 1,200 ล้านบาท

ปีนี้คาดการณ์กันว่าน่าจะมีคนไทยร่วม 20,000 คน ที่ถูกพามาเก็บเบอร์รี่ ที่ถูกชักจูง ล่อหลอก โดยบริษัทนายหน้าทั้งชาวไทยและชาวฟินน์ และสวีเดน ที่พากันเปิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยคนงานทั้งสองหมื่นคนนี้ส่วนใหญ่กู้เงินจากธกส. มาจ่ายให้บริษัทนายหน้าเพื่อใช้เป็นค่าดำเนินการ (ไม่รวมเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องกู้มาเพิ่มเติมจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ)

การเก็บค่าดำเนินการไปยังสวีเดนในปีนี้สูงถึงคนละ 88,000 บาท ส่วนที่ฟินแลนด์อยู่ที่ระหว่าง 65,000 - 70,000 บาท ในกลุ่มคนงาน 50 คนบอกว่าได้วงเงินกู้ ธกส. คนละ 50,000 บาท ในส่วนที่สวีเดนคาดว่าวงเงินกู้น่าจะอยู่ที่ 60,000 นั่นก็หมายความว่า ฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ปีนี้เกษตรชาวไทยสมาชิก ธกส. ได้ขนเงินกู้เพื่อการเกษตร ซึ่งถ้าลองคิดคร่าว ๆ ในฐานเงินกู้ 50,000 - 60,000 บาท x 20,000 คน ก็จะเป็นตัวเงินถึง 1,000 - 1,200 ล้านบาท เพื่อมาเป็นแรงงานทาสทำงานฟรีอุ้มธุรกิจเบอร์รี่ของประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ (ตัวเลขเงินให้กู้เพื่อเก็บเบอร์รี่จริง คงต้องไปขอข้อมูลจาก ธกส.)

อุตสาหกรรมเบอร์รี่ของทั้งสวีเดนและฟินแลนด์บอกว่า 80 เปอร์เซนต์ ของเบอร์รี่เก็บโดยคนงานไทย และเป็นธุรกิจที่กำไรงามและเติบโตอย่างมาก

คำถามต่อ ธกส. และรัฐบาลไทย คือ จะยังคงอุ้มธุรกิจค้ากำไรงามเช่นนี้ ที่ทำนาบนหลังของคนงานไทยจากภาคอีสานปีละกว่าหมื่นคน ที่เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงและความเสียหายทุกอย่างเช่นนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร?

ปีนี้มีการประท้วงของคนงานเก็บเบอร์รี่ทั้งที่สวีเดนและฟินแลนด์

ขอวิจารณ์ท่าทีสถานทูต

คำถามของสถานทูตต่อผู้เขียนและกลุ่มคนงานกลุ่มนี้ในทำนองว่า ไม่ห่วงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ และโอกาสงานของคนงาน 4,000 คน หรอกหรือ?

ก็อยากจะตอบว่า ที่สู้กันขนาดนี้ก็เพราะห่วงนี่ล่ะ ถึงต้องพูด ถึงต้องสู้ แต่รัฐบาลไทยทำอะไรบ้างนอกจากพยายามสร้างความเชื่อมั่นกับนายทุนที่นี่ว่าจะไม่ปิดช่องทางการค้าทาสแรงงานยุคใหม่?

และในระหว่างคุยโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่สถานทูตในช่วงเจรจากัน ผู้เขียนได้ถามเจ้าหน้าที่สถานทูต (หญิง) ถึงสามครั้งว่า คุณรู้สึกสะเทือนใจบ้างไหมกับสิ่งที่คนงานไทยกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ตอบในนามข้าราชการไม่ได้ก็ตอบในนามส่วนตัวก็ได้ เธอตอบทั้งสามครั้งว่า "ตอบไม่ได้"

เจ้าหน้าที่หญิงคนนี้ มากับคณะเยี่ยมคนงาน 50 คนเช่นกัน และก็เรียกคนงานชายคนหนึ่งที่อายุน่าจะมากกว่าเธอว่า "ลูก"

ซึ่งผู้เขียนต้องท้วงว่า คนที่คุณเรียกว่า "ลูก" น่ะ อายุเป็นพี่ชายคุณได้แล้ว

ในวันที่ 13 กย. คณะเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย 3 คน เดินทางมาพบคนงาน พร้อมนำมาม่า 10 ลัง ไข่ไก่ 100 ฟอง และข้าวสาร 20 กก. มาฝากคนงาน ผู้เขียนแซวคณะทูตไปว่า คนงานกินมาม่ากันมาทั้งเดือนแล้ว สถานทูตไทยยังจะให้เขากินมาม่ากันต่ออีกหรือ?

คณะทูตบอกกับผู้เขียนว่า ตัวท่านทูตไทยที่ฟินแลนด์ ได้เดินทางขึ้นไปคุยกับบริษัทเบอร์รี่ที่เขตภาคเหนือของประเทศฟินแลนด์ (ไม่ยอมเดินทางมาเยี่ยมคนงานที่ประท้วงด้วยตัวเอง)  ขึ้นไปพบเจ้าของบริษัทเบอร์รี่เพื่ออะไรหรือฮะท่าน?

เพื่อจะบอกว่า จะจัดการกับคนงานที่พวกเขาเรียกว่าเป็นพวก "ขี้เกียจและหัวรุนแรง" 50 คนนี้ ให้สงบปากสงบคำ และเพื่อจะบอกว่าการเปิดปากพูดของพวกเขา จะไม่กระทบกับการเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่นี่ขนคน ที่คนงานกลุ่มนี้เรียกว่า "ทาส" ปีละ 4,000 คน มาให้นักธุรกิจเบอร์รี่ฟินแลนด์ต่อไปหรือเปล่า?

ก็เพราะท่าทีและทัศนคติของทั้งสถานทูตไทยที่นี่และของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของไทยและที่เกี่ยวข้องเป็นเช่นนี้ ปัญหาเรื่องนี้มันจึงคาราคาซังมาหลายปี

ขอสรุปภาพรวมที่ได้จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยทางโทรศัพท์ในวันที่ 12 กันยายน และ ในระหว่างที่มาเยี่ยมคนงานในวันที่ 13 กันยายนว่า สถานทูตพูดด้วยท่าทีแบบ “ทำไมคนงานไม่เก็บเบอร์รี่” “ก็บริษัทเขาโกรธเรานี่” และ “จะกลับเมืองไทยกันเมื่อไร” และเมื่อคนงานบอกว่ากำลังดำเนินเรื่องเอาผิดกับบริษัทในข้อหา "ค้ามนุษย์” เจ้าหน้าที่สถานทูตพยายามถามคนงานตลอดว่า “คิดดีแล้วหรือยัง” “ครอบครัวทางเมืองไทยจะว่าอย่างไรบ้าง” “ไม่ห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงานเก็บเบอร์รี่ 4,000 คน หรือ?” สิ่งที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่สถานทูตท่านนี้ บอกกับพวกเราอยู่ที่ฟินแลนด์มา 3 ปี  “ได้รับการร้องเรียนจากคนงานเก็บเบอร์รี่ทุกปี ซึ่งสถานทูตก็บอกให้คนงานอดทนเก็บจะได้คุ้มทุน”

นี่คือเหตุผลว่าคนงานกลุ่มนี้เลือกที่จะขอความช่วยเหลือกับกลุ่มและองค์กรที่ฟินแลนด์ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของฟินแลนด์ มากกว่าขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทย

จำเป็นต้องสู้

การดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่เป็นชาย 42 คน และหญิง 8 คน นำมาทั้งความรู้สึกฮึกเหิมที่เห็นพลังความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวของทุกคน แต่เรื่องราวชีวิตของทุกคนก็หนักหน่วงและน่าห่วงใย

สาเหตุที่พวกเขาสู้ครั้งนี้ ก็เพราะครอบครัว ในจำนวนคนงานเก็บเบอร์รี่ 50 คนนี้ มีคนงานกว่าครึ่ง ที่พากันเดินทางมากันเป็นครอบครัวตั้งแต่ครอบครัว 2 คนผัวเมีย จนถึงครอบครัว 3 คน และมากที่สุดคือครอบครัว 6 คน - ทั้งในฐานะ สามีและภรรยา พ่อลูกชายและลูกสะใภ้ พี่ชายกับน้องชาย - ที่ยอมเอาโฉนดทั้งหมดที่ครอบครัวมีทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัยมาค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ให้กับบริษัท Ber-Ex ด้วยความหวังว่าจะนำเงินก้อนโตกลับไปเมืองไทย

ครึ่งหนึ่งของคนงาน 50 คนเคยเป็นคนงานที่ประสบความสำเร็จจากการเก็บเบอร์รี่มาแล้วหลายปี ที่สวีเดน และฟินแลนด์ แต่พวกเขาหลายคนมีปัญหาในช่วงปลายฤดูที่สวีเดนในปีที่ผ่านมาเมื่อบริษัทไม่ยอมจ่ายเงิน จนต้องไปตามเงินคืนที่เมืองไทยกันสองเดือนกว่าจะได้ พวกเขาจึงลองมาที่ฟินแลนด์ในปีนี้

อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนใหม่ที่เป็นญาติพี่น้องและคนรู้จักกันที่ชวนกันมาเก็บในปีนี้เป็นปีแรก

คนงานเก็บเบอร์รี่ชุดนี้หลายคนใช้ชีวิตหลายปีในการเป็นคนงานไทยในต่างแดน ทั้งสิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และสวีเดน ฯลฯ พวกเขาเป็นคนมีฝีมือและทักษะหลากหลายที่คิดว่าจะนำรายได้ก้อนโตจากช่วงเวลาทำงานเพียง 2 เดือนกลับไปใช้หนี้และดูแลครอบครัว

ด้วยความบีบคั้นทางหนี้สินที่กู้ยืมมา และคนแรกที่จะเจอที่บ้านคือนายหน้าเงินกู้ที่มาเฝ้ารอเงินอยู่ที่บ้านของพวกเขา คนงานหลายคนบอกกลับบ้านไม่ได้ กลับไปจะอยู่กันยังไง จะหาเงินที่ไหนไปไถ่ถอนจำนองที่บ้านและที่ทำกิน โดยเฉพาะเมื่อบริษัทบอกว่าพวกเขาไม่มีเงินเหลือเลย และรายได้ทั้งหมดที่ได้ บริษัทนายหน้าที่เดินทางมาจัดการเรื่องการเงินถึงที่ฟินแลนด์ จะทำการหักรายได้เบอร์รี่อันน้อยนิดของพวกเขา เพื่อใช้หนี้ของพวกเขาให้กับ ธกส. และนายทุนเงินกู้เอกชนเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนงานทุกคนไม่อาจยอมได้

การยืนหยัดต่อสู้ “ไม่ได้เงิน กลับบ้านไม่ได้”

ขณะนี้คนงานทุกคนได้รับการดูแลจากสมาคมคนว่างงานที่ฟินแลนด์ และกลุ่มคนไทยที่ฟิ่นแลนด์ที่นำอาหารและสิ่งของที่จำเป็นมามอบให้ และตอนนี้ก็เริ่มกระบวนการทำน้ำเบอร์รี่เพื่อขายระดมทุนสู้

พวกเขามีทนายความที่เก่งกาจและมีชื่อเสียงในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิคนงานต่างชาติรับทำคดีให้ มีทีมเยาวชนคนหนุ่มสาวฟินแลนด์จากเครือข่ายเยาวชนซ้ายแห่งประเทศฟินแลนด์ ให้การช่วยเหลือทั้งการจัดกิจกรรม จัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูล

สื่อกระแสหลักทุกช่องของฟินแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ เดินทางมาสัมภาษณ์และลงข่าวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทก็ให้ข่าวรายวันกับสื่อเหล่านี้เช่นกัน

แม้ว่าความกดดันจะมากมาย แต่ด้วยพลังสนับสนุนมากมายจากนักกิจกรรมและสาธารณชนที่ฟินแลนด์ กลุ่มคนงานทั้ง 50 คน ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ถ้าไม่ได้เงินก็กลับบ้านไม่ได้” และ “จะสู้จนถึงที่สุด”

50 คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่แคมป์ Saarijarvi

คำประกาศของคนงาน Ber-Ex 50 คน

                                                                                                13 กันยายน 2556

 

พวกข้าพเข้าทั้งหมด 50 คน ขอยืนยันจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

วันนี้พวกข้าพเจ้าได้รับทราบว่าบริษัท Ber-Ex Oy ได้เปลี่ยนตั๋วเครื่องบินของพวกข้าพเจ้าจากวันที่ 2 และ 4 ตุลาคม 2556 มาเป็นวันที่ 14 กันยายน 2556 ทั้งที่พวกข้าพเจ้า ได้ยืนยันกับบริษัท Ber-Ex Oy และสถานทูตไทยว่าจะกลับประเทศไทยวันที่ 2 และ 4 ตุลาคม 2556 ตามกำหนดการเดิม

พวกเราเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ของบริษัท  Ber-Ex Oy เพื่อกดดันและขัดขวางการใช้สิทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง และการชดเชยค่าเสียหาย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพวกข้าพเจ้ากลับคืนมา

ด้วยเหตุนี้ พวกข้าพเจ้า จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อไปในประเทศฟินแลนด์เพื่อดำเนินการเรื่องเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศฟินแลนด์

จึงลงรายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

 

 

The 2009 Blueberry Fiasco in Sweden from OH Production House on Vimeo.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: