วอนนายกฯถกผู้นำลาว หยุดสร้างเขื่อนดอนสะโฮง

19 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1793 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีข้อเสนอการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนกั้นน้ำโขงแห่งที่สองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ระบุว่า นับตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศสปป. ลาว อันมีประเทศไทยเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ในฐานะผู้สร้างและผู้ซื้อไฟฟ้า ประชาชนไทยชาวลุ่มน้ำโขง ได้เพียรพยายามร้องขอให้ท่าน ในฐานะผู้นำประเทศ ได้ทบทวนการตัดสินใจเร่งสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และการเจรจาทวิภาคีที่ประชาชนไม่รับรู้ แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ และเรียกร้องแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ที่จะทำให้วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขงในระดับภูมิภาคกว่า 60 ล้านคน ที่พึ่งพิงสายน้ำแห่งนี้ล่มจมลง แต่ดูเหมือนว่า เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ จากท่านในฐานะผู้นำประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตย โดยปล่อยให้ประชาชนของ ฯพณฯ เผชิญชะตากรรมและโดดเดี่ยวในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดนที่พวกเราได้รับแล้ว จากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ซึ่งอยู่ห่างพวกเรากว่า 1,500 กิโลเมตร ดังมีรายละเอียดในรายงานการวิจัยที่แนบมายัง ฯพณฯ ในวันนี้ นับเป็นปีที่สองที่เราได้พยายามมอบข้อมูลเหล่านี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพยายามนำเสนอข้อกังวลของพวกเราอย่างตรงไปตรงมา ในทุกช่องทางที่เราทำได้

จดหมายระบุต่อว่า ในโอกาสที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีของสปป.ลาว มาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้ท่านตระหนักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค มีโอกาสจะเป็นไปในแง่ลบและการสร้างความเสียหายต่อกันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปัญหาเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้รับการแก้ไข  และหากการแสดงความเห็นต่อปัญหานี้ยังถูกปิดกั้น รวมถึงการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี เราขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ในฐานะผู้นำประเทศ ได้เร่งทำความเข้าใจและดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่กั้นลำน้ำโขง โดยขอเรียกร้องให้ดำเนินการใด ๆ เพื่อยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ และทำการศึกษาผลกระทบร่วมกันโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเรา ภาคประชาชนไทย พร้อมที่เปิดเวทีสาธารณะร่วมกับ ฯพณฯ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้เงื่อนไขที่พวกเราได้มีโอกาสแสดงออกและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นข้อเสนอการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนกั้นน้ำโขง แห่งที่สอง ในสปป. ลาว รายงานว่า จากการที่สปป.ลาวประกาศเกี่ยวกับความตั้งใจ ที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮงใกล้ชายแดนลาว/กัมพูชาในพื้นที่ “สีพันดอน” อันเป็น“พื้นที่เอกลักษณ์ทางด้านนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นพิภพขนาดเล็กที่มีความสำคัญต่อแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งหมด” ตามที่กองเลขาธิการแม่น้ำโขงให้คำนิยามไว้ ตั้งแต่ปี 2537 รวมทั้งได้กล่าวด้วยว่า“พื้นที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในธรรมชาติ และจักต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ทั้งหมดจากการพัฒนาทั้งหลาย” นั้น อีกครั้งหนึ่ง สปป. ลาวกำลังละเมิดการปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี พ.ศ.2538 ในการตระหนักถึงความสำคัญ ของการปรึกษาหารืออย่างถี่ถ้วนในโครงการใด ๆ ที่ประสงค์จะสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการแทรกแซง เพื่อระงับเขื่อนดอนสะโฮงนี้โดยเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากหากสปป. ลาวยังคงดำเนินการตามแผน ที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในเดือนหน้า ตามที่ประกาศไว้ พื้นที่”สีพันดอน”และลุ่มแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้ เขื่อนจะสร้างพนังกั้นลำน้ำตรงช่อง “ฮูสะโฮง”บริเวณซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านประมงมองว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เลวร้ายที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อน เนื่องจากเป็นจุดที่มีความหนาแน่นสูงสุด ของการอพยพย้ายถิ่นของปลาในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก นั่นหมายถึงว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงต่อการประมง วิถีชีวิต วัฒนธรรม น้ำและความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงโภชนาการของประชากรหลายแสนหรือหลายล้านคน ในลาวและประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ไทย และเวียดนาม หากมีการสร้างเขื่อนดังกล่าว ความพยายามในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนก็จะถูกทำลาย เพราะเขื่อนดอนสะโฮง ไม่สอดคล้องกับการทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายข้อที่ 1 เพื่อกำจัดความหิวโหยและความยากจน และเป้าหมายข้อที่ 7 เพื่อประกันความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาคจะถูกขยายกลายเป็นความตึงเครียดซึ่งเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

ไม่มีเทคโนโลยีใดที่พิสูจน์ได้ว่า ผลกระทบจากเขื่อนดอนสะโฮง ต่อการประมงในแม่น้ำโขง จะสามารถบรรเทาลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชัดเจนว่า ทางเดียวที่จะช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบเหล่านี้ก็คือการปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) จึงเรียกร้องให้ ฯพณฯ เข้าแทรกแซงโดยด่วนที่สุด โดยการเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนดอนสะโฮงเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำโขง

กระบวนการขั้นตอนก่อนที่เขื่อนไซยะบุรีจะเริ่มต้นทำการสร้าง เป็นไปโดยที่ประชาชนไทยริมแม่น้ำโขงไม่ได้รับรู้และไม่เห็นด้วย กระบวนการปรึกษาหารือในประเทศไทยของกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงระดับชาติของไทย ไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งในเรื่องของความโปร่งใส และประสิทธิผลในการรับฟังความเห็นของประชาชน จากความล้มเหลวและความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี หากสปป. ลาวยังคงเร่งดำเนินแผนการในการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ก็จะเป็นการซ้ำรอยการสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถยอมรับได้

การที่ทางสปป.ลาว เลือกการ “แจ้งให้ทราบล่วงหน้า” แทนการ “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” กับประเทศอื่น ๆ ในแม่น้ำโขง ในเรื่องเขื่อนดอนสะโอง แสดงให้เห็นถึงการละเมิดหลักการ ที่เป็นหัวใจของการอยู่ร่วมกันของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังอนุญาตอย่างโจ่งแจ้ง ให้บริษัทเอกชนเข้าดำเนินการสร้างความเสียหายให้กับประชาชนหลายล้านคน ซึ่งพึ่งพาแม่น้ำโขง โดยไม่สนใจปัญหาการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันในอนาคต หรือผลกระทบต่อการไหลของน้ำและปัญหาข้ามพรมแดนอื่น ๆ ทั้งนี้ กระบวนการภายใต้การร่วมมือกันในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังคงล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการเจรจาถึงปัญหานี้

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเคารพสิ่งที่เป็นจิตสำนึกหลักของข้อตกลงแม่น้ำโขงปี พ.ศ.2538 ในเรื่องการใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยุติธรรมและยั่งยืน กระบวนการขั้นตอน การพิจารณาทั้งหลายที่เกี่ยวกับเขื่อนดอนสะโฮงและเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักจะต้องระงับไว้ก่อน และอย่างทันที จนกว่าจะมีเวทีเพื่อทบทวน ชี้แจง และแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้การตัดสินใจในระดับภูมิภาค ในเรื่องการจัดการแม่น้ำโขงเป็นไปอย่างเข้มแข็ง และอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม และการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงของกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน การศึกษาข้ามพรมแดน รวมทั้งการศึกษาซึ่งได้รับการยอมรับแล้วจากกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง และการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ที่กำลังมีการทำอยู่โดยฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งของภาคประชาชน ของโครงการทั้งหมดบนแม่น้ำโขงสายหลัก ต้องถูกนำมาใช้ข้อมูลในการเจรจากันอย่างแท้จริง

ถึงเวลาแล้ว ที่ความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับแม่น้ำโขง จะต้องมีประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงผู้ซึ่งพึ่งพาแม่น้ำ จะต้องมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซึ่งจะส่งผลต่อชุมชน ประเทศ และภูมิภาคของตน พวกเรามีความเชื่ออย่างชัดเจนว่า การปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระคือความยั่งยืนที่แท้จริง และเป็นผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งลุ่มน้ำและทั้งโลก

ไม่มีแม่น้ำสายไหนในโลกนี้เหมาะสำหรับสร้างเขื่อนอีกต่อไป และสิทธิในการปกป้องทรัพยากรและแม่น้ำเป็นสิทธิพื้นฐานของคนท้องถิ่นที่ต้องได้รับการยอมรับ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พวกเราได้ทำงานเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงอันยิ่งใหญ่ และหาทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าและการจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงร่วมกัน

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: