ทีดีอาร์ไอแนะโมเดลใหม่พัฒนาประเทศ ปฏิรูปการศึกษา-การคลัง-ลดเหลื่อมล้ำ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 19 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2544 ครั้ง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเกิดขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการพัฒนาที่วางอยู่บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเหลือเฟือ ในตอนนั้นขยายภาคเกษตรกรรมของไทยออกไป ต่อมาจึงเริ่มเคลื่อนสู่ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยอาศัยค่าแรงงานราคาถูกเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถดึงกำลังคนจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และผลักดันการเติบโตของประเทศได้ค่อนข้างดี

แต่เมื่อทอดเวลาออกไป รูปแบบการพัฒนาที่อาศัยความได้เปรียบด้านค่าแรงงานต่ำกำลังถึงทางตัน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยทวีสูงขึ้น จนบ่อนเซาะความมั่นคงของสังคมโดยรวม กำลังซื้อของคนในประเทศไม่สูงพอที่จะค้ำจุนระบบเศรษฐกิจ หมายความว่า หากรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ ขายทรัพยากร ขายแรงงานราคาถูก โดยไม่มีการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) อนาคต อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะไม่สามารถรองรับความเปราะบางทางสังคมที่ตามมาได้

ดังที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องขายปัญญา ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มกำลังซื้อภายใน พร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนา

ไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง-เหลื่อมล้ำสูง

เริ่มเป็นที่รับรู้มากขึ้นว่า ประเทศไทยกำลังติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ที่คอยสกัดกั้นไม่ให้ยกระดับสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากปัญหาที่สะสมจากแนวทางการพัฒนาในอดีต ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาขยายตัวช้ากว่าในอดีตมาก แสดงให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันผลประโยชน์ของการขยายตัวก็ตกแก่คนไทยน้อยลงด้วย

ในทางกลับกัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยกลับสูงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก พร้อมกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาความสกปรกอันเกิดจากระบบการผลิต

             “การพัฒนาที่ลงตัวมักเกิดในประเทศที่เริ่มด้วยความเหลื่อมล้ำที่ต่ำ ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่ต่ำอาจมาจากปัจจัยภายนอกหรือภายใน เช่น นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน บวกกับการศึกษาที่ไปด้วยกันกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น อีกทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับความสกปรกเสมอไป ไต้หวันหรือญี่ปุ่นก็เป็นตัวแทนความสำเร็จ ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผมจึงคิดว่าเรามีทางเลือก ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่เป็นมาในอดีต”

โมเดลใหม่การพัฒนาต้องปฏิรูปการศึกษา-พัฒนาทักษะแรงงาน-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

แต่จากการพัฒนาที่มุ่งเน้นเชิงปริมาณเป็นหลัก และไม่มีการออกแบบกลไกเชิงสถาบันที่ดีพอ ทำให้การจัดอันดับประเทศในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาของไทยลดต่ำลงตลอด ทั้งในระดับภาพรวม สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาค นวัตกรรม และสถาบันของรัฐ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเคลื่อนไปสู่รูปแบบการพัฒนาใหม่ได้ คือการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกทาง ต่อเนื่อง เมื่อดูจากผลสอบนักเรียนไทยในทุกวิชาของปิซา หรือการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) และโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) พบว่า ผลสอบของนักเรียนไทยค่อนข้างต่ำ และจะต้องลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาให้ได้

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ การขาดทักษะของแรงงานไทย จากการสำรวจของธนาคารโลกพบว่า ในสายตานักลงทุนต่างชาติ แรงงานไทยขาดแคลนทักษะด้านภาษาอังกฤษ เทคโนโลยี การคำนวณ การสร้างสรรค์ และความเป็นผู้นำมากที่สุด ซึ่งก็สะท้อนกลับไปยังปัญหาในระบบการศึกษา ที่ไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา และเสริมทักษะแรงงานให้เหมาะกับเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ดร.นณริฏยังกล่าวอีกว่า สังคมไทยจะต้องดำเนินการอีก 3 ประการไปพร้อม ๆ กันคือ หนึ่ง-การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ และศึกษาทางเลือกโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทย

           “ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน โครงสร้างเศรษฐกิจจะกระจุกตัวในภาคบริการ และมีการเพิ่มมูลค่าในภาคนี้สูง ในกรณีเกาหลีใต้มูลค่าเพิ่มจะอยู่ในภาคการผลิตที่มีบริษัทอย่างซัมซุง แอลจี ที่เป็นบริษัทระดับโลก และใช้เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไปสู่ระดับโลก แต่ประเทศที่ติดอยู่ในกับดักประเทศปานกลาง มีจุดร่วมประการหนึ่งคือ แหล่งรายได้มาจากหลายภาคเศรษฐกิจหรือมีลักษณะกระจาย ซึ่งถ้าประเทศไทยจะเลือกเส้นทางนี้ก็มีความเสี่ยงว่า เราอาจจะติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ดร.นณริฏ

งบวิจัยและพัฒนาไทยต่ำ ต้องปรับกลไกเร่งวิจัยและพัฒนา

การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานับเป็นสิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง เมื่อดูจากสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตในผลัตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพีของไทย พบว่า สูงถึงร้อยละ 35.6 ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันตก ทั้งยังสามารถกระจายสินค้าได้หลากหลายและมีการส่งออกไปยังหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยอ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก น้อยกว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไม่กี่รายการ หรือพึ่งพาตลาดส่งออกไม่กี่ประเทศ แต่เบื้องหลังตัวเลขความสำเร็จนี้กลับพบว่า ผลิตภาพของไทยยังต่ำ มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมจำกัด และมีความเป็นไปได้ที่อัตราการเจริญเติบโตจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต

ทว่า การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในไทย กลับมีอุปสรรคหลายประการ อุปสรรคข้อหนึ่งคือประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่ำ กล่าวได้ว่าต่ำกว่าบราซิลซึ่งเป็นประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียอีก ที่น่าสังเกตคือการที่งบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่ำ ไม่ได้เกิดจากการไม่มีเงินลงทุน เพราะหลายประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำกว่าไทย ก็มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงกว่า

           “เรามีเงินแต่เราใส่ใจไม่เพียงพอ และเราต้องเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน แต่ภาคเอกชนของไทยลงทุนในด้านนี้น้อยเกินไป บุคลากรก็มีน้อย” ดร.นณริฏ กล่าว

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า กิจการทุกระดับกล่าวถึงปัญหานี้ตรงกันว่า มีบุคลากรด้านการวิจัยไม่เพียงพอ เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ และเป็นข้าราชการ มีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่อยู่ในภาคเอกชน ทั้งยังถูกภาคบริการแย่งตัวไปด้วยค่าจ้างที่สูงกว่า กฎหมายก็ขัดขวางการจ้างบุคลากรต่างด้าว และประการสุดท้าย คือการขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีทักษะสูง

           “การแก้ปัญหาประการแรกคือ ต้องทำให้การยืมตัวจากภาครัฐไปเอกชนมีความสะดวกขึ้น เพราะภาครัฐเป็นแหล่งที่มีบุคลากรมากที่สุด ผ่อนปรนเงื่อนไขการจ้างแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เปิดเสรีเพื่อสร้างการแข่งขันในภาคบริการ และปฏิรูประบบอาชีวศึกษา” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ส่วนปัญหาอื่นๆ คือ มาตรการจูงใจด้านภาษีก็ไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ การขาดประสิทธิภาพของระบบวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวม การขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย ปัญหามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ตามไม่ทันการพัฒนาเทคโนโลยี และปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี เนื่องจากขาดความโปร่งใสและไม่มีมิติการพัฒนาเทคโนโลยี

ดร.สมเกียรติยกตัวอย่างข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาการลงทุนวิจัยและพัฒนา เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือ บีโอไอ (Board of Investment: BOI) ควรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการออกแบบเชิงเทคโนโลยีในทุกสาขา การปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น

ปฏิรูปการคลัง ลดความเหลื่อมล้ำ เลิกแจกเงินผิดที่ผิดทาง

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชัยย้ำว่า การเพิ่มผลิตภาพอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าและทั่วถึงขึ้น โดย ดร.สมชัยเลือกที่จะพูดในประเด็นบทบาทด้านการคลังในการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากนโยบายการคลังของรัฐบาล มีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน-เก็บภาษีจากใคร กระจายให้ใคร และอย่างไร ซึ่งในประเทศแทบยุโรปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า นโยบายการคลังมีความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำมาก

          “แต่นโยบายการคลังของไทยไม่ทำหน้าที่ตรงนี้ และเราเป็นประเทศเดียวที่มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหลังจากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาแล้ว ทั้งเรายังคงเก็บภาษีจากคนจนมากกว่าคนรวยอยู่”

นอกจากนโยบายการคลังของไทยจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้นแล้ว วิธีการใช้จ่ายก็ค่อนข้างมีปัญหาในมุมมองของ ดร.สมชัย

“เราไม่อยากช่วยคนจนจริงหรือ ผมคิดว่าเรามีมายาคติเรื่องคนจนพอสมควร เราอยากช่วยคนจน คนด้อยโอกาส แต่เรารู้หรือไม่ว่าคนจนอยู่ที่ไหน คนจนเป็นใคร คนจนไม่ได้กระจุกในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่มีความหลากหลาย มายาคติข้อหนึ่งคือ เชื่อว่าชาวนาทุกคนเป็นคนจน แต่มีตัวเลขยืนยันว่ามีคนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เป็นเกษตรกรและเป็นคนยากจน ถ้าเราคิดว่านโยบายใดที่ช่วยชาวนาหรือช่วยเกษตรกรคือนโยบายที่ช่วยคนยากจน ถือเป็นการคิดที่ผิดที่ตั้งอยู่บนอคติและมายาคติ นโยบายจำนำข้าวก็มีที่มาจากมายาคตินี้ ดังนั้นการยกระดับราคาข้าวจะเป็นนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ นี่คือความเชื่อ” ดร.สมชัย กล่าว

ดร.สมชัยกล่าวต่อว่า หากประเมินว่า นโยบายใช้จำนำข้าวปีหนึ่งประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้จะตกถึงมือชาวนาที่ยากจนจริง ๆ ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 8.5 หมื่นล้านบาทกลับตกอยู่ในมือชาวนาที่รวย โรงสี ผู้ส่งออกบางราย นักการเมือง ข้าราชการ และชาวนาต่างประเทศ แต่เนื่องจากเราเชื่อว่านโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ช่วยคนจน ทั้งที่เงินประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาทสามารถจัดสวัสดิการสังคมเพื่อคนจนทุกคนในประเทศได้ สิ่งนี้เผยให้เห็นว่า เหตุใดรูปแบบนโยบายทางการคลังของไทยจึงไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นหากจะลดความเหลื่อมล้ำแล้ว จำเป็นต้องปฏิรูปการคลังโดยการปฏิรูประบบภาษี ใช้งบประมาณอย่างถูกวิธีและถูกกลุ่มเป้าหมาย โดยคำนึงถึงค่าเสียโอกาสของความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการ ให้ครอบคลุมผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึง

ดร.สมชัยกล่าวในช่วงท้ายว่า การขับเคลื่อนโมเดลใหม่การพัฒนามีแนวทางการขับเคลื่อน 3 ประการคือต้องสร้างภาวะความเป็นผู้นำในการพัฒนา ซึ่งมิได้หมายถึงภาครัฐเท่านั้น แต่กินความถึงภาคธุรกิจ เอกชน รวมถึงเอ็นจีโอ ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธการพัฒนาแบบร่วมกันได้ประโยชน์ และต้องประสานแนวร่วมภาคีการพัฒนา

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก TDRI

อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: