‘หมอประเวศ’แนะฝ่าวิกฤต ต้องปฏิรูป8เรื่องแก้ขัดแย้ง

19 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1137 ครั้ง

ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เขียนบทความเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย 8 เรื่อง” โดยเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปและการสร้างพลังพลเมืองที่เข้มแข็งควบคู่กันโดยมีเนื้อหาดังนี้ ขณะนี้มีความตื่นตัวเรื่องปฏิรูปประเทศไทยกันอยู่ทั่วไป คงจะมองการปฏิรูปด้วยทัศนะต่าง ๆ กัน ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน สำหรับผมเอง การปฏิรูปประเทศไทยเป็นเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจทางการเมือง เพราะอำนาจที่ปราศจากเนื้อหา ก็ยังไม่สามารถสร้างศานติสุขได้ ดังที่เรามีการต่อสู้ทางการเมืองกันตลอดมาตั้งแต่ 2475 และมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับแล้ว หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่พลังประชาชนโค่นมาร์กอสลงได้และยกคอราซอนอาคีโน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และอาคีโนก็เป็นคนดีแต่ก็แก้ปัญหาพื้นฐานของฟิลิปปินส์คือความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมไม่ได้

หรือในแอฟริกาใต้ที่ผ่านการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ภายใต้การนำของเนลสันแมนเดลา สามารถปลดแอกจากคนขาวที่เข้ามาปกครองอย่างกดขี่ได้ ซึ่งก็สำคัญมาก ขณะนี้ก็ยังเผชิญปัญหาความยากจน ปัญหาสังคม โรคเอดส์ ความรุนแรง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเขมรแดงที่ฆ่ากันตายเป็นล้านคน เดี๋ยวนี้ก็ยังแก้ปัญหาพื้นฐานคือความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมไม่ได้ หรือแม้ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และอังกฤษก็กลับเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆและว่าต้องการการปฏิรูปก็ยังไม่รู้จะปฏิรูปอย่างไร เพราะประชาธิปไตยก็มาจนสุดซอยแล้ว

ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล คนไทยควรร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอันจะนำไปสู่ศานติสุขได้อย่างแท้จริง

ประเทศไทยติดอยู่ในโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมมาช้านาน การปฏิรูปจึงควรปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ การปฏิรูปเป็นเรื่องยากต้องอาศัยพลังพลเมืองที่เข้มแข็ง การปฏิรูปและการสร้างพลังพลเมืองที่เข้มแข็งจึงต้องควบคู่กันไป ข้างล่างนี้เป็นข้อเสนอการปฏิรูป 8 เรื่องแต่ขอให้ถือว่าเป็นการเสนอให้คิดเท่านั้น อย่ายึดถือตายตัว แต่ละกลุ่มแต่ละเครือข่ายสามารถคิดอย่างหลากหลายตามที่กลุ่มคิดว่ามีความสำคัญ ในที่สุดเมื่อสังเคราะห์จากความหลากหลายแล้วน่าจะดีกว่าที่ผมนำเสนอ เรื่องที่ควรปฏิรูป 8 เรื่องนั้นคือ

1.ปฏิรูประบบการปกครอง ถือเป็นสำคัญที่สุด เพราะระบบการปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินและนานเกิน เป็นต้นตอของปัญหาเกือบทุกชนิดในประเทศไทย ทั้งปัญหาความขัดแย้งความรุนแรงทุจริตคอร์รัปชันรัฐล้มเหลว การเมืองรุนแรงและไม่มีคุณภาพ ตลอดจนทำให้ทำรัฐประหารได้ง่าย จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบการปกครอง โดยคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง ที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้

2.ปฏิรูประบบการเมืองและระบบราชการ ระบบรัฐไทย อันประกอบด้วยระบบการเมืองและระบบราชการมีปัญหามาก และถ่วงความเจริญของประเทศเพราะเป็นระบบอำนาจที่มีสติปัญญาน้อย แต่มีความฉ้อฉลคอร์รัปชั่นมาก มีการทุ่มเทขนาดใหญ่เข้ามาใช้ทางการเมือง ทำให้เงินมีอำนาจมาก ความถูกต้องเป็นธรรมน้อยลง และการมีระบบการเมืองครอบงำระบบราชการหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก และความเสื่อมทรามในระบบราชการ ไม่เป็นหลักของประเทศได้ และยิ่งทำให้คอร์รัปชันระบาดและรุนแรงมากขึ้น จึงควรมีการปฏิรูปการเมือง ลดอำนาจเงิน

3.ปฏิรูปการขจัดคอร์รัปชัน คอร์รัปชันที่มากมายมหาศาลบ่อนทำลายเศรษฐกิจ สังคม ชื่อเสียงของประเทศ รวมทั้งบ่อนทำลายรัฐบาลด้วย ขณะนี้สังคมไทยมีอารมณ์ร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันมาก ควรใช้เป็นเรื่องที่จะสร้างพลังพลเมืองและประเด็นนำเข้าไปสู่การทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจที่ไม่ถูกต้อง ความริเริ่มของภาคธุรกิจในการก่อตั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่มีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ควรมีเครือข่ายคนไทยต่อต้านคอร์รัปชั่น อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

4.ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม คนเราที่เกิดมาทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต การมีชีวิตต้องอาศัยธรรมชาติแวดล้อม เช่น มีอากาศหายใจ ในครั้งโบราณคนทุกคนมีสิทธิในที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ เพื่อยังชีวิต ต่อมารัฐได้ยึดเอาทรัพยากรเหล่านี้ไปเป็นของรัฐและสุดแต่รัฐจะจัดใครใช้ไม่ให้ใครใช้ ปรากฏว่ารัฐไม่สามารถจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การขาดความเป็นธรรมเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องมีการปฏิรูป ประเทศไทยมีที่ดินมากพอที่จะจัดสรรให้ทุกครอบครัวมีที่ดิน 2-3 ไร่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีโครงการ “1 ไร่ 1 แสน บาท” ที่ดิน 1 ไร่ ก็สามารถทำได้พอกินทั้งครอบครัว การจัดสรรที่ทำกินจะทำให้หายจนอย่างถาวรทั้งประเทศ ต่างจากโครงการประชานิยมที่แก้จนไม่ได้จริง

5.การปฏิรูประบบความยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นธรรมให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ในระบบความยุติธรรมของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจจับ อัยการส่งฟ้อง ศาลตัดสิน คนจนไม่มีทางเข้าถึงความยุติธรรม มีกรณีชาวไร่ชาวนาถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกจำคุกก็มีด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตัวเอง การไม่ได้รับความยุติธรรมสะสมความแค้นไว้ในสังคม อัยการก็ดี ตำรวจก็ดี ถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองได้ง่าย บางครั้งก็มีปรากฏการณ์เหมือนรัฐตำรวจ ถ้าอำนาจทางการเมืองเข้ามาครอบงำระบบความยุติธรรม ก็จะบิดเบือนไป เพิ่มความขัดแย้งและความรุนแรงให้สังคม ควรมีการปฏิรูประบบความยุติธรรม ซึ่งรวมถึงระบบอัยการและระบบตำรวจด้วย

6.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจโลกมีปัญหาก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน สภาวะโลกร้อนหายนะภัยเพิ่มขึ้น ๆ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมแบบสุดๆ กำลังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ทางการเมืองก็แก้ไขไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะการคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน อะไรที่แยกส่วนจะนำไปสู่วิกฤติเสมอ จึงควรปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจแบบบูรณาการ ที่เชื่อมโยงอยู่กับการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย รูปธรรมคือ เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคให้เชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลกัน

7.ปฏิรูประบบปัญญาของชาติ (การศึกษา-การวิจัย-การสื่อสาร) ประเทศไทยอ่อนแอทางปัญญา เพราะอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์และมีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อย จึงขาดความกระตือรือร้นและการตื่นตัวในการเรียนรู้ ถ้าเทียบกับคนจีนหรือญี่ปุ่น ประกอบกับเป็นสังคมอำนาจที่ชอบใช้อำนาจมากกว่าความรู้ และนำระบบราชการเข้ามาใช้กับระบบการศึกษา ซึ่งไม่ไปด้วยกัน เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของความงอกงาม แต่ระบบราชการเป็นระบบการควบคุม ความอ่อนแอทางปัญญากำลังมีผลกระทบต่อทุกเรื่อง จึงควรมีการปฏิรูประบบปัญญาของชาติ ทั้งเรื่องการเรียนรู้-การวิจัย-การสื่อสาร โดยการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ ทำไม่ได้โดยผ่านระบบราชการตามปกติ

8.ปฏิรูปสังคม-สร้างพลังพลเมือง สังคมไทยมีโครงสร้างแนวดิ่ง (Vertical Society) มาแต่โบราณ คือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง สังคมทางดิ่งจะมีพลังทางสังคมหรือพลังพลเมืองน้อย และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนฉ้อฉล ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไม่ดี และศีลธรรมไม่ดี และจะไม่มีวันดีตราบใดที่พลังพลเมืองยังอ่อนแออยู่ ไม่ว่าจะเขียนกฏกติกาหรือพร่ำสอนเท่าใด ๆ ดังที่เรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และพระก็สอนศีลธรรมทุกวัน ศีลธรรมก็ไม่เกิด พลังทางสังคมเป็นเครื่องหยุดยั้งความไม่ดี

ประเด็นที่จะปฏิรูปล้วนเป็นเรื่องยาก ใช่ว่าเรียกร้องแล้วผู้ถูกเรียกร้องจะทำได้ แต่ต้องมีกระบวนการร่วมกันวิเคราะห์สังเคราะห์นโยบายให้ถึงขั้นปฏิบัติได้ ดังที่กระบวนการสมัชชาสุขภาพและกระบวนการสมัชชาปฏิรูปได้ฝึกให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำนโยบาย

ถ้าทุกภาคส่วนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) ปฏิรูปประเทศไทย จะเกิดสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง คือ ความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) อันยังให้เกิดความสุขและความสำเร็จ คนไทยจะเกิดคุณภาพใหม่ มีสมรรถนะในการจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการและจัดการพัฒนานโยบาย สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในสังคม ขจัดความยากจนและความอยุติธรรม สร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ที่สุด

 

ขอบคุณข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: