คนอุบลฯจี้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียทั้งจากชุมชน-ฟาร์มหมู-ห้างสรรพสินค้า หวั่นน้ำมูลหมดสภาพ

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 20 ส.ค. 2556


ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดอุบลราชธานี สภาเครือข่ายพลเมืองอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จากการสนับสนุนของโครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตย นักวิจัยสถาบันและภาคพลเมือง ร่วมระดมสมองหาทางออกให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองอุบลราชธานี ซึ่งกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เนื่องจากการพัฒนาการลงทุนอย่างไร้ทิศทาง โดยมีการจัดเวทีระดมความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการถามเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะน้ำเน่าเสียในคูคลอง โดย ผศ.ดร.อนุชา เพียรชนะ ประธานสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ทำวิจัยและติดตามการขยายตัวการปล่อยน้ำเสียลงตามแหล่งน้ำคูคลองสาธารณะ ระบุว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านผังเมือง ทำให้ลำน้ำมูลน้อยที่เป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตประปามีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากคือชั้น 4 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ เนื่องจากมีการสะสมแบคทีเรียจากการทิ้งน้ำอุจจาระ ปัสสาวะลงในท่อสาธารณะ ก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำ เมื่อเข้าตรวจสอบตามแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเล็ก รวมทั้งชุมชนพบเป็นตัวปัญหาปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ จึงมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ในน้ำในระดับสูง และเมื่อใช้คลอรีนเป็นตัวฆ่าเชื้อโรคก่อนจ่ายน้ำให้ประชาชนใช้ คลอรีนเมื่อใช้ในปริมาณมากจะเป็นสารก่อมะเร็งในอนาคต

ดร.อนุชากล่าวว่า สำหรับปัญหาของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซึ่งก่อสร้างติดริมลำน้ำมูลน้อย และเดอะบัวโรงแรมที่พักขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างเพิ่มเติม ยังไม่สามารถให้คำตอบเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำมูลน้อยได้ และการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง มีการหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะมีการแบ่งซอยพื้นที่ให้ไม่เข้าขายต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการก่อสร้าง ซึ่งทั้งหมดคือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ทุกฝ่ายต้องระดมมาช่วยกันแก้ปัญหา

ขณะที่ ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งศึกษาด้านผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ขณะนี้ อาศัยช่องว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมของจังหวัด ซึ่งได้สิ้นสุดอายุใช้งานไปเมื่อปี 2554 จึงมีการก่อสร้างไปคนละทิศละทาง บางครั้งการก่อสร้างไปกีดขวางทางน้ำไหลผ่าน บางจุดมีความพยายามถมลำคลองสาธารณะ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายรอบเมืองในเขตต.แจระแม ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาสู้ด้วยตนเอง แกนนำก็ถูกข่มขู่เอาชีวิต ส่วนภาครัฐก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะอ้างแต่ระเบียบกฎหมาย จึงต้องการให้การกำหนดผังเมืองเป็นความต้องการของประชาชน โดยคนอุบลเป็นผู้กำหนดทิศทาง เพื่อใช้แก้ปัญหาการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง ปัจจุบันการใช้ผังเมืองเป็นอำนาจของท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นทั้งเทศบาล อบต.บอกเพียงว่าไม่มีความรู้เข้าไปจัดการ

            “แม้ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม แต่ก็มีพระราชบัญญัติควบคุมการใช้อาคาร ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนกันได้ สำหรับการทำผังเมืองแบบเฉพาะในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยยังไม่มีที่ใดนำมาใช้ เพราะการออกประกาศต้องผ่านการอนุมัติจากสภา หากไม่มีการกำหนดทิศทางการพัฒนา อนาคตจะทำให้จังหวัดประสบปัญหาต่างๆที่เกิดจากการก่อสร้างได้”

ด้านนายวิรุฬห์ ฤกษ์ธนะขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมที่ 12 อุบลราชธานี กล่าวถึงคุณภาพน้ำในลำน้ำมูลน้อยวันนี้พบว่า ต้นน้ำค่าออกซิเจนในน้ำยังมีปริมาณสูง แสดงว่าต้นน้ำไม่ใช้ปัญหาทำให้คุณภาพน้ำต่ำ แต่เมื่อสำรวจตามเส้นทางน้ำไหลมาถึงกลางและปลายน้ำ ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำลงเป็นลำดับ โดยอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระดับ 3-4 ซึ่งถือเป็นค่าน้ำในระดับเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก

ส่วนสาเหตุน้ำเน่าเสียมาจากหลายปัจจัย ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรตามลำน้ำสาขา แล้วปล่อยน้ำลงสู่ลำน้ำมูลน้อย การปล่อยน้ำเสียออกจากอาคารที่พักขนาดใหญ่ ไปถึงบ้านเรือนทั่วไป และการปล่อยน้ำจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ

การแก้ปัญหาได้เสนอให้มีการขุดลอกแม่น้ำมูลน้อยตลอดทั้งสาย เพื่อใช้แก้ปัญหาการไหลของน้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพน้ำในลำน้ำให้สูงขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจควบคุมโดยตรง ต้องพิจารณาการอนุญาตโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีระบบกำจัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำอย่างชัดเจน ไม่ใช่ให้อนุญาตอย่างเดียวแล้วไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ภาคพลเมืองเสนอว่า แม้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของจังหวัด แต่ต้องอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่แต่เดิม พร้อมเรียกร้องให้ภาคราชการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากภาคราชการที่ไม่เอาจริงในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ชาวชุมชนหาดคูเดื่อ ทัพไทย ท่ากกแห่ ที่อยู่ในพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง และเกิดความแตกแยกในชุมชน เพราะมีทั้งฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ตอบแทนแล้วเห็นด้วย และฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฝ่ายไม่เห็นด้วย หากภาครัฐเอาจริงกับกลุ่มทุน จะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับชุมชนต่าง ๆ

สำหรับการจัดเวทีการจัดการตนเองกับปัญหาสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่องSangsook วีเคเบิ้ลทีวี โสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHzอุบลราชธานี เวปไซต์ www.sangsook.net และ App : สื่อสร้างสุข

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: