ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 ระหว่างการบรรยายให้นักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง รุ่นที่ 4 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ดร.ประสารกล่าวว่า ทิศทางค่อนข้างดี โดยสำรวจจาก 4 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก-การบริโภคภาคเอกชนยังมีแรงส่งอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะผลพวงจากโครงการรถคันแรกที่มีผู้ใช้สิทธิ์มากกว่า 1 ล้านคนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคปี 2556 ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บวกกับการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้ครัวเรือนมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
“ถ้าพูดถึงสถานะการอุปโภค บริโภค ของเศรษฐกิจไทยในยามนี้ ต้องถือว่าค่อนข้างร้อนแรง มีหลายปัจจัยที่เพิ่มรายได้ในมือของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท”
การลงทุนขยายตัว ญี่ปุ่นยังไม่ย้ายฐานหนี
ปัจจัยที่ 2 คือการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการลงทุนในปี 2555 มีค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นการซ่อม-สร้างจากปัญหาอุทกภัยปลายปี 2554 แต่ยังพบว่า การลงทุนกลับต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2555 ซึ่งสูงถึง 805 พันล้านบาท แสดงว่านอกจากการซ่อม-สร้างแล้ว ยังมีการขยายตัวของการลงทุนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดิมทีเกรงว่าปัญหาอุทกภัย จะทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุน แต่จากการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างแบงค์ชาติกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พบว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ย้ายฐาน แต่กลับมีแนวโน้มจะลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น อันเนื่องจากความขัดแย้งกับจีนเรื่องหมู่เกาะ
นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศที่กำลังขยายตัวได้ดี ทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน และค่าจ้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (Asean Economic Community : AEC) ในปี 2558 บวกกับนโยบายการลงทุนของภาครัฐ ในโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท
ดร.ประสารกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคและการการลงทุนภาคเอกชน เกิดจากภาคเอกชนซึ่งหมายถึงทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ มีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ตึงตัวต่อเนื่องทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และภาระการเงินที่ผ่อนคลายเอื้อต่อการกู้ยืนและใช้จ่าย
เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ดันส่งออกไทยโต 8-9 เปอร์เซ็นต์
ปัจจัยต่อมาที่จะผลักดันให้ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2556 เติบโตได้ดีคือ การส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้นจากความเสี่ยงที่กรีซจะออกจากกลุ่มยูโรลดลงมาก เนื่องจากการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะคืบหน้าพอสมควร และจากการที่สหรัฐฯ สามารถแก้ปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ได้บางส่วน แต่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการปรับเพดานหนี้และการปรับลดรายจ่าย
“ภาคส่งออกมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลัง ๆ สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจไทยเรียกว่าค่อนข้างดีตรงที่เรามีตัวขับดันหลายตัว ปีที่แล้วการส่งออกไม่ค่อยดี เพราะช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตอนหลังฟื้นตัว โดยเฉพาะรถยนต์ฟื้นตัวเร็วมาก แต่ฝ่ายลูกค้าอย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มีปัญหา ทำให้การส่งออกถูกกระทบ การส่งออกของเราจึงทรง ๆ อัตราการเติบโตไม่ค่อยมี เติบโตเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อติดตามเป็นรายเดือนจะพบว่า มันค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น จนกระทั่งถึงช่วงปลายปีก็อยู่ตัว และคิดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นในครึ่งแรกปีนี้ ส่วนครึ่งหลังของปี การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตัวเลขที่เราพยากรณ์ของแบงค์ชาติยังคล้าย ๆ กับกระทรวงพาณิชย์คือน่าจะโตราว ๆ 8-9 เปอร์เซ็นต์”
เงินเฟ้อไม่น่ากังวล แต่ยังต้องตามดูราคาน้ำมัน
ปัจจัยสุดท้ายคือเงินเฟ้อ โดยรวมยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดจะเร่งขึ้นบ้างจากราคาอาหารสดที่ถีบตัวสูงอยู่บ้าน แต่สถานการณ์ที่ยังต้องติดตามดูคือราคาน้ำมัน
“ราคาน้ำมันมีขยับขึ้นบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะพุ่งขึ้นสูง เพราะเศรษฐกิจโลกตอนนี้เป็นการฟื้นตัวแบบอ่อน ไม่น่าจะมีอุปสงค์ที่รุนแรงจนเกินไป ส่วนอุปสงค์โดยรวมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการอุปโภค บริโภค การลงทุน ภายในประเทศที่ขยายตัว”
การประมาณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแบงค์ชาติในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับ 1.7 เปอร์เซ็นต์ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.8 เปอร์เซ็นต์
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 73 เปอร์เซ็นต์ รายได้ต่ำกว่า 15,000 น่าห่วง
อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติยังมีความท้าทายด้านนโยบายการเงินที่ต้องเฝ้าติดตาม 5 ประเด็นคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะแนวโน้มกลุ่มยูโรและญี่ปุ่น ตลอดจนความคืบหน้าของมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ, ประสิทธิภาพการใช้จ่ายตามแผนการลงทุนของภาครัฐ, ผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ, ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และความเสี่ยงจากการขยายตัวของสินเชื่อ และหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“หนี้ครัวเรือนของเราโตมาตลอด ตั้งแต่ปี 2552 หนี้ครัวเรือนเราอยู่ระดับ 42 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตอนนี้กระโดดมาเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็นตัวที่ต้องจับตามอง แม้ว่าภาพรวมยังไม่ถึงกับน่ากังวลเกินไป แต่เมื่อเอามาซอยเป็นกลุ่มรายได้ต่าง ๆ พบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะมีหนี้สินค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ จำนวนเงินคงไม่เป็นปัญหา แก่ระบบโดยรวม แต่อาจจะเป็นปัญหาทางสังคม เหตุเพราะมีรายได้น้อย แต่มีหนี้มาก ซึ่งขณะนี้เรากำลังติดตามและขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินให้ระมัดระวังเรื่องนี้”
ไทยฐานะการคลังแกร่ง แต่ห่วงอนาคตเมื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
ส่วนประเด็นฐานะการคลัง ดร.ประสารกล่าวว่า ถ้ามองแบบสแน็ปช็อตตอนนี้ถือว่าเข้มแข็งพอสมควร หนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ถ้ารวมแผนการใช้จ่ายในระยะปีสองปีนี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะจะกระโดดขึ้นเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้
แต่ถ้ามองแบบต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงลักษณะของภาระผูกพัน ที่อาจจะมีในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏ ที่ปรากฏในปัจจุบันก็เช่นการค้ำประกันหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อาจต้องชดเชยความเสียหาย ซึ่งถือเป็นภาระผูกพันที่ปรากฏแล้ว แต่ยังไม่ได้ถูกคิดคำนวณเข้าไป ทั้งยังมีส่วนที่ยังไม่ปรากฏ เช่น ภาระการคลังที่ทุกประเทศเจอและประเทศไทยกำลังจะเจอคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประสารมองว่าหากไม่มีการวางแผนรับมือที่ดี เมื่อถึงตอนนั้นฐานะการคลังของประเทศจะหนักเอาการ
เงินบาทแข็งค่าปกติ ไม่น่าแปลกใจ
ส่วนเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าและถือเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ ประสาร อธิบายว่า
“ค่าเงินเป็นสองด้านของเหรียญคือเป็นการเปรียบเทียบสกุลเงินหนึ่งกับสกุลเงินหนึ่ง ถ้าเทียบกับดอลล่าร์ในระยะสั้นๆ เราจะเห็นว่าบาทเราแข็ง แต่หากย้อนกลับไปถึงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นดอลล่าร์เท่ากับ 27 บาท พอต้มยำกุ้งเราปล่อยโดดขึ้นไป 40 กว่าบาท 15 ปีมานี้ ไทยค้าขายเกินดุลบัญชีเดินสะพันตลอด อเมริกาก็ขาดดุลตลอด เวลานี้บาทอยู่ที่ 29 บาทกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากเทียบในระยะเวลาที่ยาวพอ
“เพียงแต่ในสองสามอาทิตย์นี้ บาทแข็งขึ้นเร็วหน่อย เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน คนก็ตกใจ นี่ก็เกี่ยวกับเวลา เพราะปี 2555 เงินบาทแม้จะแข็งกว่าดอลล่าร์ แต่ก็แข็งค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เกาหลีแข็งขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์ เปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่าขึ้นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซียแข็งค่าขึ้นประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เราแข็งขึ้นประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะช่วงแรกของปี 2555 คนยังไม่วางใจประเทศไทยจากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่พอถึงกลางปีจึงเริ่มมั่นใจ บาทก็แข็งค่าขึ้นตามเพื่อนบ้าน”
ย้ำนโยบายการเงินต้องมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แนะแต่ละคนควรรู้บทบาท
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรงและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมทั้งแรงกดดันจากกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้แบงค์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ทำให้บาทแข็งค่าขึ้นและกระทบกับการส่งออก ดร.ประสารกล่าวย้ำถึงความสำคัญของนโยบายการเงินที่เขารับผิดชอบว่า
“นโยบายการเงินและการคลังจะควบคู่กันไป ถ้าการคลังแผ่ว การเงินก็ต้องเข้ามาช่วย แต่ถ้าการคลังกระตุ้นเยอะ นโยบายการเงินก็ต้องคอยระวัง ไม่อย่างนั้นอาจจะผสมโรงกันไปเร็วเกินเหตุ นโยบายการเงินเปรียบเสมือนรากของต้นไม้ทางเศรษฐกิจ นโยบายการคลังมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นโยบายการเงินควรมุ่งการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ต้นไม้นี้จะแข็งแรงถ้าแต่ละคนต่างรู้บทบาท บางคนเข้าใจผิด โดยเฉพาะในเมืองไทยมีความเข้าใจผิดมาก อยากกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปั๊มเงินและลดดอกเบี้ยมาก ๆ พวกนี้ทำแล้วจะไม่ยั่งยืน คล้าย ๆ การโด๊ปยาของนักกีฬา ซึ่งจะไม่ดีในระยะยาว ถ้าในสถานการณ์คับขัน สามารถกระตุ้นได้ แต่ไม่ควรทำตลอดเวลา ถ้าจะทำต้องทำทางอ้อม เช่น สร้างระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และไปช่วยธุรกรรมทางธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่งคือเพิ่มศักยภาพที่จะโตของเศรษฐกิจของประเทศ
“คำถามใหญ่คือ ใครจะทำงานเพื่อคนในอนาคต ใครที่ได้รับเลือกเข้ามาแล้วจะทำเพื่อคนในอีก 20-30 ปีข้างหน้า แทนที่จะทำเฉพาะเรื่องของตัวเอง ใครจะคิดเรื่องแบบนี้ และประชาชนจะเห็นคุณค่า จะให้คะแนนหรือไม่ ว่าสิ่งที่เขาทำ ประชาชนปัจจุบันอาจจะต้องลำบากหน่อย”
ต้องติดตามต่อว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ หรือจะยอมลดดอกเบี้ยตามแรงกดดันของรัฐบาล
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ