มติคณะรัฐมนตรี 18 ธันวาคม 2555 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เดิมทีจัดเก็บในอัตราสูงสุดที่ 37 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งขั้นอัตราการคำนวณเงินได้จาก 5 ขั้นอัตราเป็น 7 ขั้นอัตรา รวมถึงคู่สามี-ภรรยาสามารถแยกยื่นภาษีได้ ซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ ขณะเดียวกัน ในปีนี้ก็มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 23 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย
การปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่รอบนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย แต่ก็ดูเหมือนจะได้รับการทดแทนจากขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ดังที่รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของการปรับโครงสร้างภาษี นอกจากเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีแล้ว การเพิ่มขีดการแข่งขัน, การสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มศักยภาพความยั่งยืนของแหล่งรายได้ของรัฐ
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดการเสวนา Thai Publica Forum ในหัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทยหรือเพื่อใคร?” ขึ้น เพื่อร่วมกันถกเถียงในแง่มุมต่าง ๆ ของเครื่องมือทางภาษีที่มีต่อการพัฒนาประเทศ
นักวิชาการเห็นด้วย ปรับโครงสร้างภาษีเพิ่มขีดแข่งขัน
มุมมองของนักวิชาการอย่าง ดร.สกนธ์ วรัญญวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะว่า การปรับภาษีแต่ละครั้งมุ่งตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551-2552 ที่รัฐบาลในขณะนั้นเลือกภาษีเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในช่วงสั้น ๆ
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การปรับโครงสร้างภาษีมักมุ่งตอบโจทย์ด้านโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการแข่งขัน เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยถือว่ามีโครงสร้างภาษีที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ดร.สกนธ์จึงเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
หวั่นกระทบรายได้รัฐ กดดันหารายได้แหล่งอื่น
“แต่การปรับโครงสร้างภาษีไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม มีเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ผมคิดว่าผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงตลอดเวลาคือ ความเพียงพอของรายได้ การปรับโครงสร้างเป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วย แต่จะเห็นว่าหลังจากปรับโครงสร้างภาษีแล้ว เศรษฐกิจไทยต้องการการปรับตัวสักระยะหนึ่ง เพราะการปรับลดอัตราภาษี จะทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไป แล้วเราก็คาดหวังว่า การจัดเก็บภาษีในช่วงถัดไปของรอบเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐบาลจะกลับมาจากการบริโภค”
ดร.สกนธ์อธิบายว่า เมื่อลดภาษีลงทำให้รายได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น เท่ากับกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจะดึงให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ดร.สกนธ์ตั้งคำถามว่านับจากจุดที่รายได้ภาษีหายไปจากการลดอัตราภาษี จนถึงการที่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มในอนาคตนั้น วงจรตรงนี้ทันกันหรือไม่ เพราะหากไม่สอดคล้องกันก็จะกลายเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องหารายได้จากแหล่งอื่น ๆ มาเสริม
หากดูจากประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ที่มีการปรับโครงสร้างภาษี จะพบว่า ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤตด้านรายได้ แต่เป็นสิ่งที่กระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำกับเชิงนโยบายตลอดเวลา สำหรับกรณีประเทศไทย ประเด็นที่ต้องติดตามคือจะกระทบรายได้ของรัฐบาลในอนาคตหรือไม่
สังคมผู้สูงอายุกระทบภาษีบุคคลธรรมดาในอนาคต
การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ ดร.สกนธ์ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมองในแง่การแข่งขันแล้ว ประเทศไทยมีโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่ไม่จูงใจชาวต่างประเทศให้มาทำงาน อีกเช่นกัน ดร.สกนธ์ ได้ตั้งข้อสังเกตที่ต้องใส่ใจด้วยว่า
“คนไทยที่มีรายได้ที่เป็นกลุ่มแรงงานของเรา มีประมาณ 35-38 ล้านคน แต่คนไทยที่ยื่นแบบเสียภาษีมีประมาณ 10 ล้านคน และที่เสียจริง ๆ มีประมาณ 2 ล้านกว่าคน และในอนาคตเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเพิ่มของแรงงานจะน้อยลง หมายความว่าคนที่เป็นผู้เสียภาษีในอนาคตจะเริ่มลดน้อยลง ความสามารถในการหารายได้ลดลง ขณะเดียวกันเราก็ลดอัตราภาษีลงด้วย นั่นก็คือภาพของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของแรงงานในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า รายได้ส่วนนี้จะเพียงพอหรือเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะจากตัวเลขประมาณการณ์สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เองก็บอกว่า ประชากรในวัยทำงานของเราใน 10 ปีข้างหน้าจะโตติดลบ ประชากรแรงงานของเราจะน้อยลง”
ต้องสร้างความเท่าเทียม-สอดคล้องทิศทางเศรษฐกิจประเทศ
ไม่ว่าโครงสร้างภาษีจะได้รับการปฏิรูปเพื่อมุ่งพัฒนาขีดสามารถทางการแข่งขันอย่างไร โจทย์ใหญ่อีกประการที่หลงลืมไม่ได้ คือการสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ ดร.สกนธ์ เน้นย้ำ
“ถ้ามองในแง่การส่งเสริมให้เกิดการเท่าเทียม ตรงนี้คงเป็นโจทย์ที่ต้องคุยกัน แม้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีที่ผ่านมา กลุ่มรายได้สูงสุดได้ประโยชน์น้อยกว่าในแง่ของเปอร์เซ็นต์ คือลดลงเพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำ อัตราภาษีอาจจะลดในรูปของเปอร์เซ็นต์สูงกว่า แต่ถ้าดูเป็นเงินบาท คนรายได้สูงเขามีประโยชน์ในรูปของเงินบาทที่จัดเก็บภาษีน้อยลงนั้นก็สูงตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้เราสามารถถกเถียงได้ว่าจะมองเป็นบาทหรือมองเป็นเปอร์เซ็นต์”
“ถ้าย้อนกลับมาดูวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปภาษี โจทย์ใหญ่คือการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ จูงใจการลงทุน แต่ผมคิดว่าวันนี้ยังต้องคิดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น เราละเลยไม่ได้ เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปภาษี เรามักจะเห็นการขับเคลื่อนเป็นเรื่อง ๆ แต่วันนี้ โจทย์คือต้องมองให้เห็นภาพรวมของโครงสร้างภาษีที่เราต้องใช้ ว่าจะเพิ่มตัวไหน ลดตัวไหน เราจะใช้ภาษีแต่ละตัวตอบทุกวัตถุประสงค์คงเป็นไปไม่ได้”
โดยสรุป ดร.สกนธ์ เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีจะต้องนำทิศทางโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดการสอดคล้องและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในอนาคต
บีโอไอต้องช่วยยกระดับแข่งขัน-หยุดแจก
นอกจากนี้ ดร.สกนธ์ ยังวิพากษ์วิจารณ์การส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการทางภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ (The Board of Investment of Thailand) ซึ่งถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดและถึงเวลาที่ต้องทบทวน เนื่องจากปัจจุบัน กรอบการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเป็นไปในลักษณะที่นักลงทุนใดมาขอ หากเข้าเกณฑ์ก็จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนทันที ซึ่ง ดร.สกนธ์ เห็นว่าประเทศไทยมีขีดการพัฒนาเลยจุดเช่นนั้นไปแล้ว การส่งเสริมการลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศว่าจะเป็นอย่างไร และต้องคำนึงถึงการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่บีโอไอควรเร่งส่งเสริมการลงทุนในสาขาเหล่านี้ มากกว่าการมองในกรอบของเดิม ๆ
“ผมคิดว่าการส่งเสริมการลงทุนสำหรับประเทศไทยยังจำเป็น แต่ว่าความละเอียด ความชัดเจนในทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมควรมีมิติอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไป” ดร.สกนธ์กล่าว
อธิบดีกรมสรรพากรฉะบีโอไอ วิธีคิดไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่สมัยจอมพล ป.
ด้าน ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เรื่องของภาษีนั้นจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้ง 3 ด้านคือด้านกฎหมาย, ด้านนโยบาย และด้านการบริหารจัดการ แต่ประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงทั้งสามด้านนี้มานานมากแล้ว
“กรมสรรพากรเราถูกตัดงบ ตัดคนเรื่อยมา แต่ถูกตั้งเป้าให้จัดเก็บรายได้เพิ่มตลอด”
ดร.สาธิต ยังแสดงความเห็นสอดคล้องกับ ดร.สกนธ์ กรณีบีโอไอว่า ตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม วิธีคิดของบีโอไอยังคงเหมือนเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันอีกแล้ว
“บีโอไอภูมิใจว่าวันนี้ยกเว้นภาษีได้กี่ราย แจกอย่างเดียว วิธีการคิดไม่เคยเปลี่ยนเลย ให้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งที่ควรมีการจำแนกว่า อะไรเป็นธุรกิจชั้นนำ ที่เราควรส่งเสริม ไม่ใช่ให้สะเปะสะปะ ให้แล้วประเทศไทยจะได้อะไร ไม่ใช่ไม่ควรมี แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราเก็บภาษีเท่าไหร่แล้วรั่วออกหมด แล้วจะเหลืออะไร วันดีคืนดีก็ออกกฎหมายว่า คุณสร้างโรงไฟฟ้าที่สามารถลดมลภาวะได้ ค่าก่อสร้างทั้งหมดเอามาหักจากเนื้อภาษีได้ ถามว่าเท่ากับรัฐสร้างโรงไฟฟ้าให้ใช่หรือไม่ และมีเหตุจำเป็นอะไรที่ต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าให้เอกชน”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ