3ปีพฤษภา53รำลึกหลากคู่ขัดแย้ง เส้นทาง‘ปรองดอง’ที่ยังเลือนราง ข้อเสนอคอป.ที่ยังไม่เริ่มลงมือทำ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 20 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1840 ครั้ง

 

หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เดือนพฤษภาคม 2553 เกิดผลกระทบทางการเมืองหลายมิติ

มิติหนึ่งคือ ความขัดแย้งของพรรคการเมือง 2 ขั้ว ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ยิ่งเข้มข้นขึ้น

 

อีกมิติหนึ่งคือ ความขัดแย้งที่มาจากวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” ระหว่างแกนนำเสื้อแดง ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับแนวร่วมฝ่ายอำมาตย์ ยิ่งลึกลับ ซ่อนเร้น มากยิ่งขึ้น

และยังมีมิติความขัดแย้งระหว่าง หัวขบวนไพร่ที่อยู่นอกรัฐบาล อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับขบวนการอำมาตย์ที่มีคอนเนกชั่นลับ กับนักการเมืองหลายพรรคในสภาผู้แทนราษฎร

 

ในวาระครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์ความขัดแย้ง “พฤษภา 53” คู่ขัดแย้งทุกมิติ ยังไม่คลี่คลาย

ตรงกันข้าม ทุกมิติ ทุกคู่ขัดแย้ง กลับมีความซับซ้อนและลึกล้ำ ขยายวงกว้าง ทวีความรุนแรง มากยิ่งกว่ามาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แม้ว่าหลังเหตุการณ์ดังกล่าว จะผ่านการชำระประวัติศาสตร์ ชำระคดี มาแล้วถึง 2 รัฐบาล ทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยุคพรรคเพื่อไทย ยุคน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร มีองค์คณะบุคคล-คณะกรรมการไม่น้อยกว่า 10 ชุด ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อชำระความผิดพลาดในเหตุการณ์ “พฤษภา 53” ทั้งระบบกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร องค์กรอิสระ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

 

ทุกคณะกรรมการผลิตข้อเสนอในนามของการ “ปรองดอง-นิรโทษกรรม” ให้ระดับนโยบายอย่างรัฐบาล ระดับที่ต้องออกกฎหมาย-แก้ไขกฎหมายในฝ่ายนิติบัญญัติ และระดับปฏิบัติการอย่างตำรวจ อัยการ และศาล อย่างหลากหลายมิติ

 

แต่ทุกข้อเสนอ ล้วนถูกรัฐบาล เก็บไว้ในลิ้นชัก เว้นแต่ว่าบางข้อเสนอ ถูกเห็นชอบเพราะเครือข่ายเสื้อแดงได้รับประโยชน์โดยตรง-เป็นรูปธรรม

 

แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมีความพยายามในการขับเคลื่อน “กฎหมายปรองดอง” และ “กฎหมายนิรโทษกรรม” แต่เนื้อหากฎหมาย ก็ล้วนมาวาระแฝงเร้น และถูกครหาว่าบรรจุวาระ ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” แนบท้ายไว้ทุกฉบับ

 

ข้อเสนอเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกเสนอมาแล้ว 3 ครั้ง เกือบทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเกือบทุกคราว

 

มีข้อเสนอที่เป็นกลาง ในระดับกระบวนการยุติธรรมนานาชาติ ให้การยอมรับ คือ ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดย ดร.คณิต ณ นคร ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

 

ข้อเสนอที่บรรลุไปแล้วคือ เงินในการเยี่ยวยาผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท ตามแนวทางของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์  อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นประธาน

 

อีกข้อเสนอที่เพิ่งบรรลุในวาระครบรอบ 3 ปี คือการถอดตรวนผู้ถูกกล่าวหา ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเป็นประธาน ตัดตรวน ด้วยตัวเองที่กรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และเอื้อให้นักโทษการเมืองเสื้อแดง ได้รับความสะดวกมากขึ้น คือ การแยกตัวนักโทษการเมือง ให้มีที่คุมขังที่แตกต่างไปจาก “คุก”  นี่จึงเป็นที่มาของ “เรือนจำชั่วคราวหลักสี่” ที่คุมขังนักโทษการเมือง 67 คนที่เกิดจากคดี “พฤษภา 53”

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ คอป. ครอบคลุมทุกมิติ โดยสรุปมี 21 ข้อ ดังนี้

1.นำข้อเท็จริงของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการดำเนินการกระบวนการปรองดอง

2.การเร่งรัดทำเรื่องปรองดองอาจทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวงต่อกัน จึงต้องใช้เวลา

3.ให้ยุติการทำลายบรรยากาศการปรองดอง

4.ความขัดแย้งที่เกิดขี้นมาจากผู้ที่ไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ จึงใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระ เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง ขอให้นักการเมืองมีจิตสำนึก

5.ให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาที่มาจากการขาดหลักนิติธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

6.เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเรื่องความขัดแย้ง ผ่านเวทีสานเสวนา

7.รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในกลไกการปรองดอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8.ให้ผู้ต้องหาทางการเมืองทุกขั้ว ทุกฝ่าย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค

9.การใช้หลักความยุติธรรมทางอาญา อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ร่วมด้วย

10.ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ ไม่จำกัดเฉพาะวงเงินเท่านั้น

11.รัฐควรบันทึกจดหมายเหตุความเสียหายที่เกิดขึ้น

12.ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหา ด้วยการปล่อยตัวชั่วคราว จ่ายค่าชดเชยกรณีศาลพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธ์

13.ควรมีการขอโทษเพื่อไปสู่ความปรองดอง

14.การนิรโทษกรรม ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม การเร่งรัดพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจสร้างความขัดแย้งรอบใหม่

15.การนิรโทษกรรม ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการล้มล้างการกระทำความผิดโดยมิชอบ

16.ควรแก้กฎหมายให้มีการพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย หรือพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

17.บทบาทของตุลาการ พึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อำนาจที่เหมาะสมตามหลักนิติธรรม

18.เรียกร้องให้รัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายการเมือง ยุติการอ้างกฎหมายเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง

19.รัฐต้องให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

20.รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ไม่แทรกแซง กรณีการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

21.ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นระบบ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ที่คอป. ระบุไว้ในหัวข้อ “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”  ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ

 

ประเด็นแรก ขอให้นักการเมือง กลุ่มการเมือง อย่าพาดพิงหรือนำสถาบัน มากล่าวอ้างทั้งทางตรง ทางอ้อม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ควรยกย่องเทิดทูนให้สถาบันอยู่เหนือจากความขัดแย้งทางการเมือง

 

ประเด็นที่สอง ขอให้นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หารือจริงจังเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อกำหนดแนวทางในการเทิดทูนสถาบันให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

 

ประเด็นที่สาม เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในสถานะที่ดำรงพระเกียรติยศได้อย่างสูงสุดภายใต้รัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยน-เรียนรู้ ทำความเข้าใจร่วมกันของสังคม เกี่ยวกับสถานะบทบาทสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้มีเวทีให้บุคคลที่มีความเห็นต่าง ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ โดยสันติ

 

 

สำหรับข้อเสนอกรณี “ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112”  ซึ่งไม่มีฝ่ายใดนำไปปฏิบัติ และขับเคลื่อน เนื้อหาชัดเจน-ครอบคลุมประเด็นหลัก ดังนี้

 

1.คอป.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาร่วมกันแสดงความกล้าหาญในทางการเมือง เพื่อขจัดเงื่อนไขของปัญหาจากกฎหมายดังกล่าว ด้วยการแก้ไขกฏหมายหมิ่นสถาบัน แต่ต้องระมัดระวังมิให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

 

2.ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมระมัดระวังในการใช้กฎหมาย ต้องหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายที่กว้างขวางที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต และวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย

 

3.รัฐบาลต้องจริงจังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีความเป็นเอกภาพเหมาะสม สามารถจำแนกและกลั่นกรองคดี โดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม แรงจูงใจในการกระทำ สถานภาพของบุคคลที่กระทำ บริบโดยรวมของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การกระทำ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

 

4.ต้องส่งเสริมการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฏหมาย ที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น

 

การบ้านสำหรับการสร้างความปรองดองในชาติ สำหรับรัฐบาล ยังมีอีกหลายข้อ หากประเมินในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะย่างเข้าขวบปีที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2556 ยังนับว่ามีความก้าวหน้าในการตอบโจทย์การบ้าน ในเรื่องความปรองดอง น้อยยิ่งกว่าน้อย

 

ในวาระครบรอบ 3 ปี นอกจากฝ่ายเสื้อแดง และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะจัดพิธีกรรม ทวงคืนความยุติธรรมแล้ว

 

นอกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะหวังดีประสงค์ร้าย ด้วยการล่อเป้า เสนอกฎหมายปรองดอง-นิรโทษกรรม 6 มาตรา ครอบคลุมการกระทำความผิดทั้งอาญา ทั้งคดีทุจริต แบบสุดซอย

 

อาจต้องย้อนมองไปที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยว่า ได้อำนวยความยุติธรรม ให้กับขั้วการเมืองฝ่ายอื่นบ้างหรือไม่ มีการบ้านอีกกี่ข้อ ที่รัฐบาลยังไม่ได้เริ่มลงมือ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: