เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน 47 องค์กร ออกแถลงการณ์ “การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค” ระหว่างการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ว่า ในวาระที่มีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 นั้น แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำจากหลายประเทศ แต่พบว่าการประชุมกลับมิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีความพยายามข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักปฏิบัติของประเทศประชาธิปไตย
เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ดังนี้ กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคิดและข้อมูลที่หลากหลาย ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอนและมาตรการที่รับรองว่า จะสามารถดำเนินโครงการไปจนสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง และมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นอกจากโอกาสในการคอรัปชั่นแล้ว โครงการ 3.5 แสนล้าน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด
โครงการเขื่อนภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนโป่งอาง เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง) เขื่อนคลองชมพู และเขื่อนแม่วงก์ ถูกนำมาบรรจุในแผน โดยยังไม่มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ชี้ชัดว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีน สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ผลกระทบข้ามพรมแดน ต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติเนื่องจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบน ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อพันธุ์ปลาธรรมชาติแม่น้ำโขง ทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย สร้างความเสียหายต่อการประมง การเก็บไก การปลูกผักริมน้ำ และวีถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2551 และเหตุการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 60 ปีในปี 2553 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประเทศท้ายน้ำและรัฐบาลจีนแต่อย่างใด คนหาปลาและชาวบ้านริมโขงจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง
แม่น้ำโขงทางตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว และอีก 11 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมาย จนกลายเป็นกรณีความขัดแย้งในระดับนานาชาติ โครงการเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทไทย เงินกู้จากธนาคารไทย 6 แห่ง ไฟฟ้าส่งขายประเทศไทย เป็นเขื่อนสัญชาติไทยในดินแดนลาว ที่จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของพันธ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพทางไกลเพื่อวางไข่และหากิน
เขื่อนไซยะบุรี เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่ยังไม่ผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่ 4 ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างลงนามไว้ คณะมนตรีแม่น้ำโขงยังไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะที่เขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากลาย กำลังจะเริ่มกระบวนการเร็ว ๆ นี้
แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำนานาชาติระหว่างจีน พม่า ไทย ก็เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 โครงการตลอดลุ่มน้ำ ทั้งในเขตทิเบตและยูนนานของจีน ในรัฐชาติพันธุ์ของพม่า อาทิ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนโดยบริษัทและรัฐวิสาหกิจจากไทยและจีน เพื่อส่งออกไฟฟ้า
สถานการณ์ในพม่า พบว่าทุกเขื่อนที่วางแผนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเขื่อนกลางสนามรบ ที่ยังคงมีความขัดแย้งและการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่ คะยา กะเหรี่ยง ต้องหนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน
การเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมภิบาล มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิทธิมุษยชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ดังเช่นโครงการเขื่อนต่างๆดังกล่าวข้างต้น
เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน การพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน และระบบ Single-command หรือ ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ