ชี้จำนำข้าวดีแค่ในระยะสั้น แนะเพิ่มศักยภาพส่งออก

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1712 ครั้ง

จากภาวะการขาดทุนจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล คุณภาพข้าวที่หลายฝ่ายเป็นห่วงและเกิดคำถามว่า “ข้าวไทยมีคุณภาพลดลงหรือไม่ และเหตุใดคุณภาพข้าวไทยจึงลดลง” บทเรียนสำคัญจากโครงการรับจำนำข้าว และร่วมกันหาทางออกของอนาคตข้าวไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนา “คิดใหม่อนาคตข้าวไทย” โดยมี น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองศาสตรจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ และดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ ร่วมวงเสวนา

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศว่าจะมีการระบายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน ส่งผลต่อการประมูลข้าวที่โปร่งใสเพราะได้ราคาต่ำ เนื่องจากพ่อค้าทราบว่ารัฐบาลร้อนเงินจึงต้องการระบายข้าว อีกทั้งข้าวที่นำมาขายคละคุณภาพ และท้ายที่สุดพ่อค้าเชื่อว่าข้าวในโกดังมีคุณภาพต่ำ ดร.นิพนธ์จึงเสนอทางออกของปัญหาคือ ไม่ขายข้าวเก่าหรือข้าวเน่า แต่ควรหันมาเน้นขายข้าวคุณภาพดี โดยอาศัยตลาดสินค้าเกษตรแบบล่วงหน้า นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การลดราคาจำนำและจำกัดปริมาณรับจำนำ จะก่อให้เกิดข้าว 2 ตลาด โดยที่ข้าวนอกตลาดรับจำนำจะมีราคาต่ำกว่ามาก และจังหวัดที่มีโรงสีน้อยจะถูกกดราคาข้าวมากเป็นพิเศษ

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของอนาคตข้าวในขณะนี้คือ ชาวนาไทยแก่ตัวเร็ว พบว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของหัวหน้าครัวเรือนอายุเกิน 60 ปี และชาวนาไม่เข้าไม่ถึงระบบการประกันสังคม ไม่มีบำเหน็จหรือบำนาญ มีเพียงที่ดินที่เป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าความสามารถในการแข่งขันยังคงทรงตัว แต่เชื่อว่ากำลังจะแย่ลง เนื่องจากมีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้น อีกทั้งคู่แข่งยังปรับปรุงความสามารถรวดเร็วมาก ซึ่งขณะนี้เราไม่สามารถแข่งขันราคาข้าวขาวหรือข้าวคุณภาพต่ำได้ เพราะขาดทุนอย่างแน่นอน และในอนาคตข้าวมวลชนหรือข้าวคุณภาพต่ำ ประชากรโดยเฉพาะในเอเชียจะบริโภคข้าวน้อยลง เพราะประชากรลดลง การบริโภคข้าวต่อหัวจะลดลง ในอีก 10 ปีแน่นอน ยกเว้นกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกา ประกอบกับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ใช้นโยบายเลี้ยงตัวเองเพราะฉะนั้นจะทำให้ราคามีแนวโน้มลดลงแน่นอน ด้านสภาพภูมิอากาศ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วนกลับเข้ามาสู่วัฎจักรเอลนิญโญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวอย่างน่นอน

อนาคตเกษตรกรไทย สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม โดยการแก้ปัญหาชาวนาทั้ง 3 กลุ่มก็ไม่เหมือนกัน คือ 1.กลุ่มชาวนาธุรกิจเงินล้าน มีอยู่ประมาณ 500,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานทั้ง สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร สิงห์บุรี ทำนา 2-3 ครั้งต่อปี มีที่ทำกินเฉลี่ย 40-50 ไร่และแนวโน้มจะขยายใหญ่ขึ้น มีต้นทุนการผลิต 5,000 บาท/ตัน ซึ่งเมื่อขยายที่ออกไป ต้นทุนการผลิตจะยิ่งลดลง แต่ปัญหาพันธุ์ข้าวที่ใช้มีเพียง 3-4 พันธุ์ และมีอายุมากกว่า 10 ปี 2.กลุ่มเกษตรกรทางเลือก มี 3 ล้านครัวเรือน มีบทบาททางสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงมาก เน้นขายข้าวที่มีราคาสูงให้กับคนที่มีกำลังซื้อ และข้าวเฉพาะกลุ่ม เช่นข้าวอิ่มบุญ และ 3.กลุ่มเกษตรกรยากจน ที่มีอยู่ประมาณล้านกว่าครัวเรือน ขณะนี้หันไปประกอบอาชีพนอกเกษตร เพื่อหนีความจน โดยมีรายจากการเกษตรเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ อาจเรียกได้ว่า กลุ่มยิ่งรวยจะยิ่งทำการเกษตรและกลุ่มยากจนจะยิ่งหนีออกจากการเกษตร

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาในปัจุบันไม่ได้อยู่แค่ข้าว ซึ่งรัฐมีความหวังว่า จะแก้ปัญหาโดยขนาดของโครงการรับจำนำข้าวลงมา จะใช้มาตรการการแบ่งโซน เพื่อควบคุมปริมาณและลดต้นทุนการผลิต และให้เกษตรกรหันไปหาพืชชนิดอื่น ที่มีปัญหาน้อยกว่า แต่มาตรการทั้งหมดยังไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้ อีกทั้งมาตรการยกระดับสินค้าเกษตรให้สูงกว่าตลาดโลกพบว่า มีปัญหาทุกมาตรการและเมื่อผ่านไประยะหนึ่งปัญหาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

            “เรื่องการยกระดับราคาข้าวช่วยให้เกษตรกรจำนวนหนึ่ง สามารถลืมตาอ้าปากได้ แต่เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งราคาข้าวที่สูงขึ้น ก็จูงใจให้เกษตรอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นการดึงให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ปัญหาราคาคือ ราคามากำหนดต้นทุน ไม่ใช่ว่าเราสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมจากต้นทุนได้ การปรับราคาจำนำหรือราคาประกันลง ก็อาจสร้างปัญหาให้เกษตรกรได้เนื่องจากต้นทุนมันขึ้นไปแล้ว” ดร.วิโรจน์กล่าว

ข้อเสนอสำหรับนโยบายเกษตรในอนาคต ดร.วิโรจน์กล่าวว่า ประเทศที่ต้องพึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างประเทศไทย มาตรการสร้างอำนาจผูกขาดตลาดสินค้าเกษตรเหนือตลาดโลกไม่เคยได้ผลจริง ในทางทฤษฎี อาจทำได้ถ้าสินค้าที่ไม่มีคู่แข่ง หรือไม่มีสินค้าอื่นมาทดแทน แต่ในปัจจุบันไม่มีสินค้าที่ว่า แม้กระทั่งข้าวหอมมะลิ ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็สามารถผลิตสินค้าเข้ามาทดแทนได้ ด้านการตั้งราคาสินค้าเกษตรให้สูงกว่าราคาตลาดโลกเป็นปัญหาใหญ่ จะทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวตามสัญญาณตลาดโลก และจะก่อให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของโครงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวที่ผ่านมาไม่มุ่งเน้นกำไรหรือขาดทุน แต่เป้าหมายเพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนา จากการติดตามและประเมินผลโครงการจำนำข้าวทำให้ชาวนาไทยพบว่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถทัดเทียมชาวนาในหลาย ๆ ประเทศที่เป็นสากลได้

            “อนาคตของข้าวไทย ควรมองให้ไกลกว่าภายในประเทศ แต่มองไปถึงตลาดข้าวในอาเซียน ในระดับอาเซียน เรามีทั้งชาวนาในระดับอาเซียน โรงสีระดับอาเซียน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการในระดับอาเซียน เพื่อดึงศักยภาพของข้าวภายในอาเซียน ที่จะไปแข่งขันกับกลุ่มประเทศนอกอาเซียนมากขึ้น” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว

ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางการเพิ่มศักยภาพของข้าวไทยว่า ควรมองทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ คือการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวของชาวนาไทย กลางน้ำ คือการเพิ่มศักยภาพการแปรรูป การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ และปลายน้ำคือการเพิ่มศักยภาพการค้าและตลาดข้าว ซึ่งกรมการข้าวอยู่ในส่วนของต้นน้ำที่เป็นภาคการผลิต และมองว่าหัวใจของภาคการผลิตคือการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งขณะนี้กำลังร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาข้างของประเทศเพื่อให้เป็นเอกภาพ โดยกรมการข้าวจะเป็นสะพานเชื่อมความรู้งานวิจัยสู่เกษตรกร และมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชาวนา โดยกรมการข้าวหวังให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวนาไทยขึ้นในอนาคต ทางด้านภาคการตลาดเน้นให้มีการส่งเสริมตลาดข้างคุณภาพสูงและข้างตลาดเฉพาะให้มากขึ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: