วิเคราะห์ : การเมืองแบ่งขั้วที่มีฐานเรียวแคบลง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 20 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3093 ครั้ง

แม้แต่การอธิบายการเมืองว่าเป็นเรื่องเสื้อเหลือง/เสื้อแดง/ ไพร่/อำมาตย์/ ประชาธิปัตย์/ เพื่อไทย/ สลิ่ม/ ควายแดง /รัฐบาลของคนกรุงเทพ / รัฐบาลของคนส่วนใหญ่ ฯลฯ ก็วางอยู่บนสมมติฐานเรื่องการเมืองแบ่งขั้วแบบนี้เอง

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว คำว่าการเมืองแบบแบ่งขั้ว หมายถึงภาวะที่ขั้วทางการเมืองมีอิทธิพลเหนือท่าทีของบุคคลต่อเรื่องต่างๆ  จนใครที่อยู่ขั้วการเมืองเดียวกัน ก็คิดเหมือนกันไปหมด มองในด้านบวก การเมืองแบ่งขั้วจึงเป็นดัชนีว่า บุคคลมีความคงเส้นคงวาทางความคิดและความภักดีทางการเมืองสูง ถึงขั้นเห็นด้วยกับเรื่องอะไรเป็นแพ็คเกจทั้งค่าย แต่ถ้ามองในแง่ลบ การเมืองแบ่งขั้วก็เป็นหลักฐานของการถูกชี้นำโดยผู้นำและชนชั้นนำทางการเมือง

นักรัฐศาสตร์มักอธิบายว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองมีสองระดับ ระดับแรกกคือการแบ่งขั้วระหว่างชนชั้นนำ ระดับที่สองคือการแบ่งขั้วระดับมวลชน การแบ่งขั้วนี้อาจเกิดพร้อมกันหรือไม่สัมพันธ์กันก็ได้  ส่วนชนชั้นนำที่แบ่งขั้ว มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่นักการเมืองในสภา พรรคการเมือง ผู้พิพากษา ข้าราชการ หรือแม้แต่ผู้มีอิทธิพลที่ไม่ได้มีบทบาทโดยเปิดเผย ส่วนมวลชนก็หมายถึง คนที่รวมกลุ่มทางกายภาพตลอดจนความเห็นสาธารณะต่าง ๆ

ในสังคมที่เกิดการแบ่งขั้วระดับมวลชน ผลที่ตามมาคือ ความเห็นมักแยกเป็นสองขั้วมากกว่าจะมีความหลาก หลายทางท่าทีต่อนโยบายสาธารณะ แนวทางการเมือง หรือกฎหมาย ตัวอย่างเช่น คนอเมริกันที่ยอมรับสิทธิคนดำก็มักยอมรับความเท่าเทียมระหว่างเพศ สิทธิในการทำแท้ง การขึ้นภาษี และนิยมพรรคเดโมแครต ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง ก็มักไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษี ไม่เชื่อเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และเลือกอีกพรรคการเมือง

ปัญหาที่ยุ่งยากในการทำความเข้าใจการแบ่งขั้วระดับมวลชนก็คือ ขั้วเป็นตัวกำหนดท่าทีและทรรศนะต่อเรื่องต่าง ๆ หรือว่ามีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่นเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้หญิงในทุกขั้วการเมืองจะสนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศเหมือนกัน? ชนชั้นนำมีศักยภาพจะปลุกปั่นการแบ่งขั้วระดับมวลชนให้ดำเนินไปได้มากแค่ไหน? มวลชนแบ่งขั้วทางการเมืองตามชนชั้นนำหรือตามวาระของตัวเองสุดแท้แต่กรณี?

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สัญญาณว่าการเมืองแบบแบ่งขั้วกำลังคลายตัวลงมีให้เห็นมากขึ้นทุกขณะ  ตัวอย่างเช่นการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ดำเนินไปโดยคณะผู้รณรงค์ซึ่งเต็มไปด้วยความระมัดระวังที่จะไม่พัวพันกับการเมืองเรื่องสีเสื้อ การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยวิธีสอดไส้วาระสอง ถูกคัดค้านจากมวลชนจากแทบทุกเสื้อสี ส่วนการยกระดับม็อบต้านกฎหมายนิรโทษเป็นม็อบไล่รัฐบาล ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเสื้อเหลืองด้วยกันจำนวนมาก

อันที่จริง ถ้าตัดเรื่องการเมืองเฉพาะหน้าออกไป การประท้วงกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงการคลายตัวของการเมืองแบบแบ่งขั้ว อย่างน้อยในสองมิติ มิติแรกคือเราเห็นคนเสื้อแดงออกมาต้านกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยผลักดันและคุณทักษิณได้ประโยชน์ ส่วนมิติที่สองก็คือ เราเห็นคนเสื้อเหลืองออกมาต่อต้านกฎหมายที่ในที่สุด จะทำให้คุณอภิสิทธิ์ไม่ถูกดำเนินคดีจากการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตร่วมร้อยรายในปี 2553

จริงอยู่ว่าปรากฏการณ์นี้อธิบายได้หลายแบบ แบบแรกคือคนเสื้อแดงก่อตัวจากเครือข่ายหัวคะแนนและผู้สนับสนุนพรรคในความหมายแคบ ๆ กับพวกที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายพรรคแต่เชื่อเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตย และการต่อต้านกฎหมายที่ให้ประโยชน์กับคุณทักษิณดำเนินไปโดยคนกลุ่มหลัง แบบที่สองคือคุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่ “ผู้นำ” ที่สำคัญที่สุดตามที่คนเสื้อเหลืองเข้าใจ คุณอภิสิทธิ์จะติดคดีหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าเรื่องไล่ล่าคุณทักษิณ ฯลฯ

ไม่ว่าจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร ข้อเท็จจริงก็คือการประท้วงกฎหมายนิรโทษกรรมแสดงให้เห็นถึงการคลายตัวลงโดยเปรียบเทียบของความภักดีทางการเมือง ที่มวลชนมีต่อชนชั้นนำทางการเมืองในปีกตัวเอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชนชั้นนำทุกฝ่ายจะมีปฏิกิริยาต่อปรากฏการณ์นี้ด้วยวิธีเร่งยกระดับการขับไล่รัฐบาล (ในกรณีประชาธิปัตย์) หรือการเดินสายต่อต้านการ “ล้ม” รัฐบาลประชาธิปไตย (ในกรณีเพื่อไทย) เพื่อประโยชน์ด้านการกระชับความภักดี

อย่างไรก็ดี มีโอกาสอยู่มากที่การดำเนินการนี้จะไม่สำเร็จอย่างที่เคยเป็น และหมายความว่าการสร้างการเผชิญหน้า มีแนวโน้มจะสร้างความตึงเครียดไม่ได้มากอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างน้อยก็ด้วยเหตุปัจจัย  กล่าวคือ

ข้อแรก การแบ่งขั้วในหมู่มวลชนมีเงื่อนไขสนับสนุนน้อยลง ในด้านหนึ่งคือคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยไม่มีพฤติกรรมที่เปิดช่องให้อ้างว่าเป็นภัยคุกคามสถาบัน โอกาสที่ชนชั้นนำจะปลุกเร้ามวลชนเสื้อเหลืองจึงมีไม่เท่าอดีต  ส่วนในอีกด้านคือฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่มีเหตุให้รวมตัวเข้มข้นแบบปี 2553 ถ้าไม่เกิดการล้มรัฐบาลหรือรัฐสภาด้วยวิธีนอกระบบ ส่วนเรื่องที่เคยสำคัญอย่างการทวงความยุติธรรม ก็ถูกพรรคเพื่อไทยทำให้เป็นเรื่องตลกไปอย่างสมบูรณ์

ถ้าไม่มีการตั้งประเด็นว่ายิ่งลักษณ์เป็นตัวแทนระบอบทักษิณ หรืออำมาตย์ล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ไม่มีทางเลยที่การเมืองแบ่งขั้วจะกระฉับกระเฉงได้ในปัจจุบัน

ข้อสอง ความต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ เกื้อกูลให้การเมืองแบบปกติสำคัญขึ้น ในด้านหนึ่งคือการแบ่งขั้วอย่างสุดโต่งในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดการเผชิญหน้าที่จบด้วยความรุนแรงซึ่งเสี่ยงที่จะนำสังคมไปสู่ความแตกแยกที่ประนีประนอมไม่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และในอีกด้านก็คือความล้มเหลวในการสร้างรัฐบาลและการบริหารที่ดีท่ามกลางการเมืองที่แบ่งขั้วอย่างรุนแรง จนเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปถึง 5 คน ในเวลา 5 ปี จาก 2549 ถึง 2554

มีใครบ้างกล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่ารัฐบาลอย่างคุณสุรยุทธ์ คุณสมัคร คุณสมชาย และคุณอภิสิทธิ์ คือรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จในการบริหารบ้านเมืองและมีผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม?

สาเหตุที่คุณยิ่งลักษณ์ถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับความสนับสนุนมากกว่าอดีตนายกคนอื่นในช่วงเวลาเดียวกันคือ เธอไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้านคุณยิ่งลักษณ์ จึงรวมศูนย์ที่การดึงเธอเข้าสู่วังวนนี้ ด้วยวิธีสร้างภาพให้คุณยิ่งลักษณ์เป็นคุณทักษิณผ่านกระบวนการต่าง ๆ แต่การที่คุณยิ่งลักษณ์อยู่ในตำแหน่งได้ราบรื่น เป็นสัญญาณว่ายุทธศาสตร์นี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่เคยเป็น

ข้อสาม ไม่มีผู้นำและชนชั้นนำทางการเมืองที่สังคมให้ความนับถือรายไหน แสดงท่าทีสนับสนุนการแบ่งขั้วทางการเมืองแบบที่เคยเกิดในอดีต ตัวอย่างเช่น ไม่มีองคมนตรีเดินสายปาฐกถาให้ท้ายการล้มรัฐบาล ไม่มีอดีตนายกที่สนับสนุนการชุมนุมบนท้องถนนอย่างเปิดเผย ไม่มีใครเล่นบทเป็นผู้ส่งสัญญาณจากพลังบางฝ่าย การแบ่งขั้วทางการเมือง จึงดำเนินไปโดยนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่เคยอยู่ในภาวะล้มละลายทางความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง

โปรดสังเกตว่า นกหวีดกลายเป็นสัญลักษณ์ในการสร้างการแบ่งขั้วทางการเมืองรอบนี้ แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่านกหวีดไม่มีทางมีพลังเท่ากับเสื้อยืดสีเหลืองและผ้าพันคอสีฟ้า ที่แสดงความภาคภูมิใจและความเชื่อมโยงกับอะไรบางอย่าง เมื่อเทียบกับนกหวีดที่ไม่ได้แสดงอะไรเลย นอกจากใบหน้าของคุณสุเทพและปากของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

แม้จะมีผู้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้ไม่มาก แต่การเมืองไทยปี 2556 เต็มไปด้วยปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าการเมืองแบบแบ่งขั้วแบบที่เกิดหลังปี 2549 กำลังมีฐานทางสังคมที่เรียวแคบลง เราจึงไม่เห็นการชุมนุมด้วยภาษาประเภทไพร่สู้อำมาตย์มานานแล้ว และไม่มีใครใส่เสื้อเหลืองชุมนุมบนท้องถนนต่อไป

ภายใต้โครงสร้างความรู้สึกของสังคม ที่โหยหาเสถียรภาพและการเมืองแบบปกติมากขึ้นแบบนี้ คนกลุ่มที่มีโอกาสมีเสียงที่ดังขึ้นได้แก่คนที่ไม่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งในอดีต เพราะแม้ความขัดแย้งในสังคมไทยจะมีเหตุจากความแตกต่างทางความคิดและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมหลายมิติ  แต่คนในสังคมก็มีความเหมือนหลายเรื่อง จนทำให้ความขัดแย้งไม่เท่ากับการเผชิญหน้า และการเผชิญหน้าก็ไมได้นำไปสู่การแบ่งขั้วระดับแตกหักทุกกรณี

ท่ามกลางเส้นทางที่ตีบตันไร้อนาคตของการเมืองแบบนี้ การปลุกระดมของชนชั้นนำกำลังเป็นที่มั่นเดียวของการสร้างการแบ่งขั้วทางการเมืองในสังคม

ปัญหาคือการเผชิญหน้าและการแตกหักนั้น สร้างภาระให้มวลชนมากกว่าชนชั้นนำอย่างเทียบไมได้ การปลุกเร้าจากชนชั้นนำจึงเป็นอันตรายที่เป็นไปได้ตลอดเวลา

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google และ ไทยรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: