เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ2794/2553 ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัทประยูรวิศว์การช่าง นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง บริษัทสี่แสงการโยธา(1979) นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ , บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ บริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย เป็นจำเลยที่ 1-19 ในความผิดฐานฉ้อโกงที่ดิน และฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 90, 91 และ 83
ตามโจทก์ฟ้องสรุปว่า ในระหว่างปี 2531-2533 จำเลยที่ 1 ได้เสนอต่อโจทก์ว่าจะจัดหาที่ดิน 1,900 ไร่ เพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 -11 ฉ้อโกงโจทก์ โดยนำที่ดินของจำเลยที่ 12 มาเสนอขายแก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขขอให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 12 เลย โดยไม่ต้องผ่านการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1-19 เป็นการฉ้อโกงโจทก์ โดยร่วมกันหลอกลวงและปกปิดว่าโฉนดที่ดิน 17 แปลง ที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 12 เป็นโฉนดที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีเนื้อที่ตามจำนวนที่ระบุในโฉนด โดยไม่มีเนื้อที่ซึ่งเป็นคลองหรือถนนสาธารณะหรือที่ชายตลิ่ง แต่ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในโฉนด ถึง 5 แปลง โดยเนื้อที่บางส่วนเป็นคลอง ถนนสาธารณะ หรือที่ชายตลิ่ง และมีการออกโฉนดโดยมิชอบ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อรับซื้อ และชำระเงินค่าที่ดินให้กับจำเลยที่ 12 ไปเป็นจำนวน 1,956,600,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1-19 ก็ได้นำเงินดังกล่าวไปแบ่งปันกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
นอกจากนี้ในการประกาศประกวดราคาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านของโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.38 จำเลยที่ 1-11 ได้ร่วมกันแอบอ้างนำเสนอว่า บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (NWWI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำเสีย จะเข้าร่วมดำเนินงานกับพวกจำเลยด้วย ทำให้โจทก์หลงเชื่ออนุมัติให้พวกจำเลยเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งในวันทำสัญญาดังกล่าว พวกจำเลยได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ โดยแอบอ้างหลักฐานหนังสือมอบอำนาจของบริษัท นอร์ธเวสต์ฯ ในการเข้าทำสัญญา อีกทั้งจำเลยที่ 1-11 ได้เปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินหลายแห่ง เป็นบัญชีรายรับร่วมของกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ เพื่อหลอกลวงรับเงินค่าจ้างและเงินอื่นๆ ไปจากโจทก์ ทั้งที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้รู้เห็นหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1-11 เปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวหรือเพื่อรับเงินแทนแต่อย่างใด การปกปิดความจริงโดยการหลอกลวงดังกล่าว
เป็นผลทำให้โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างโครงการคลองด่าน เป็นจำนวนเงิน 17,045,889,431.40 บาท และอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงิน 121,343,887.19 เหรียญสหรัฐ จากนั้นจำเลยที่ 1-11 ได้แบ่งเงินดังกล่าวกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต จำเลยให้การปฏิเสธ โดยชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลประทับรับฟ้องไว้เฉพาะจำเลยที่ 2-19 และให้ยกฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จำเลยที่ 1
โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2552 ให้จำคุกนายพิษณุ ชวนะนันท์ กก.บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง , นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กก.บ.ประยูรวิศว์การช่าง นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กก.บ.สี่แสงการโยธา นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กก.บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ นายรอยอิศราพร ชุตาภา กก.บ.เกตเวย์ นายชาลี ชุตาภา กก.บ.คลองด่านมารีนฯ นายประพาส ตีระสงกรานต์ กก.บ.คลองด่านมารีนฯ นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กก.บริษัทคลองด่านมารีนฯ นางบุญศรี ปิ่นขยัน กก.บ.ปาล์ม บีชฯ และนายกว๊อกวา โอเยง ผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17,18 และนายวัฒนา อดีต รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 19 เป็นเวลาคนละ 3 ปี
ส่วนบ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง บ.ประยูรวิศว์การช่าง บ.สี่แสงการโยธา(1979) บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ บ.เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ บ.คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ และ บ.ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ จำเลยที่ 2, 4, 6, 8, 10, 12 และ 16 ให้ปรับรายละ 6,000 บาท
ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2- 19 ยื่นอุทธรณ์ โดยจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดฐานฉ้อโกง โดยหลอกลวงขายที่ดินซึ่งมี 5 ฉบับ คือ 13150, 13817, 15024, 15528 และ 15565 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่ออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้กับกรมควบคุมมลพิษ และจำเลยที่ 2-11 ไม่ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยปกปิดข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าโฉนด 5 ฉบับที่อ้างว่ามีการออกโดยมิชอบด้วยระเบียบ โดยนายวัฒนา จำเลยที่ 19 ใช้อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีจูงใจให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการออกโฉนดหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายวัฒนา จำเลยที่ 19 ได้จูงใจให้เจ้าพนักงานออกที่ดิน 5 โฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยที่ 19 มีเจตนาที่จะนำที่ดินนั้นไปหลอกลวงขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ โดยมีจำเลยที่ 2-18 ร่วมเป็นตัวการหรือไม่ เห็นว่า
จากทางนำสืบและคำอ้างอุทธรณ์ของจำเลยพบว่า บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 มีน้องชายของจำเลยที่ 19 กับพวกถือหุ้น และในช่วงเวลาตามฟ้องบริษัทได้มีโครงการสร้างสนามกอล์ฟและบ้านพักอาศัย โดยได้มีการโฆษณาโครงการในนิตยสารว่าจะมีการสร้างสนามกอล์ฟ 36 หลุม ชื่อปาล์มบีชกอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ เนื้อที่ 3,000 ไร่ไว้บริการ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า บ. ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ซื้อที่ดินจำนวนมาก เพื่อจะทำโครงการสนามกอล์ฟและบ้านพักอาศัยขายให้กับบุคคลทั่วไปจริง การที่จำเลยที่ 19 ขายที่ดินซึ่งบริษัทเหมืองแร่ลานทอง จำกัด รวบรวมซื้อมาจากประชาชนต.คลองด่านให้กับ บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ก็น่าจะเป็นการดำเนินการช่วยเหลือ ให้โครงการของจำเลยที่ 16 ลุล่วงไปโดยเร็ว และที่บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ขายที่ดินต่อให้กับบ.คลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 12 ซึ่งดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งจำหน่ายต่างประเทศก็เนื่องจากจำเลยที่ 16 พัฒนาที่ดินแล้วเกิดปัญหาดินทรุด เพราะเป็นดินเลนติดทะเลไม่คุ้มทุนการทำสนามกอล์ฟ น่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ
ขณะที่ช่วงเวลาที่บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ซื้อที่ดินก็ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการก่อสร้างบำบัดน้ำเสียจะใช้ที่ดินบริเวณใดบ้าง โดยกรมควบคุมมลพิษเพิ่งมีโครงการชัดเจนว่าจะใช้ที่ดิน ต.คลองด่าน ในเดือนก.พ.2539 ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 19 เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือดำเนินการใดๆ ให้คณะกรรมการคัดเลือกของกรมควบคุมมลพิษเลือกที่ดินของให้กับบ.คลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 12 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-19 ฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้คดีนี้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องนายวัฒนากับพวก แต่ตามกฎหมาย กรมควบคุมมลพิษ โจทก์ สามารถยื่นฎีกาได้ภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีนี้แล้ว นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ยังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2551 ให้จำคุก 10 ปี ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ออกโฉนดที่ดินใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ทั้งที่รัฐได้ประกาศหวงห้ามให้ที่บริเวณดังกล่าวใช้เป็นที่ทิ้งขยะมูลฝอยและถนนสาธารณะให้กับ บ.ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 โดยที่ผ่านมานายวัฒนา ได้หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับ เพื่อติดตามนำตัวนายวัฒนา มารับโทษตามคำพิพากษาด้วย ซึ่งคดีดังกล่าวมีอายุความ 15 ปี
ขอบคุณข่าวจาก http://www.bangkokbiznews.com
อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ