'ประจักษ์'ย้ำ : มายาคติประชาธิปไตย ไม่มีทรราชย์เสียงข้างมาก-มีแต่ข้างน้อย

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3155 ครั้ง

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปกคลุมประเทศไทยขณะนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมของเหล่าผู้ชุมนุมที่นำโดยคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งพยายามเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฟากความคิดหนึ่งเห็นว่า ต้องเดินหน้าเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามทั้งสองฟากต่างอ้างประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในสังคมไทยจะถูกมองต่างกันไป คำกล่าวอ้างของ กปปส. ต่อภาวะประชาธิปไตยของไทย เช่น การซื้อเสียง ทรราชย์ของเสียงข้างมาก เป็นต้น ก็ฟังมีเหตุผลและเป็นเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงประชาธิปไตยแบบไทย ๆ กระทั่งกลายเป็นความจริงที่ฝังอยู่ในความนึกคิด โดยมิต้องพิสูจน์ทราบอีกแล้ว

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาในหัวข้อ ‘เสวนามวลมหาประชาธิปไตย’ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเนื้อหามีรายละเอียดมาก เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน จึงจะนำเสนอเป็น 3 ตอน คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ นำเสนอหัวข้อ “มายาคติต่อประชาธิปไตย” เวียงรัฐ เนติโพธิ์ นำเสนอหัวข้อ “มายาคติของประชาธิปไตยไทย : การเลือกตั้งกับระบบอุปถัมภ์” และ ปิยบุตร แสงกนกกุล นำเสนอหัวข้อ “เสรีประชาธิปไตย และนิติรัฐประชาธิปไตย”

มายาคติประชาธิปไตยในสังคมไทย

ประจักษ์ได้เผยมายาคติต่อประชาธิปไตย ที่แผ่คลุมสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ประจักษ์กล่าวว่า หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือเสรีประชาธิปไตยกลายเป็นอุดมการณ์หรือระบอบการเมืองหลักที่ครอบงำโลก ทุกประเทศต่างอ้างว่าตนกำลังปกครองอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังต่อสู้เพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น เหมือนกับว่าแทบจะไม่มีทางเลือกแล้วในทางระบอบการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่จะไปพ้นจากประชาธิปไตยได้ ขณะเดียวกันทุกสังคมต่างก็มีมายาคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยของตน

สังคมไทยเองก็มีมายาคติต่อประชาธิปไตยของตนเองชุดหนึ่ง เป็นมายาคติที่ครอบงำและความใฝ่ฝันของคนจำนวนหนึ่ง และมันส่งผลให้ประชาธิปไตยในสังคมไทย ถูกทำให้สับสนและบิดเบือนอยู่มาก

ประจักษ์แจกแจงว่า มายาคติว่าด้วยประชาธิปไตยหลักในสังคมไทยมีอยู่ 4 ประการหลักๆ เป็นมายาคติที่สังคมอื่นๆ เลิกถกเถียงกันไปนานแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่ในม่านหมอกของมายาคติเหล่านี้

ไม่มีทรราชย์เสียงข้างมาก มีแต่ทรราชย์เสียงข้างน้อย

ประการแรก ประชาธิปไตยคือการปกครองของทรราชย์ของเสียงข้างมาก หากย้อนดูประวัติศาสตร์ทางความคิดทางการเมือง ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้รับการยอมรับจากนักปราชญ์ นักคิดโบราณ เพราะเห็นว่าประชาธิปไตยจะนำไปสู่ความเป็นทรราชย์ของเสียงข้างมาก กดเสียงข้างน้อย และเสียงข้างมากก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป

ด้วยฐานความเชื่อแต่โบราณเช่นนี้ การออกแบบกลไกรัฐธรรมนูญของหลายประเทศจึงเริ่มจากการสร้างกลไกป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากมีอำนาจมากเกินไป สิ่งที่น่าสนใจคือ บรรดางานวิจัยที่ศึกษาประชาธิปไตยทั่วโลก พบว่า การพูดถึงอันตรายของทรราชย์ของเสียงข้างมาก กลับเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงมาก เพราะในห้วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มมีประชาธิปไตย ประเทศส่วนใหญ่ในโลก ปัญหาที่เป็นจริงและน่ากลัวกว่าคือทรราชย์ของเสียงข้างน้อย คือการที่อำนาจตกอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยและผูกขาดครอบงำอำนาจนั้น ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร พรรคการเมือง หรือนายทุนจำนวนน้อย

ประจักษ์กล่าวว่า ขณะที่ภัยจากทรราชย์เสียงข้างมากที่ประชาชนตาดำๆ หรือผู้เลือกตั้งหลายล้านคนมีอำนาจครอบงำที่แท้จริง หรือใช้อำนาจไปในทางที่ผิด กระทั่งทำให้ประเทศล่มจม กลับไม่เคยปรากฏ ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ทรราชย์ของเสียงข้างน้อยหรือภาวะที่เสียงส่วนใหญ่ของคนในสังคมไม่ถูกนับหรือถูกทำให้ไม่มีความหมาย

            “ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สังคมอเมริกา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกาหวาดกลัวมาก เรื่องทรราชย์ของเสียงข้างมาก จึงออกแบบกติกาซับซ้อนมากมาย เพื่อถ่วงดุลอำนาจของสถาบันต่าง ๆ ไม่ให้ใครมีอำนาจมากเกินไป แต่เมื่อผ่านมา 2 ศตวรรษแล้ว คนที่ศึกษาการเมืองอเมริกา พบว่า ปัญหาที่สังคมอเมริกาเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ อำนาจกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนหยิบมือเดียว ได้แก่ พวกบรรษัทยักษ์ใหญ่ นายทุนอุตสาหกรรม บริษัทค้าอาวุธสงคราม เป็นต้น ซึ่งก็ไปครอบงำพรรคการเมืองอีกที ไม่ใช่คนหลายล้านที่เลือกเดโมแครตหรือรีพับลิกันเป็นทรราชย์”

เหตุนี้การพูดถึงทรราชย์ของเสียงข้างมากในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เพราะนับถึงปัจจุบัน การเลือกตั้งที่เป็นกลไกคัดเลือกคนเข้าสู่อำนาจจริงๆ และเสียงของผู้เลือกตั้งหรือประชาชนเริ่มมีความหมาย เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีมานี้เอง ที่ผ่านมาเสียงส่วนใหญ่ไม่เคยมีความหมายเลยในสังคมไทย ถึงปัจจุบัน เมื่อเริ่มมีความหมายก็ถูกทำลาย ถูกดึงกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของเสียงส่วนน้อยที่ไม่ถูกตรวจสอบ

            “การพูดถึงทรราชย์ของเสียงข้างมาก จึงเป็นนามธรรมมาก และไม่มีรูปธรรมที่รองรับเลยที่จะชี้ให้เห็นความเป็นทรราชย์ของเสียงข้างมาก ที่ทำให้กฎหมายหรือนโยบายไปผิดทิศผิดทาง ปัญหาที่เราเจอคือผู้เลือกตั้งที่เป็นเสียงส่วนมากนั่นแหละ ไม่สามารถควบคุมนักการเมืองที่ตัวเองเลือกไปได้ แล้วนักการเมืองก็หลุดลอยไปจากการกำกับควบคุมของเสียงข้างมาก แล้วก็ไปใช้อำนาจนำของเสียงข้างน้อย” ประจักษ์ กล่าว

ศีลธรรมต้องถูกทำให้เป็นประชาธิปไตย

ประจักษ์ยังได้ยกคำพูดของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2553 ว่า จะต้องต้านระบบหนึ่งคน หนึ่งเสียง เพราะโจร 499 คน ย่อมโหวตชนะพระ 1 รูปทุกครั้งไป ประจักษ์กล่าวว่า ปัญหาในคำพูดของสนธิคือมันเป็นโลกสมมติ และในโลกสมมติทุกอย่างย่อมถูกต้องตามที่สมมติเสมอ ทว่า ในโลกของความเป็นจริงสังคมไม่ได้มีโจร 499 คนกับพระรูปเดียว เพราะถ้ามีโจรมากขนาดนั้นประเทศไทยคงล่มสลายไปแล้ว และประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นไม่ได้

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนในสังคมร้อยละ 99 เป็นพระหมด ประชาธิปไตยจะกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไปในทันที เพราะจะไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์และอุดมการณ์เลย

            “ในโลกความเป็นจริง เป็นโลกของคนดี ๆ ชั่ว ๆ 500 เป็นปุถุชนธรรมดา ไม่ได้ถูกสาปให้ดีหรือชั่วตั้งแต่กำเนิด ฉลาดบ้าง โง่บ้าง ความคิดเปลี่ยนแปลงได้ ใช่จะเห็นตรงหรือแย้งกับคนอื่นไปเสียทุกเรื่อง ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราสลับเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อยได้ ไม่มีเสียงที่ครอบงำสังคมไปตลอดกาล ในแง่นี้สังคมจึงต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ แต่เพราะเป็นการปกครองที่เหมาะที่สุดกับคนธรรมดาสามัญที่คิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องผลประโยชน์ การจัดระเบียบสังคม หรือกระทั่งความดีงาม ประชาธิปไตยตั้งต้นมาจากความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยไม่มีใครผูกขาดความดีงาม และไม่มีใครควรมีสิทธิ์ยัดเยียดหลักศีลธรรมให้คนอื่น แต่ควรเปิดพื้นที่ให้แก่ความเห็นต่าง ในเรื่องความดี ความงาม และความจริง โดยไม่ชี้หน้าถามว่า คุณรักชาติหรือเปล่า คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า”

ประจักษ์ย้ำอีกว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ไม่ต้องการหรือต่อต้านศีลธรรม แต่ศีลธรรมหรือความดีงาม ต้องถูกทำให้เป็นเรื่องที่เถียงได้ เพราะไม่ได้มีความหมายเดียว ศีลธรรมจึงต้องถูกทำให้มีประชาธิปไตยด้วย

หยุดแอบอ้างประชาธิปไตยทางตรง

มายาคติประการต่อมาคือ ต้องสร้างประชาธิปไตยทางตรง แทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้าย ประจักษ์เห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว ความคิดแบบนี้นับว่าอันตรายมาก เพราะเมื่อไปถึงจุดหนึ่ง กลุ่มที่ต้องการประชาธิปไตยทางตรง จะไม่สนใจกระบวนการหรือวิธีการอีกต่อไป สามารถทำอย่างไรก็ได้ให้เสียงของคนที่กลุ่มนี้เชื่อว่าเป็นประชาชนจริง ๆ ได้ขึ้นมามีอำนาจก็เพียงพอ

ในยุโรปยุคหนึ่งฐานคิดนี้เป็นฐานคิดของคนที่แอบอ้างอุดมการณ์ฟาสซิสต์ ซึ่งเชื่อจริงๆ ว่า ตนกำลังสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนมีอำนาจแทนนักการเมือง แต่ปัญหาคือในโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่ประชาธิปไตยทางตรงแบบกรีก ไม่สามารถเป็นไปในรัฐชาติสมัยใหม่ ที่มีประชากรหลายสิบล้าน ท้ายที่สุดต้องมีระบบตัวแทนอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

สิ่งที่ทั่วโลกทำจึงเป็นการพยายามออกแบบให้ได้มาซึ่งระบบตัวแทนที่ดีที่สุด และตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนให้ได้มากที่สุด ขยายความเป็นตัวแทนที่หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มอาชีพและชนชั้นที่แตกต่างกันไป และสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจ อีกทั้งกลไกที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงมีได้มากมาย เช่น การออกเสียงประชามติ เป็นต้น

            “แต่ในแง่กรอบโครงสร้าง ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีระบบตัวแทน โจทย์ คือไม่ใช่ทำลายระบบตัวแทนลงไป แล้วไปตั้งสภาประชาชน 500 คน ที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งกันเอง ถามว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากกว่าสภาผู้แทนราษฎรตรงไหน สภาฯ อย่างน้อยมาจากการใช้สิทธิของคน 40 ล้านคน มีข้อบกพร่องแน่นอน แต่คำถามคือแล้วสภาประชาชนเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากกว่าตรงไหน ถึงที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนอีกแบบหนึ่ง ซ้ำยังเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ของคนจำนวนน้อยมาก”

ประจักษ์กล่าวว่า สังคมไทยต้องระมัดระวังเสมอ เมื่อใครแอบอ้างเรื่องประชาธิปไตยทางตรงในสังคมไทย เพราะเมื่อตรวจสอบจะพบว่า สิ่งที่อ้างว่าประชาธิปไตยทางตรงก็คือระบบตัวแทนอีกแบบหนึ่ง และอาจไม่สะท้อนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น อย่าแอบอ้างประชาธิปไตยทางตรง เพราะท้ายสุด ทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ล้วนทำในนามของผลประโยชน์และอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งเสมอ ไม่มีใครเป็นตัวแทนเจตจำนงของคนทั้งชาติได้อีกแล้ว

            “ในแง่นี้ ไม่ว่าคุณจะสร้างระบบตัวแทนแบบไหนขึ้นมา โดยเฉพาะระบบที่คนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม ก็จะมีเพื่อนร่วมสังคมที่เห็นต่างจะอ้างความเป็นตัวแทนแบบอื่นขึ้นมาสู้เสมอ เพราะตอนนี้ไม่มีใครเป็นตัวจริงมากกว่าใครแล้ว การแอบอ้างประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่มีวันจบสิ้นได้ ความคิดของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และผู้ชุมนุมก็เป็นความคิดชุดหนึ่งที่สังคมรับฟัง แต่อย่าบอกว่านี่คือประชาธิปไตยทางตรงที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้เที่ยงตรงกว่าระบบการเลือกตั้ง และระบบผู้แทนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน”

ประชาธิปไตย-รูปแบบก็คือเนื้อหา

มายาคติประการที่ 3-ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาสูงส่งกว่าประชาธิปไตยเชิงกระบวนการ ประจักษ์ เห็นว่า ประเด็นนี้ควรเลิกถกเถียงได้แล้ว ว่าอะไรสำคัญกว่ากัน เพราะในหมู่นักรัฐศาสตร์ก็เถียงกันมาตลอดห้าสิบหกสิบปี กระทั่งเหลือแต่สังคมไทยที่ยังเถียงในประเด็นนี้อยู่ ขณะที่วงวิชาการที่อื่นทั่วโลกไม่มีใครเถียงกันอีกแล้วว่า จะสร้างประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งหรือประชาธิปไตยแบบเนื้อหาที่เน้นการปฏิรูป

ประจักษ์ขยายความว่า ในสังคมทุกสังคมต้องการประชาธิปไตยทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับประชาธิปไตยแล้ว รูปแบบก็คือเนื้อหา สองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะสิ่งที่สังคมต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูประบบภาษี การต่อสู้กับคอร์รัปชั่น ที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา ท้ายที่สุดต้องผ่านกระบวนการที่คนทั้งสังคมมีส่วนร่วมคิด ร่วมนำเสนอ กระบวนการจึงสำคัญ เพราะกระบวนการที่นำมาสู่เนื้อหา ถ้าถูกละเลย ตัวเนื้อหาที่ได้มาจะไม่ชอบธรรม และไม่ยอมรับเนื้อหาที่ถูกยัดเยียด

            “ตัวอย่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังการสลายการชุมนุม มีการตั้งคณะกรรมการและสมัชชาปฏิรูป นำเสนอเนื้อหาการปฏิรูปที่ดีมากขึ้นมา แล้วคุณสุเทพก็หยิบยกข้อเสนอเหล่านั้นมา ล่าสุดเสนอ 5 ข้อ บางข้อก็มาจากนักวิชาการรัฐศาสตร์บางคนที่ไปเป็นที่ปรึกษา กปปส. เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ น่าสนับสนุน แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า สังคมไทยมีเรื่องที่จะต้องปฏิรูป 5 ข้อ พวกคุณต้องรับเอาไป พวกเราบรรลุแล้ว ไม่ต้องผ่านตัวแทนหรือกระบวนการคิดร่วมกันเลย”

ด้วยเหตุนี้ประชาธิปไตยเชิงกระบวนการจึงมีความสำคัญ เพราะอย่างน้อยทำให้คนในสังคมพร้อมที่จะอยู่ร่วมกัน เนื่องจากท้ายที่สุด ประชาชนทุกคนต้องอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่มีส่วนร่วม ต่อให้ข้อเสนอดีเพียงใด ก็จะมีคนจำนวนมากไม่ยอมรับ

ไม่พร้อมมีประชาธิปไตย คือข้ออ้างรักษาอำนาจของชนชั้นนำ

มายาคติประการสุดท้ายที่ประจักษ์กล่าวถึงคือ ประชาธิปไตยจะงอกงามได้ในสังคมที่คนมีการศึกษาสูงและฐานะดีเท่านั้น หรือมายาคติเรื่องชนชั้นกลาง ซึ่งวาทกรรมความไม่พร้อมนี้ นับเป็นวาทกรรมคลาสสิกในสังคมไทยที่พบมาตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ซึ่งชนชั้นนำทั่วโลกต่างใช้วาทกรรมความไม่พร้อมของประชาชนเพื่อรักษาอำนาจของตนเอาไว้ โดยอธิบายว่า สังคมต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนจึงจะมีประชาธิปไตยได้ เช่น ระดับการศึกษาที่สูง ประชาสังคมที่เข้มแข็ง การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ก้าวหน้า โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ดี ความเป็นเอกภาพของคนในชาติ ค่านิยมแบบประชาธิปไตย เป็นต้น

            “ในทางประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไม่เคยพัฒนาอย่างราบเรียบ แต่มาจากการต่อสู้ เรียนรู้ ทดลอง ผิดพลาด ความพร้อมแบบสำเร็จรูป ไม่มี มีแต่การเดินหน้า ปรับเปลี่ยน และเติบโตไปด้วยกันกับคนในสังคม”

ประจักษ์ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่มหัศจรรย์ในทางประชาธิปไตย เพราะหากดูจากวาทกรรมข้างต้น ประชาธิปไตยไม่มีทางงอกงามได้ในประเทศอินเดีย เพราะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมหาศาล ความหลากหลายของภาษาและเชื้อชาติสูงมาก จนขาดความเป็นเอกภาพของคนในชาติ มีคนไร้การศึกษามากมาย แต่อินเดียกลับมีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพเกือบจะมากที่สุดในโลกตั้งแต่ได้รับเอกราช แม้ว่าจะมีปัญหาขรุขระ แต่คนและกลุ่มการเมืองต่างๆ ในอินเดียก็ประคองประชาธิปไตย ไม่ให้ถูกรัฐประหารหรือล้มลุกคลุกคลานลงไป บทเรียนของอินเดียจึงชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ไม่ใช่เงื่อนไขที่กำหนดและชี้ขาดว่า สังคมหนึ่ง ๆ จะมีประชาธิปไตยได้หรือไม่ แต่การมีประชาธิปไตยต่างหากที่จะช่วยบรรเทาเบาบางและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เหล่านี้ให้ดีขึ้น

ขณะที่ประเทศไทย ชนชั้นนำไทยยังคงเชื่อฝังหัวกับวาทกรรม เรื่องประชาชนไม่พร้อม ปัญญาชน และนักปฏิรูปส่วนใหญ่ยังยึดถือทฤษฎีนี้ว่า จะต้องมีการพัฒนาสังคมไทยให้พร้อมก่อน เพื่อที่จะปลูกสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา มีความพยายามทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน สอนคนให้คนรู้จักประชาธิปไตย และเชื่อว่าเมื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมแล้ว สังคมไทยจึงจะพร้อมมีประชาธิปไตย

            “แทนที่จะคิดกลับกันว่า การกระจายรายได้ การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม การยกระดับการศึกษา เป็นสิ่งที่สังคมทุกสังคมต้องทำอยู่แล้วตลอดเวลา ไม่ใช่หยุดการมีประชาธิปไตยหรือแช่แข็งประเทศชั่วคราวเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ แล้วจึงกลับมามีประชาธิปไตยได้ สิ่งที่ทั่วโลกทำก็คือ ใช้กระบวนการประชาธิปไตยนั่นแหละแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะกระบวนการประชาธิปไตยทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม แล้วกดดันให้ชนชั้นนำหรือพรรคการเมืองต้องตอบสนองกับข้อเรียกร้องของประชาชน จึงนำมาสู่การปฏิรูปสังคมได้”

ต้องเร่งปฏิรูปชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมือง

แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับมายาคติเหล่านี้ ประจักษ์เห็นว่า สิ่งที่ต้องปฏิรูปเร่งด่วนในสังคมไทยกลับมิใช่การปฏิรูปตามข้อเสนอของ กปปส. แต่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคมไทย โจทย์คือทำอย่างไรให้ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมือง...

1.มีมายาคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยน้อยลง

2.มีอคติทางการเมืองเกี่ยวกับคนที่คิดต่างจากตนน้อยลง

3.เคารพเสียงและสิทธิการตัดสินใจของเพื่อนร่วมชาติมากขึ้น (ความเสมอภาคทางการเมือง)

4.หวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน้อยลง

5.เคารพกติกาการอยู่ร่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

            “ถ้าไม่สามารถปฏิรูปชนชั้นกลางและชนชั้นสูงได้ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล วิกฤตจะกลับมาอีก โดยเฉพาะหลักความเสมอภาคทางการเมือง สำหรับผมคิดว่าตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทย ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับหรือออกแบบระบบการเมืองให้ดีอย่างไร แต่ถ้าคนยังไม่เชื่อว่าเพื่อนร่วมชาติมีความเสมอภาคทางการเมืองเท่ากับเรา ไม่มีทางที่ประชาธิปไตจะเจริญงอกงามในประเทศนี้ได้” ประจักษ์ กล่าวปิดท้าย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: