รัฐบาลปรับแผนใช้ศก.นำการเมือง ชะลอกฎหมายขัดแย้งทุกรูปแบบ  ทุ่มงบครม.สัญจร-ลงทุน5ล้านล้าน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 21 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1860 ครั้ง

รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชิงลงมือในช่วงเปิดเทศกาลเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เปิดแผนลงทุนโครงการพื้นฐานทั่วประเทศ หวังผลระยะสั้นคือชิงคะแนนให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้ขึ้นเสาชิงช้า เป็นรัฐบาลเมืองหลวง กินรวบทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลท้องถิ่น

 

ตั้งแต่สัปดาห์แรกของปี 2556 คณะรัฐมนตรี “สายใน” และ “สายตรง” ชุมนุมอยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กับนายกรัฐมนตรี อย่างเคร่งเครียดเกือบทุกวัน เพื่อปฏิบัติภารกิจ การจุดพลุปีแห่งการลงทุน ครั้งมโหฬาร ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และกลุ่มหัวเมืองใหญ่ ในรูปแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มจังหวัด 9 กลุ่ม 76 จังหวัด พร้อม ๆ กับเตรียมฟื้นแนวทางการบริหารจัดการแบบผู้ว่าซีอีโอ. และแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการรอบที่ 2 ต่อยอดจากยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงพื้นที่ทั้งผ่านระบบการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และลงพื้นที่เพื่อตรวจโครงการลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมแล้วเกือบทุกจังหวัด และลงพื้นที่ชายแดนในภาคตะวันออกและภาคเหนือ เพื่อคัดโครงการลงทุนให้สอดคล้องกับการเข้าสู่เศรษฐกิจในประชาคมอาเซียน

 

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ทั่วประเทศ 8 ครั้ง คณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 1” ถึง “ยิ่งลักษณ์ 3” ได้อนุมัติกรอบงบประมาณในการลงทุนโครงการต่างๆ ไปแล้ว เกือบ 1 ล้านล้านบาท คือ ตามตัวเลขที่สำนักงบประมาณรวบรวมคือ ประมาณ 950,510.239 ล้านบาท

 

สำหรับกรอบโครงการ ส่วนใหญ่เสนอผ่าน คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ประกอบด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ครั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8 จังหวัดภาคเหนือ วงเงิน 380,000 ล้านบาท งบประมาณถูกเน้นหนักไปในเรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ รวมถึงรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่

 

 

 

ครั้งที่ 2 จังหวัดอุดรธานีและกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ได้รับการอนุมัติงบประมาณ 310,000 ล้านบาท มีโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ 140,000 ล้านบาท ก่อสร้างถนนเลียบริมลำน้ำโขงอีก 60,000 ล้านบาท

 

ครั้งที่ 3 จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดโซนอันดามัน ได้รับการจัดสรรวงเงินไปกว่า 84,000 ล้านแบ่งเป็นงบประมาณ 59,358 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งทางบก พัฒนาเครือข่ายถนนทางเชื่อม ยกระดับท่าอากาศยานภูเก็ตให้เป็นสนามบินนานาชาติ และสร้างสะพานท่าเทียบเรือ จ.พังงา-ระนอง

 

ครั้งที่ 4 จังหวัดกาญจนบุรีและกลุ่มภาคกลางตอนล่าง อนุมัติวงเงินให้ 33,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพื่อแผนพัฒนาถนน ซ่อมสร้างฝายเก็บน้ำ และแนวทางพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับพม่า ในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

 

ครั้งที่ 5 จังหวัดชลบุรีและจังหวัดภาคตะวันออก ได้รับการอนุมัติงบประมาณ 4,300 ล้านบาท

 

 

ครั้งที่ 6 จังหวัดสุรินทร์และกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ เห็นชอบงบประมาณไปกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งทำโครงการทันทีเพียง 58 โครงการ วงเงิน 1,020.38 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้นได้เพียงอนุมัติในหลักการไว้เท่านั้น

 

ครั้งที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 19,210.239 ล้านบาท

 

ครั้งที่ 8 จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2556 จะอนุมัติกรอบงบประมาณ  6,448.50 ล้านบาท  ประกอบด้วย 12 โครงการ คือ จัดตั้งศูนย์การค้าข้าวครบวงจร จ.นครสวรรค์  พัฒนาโครงข่ายคมนาคม ก่อสร้างรถไฟรางคู่ จ.นครสวรรค์ ก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า พื้นที่ 100 ไร่ จ.พิษณุโลก โครงการบริหารจัดการน้ำ สร้างเขื่อนเรียงหิน จ.สุโขทัย

 

นอกจากจะเห็นชอบกรอบการลงทุนหนัก ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่างทั้งกระบิแล้ว คณะรัฐมนตรีสัญจร จะให้การเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การลงทุนอีก 2 ล้านล้านบาทด้วย

 

ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ระหว่างวันที่ 21-25 มกราคม 2556 รัฐบาลจึงสาละวนอยู่กับการประกาศแผนการลงทุน และสั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการ ปลัดกระทรวงทุกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการทั่วประเทศ นำไปปฏิบัติ โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณจองโรงแรมขนาดใหญ่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ในวันอังคารที่ 22 มกราคม นี้ ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายสำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ และการชี้แจงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เนื้อหาที่นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ส่วนราชการทั่วประเทศนำไปปฏิบัติคือ แผนการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการขยายตัวแบบ New growth new model จาก 4 ด้าน คือ การปรับโครงสร้างการผลิตและบริการ การสร้างรายได้จากอุตสาหกรรม และธุรกิจที่ประชาชนมีส่วนร่วม อุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปประเทศด้วยกฎหมาย ปฏิรูประบบราชการ เป้าหมายเพื่อให้ประเทศมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี (ปีงบประมาณ 2555-2560)

 

มาจากแผนการใช้จ่ายงบประมาณปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นไป รัฐบาลมีแผนในการลงทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนยุทธศาสตร์ 2 ล้านล้านบาท รวมกับลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นมียอดงบประมาณที่รัฐบาลต้องทำตามแผนทั้งสิ้นประมาณ 4.75 ล้านล้านบาท

 

ในคราวเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทีมรัฐมนตรี “กลุ่มสายตรง” อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมชี้แจง และสั่งการให้ระดับกระทรวง กรม และจังหวัด นำแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศไปปฏิบัติด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

และยังมีเสนาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ-ฝ่ายคลัง-ฝ่ายงบประมาณ-ฝ่ายพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ทั้ง 4 สำนัก อาทิ นายอาคม เติมพิทยาไพสิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ผู้จัดแผนการลงทุน ร่วมกับนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พร้อมทั้งนาย นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมชี้แจงรายละเอียดการจัดทำคำของบประมาณ ทุกกรอบอย่างละเอียดด้วย

 

แหล่งข่าวจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในปี 2556 รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบริหารงบประมาณทั้งเงินกู้ และเงินในงบประมาณ เพื่อให้เกิดผลงาน ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม มีโครงการรถไฟฟ้า ทางด่วน ทางหลวงพิเศษ กลุ่มโครงการใหญ่ ๆ ของประเทศ ต้องเริ่มลงทุนเพื่อก้าวข้ามปัญหาทางการเมืองที่อาจเกิดอุบัติเหตุ ให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ดังนั้นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ หรือวาระทางการเมือง จะต้องถอยหรือชะลอหมดทุกแผน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         “เรื่องรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ปรองดอง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ที่รัฐบาลต้องการถอยทางการเมือง จากนี้ไปจะไม่ขับเคลื่อนทางการเมืองตามแรงผลักของพรรคเพื่อไทย และตามแนวของกลุ่มเสื้อแดง แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับการลงทุน การพูดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักเท่านั้น ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะไปต่อลำบาก” แหล่งข่าวกล่าววิเคราะห์

 

 

โฉมหน้าของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจประเด็นทางการเมือง ที่ต่างไปจากสไตล์ของพรรคเพื่อไทย และแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการขับเคลื่อน 2 ทาง ทั้งการใช้เงินลงทุน และการใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอกฎหมายปรองดอง และแผนการนิรโทษกรรม อาจต้องรอการปฏิสนธิไปอีกระยะ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: