กนง.6ต่อ1ให้คงดอกเบี้ย2.75% ศก.โลกไม่นิ่ง-เสถียรภาพยังเสี่ยง ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งจากนโยบายรัฐ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 21 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 1652 ครั้ง

การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นที่จับตาและได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเงิน การคลัง การลงทุน เป็นพิเศษ ผลจากสถานการณ์การปะทะกันทางความคิดที่ผ่านมา ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงค์ชาติ กับกระทรวงการคลัง นำโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ต่อกรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

ผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำให้เกิดอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ แต่ด้วยธรรมชาติของเงินที่มักไหลไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายจึงกระหน่ำมายังภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ดูมีความหวังทางเศรษฐกิจมากที่สุดในขณะนี้ จนเป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ในแถบนี้แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่พบว่า บาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกชนิดเลี่ยงไม่ได้

 

 

นายกิตติรัตน์ในฐานะผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย จึงแสดงความเห็นผ่านสื่อและส่งจดหมายถึง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้แบงค์ชาติภายใต้การนำของดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอีกตำแหน่งเป็นประธาน กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอการไหลเข้าของทุนเคลื่อนย้าย จดหมายของนายกิตติรัตน์ยังมีน้ำเสียงกดดันด้วยว่า หากแบงค์ชาติดึงดันไม่ยอมลดดอกเบี้ย จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศก็ควรแสดงความรับผิดชอบ จนถูกมองว่าเป็นอีกครั้งที่การเมืองพยายามเข้าไปแทรกแซงการทำงานของแบงค์ชาติและต้องการบีบประสารลงจากตำแหน่ง

 

 

กนง.เสียงแตก 6 ต่อ 1 ไม่ลดดอกเบี้ย

 

 

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงว่า เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นและส่งสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างก็ตาม ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2555 มีการขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศที่เป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลังที่ยังคงผ่อนคลาย และการคาดการณ์การส่งออกที่น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นบ้างจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

 

 

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมดแล้ว ทาง กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมา เอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ กนง. จึงมีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดย 1 เสียงที่เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 เปอร์เซ็นต์นั้น ให้เหตุผลว่า เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายและเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเปราะบาง

 

ผลก็เป็นไปตามที่มีการวิเคราะห์ไว้ว่า กนง. จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ย โดยนอกจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า แบงค์ชาติไม่ยอมอ่อนให้ฝ่ายการเมือง

 

 

ประเมินทุกปัจจัยเศรษฐกิจ ย้ำปลอดแรงกดดันจากการเมือง

 

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 2.75 ตามเดิม ทางคณะกรรมได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบแล้ว มิใช่แต่ประเด็นเงินทุนเคลื่อนย้ายเพียงประเด็นเดียว

 

 

           “เราประเมินแล้วว่าปัจจัยต่าง ๆ มีผลอย่างไรต่อการรักษาเสถียรภาพและการเติบโตเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ แต่เมื่อพิจารณาโดยชั่งน้ำหนักจากหลายปัจจัย คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้เป็นอัตราที่เหมาะสมต่อการรักษาเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคโดยภาพรวม”

 

 

และยังปฏิเสธว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีการพูดถึงความเป็นอิสระของแบงค์ชาติหรือแรงกดดันจากฟากการเมืองแต่อย่างใด

 

 

เฝ้าจับตาหนี้ครัวเรือนพุ่งจากนโยบายรัฐ

 

 

แบงค์ชาติในฐานะผู้กำกับนโยบายการเงิน ซึ่งต้องคอยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและคอยเบรกไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป ค่อนข้างจับตาการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นพิเศษ เนื่องจากยังคงขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องจาก 17.3 เปอร์เซ็นต์ ของไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว เป็น 20.3 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 4 เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรกที่ทำให้สินเชื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 33.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมเติบโตในปี 2555 ก็โตขึ้นถึง 24.4 เปอร์เซ็นต์

 

นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จำนวนบัตรเครดิตก็เร่งตัวสูงขึ้นและมียอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14.26 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 9.56 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคนไทยที่เร่งตัวขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การคงดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อไม่ให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายมากจนเกินไป

 

 

           “เรื่องของเสถียรภาพทางการเงินเป็นเรื่องที่เราพูดกันมาพอสมควร ไม่ใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก สถานการณ์การขยายสินเชื่อบางประเภทค่อนข้างจะร้อนแรงและเร่งตัว ภาระหนี้ครัวเรือนก็ปรับสูงขึ้น สินทรัพย์ในตลาดบางตลาดก็ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว เหล่านี้เป็นปัจจัยเดิมที่เรามองอยู่ ภาวะที่เราเกิดขึ้นหลังจากการประชุมครั้งก่อนก็ไม่ได้ทำให้เราเบาใจขึ้น คิดว่าเป็นปัจจัยที่เราต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: