‘นิด้า’ชี้ผลผู้ว่าฯอาจพลิก เอแบคชี้3ตัวเต็งมีโอกาส

21 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 1260 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลการสำรวจ เรื่อง “ลักษณะเด่นหรือโปรไฟลิงก์ (Profiling) ของกลุ่มคนที่ยังเปลี่ยนใจเลือกคนอื่นได้ แต่ถ้าเลือกจะเลือกใคร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร” จากกลุ่มเป้าหมาย 2,498 คน ระหว่างวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า ผลสำรวจกับผลการเลือกตั้งจริงไม่ตรงกันอาจพลิกได้ เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมในกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้ โดยพบว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่อาจเปลี่ยนใจได้ร้อยละ 25.6 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แต่ร้อยละ 24.8 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร นั่นหมายความว่า ห่างกันเพียงไม่ถึง 1 จุดเท่านั้น โอกาสที่จะพลิกจึงยังคงมีอยู่ หากประชาชนผู้อาจเปลี่ยนใจได้มีเพิ่มมากขึ้น และไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากกว่ากลุ่มคนที่บอกว่าไม่เปลี่ยนใจแล้วในผลโพลล์ แต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

ยิ่งไปกว่านั้นในกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้อีกสูงถึงร้อยละ 21.3 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส นั่นก็หมายความว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็มีลุ้นเช่นกัน เพราะคะแนนที่ทิ้งห่างกันไม่เกิน 7 จุด ในการสำรวจครั้งนี้ และยังมีเวลาอีกประมาณ 10 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งอะไรก็อาจเกิดขึ้นได้

 

ดร.นพดลกล่าวว่า เมื่อดึงข้อมูลกลุ่มตัวอย่างที่อาจเปลี่ยนใจได้อีกมาวิเคราะห์ลักษณะเด่น หรือทำโปรไฟลิงก์ (Profiling) พบว่า ในกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้ร้อยละ 55.6 เป็นหญิง ร้อยละ 49.6 อายุ 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 48.0 รายได้เกินเดือนละ 10,000 บาท ร้อยละ 80.4 ของกลุ่มคนที่อาจเปลี่ยนใจได้นี้ มีสิทธิเลือกตั้งและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของกรุงเทพมหานครมากกว่า 15 ปีและเป็นกลุ่มที่อยู่กรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เกิด อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 48.5 ของคนกลุ่มนี้ “ไม่แน่ใจ” ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้หรือไม่

 

ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลสำรวจพบแนวโน้มของประชาชนที่รับรู้การซื้อขายเสียงเพิ่มขึ้นในชุมชนที่พักอาศัยจากร้อยละ 12.2 ในช่วงวันที่ 8 - 13 ก.พ. มาอยู่ที่ร้อยละ 15.7 ในช่วงวันที่ 15 - 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 54.1 เป็นหญิง ร้อยละ 45.9 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.4 อายุ น้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 17.9 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 22.7 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 34.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 28.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 31.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.2 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

 

ด้านนายสุวิชา เป้าอารี ผอ.ศูนย์การสำรวจความเห็นนิดาโพลล์ กล่าวถึงนิด้าโพลล์โค้งที่ 5 ที่ระบุว่า ยังมีคนกทม.ร้อยละ 36.84 ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯกทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เเละคะเเนนของพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.พรรคเพื่อไทย นำม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถึงร้อยละ 1 ว่า คน ที่ไม่ตัดสินใจ

 

ในการทำโพลล่าสุดของนิด้าโพลล์อ้างว่ารอดูนโยบาย เเต่ตนมองว่าไม่น่าจะใช่เเบบนั้น เเต่ตนมองว่า การที่คนกทม.ตอบเเบบนี้เป็นการตอบเชิงนโยบาย เพราะร้อยละ 36.84 ที่ยังไม่ตัดสินใจนั้น ตนเชื่อว่ามีคนในใจเเล้วเเต่ไม่บอกเเละยังไม่เเน่ใจ โดยรอดูวินาทีสุดท้ายว่า คนที่จะเลือกนั้นจะมีอะไรเเปลก ๆ ในช่วงสุดท้ายหรือไม่เเละอาจเปลี่ยนตัวในตอนสุดท้าย เพราะคนกรุงเทพฯ มักจะเป็นเเบบนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเลือกตั้งบางครั้งในการตอบเอ็กซิทโพลก็ตอบกันคนละเเบบกับผลคะเเนนที่ออก นายสุวิชากล่าวว่า เพราะอาจไม่มั่นใจว่าคนที่มาสอบถามเป็นคนของใครที่มาสอบถาม จึงตอบไปคนละอย่างกับสิ่งที่ตัวเองลงคะเเนน เมื่อถามว่าโพลครั้งนี้มีโอกาสหักปากกาเซียนหรือไม่ นายสุวิชากล่าวว่า ในวันนี้คนไทยเเละฝ่ายการเมืองเครียดกับผลโพลในคราวนี้มาก ส่วนกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจจะเป็นกลุ่มตัดสินการลงคะเเนนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอวินาทีสุดท้ายในการลงคะเเนนเพราะเเฟนคลับนั้นไม่ว่าผู้สมัครจะเป็นเช่นใดก็จะเลือก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: