บทบาทสื่อต่อสังคมการเมืองไทย เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง ทั้งการอยู่รอดในเชิงธุรกิจธุรกิจ และบทบาทสื่อกับอุดมการณ์ทางการเมือง การเติบโตของสื่อใหม่ ล้วนแต่เป็นสิ่งท้าทายสื่อดั้งเดิมในการปรับตัวขณะที่ต้องคงความเป็นมืออาชีพเอาไว้
วงสัมมนานาหัวข้อ “สื่อมืออาชีพกับจรรยาบรรณ....เรื่องที่สังคมอยากรู้” ซึ่ง มีเดีย อินไซด์ เอาท์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 เชิญสื่อมืออาชีพระดับอาวุโสจากหลายสำนักมาร่วมกันแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล รองประธานกรรมการบริหารสายงานข่าวและรายการ สปริงนิวส์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน, อธึกกิต แสวงสุข บรรณาธิการรายการ Intelligence วอยซ์ทีวี และ จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ดำเนินรายการโดย จอม เพชรประดับ พิธีกรรายการ “ฟันธง” สถานีโทรทัศน์ช่อง 11
จอม เพชรประดับ เปิดประเด็นเรื่องความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความเป็นมืออาชีพ กับจรรยาบรรณว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า จากประสบการณ์ของเขาที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยถูกอ้างเหตุผลเรื่องจรรยาบรรณ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นสื่อกับจรรยาบรรณนั้นดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่อและเป็นเรื่องอุดมคติ และน่าตั้งคำถามด้วยว่า สื่อทุกวันนี้กำลังเป็นมืออาชีพแบบไทยๆ อยู่หรือไม่
สมเกียรติ อ่อนวิมล: หน้าที่สื่อ จงรักภักดีต่อความจริง ตรวจสอบความจริง และภักดีต่อพลเมือง
สมเกียรติ อ่อนวิมล ตอบประเด็นความเป็นสื่อมืออาชีพ และจรรยาบรรณว่าเป็นสองเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน
“ความเป็นมืออาชีพ คือขีดความสามารรถ ทักษะในการทำงานตามความต้องการของอาชีพนั้นๆ เมื่อเราเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ก็ต้องรู้ว่าจะเขียนข่าว ผลิตข่าว กระบวนการออกแบบให้เป็นมืออาชีพ หรือถ้าทำโทรทัศน์ก็ต้องรู้เรื่องกล้อง มุมกล้อง แสง การลงเสียง การออกเสียง การมิกซ์ภาพเสียง ลำดับเรื่องให้สั้นยาวตามความเหมาะสมที่จะเอามาใช้ในข่าว คือทำอะไรให้ดีที่สุดตามที่เงื่อนไขของการผลิตงานนั้นๆ เขาทำ ไม่ใช่ทำอิเหละเขระขระ แต่ส่วนหนึ่งของการเป็นมืออาชีพ ก็มีกรอบการดำเนินชีวิต คือจรรยาบรรณหรือจริยธรรมวิชาชีพ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Professional Ethics
สมเกียรติกล่าวว่า อาชีพสื่อสารมวลชนนั้นเกิดจากโลกตะวันออกที่ต้องมีข่าวสารถึงกันเพราะต้องเดินทางไกล บุกเบิกล่าอาณานิคม ทำให้เกิด shipping news และกลายเป็นประวัติของสื่อสารมวลชนที่เกิดขึ้นประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา ที่คนซึ่งไปล่าอาณานิคมมาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นและข่าวสารกัน ตามร้านเหล้า หรือผับ แต่ความเห็นที่เกิดขึ้นก็เกิดใน pub ก่อให้เกิด Public Opinion ในที่สุด เจ้าของผับเรียกว่า Publican
เขากล่าวว่า วิธีคิดเกี่ยวนิเทศศาสตร์ปัจจุบันมีหลากหลายสำนัก และนิเทศศาสตร์สายฮาร์เบอร์มาสนั้นล้าสมัยไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงจรรยาบรรณสื่อแล้ว ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน พร้อมทั้งกล่าวถึงวิวัฒนาการว่า ในอเมริกามีปัญหาสื่อมวลชนมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 1960 มีผลงานวิจัยวิกฤตสื่อมวลชนในอเมริกา คนไม่เลื่อมใสสื่อมวลชนเพราะทำงานเอาใจสปอนเซอร์ และผู้คนเริ่มหันมาหาสื่อใหม่ การพยายามวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกในตะวันตกเกิดขึ้นโดยวงเสวนาที่สื่อ และนักวิชาการสื่อสัมมนากันที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในทศวรรษ 1980 แล้วย่อยมาเป็นพ๊อกเก็ตบุ๊ก สรุปว่ามีบัญญัติ 10 ประการ ที่จะทำให้วิทยุและโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ที่ถูกประชาชนเมินเฉย คือกลับมายึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ สมเกียรติกล่าวว่าแต่โดยสรุปแล้ว ตัวเขาเองให้ความสำคัญกับหลักใหญ่ 3 ประการคือ สื่อมวลชนจะต้องจงรักภักดีต่อความจริง สองต้องตรวจสอบความจริง สามต้องภักดีต่อพลเมือง นอกนั้นคือต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจในสังคม มีอิสระในการคิด และประชาชนมีส่วนร่วม
เขาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาทำและประสบการต่อต้านมากในการทำงานที่ผ่านมาคือ การพยายามสลายโต๊ะข่าว เพื่อให้ผู้สื่อข่าวทำข่าวได้หลากหลาย ไม่ยึดติดกับประเด็นเฉพาะเรื่องของตัวเอง และสลายหัวหน้าโต๊ะข่าว เพื่อไม่ให้เกิดลำดับชั้นทางความคิด
สมเกียรติ กล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องความคลุมเครือระหว่างการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับข่าวว่า เขาจะพยายามไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับสปริงนิวส์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้นานแค่ไหน แต่จะทำให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม สมเกียรติบอกว่า วิกฤตตกต่ำของสื่อมวลชนตะวันตกช่วงปี 1997 เป็นต้นมาซึ่งตอนนี้กำลังเกิดขึ้นกับไทย อะไรคือข่าว อะไรคือโฆษณา อะไรคือประชาสัมพันธ์ จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายข่าวหลายที่ เคยเสนอให้ช่อง 7 แยกข่าวสังคมธุรกิจออกไปเพราะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จดี อย่างไรก็ตาม ความคลุมเครือนี้ก็ยังมีอยู่ในสื่อไทยโดยรวมและเป็นปัญหาเดียวกับที่สื่อตะวันตกเผชิญมาก่อนในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา
สำหรับพฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์นั้นเปลี่ยนไป คนไม่อ่านจากหนังสือพิมพ์แต่อ่านจากออนไลน์
สำหรับประเด็นสื่อเลือกข้างที่เลือกแล้วบอกชัดเจนนั้นเขาเห็นว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเลือกข้างแล้วไม่บอกเป็นประเด็นของความรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) แต่เขาเห็นว่าถ้าสื่อเลือกข้างควรจะบอกเลยว่าเลือกข้าง ตัวเขาเองอยากทำสปอต 1 นาทีเปิดเผยว่าใครถือหุ้นสปริงนิวส์ เพื่อให้คนอ่านได้พิจารณาว่าเป็นฝ่ายไหน
เขากล่าวถึงอีกประเด็นที่น่าจับตา คือการถูกเชิญไปเป็นที่ปรึกษา แล้วจ่ายค่าตอบแทน ตัวเขาเคยมีประสบการณ์เช่นกัน แต่ปฏิเสธค่าตอบแทน นี่เป็นประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่ออีกประเด็นหนึ่ง
เขากล่าวว่าคนรุ่นใหม่ไปที่เว็บไซต์ เว็บบล็อกมากขึ้น แต่เขายังเชื่อว่าสื่อยังมีความเป็นมืออาชีพ และไม่มีอะไรดีไปกว่าการยึดมั่นในความจริง ถ้าวอยซ์ทีวีเข้าข้างพรรคเพื่อไทย สิ่งที่จะต้องรายงานเกี่ยวกับเพื่อไทยก็ต้องเป็นความจริงเกี่ยวกับเพื่อไทยและทักษิณ ถ้าไม่ยึดความจริงคนก็ไม่เอา ถ้าวอยซ์ ทีวี จะป็นปากเสียงของเพื่อไทยหรือทักษิณก็บอกเลย แต่ต้องเอาความจริงมาพูดกัน
ท้ายที่สุด สมเกียรติกล่าวว่ายุคสมัยปัจจุบันคือวิกฤตของสื่อ แต่อาชีพสื่อจะไม่หายไปไหน อาชีพนี้จะยังคงอยู่
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: สื่อหมกมุ่นกับความดี แต่คำถามคือสื่อเคารพความจริง และพลเมืองแค่ไหน
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ แสดงความเห็นต่อเนื่องจาก สมเกียรติ อ่อนวิมล โดยเธอเห็นว่าสื่อต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ต้องประกอบด้วยจริยธรรมมืออาชีพ ไม่ใช่นึกจะด่าก็ด่า ต้องรู้ว่ามืออาชีพต้องทำงานอย่างไร แต่เมื่อนึกถึงสามข้อหลักที่สมเกียรติ อ่อนวิมลให้ความสำคัญ เธอตั้งคำถามว่า เวลาสื่อไทยให้ความสำคัญกับจริยธรรมเรามักจะหมกมุ่นกับเรื่องความเป็นคนดี ไม่รับอามิสสินจ้าง ไม่โกง จึงมีจริยธรรม แต่หลักเรื่องการตรวจสอบความจริง เคารพความจริง และเคารพพลเมืองนั้นได้รับความสำคัญแค่ไหน โดยตัวเธอเองเห็นว่าสื่อไทยไม่ได้ตระหนักในประเด็นหลังมากเท่ากับเรื่องโกงหรือไม่โกง ซึ่งกลายเป็นความหมายที่สำคัญของความมีจริยธรรมไปเสียแล้ว
เธอตั้งคำถามต่อไปว่า สื่อด่าเฉพาะคนที่ตัวเองไม่ชอบหรือเปล่า เธอกล่าวว่าประเด็นสำคัญของสื่อในตอนนี้ที่ควรต้องทำคือประเด็น 112 ถ้าอยู่กันด้วยความกลัวไม่อาจจะเรียกได้ว่ามีเสรีภาพ สื่อเองก็เซ็นเซอร์ตัวเอง เสรีภาพไม่ได้หมายความว่าอยู่ๆ ก็ลุกมาด่ากัน แต่หมายถึงอยากมีความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ก็แลกเปลี่ยนกันได้
นิธินันท์กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในวงการสื่อปัจจุบันว่า มีนักข่าวของสื่อบางแห่ง ได้รับเชิญไปพูดเรื่อง 112 ไปพูดในเวทีสากล แต่บรรณาธิการไม่อนุญาตเพราะกลัวผลกระทบต่อสังกัด สื่ออีกแห่งหนึ่งมีนักข่าวไปขึ้นเวทีรณรงค์ปลดปล่อยนักโทษการเมือง แต่หลังจากลงจากเวทีที่มีคนเสื้อแดงไปด้วย เขาถูกคณะบรรณาธิการเรียกไปพบเพื่อให้ลงชื่อรับรองว่าจะไม่ประพฤติเช่นนี้เอง คำถามคือ เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือ
เธอกล่าวถึงกรณีของนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา อดีตผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ทางสถานีไทยพีบีเอสเชิญ รศ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปแสดงความเห็นในรายการ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่
“สื่อชอบคิดอะไรแปลก ๆ เรานึกว่าเราเคารพความจริง สิ่งที่สื่อไทยชอบแสดงความเหนือคนอื่นคือตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่รับอามิสสินจ้าง ไม่โกง แล้วคิดว่าอาชีพอื่นไม่มีจริยธรรม แต่ในความเป็นจริงทุกอาชีพเขาต้องมีจริยธรรมวิชาชีพของเขาทั้งนั้น”
นิธินันท์ วิพากษ์ว่าสื่อตามโลกไม่ทัน คือโลกเป็นทุนนิยมแล้ว สื่อต้องทำความเข้าใจว่าสื่อก็เป็นธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีจริยธรรมไม่ได้
“สื่อเข้าตลาดหุ้น ธุรกิจสื่อจึงต้องเปลี่ยนไป เราต้องยอมรับว่าสื่อเป็นธุรกิจตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะมีจริยธรรมไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจว่าจริยธรรมเป็นงานของเรา จริยธรรมกลายเป็นโลกอุดมคติ จริยธรรมในความฝันของคนทำสื่อปีกที่สองคือ มันมีอยู่จริง ทำได้ด้วยเป็นงานในหน้าที่ แต่สื่อก็ไม่ได้ทำมัน เพราะลืมคิดถึงมัน ไม่ได้คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน
“ประเด็นที่สอง คือเรื่องอามิสสินจ้าง แต่ทุกคนล้วนทำมาหากิน คนทำงานตีนโรงตีนศาล ว่าหาเงิน แต่สื่อมีสังกัดดูมีภาษี เพราะมีองค์กร ไม่ใช่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพล จริง ๆ มันไม่มีหรอก คนยุคใหม่เขาไปอ่านออนไลน์”
เธอกล่าวว่าคนไทยไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ พอพูดเรื่องผลประโยชน์กลายเป็นเรื่องโลภ เลว ทุกคนต้องทำธุรกิจต้องทำมาหากิน ก็ต้องมีจริยธรรมของการทำธุรกิจที่จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภคของตัวเองมากเกิน ธรรมชาติธุรกิจต้องการกำไร แต่ไม่ใช่ว่าไปเอาเปรียบคนหรือขูดรีดคน “เราต้องยอมรับว่าเราต้องทำมาหากิน แต่ทุกวันนี้สื่อมั่ว คือเอาบรรณาธิการไปรับงานโฆษณา แต่ไปด่าพวกนักข่าวที่หาข่าวอยู่ตีนโรงศาล”
เธอกล่าวว่าสิ่งที่สื่อต้องตระหนักคือ หนึ่ง คนอ่านจะไม่อ่านข่าวห่วยๆ เพราะทุกวันนี้คนอ่านก็เป็น gate keeper เหมือนสื่อ ประการต่อมาคือ ยอมรับว่าสื่อทำธุรกิจ และประการที่สาม จริยธรรมทำได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ สื่อเสนอความจริงหรือเปล่า ถ้าเสนอห่วยก็ล้มเหลว คนอ่านเขาจะบอกว่าเขาเขียนเองดีกว่า
นิธินันท์กล่าวว่าเห็นด้วยกับสื่อเลือกข้าง ซึ่งเธอเห็นว่าไม่ใช่ความผิด สื่อมืออาชีพก็เลือกข้างได้ แต่ประเด็นสำคัญคือการเเลือกแล้วต้องไม่เห็นอีกข้างเป็นศัตรูต้องฟาดฟันให้ตายคามือคาเท้า ไล่ออกนอกประเทศ ไล่ไปอยู่คนละฟาก ต้องให้มีการเลือกข้างได้แต่ไม่โกรธกัน หรือฆ่ากัน
การที่คิดไม่เหมือนกันแต่อยู่ในองค์กรเดียวกันได้เป็นเรื่องดี แต่เจ้าขององค์กรต้องเข้าใจ อย่างไทยรัฐนั้นเป็น mass media จริงๆ ที่ทำให้คนหลายขั้วอยู่ด้วยกันได้
อธึกกิต แสวงสุข: สื่อที่จะเป็นพหูสูตไม่มีแล้ว เพราะโลกไม่ได้ต้องการพหูสูต
อธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกา ใบตองแห้ง กล่าวว่า ประเด็นผลประโยชน์ในสื่อของไทยมีมานานแล้ว แต่ได้รับการแก้ไขมาก่อนในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาโดยเครือผู้จัดการ ซึ่งผู้บริหาร คือนายสนธิ ลิ้มทองกุล ปรับฐานเงินเดือน ยกระดับครั้งใหญ่ แต่มีปัญหาตามมา สื่อหลักเงินเดือนสูง เปิดที่ให้คนมีอุดมการณ์ แต่ก็เข้าไปสู่ธุรกิจโฆษณา และเข้าไปพัวพันผลประโยชน์โฆษณา
เขากล่าวว่านักการเมืองถึงเอาใจสื่อ เพราะจริงๆ แล้วสื่อปัจจุบันปิดกั้นไม่ได้ แต่สื่อหนังสือพิมพ์ก็ยังมีอิทธิพลเพราะสื่อกระดาษยังมีอิทธิพลในการนำเสนอ
“เนื่องจากสภาการหนังสือพิมพ์ไม่สามารถพูดได้ในบางเรื่อง ผมขอพูดแทน ปัญหาปัจจุบันปัญหาผลประโยชน์ในวงการสื่อแพร่หลายไปกว้าง ในขณะที่นักข่าวการเมืองถูกจับตามาก แต่นักข่าวสายอื่นพัฒนาไปค่อนข้างหนัก เช่นสายอาชญากรรม ต้องไปกินเหล้ากับตำรวจ แต่ที่เป็นปัญหาคือ การทำข่าวเป็นผู้ช่วยตำรวจ ปรักปรำ หลายคดีน่าสงสัยว่าทำไมไปตามตำรวจ เป็นปัญหาความรับผิดชอบ”
เขากล่าวว่าปัญหาอีกประการคือ ผลประโยชน์ อย่างเอเอสทีวีเคยวิพากษ์วิจารณ์ว่านักข่าวบางส่วนไปเปิดสถานบริการหรือคุ้มครองสถานบริการ เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ค่อยกล้าแตะต้อง กลายเป็นว่าองค์กรวิชาชีพสื่อดูแลนักข่าวการเมืองอย่างเดียว นักข่าวอาชญากรรมก็มีปัญหา นักข่าวเศรษฐกิจบางส่วนก็มีปัญหา ในกระทรวงบางกระทรวงตั้งบริษัทกึ่งๆ พีอาร์ ถ้าอยากจะลงข่าวก็ฝากบริษัท
นักข่าวธุรกิจก็มีเส้นแบ่งที่เลือนลาง การไปทำข่าวเปิดตัวสินค้าต่าง ๆ ก็คือการเชียร์สินค้า กรณีจับสลากแจกไอโฟนจะรับหรือไม่ หน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับก็ขายพื้นที่ข่าวไปเลย หน้าบันเทิงของเมื่อก่อนในอดีตเมื่อสักสี่สิบปีห้าสิบปี พูดกันว่ารับเงินมาเชียร์ แต่ตอนนี้ค่ายเพลงไปซื้อสถานีวิทยุแล้ว และนักข่าวบันเทิงแยกไม่ออกว่าทำข่าวหรือเป็นพีอาร์ และนักข่าวบันเทิงเป็นสิ่งที่ไม่รู้จะใช้จรรยาบรรณอะไรกับนักข่าวบันเทิง คือสิ่งที่เสนอไม่ใช่ความจริง และคนอ่านก็ไม่ต้องการความจริง ข่าวอื้อฉาวบางทีพีอาร์ก็ปล่อยเพื่อให้คนติดตาม
อธึกกิตย้ำประเด็นเรื่องสื่อเลือกข้างว่าไม่ผิด ความเป็นกลางคือความเสแสร้ง โดยเขายกตัวอย่าง สมเกียรติ อ่อนวิมลที่ประกาศตัวว่าเลือกประชาธิปัตย์ แต่คนเชื่อถือว่าเวลาทำงานไม่ได้เอาส่วนที่เลือกข้างมาเกี่ยวข้อง การเลือกข้างต้องอธิบายเหตุผลได้ ที่ผ่านมาสื่อไม่เลือกข้างแต่ปล่อยให้มีการทำข่าวแบบไม่รับผิดชอบในแง่ที่จะไปหาความจริงโดยอ้างว่าตัวเองไม่เลือกข้าง ปล่อยให้เป็นข่าวปิงปอง แต่อะไรคือความจริงสื่อก็ไม่บอก หรือถ้าบอกก็บอกด้วยข้อมูลที่เลือกข้าง
สำหรับวิกฤตการเมืองนั้นมีความไม่รับผิดชอบคือการสร้างกระแสอารมณ์ก่อนที่จะล้มรัฐบาลทักษิณ ก่อนหน้านั้นรัฐบาลบรรหารก็ถูกโจมตีด้วยสัญชาติพ่อ สื่อมีหน้าที่ต้องแยกแยะเหตุผลให้เห็น แต่สื่อกลับช่วยกระตุ้นอารมณ์ แต่สื่อเลือกข้างที่ร้ายแรงที่สุดมาเกิดเมื่อปี 2549 สื่อที่เลือกไล่รัฐบาลทักษิณและเลือกรัฐประหารคือสื่อที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดี และเชื่อว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ดีคือการโค่นล้มทำลายรัฐบาลทักษิณเสีย ซึ่งตอนแรกเขาเห็นด้วย แต่เมื่อมีการรัฐประหารเขาเห็นว่ามาผิดทางแล้ว จรรยาบรรณของสื่อ บทบาทสื่ออันดับแรกสุดสื่อเกิดมาพร้อมกับประชาธิปไตย จึงมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ แต่ก่อนปี 2549 บทนำหนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกร้องรัฐประหารเลย ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพ การแสดงออกของคน แต่สื่อคิดว่าตัวเองเป็นคนดีมีคุณธรรมต้องการให้คนดีปกครองบ้านเมือง การเลือกตั้งเลวร้าย สิ่งที่จะทำได้คือการสนับสนุนการรัฐประหาร แล้วเมื่อเชียร์รัฐประหารก็กลายเป็นว่าสื่อไปสนับสนุนการจำกัดเสรีภาพ สื่อไม่มีเหตุผลที่จะปกป้องส.ว. จากการสรรหา
อธึกกิต วิจารณ์ว่าปัจจุบันนี้สื่อไม่ได้แค่กระโดดเข้าไปเป็นนักการเมือง แต่สื่อส่วนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง บางช่วงสื่อไปอยู่กับสมัชชาคนจนแล้วก็คิดว่าต้องร่วมต่อสู้กับสมัชชาคนจนจนกว่าจะชนะไปด้วยกัน สื่อไปทำหน้าที่เป็นมากกว่ากระจก แต่ก้าวไปเป็นตะเกียง เป็นผู้ชี้นำทางการเมือง สื่อไม่สามารถจะต้องเป็นตะเกียงอีกต่อไปแล้ว ควรจะเป็นเพียงกระจก เพราะสังคมนั้นพัฒนาความรู้ไปหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ดูแค่ถ่ายทอดการนำเสนอข่าวปราสาทเขาพระวิหาร ก็น่าสงสัยว่าสื่อสรุปได้ถูกหรือไม่ ความรู้ของสื่อไม่ได้ทันกับสังคมแล้ว สื่อที่จะเป็นพหูสูตไม่มีแล้ว เพราะโลกไม่ได้ต้องการพหูสูตเพราะโลกไปสู่ประเด็นผู้เชี่ยวชาญที่มีเยอะมากในโซเชียลมีเดีย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือสื่อกระแสหลักกำลังดิ้นในแง่ที่ตัวเองควรจะมีอำนาจชี้นำสังคม ในความขัดแย้งเรื่องสี สื่อต้องการรักษาสถานภาพความเป็นตะเกียง
จักรกฤษ เพิ่มพูล: สื่อทางเลือกเล็กๆ ที่ไม่ต้องอาศัยทุนใหญ่ จึงจะประคับประคองจรรยาบรรณไปได้
จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่าในฐานะคนทำสื่อมายาวนานกว่าสิบปี ได้เห็นพัฒนาการของสื่อมายาวนานพอสมควร จริยธรรมและจรรยาบรรณนั้นในธรรมนูญหรือข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์ฯมีการระบุถึงสิ่งที่ต้องทำ หรือควรต้องทำ แต่ถ้อยคำตามตัวอักษรไม่ได้ปรากฏเป็นสาระตามที่เป็นจริงในสังคม สภาพการบังคับหรือการยึดมั่นในจรรยาบรรณนั้นเปลี่ยนไป
เขาย้อนหลังไปเมื่อปี 2539 ในสมัยของรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ สื่อหลายสำนักได้เข้าไประดมทุนในตลาดหุ้น ถ้าโชคดีก็ไปได้รอด แต่ถ้าโชคไม่ดีเดือนหรือสองเดือนก็เปลี่ยนไป สิ่งที่ส่งผลจริงๆ คือโครงสร้างองค์กรสื่อเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมตัวชี้วัดความสำเร็จของสื่อเปลี่ยนไป ย้ายจากเรื่องจริยธรรมวิชาชีพมาสู่ตัวเลขที่ต้องทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะขัดกับจรรยาบรรณหรือไม่ ถ้าเปิดโฆษณาในหนังสือพิมพ์ จะมีทั้งโฆษณาสารคดีเชิงข่าว และโฆษณาแต่ไม่บอกว่าเป็นพื้นที่โฆษณา หรือแม้แต่การโฆษณาแฝงในจุดต่างๆ
“การที่สื่อและโครงสร้างสื่อเปลี่ยนไป เรื่องของจรรยาบรรณก็จะเป็นเรื่องที่แยกออกจากความเป็นจริง มันทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมคิดไปว่าต่อไปรูปแบบของสื่อจะเปลี่ยนไป จะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่แน่ใจ คือมันต้องเป็นสื่อที่เป็นสื่อทางเลือกมากขึ้น คือไม่ต้องลงทุนใหญ่ เป็นสื่อออนไลน์อะไรต่างๆ ที่ไม่ต้องมีทุนใดทุนหนึ่งเป็นทุนใหญ่ อย่างนั้นผมคิดว่าน่าจะพอรักษาสถานภาพในเรื่องของจรรยาบรรณไว้ได้”
เขาขยายความต่อไปว่า ในส่วนจรรยาบรรณกับความเป็นมืออาชีพนั้นไม่เกี่ยวกันสักเท่าไหร่ ความเป็นมมืออาชีพคือ ความเก่งความเชี่ยวชาญ และทักษะ ซึ่งในเมืองไทยมีสื่อมืออาชีพเยอะแยะมากมายถ้าไปดูสื่อกระแสหลักจะพบว่ามีคนเก่งมาก แต่ถ้าเลยไปอีกสักหน่อย ก็ต้องตั้งคำถามว่าเก่งและเชี่ยวชาญอย่างเดียวไม่พอ และเมื่อสังคมตอบได้ว่าเก่งและเชี่ยวชาญอย่างเดียวไม่พอก็ต้องเติมคุณค่าอื่น แต่เมื่อพูดถึงความดี ก็ไม่ได้ตัดสินด้วยมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะพูดถึงมากแต่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันคือ “ความเป็นกลาง” ซึ่งก็ถกเถียงกันว่าไม่มีอยู่จริง และไม่มีความเป็นกลางที่สามารถชี้วัดได้ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะพอพูดถึงได้คือ “ความไม่ลำเอียง” และ “ความรับผิดชอบ” คือความรู้สึกของสื่อที่สื่อสารออกไปแล้วนึกถึงใจเขาใจเรา
“ถ้าเราสื่อออกไป เราเขียนออกไป พูดออกไป แสดงภาพออกไป มีผลกระทบต่อคนอื่นไหม เขาเสียหายไหม ไม่แฟร์กับเขาไหม เขามีโอกาสที่จะแก้ตัวไหม”
เขากล่าวว่าในสถานการณ์ที่สื่อเป็นอุตสาหกรรม การรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณเป็นเรื่องทำได้ยาก และถ้าตรวจสอบดูสื่อปัจจุบันจะพบการโฆษณาภาพลักษณ์เยอะมาก เพียงเพราะสื่อต้องการเครือข่าย เช่นการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่ต้องลงชื่อตำรวจตั้งแต่ระดับใหญ่สุดไปถึงเล็กสุด รวมไปถึงการเป็นพื้นที่โฆษณานำเสนอแต่ข้อมูลด้านดี
“สื่อหนังสือพิมพ์เสียนิสัยตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทในเรื่องของการให้โฆษณา ผมจำได้ว่าท็อบไฟว์ของโฆษณาสื่อ บริษัทโทรคมนาคมยี่ห้อของท่านติดอยู่อันดับสอง แล้วก็มีการแพลนโฆษณากันเป็นรายเดือน วันหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวกล่าวหาลูกชายของท่านว่าทุจริตสอบ ปรากฏว่ามีการขอร้องไม่ให้ตีพิมพ์ข่าวนี้เพราะว่ารับโฆษณากับเขาจำนวนมหาศาล กองบ.ก.ก็ยืนยันความเป็นอิสระในการตีพิมพ์ข่าวนั้น ท่านทราบไหมว่าทันทีที่ตีพิมพ์ข่าวนั้นลงไป มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร แล้วก็ยกเลิกโฆษณา ผมคิดว่าเรื่องของจรรยาบรรณที่เรากำลังพูดอยู่มีปัจจัยภายนอกเยอะมากที่ต้องพิจารณา”
เขากล่าวว่า ในเรื่องจริยธรรมนั้นต้องหาทางออกหรือช่องทางของสื่อโดยที่ไม่ต้องอิงแอบกับระบบทุนอย่างที่เป็นอยู่
จักร์กฤษณ์ กล่าวในท้ายสุดว่าสิ่งที่อยากเห็นในองค์กรสื่อปัจจุบัน คือนอกจากจุดยืนชัดเจนแล้วต้องใจกว้าง ยอมรับความเห็นอย่างหลากหลาย “คนฉลาดขึ้น โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป แต่คิดว่ามีสื่อจำนวนไม่น้อยที่ยึดอัตตาว่าฉันจะต้องเป็นคนชี้ผิดชี้ถูก สื่อเป็นอาชีพหนึ่งไม่ใช่อาชีพอภิสิทธิ์ ไม่มีอีกแล้ว 18 อรหันต์ที่จะมาบอกว่าฉันเท่านั้นที่ถูกต้อง” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ทิ้งท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ