เปิด28'วาระแห่งชาติ'ไปถึงไหน หวังใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม หลายเรื่องค้างเติ่ง-ไม่เห็นทางจบ

ชนากานต์ อาทรประชาชิต 21 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4795 ครั้ง

 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะสังเกตพบว่าหากมีปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นปัญหาขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบทั้งต่อประชาชน ประเทศชาติ และสังคมในวงกว้าง และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ หลายครั้ง มักจะมีผู้เสนอผ่านสื่ออยู่เสมอว่า ต้องการให้รัฐบาลกำหนดเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา การส่งเสริม การวางนโยบาย การดำเนินการ ฯลฯ อย่างจริงจัง

 

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปีพ.ศ.2552-2555 พบว่า ประเทศไทยมีการประกาศระเบียบวาระแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วถึง 28 เรื่อง บางเรื่องยังไม่ได้ดำเนินการ บางเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ และบางเรื่องดำเนินการแล้วเสร็จ ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นพบว่า คำว่า “ระเบียบวาระแห่งชาติ” ในความหมายของราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า คำว่า “ระเบียบวาระการประชุม” หมายถึง “ลำดับรายการที่กำหนดไว้ในการประชุมแต่ละครั้ง” มักมีผู้นำมาใช้เป็นภาษาปากในรูปย่อว่า “วาระการประชุม” ทำให้เข้าใจกันไปว่าคำว่า “วาระ” และ “ระเบียบวาระ” มีความหมายเหมือนกันและใช้แทนกันได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อน ทั้งนี้เพราะ “วาระ” กับ “ระเบียบวาระ” มีความหมายต่างกัน และ “ระเบียบวาระการประชุม” ก็มิอาจใช้คำว่า “วาระการประชุม” แทนได้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าคำว่า "ระเบียบวาระ" ใช้คำว่า "วาระ" แทนได้ จึงทำให้มีการใช้คำว่า “วาระแห่งชาติ”

 

เพื่อสื่อความหมายถึงคำว่า "ระเบียบวาระแห่งชาติ" ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะ "ระเบียบวาระแห่งชาติ" ไม่อาจใช้คำว่า "วาระแห่งชาติ" แทนได้ เพราะจะทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ราชบัณฑิตยสถานโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ได้พิจารณาเรื่องคำดังกล่าวไว้แล้วว่าคำว่า “วาระ” และ “ระเบียบวาระ” มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ “วาระ” หมายถึง ครั้ง, เวลากำหนด

 

ส่วน “ระเบียบวาระ” หมายถึง ลำดับเรื่องที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนหลัง และได้พิจารณาให้ความเห็นไว้ว่า คำว่า National Agenda” ควรใช้ว่า “ระเบียบวาระแห่งชาติ” ซึ่งหมายถึง การจัดลำดับภารกิจแห่งชาติที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนหลัง ข้อมูลเรื่องนี้ราชบัณฑิตยสถานได้เคยเผยแพร่เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อแขนงต่าง ๆ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้ใช้คำว่า “ระเบียบวาระแห่งชาติ” เพื่อหมายถึง National Agenda ตามที่ราชบัณฑิตยสถานแจ้ง แต่ปัจจุบันความสับสนในการใช้คำว่า “วาระ” “ระเบียบวาระ” และ “ระเบียบวาระแห่งชาติ” มีปรากฎขึ้นอีก

 

 

วาระแห่งชาติตามมติของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่พ.ศ. 2552-2555 มีทั้งหมด 28 เรื่อง

 

1.การสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ (9 ก.ค.2555) เพราะครบรอบ 100 ปีของสหกรณ์ไทย ทั้งยังมีปัญหาในการบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพกลไกภาครัฐไม่ให้การสนับสนุน การส่งสริมความรู้ความเข้าใจต่อแนวคิดของสหกรณ์ไม่ขยายไปสู่ประชาชนที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า มีสหกรณ์ที่จัดตั้งแล้วล้มเหลวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโมเดิร์นเทรด ทำให้ร้านค้าสหกรณ์ลดลงเหลือเพียง 200 กว่าแห่งจากเดิมมี 2,000-3,000 แห่ง

 

การสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ครม.เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนินงานตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันที่ 22 ตุลาคม 2555 มีสาระสำคัญดังนี้ 1.ผลักดันให้มีหลักสูตรการสหกรณ์ในหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในและนอกระบบศึกษา 2.สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นฐานรากสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดดำเนินงาน 3.เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิต การตลาดและการเงินของสหกรณ์ 4.สนับสนุนแผนพัฒนาการสหกรณ์ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ 5.ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐขบวนการสหกรณ์และปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ให้เอื้อต่อการพัฒนา เช่น ปฏิรูปสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ปรับโครงสร้างชุมนุมสหกรณ์และสหกรณ์

 

ล่าสุดระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2556 มีการประชุมใหญ่ที่ภูเก็ต รัฐบาลหวังจะสร้างแบรนด์สินค้าสหกรณ์แข่งขันกับตลาดโมเดิร์นเทรด ตลาดอาเซียน ตลาดต่างประเทศ

 

2.การเป็นเจ้าภาพ World Expo 2020

 

ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน world expo 2020 อย่างเป็นทางการร่วมกับอีก 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2554 มีมติครม.เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2555 ให้เป็นวาระแห่งชาติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และใช้พื้นที่จังหวัดอยุธยาเป็นที่จัดงาน ประเทศผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก จากสมาชิกสมัชชาสำนักงานมหกรรมโลก [Bureau of International Expositions (BIE)] จำนวน 157 ประเทศตอนปลายปี 2556

 

กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของงาน World Expo และเป็นผู้แทนไทยในการประชุม BIE ให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะทำงานหาเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิก และเป็นแกนกลางในการประสานกับ BIE ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลก World Expo 2020 ต่อไป

 

 

สำหรับการจัดงานฯ ของไทย คือ “Redefine Globalization : Balanced Life, Sustainable Living” หรือนิยามเป็นภาษาไทยว่า “แนวคิดใหม่ของโลกาภิวัฒน์ – วิถีที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่สมดุล” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม คาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อม 40,000 ล้านบาท

 

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เตรียมใช้พื้นที่จำนวน 5,200 ไร่ในการจัดงาน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 2,400 ไร่ พื้นที่เช่าจำนวน 2,000 ไร่ และพื้นที่เดิมของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จำนวน 800 ไร่ โดยนำเสนอความโดดเด่นเรื่องวีถีชีวิตที่เก่าแก่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อคณะกรรการ ด้านความพร้อมทางคมนาคม รัฐบาลจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายเส้นทางไปยังสถานีอยุธยา, เส้นทางโทรเวย์ส่วนต่อขยายรังสิต-อยุธยา, เส้นทางมอเตอร์เวย์ 3 เส้น ประกอบด้วย อยุธยา-โคราช อยุธยา-นครสวรรค์ และอยุธยา-วงแหวนรอบนอก เชื่อมสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลมีแผนจะดำเนินการก่อนหน้านี้

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีท่าทีชัดเจนกับเรื่องนี้ต่อเลขาธิการ BIE เมื่อครั้งที่นำทีมมาตรวจศักยภาพ และได้มีคำสั่งให้ทบทวนความคุ้มค่าของโครงการนี้ (ฐานเศรษฐกิจ บอกว่าใช้งบประชาสัมพันธ์ไปแล้ว 300 ล้านบาท)

 

3.พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด

 

เปิดปฏิบัติการวันที่ 11 ก.ย. 54 และตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) ดำเนินการแล้วดังนี้ 1.การสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด 2.การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด 3.การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด 4.การปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย 5.ความร่วมมือระหว่างประเทศ 6.การสกัดกั้นยาเสพติด 7.การบริหารจัดการแบบบูรณาการ

 

 

4.ปัญหาแรงงานต่างด้าว

 

มติครม.เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2554 ให้เป็นวาระแห่งชาติ จากปัญหาขาดแรงงานและการลักลอบแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ตามที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเสนอ โดยมีสาระสำคัญโดยสังเขป คือ 1.ยกระดับฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้มีสถานะเป็นหน่วยงานระดับกรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำสั่ง 2.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พ.ศ.2544และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ รวมทั้งปรับลดคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เหลือเพียง 5 คณะ และเพิ่มคณะอนุกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ในระดับจังหวัด

ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกดังกล่าว แต่มีกบร.จังหวัด

3.ขยายระยะเวลาการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตาม กฎหมายตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MOU) 3 ปี ต่อได้อีก 3 ปี ส่วนการกลับไปพักควรเว้นระยะให้ไปพักเพียง 1 เดือน แล้วให้สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ใหม่

รัฐได้ขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวทำให้ถูกกฎหมายใน 120 วัน ภายใน 16 มี.ค.2556

4.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการจูงใจให้นายจ้างลดการใช้แรงงานต่างด้าวในส่วนกลางโดยการปรับลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเดิมจัดเก็บในอัตราเดียวทั่วประเทศ 1,800 บาท/คน/ปี ปรับลดจังหวัดตามแนวชายแดนเหลือ 900  บาท/คน/ปี

ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เท่านั้น ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และที่เข้ามาทำงานโดยถูกต้องตาม MOU  จากอัตรา 2,000 บาท เหลือ 500 บาท และสามารถขออยู่ต่อได้อีกครั้งเดียวค่าธรรมเนียมในอัตรา 500 บาทเช่นกัน  โดยให้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 4 ปี และจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 10 แห่ง (พม่า 8 กัมพูชา 2 ส่วนลาวอยู่ในระหว่างประสานงาน) รวมทั้งพัฒนาระบบทะเบียนบุคคลแรงงานต่างด้าว (Bio Data) คือ พิมพ์ลายนิ้วมือ และภาพถ่ายโครงใบหน้า ขณะนี้กำลังศึกษาการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่น ๆ นอกจาก 3 ประเทศหลัก

 

 

5.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ

 

เนื่องด้วยกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2544-2553 กำลังสิ้นสุดลงและไม่บรรลุเป้าหมาย ระดับความพร้อมของประเทศจึงลดลงต่อเนื่อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554 - 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) และเสนอเป็นวาระแห่งชาติให้ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2554 มีสาระสำคัญและการเริ่มดำเนินงานที่ผ่านมา ได้แก่

 

โครงการ SMART THAILAND ประกอบด้วย 1.SMART NETWORK เป็นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท ในการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง และการจัดตั้งหน่วยงานบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยจะรวมโครงข่ายฯ ของทีโอที และกสท. (ข้อหลังยังไม่ทำ) 2.SMART GOVERNMENT บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ 1.บริการ Smart - Education 2.บริการ Smart - Health 3.บริการ Smart - Government (ทะเบียนราษฎร์ออนไลน์) 4. บริการ Smart - Agriculture (ระบบศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร)

 

เปลี่ยนระบบแพร่ภาพเป็นดิจิตอลทีวี, การเปิดให้ประชาชนใช้ wifi ฟรี ทุกจังหวัด (ต้องขอรหัสผ่าน), เร่ง 3G, ทำโปรแกรมเป็นภาษาไทย และแอพลิเคชั่นต่างๆ, กำหนดให้ชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาเกินครึ่งหนึ่งใช้ ICT, สนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น การร่วมทุนเอกชน-รัฐในโครงการต่างๆ , ทำโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (Education channel), ให้หน่วยงานภาครัฐมีสื่อ Social Media เช่น เฟซบุ๊ก รวมถึงระบบสารสนเทศต่างๆ ,เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย GIN เพื่อพัฒนา E-GOVERNMENT, แท็บเล็ตสำหรับนักเรียน

 

ส่วนที่ไม่มีข้อมูลการดำเนินการ คือ การตั้งสถาบันฝึกอบรม ICT แห่งชาติ, มาตรฐานวิชาชีพด้าน ICT, การจัดเก็บคลังภาพวิดีโอกล้องวงจรปิดทั่วประเทศ

 

 

 

6.วัคซีน

ครม.เห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2554 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากปัจจุบันไทยผลิตเองได้เพียง 2 ชนิด กว่าร้อยละ 80 ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศมากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้มีการเตรียมปรับปรุงพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และตั้งเป้าดำเนินงานในเวลา 10 ปี 10 โครงการ ใช้งบ 5,248.535 ล้านบาท ได้แก่

 

1.โครงการจัดเตรียมคลังเก็บวัคซีนมาตรฐานของภูมิภาค ล่าสุด เดือนธ.ค.2555 ยังไม่ได้ดำเนินการ

2.โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรมมาตรฐาน GMP แบบอเนกประสงค์ รัฐบาลได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ จ.สระบุรี แต่ชะงัก ผู้รับเหมาของบเพิ่ม 99 ล้านบาท ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการสาธารณสุข วันที่ 26 ก.พ.2556 (แต่ไม่มีข้อมูล)

3.โครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ค่าก่อสร้างศูนย์ฯ ไม่ผ่าน ปีงบประมาณ 2555

4.โครงการวิจัยพัฒนาเพื่อการผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี

5.โครงการผลิตวัคซีนพื้นฐานเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และผลิตวัคซีนผสมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2556 กระทรวงสาธารณสุขไทย โดยองค์การเภสัชกรรม บริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัทซาโนฟีปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ในโครงการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ในประเทศไทย ตั้งงบประมาณ 700 ล้านบาท

6.โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ ใช้งบประมาณของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ทำสำเร็จแล้วในพ.ศ. 2552 โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดจำหน่าย คาดว่าจะสามารถผลิตกเพื่อจำหน่ายได้ภายในพ.ศ.2557

7.โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัคซีนโดยหน่วยงานกลางแห่งชาติด้านวัคซีน (สถาบันวัคซีนแห่งชาติ) สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2550 ตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2553 ต่อมาพ.ศ.2550 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นองค์การมหาชน ส่วนการยกร่างพ.ร.บ.วัคซีนแห่งชาติ พ.ศ...ยังไม่สำเร็จ

8.โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบ สำรวจความต้องการแล้วเมื่อพ.ศ.2554

9.โครงการวิจัยพัฒนาและขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันวัณโรค เสนอพิมพ์เขียวโรงงานแล้ว และของบประมาณ ปีงบประมาณ 2556 852 ล้านบาท

10.ชุดโครงการการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกของประเทศไทย มหิดลเผยความคืบหน้าเมื่อมี.ค.2556 ได้จดสิทธิบัตรแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องการสนับสนุนงบจากรัฐ

 

 

7.ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม

 

เป็นวาระแห่งชาติวันที่ 21 ธ.ค.2553 ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพราะมีรายงานว่าเด็กมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในช่วงอายุน้อยลงเรื่อยๆ และมีจำนวนเยาวชนที่ตั้งครรภ์สูงขึ้น โดยปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ให้เพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านศีลธรรมและจริยธรรม และจัดการเรียนการสอนแก่เยาวชนที่ตั้งครรภ์, บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในด้านนี้ ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ การให้คำปรึกษา แก่เยาวชน ครอบครัว ชุมชน, การตั้งชมรม โครงการต่าง ๆ ของเยาวชน, กวาดล้างสื่อลามกอนาจาร เป็นต้น

 

8.การส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์และต่อต้านการทุจริตของคนไทย และโครงการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ

 

การส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์และต่อต้านการทุจริตของคนไทย เป็นวาระแห่งชาติวันที่ 2 มิ.ย.2553 ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม ต่อมาวันที่ 21 ต.ค.2553 มีมติครม.ให้บูรณาการโครงการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ ที่เสนอโดยสำนักงาน ก.พ.ร. รวมเข้าด้วยกัน แผนประกอบด้วย

 

1.การจัดซื้อจัดจ้างและราคากลาง โดยสำนักงบประมาณได้ทบทวนรายการตามบัญชีราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้างที่ได้กำหนดไว้และใช้อ้างอิงในปัจจุบัน ตลอดจนกำหนดแนวทางในการปรับปรุงราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้างให้เชื่อมโยงกับราคาวัสดุของกระทรวงพาณิชย์ และเผยแพร่ข้อมูลบัญชีราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้างในเครือข่าย Internet

2.การแต่งตั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีมติมอบให้สำนักงาน ก.พ.เป็นเจ้าภาพหลักเพื่อประมวลข้อเสนอจากสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการแต่งตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม

3.การรณรงค์ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ที่ประชุมมอบให้ วธ. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่  รับผิดชอบในแต่ละด้าน และบูรณาการแผนการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือส่งเสริมคุณธรรมฯ

 

9.ความปลอดภัยทางท้องถนน

 

เป็นวาระแห่งชาติในพ.ศ.2553 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอ เพราะได้ทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางท้องถนน 2552-2555 ต่อมาครม.กำหนดให้พ.ศ. 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามกรอบปฏิญญามอสโก ซึ่งตลอดมาได้ทำโครงการลดอุบัติเหตุตามช่วงเทศกาลต่างๆ รณรงค์ให้สวมหมวกกันน็อค (ปี 54 มีคนสวมเพิ่มจากปี 53 เพียง 2%) โครงการถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็รับผลักดันต่อ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

10.การอ่าน

 

วันที่ 5 ส.ค.2552 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ มีสถิติคนไทยอ่านหนังสือน้อย และขาดจุดเชื่อมการทำงานส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นเอกภาพ โดยกำหนดให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน, กำหนดให้ปี พ.ศ.2552-พ.ศ.2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน, ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรม, กำหนดให้มีชั่วโมงเรียนส่งเสริมการอ่านและการเขียนไทย, แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคกก.ได้มีมติตั้งกองทุนสนับสนุนงานเขียนหรืองานแปลดีๆและให้ทุกหมู่บ้านมีห้องสมุดและชมรมนักอ่าน และจัดกิจกรรมประกวดการอ่าน, การจัดงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน, และโครงการส่งเสริมการอ่านอีกมากมาย

 

11.การสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

 

เป็นวาระแห่งชาติวันที่ 17 เม.ย.2552 เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถดถอยจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมือง จึงให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬารับผิดชอบดูแลต่อไป โดยมาตรการเร่งด่วน(ปี52)ให้ธนาคารพานิชย์และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อกู้ยืมดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขและดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นภาษี และลดค่าไฟ ส่วนแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว 4 ปี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ สั่งปรับทั้งระยะเวลา โครงการ และงบประมาณ ยังไม่ได้นำมาใช้  มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

 

 

12.การพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 

เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา : ระเบียบวาระแห่งชาติ (พ.ศ.2551-2555) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ มี 6 ยุทธศาสตร์ 1. ด้านการพัฒนาผู้เรียน เช่น เด็กปฐมวัยได้เตรียมความพร้อมอย่างน้อย 1 ปีก่อนเข้าป.1 และทบทวนเกณฑ์จบหลักสูตรแต่ละช่วงชั้น ระบบหน่วยกิจ การไม่มีให้ซ้ำชั้นแต่ให้เรียนเสริมแทน 2.ด้านการพัฒนาครู เช่น ขอคืนอัตราเกษียณและเกษียณก่อนกำหนดและวงเงินในอัตราร้อยละร้อย ยกเลิกระบบครูอัตราจ้าง ให้มีสถาบันเฉพาะในการสร้างครูอยู่ทุกภูมิภาค 3.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทีวีเพื่อการศึกษา ตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและกองทุน 4.ด้านการจัดระบบการศึกษา เช่น ปรับปรุงคุณภาพภายในสถานศึกษา คูปองเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้ด้อยโอกาส 5.ด้านการสร้างความเข้มแข็ง เช่น สร้างธรรมาภิบาล 6.ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

13.โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน

 

เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2550 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ได้จัดตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนทั่วประเทศ โดยมีการส่งเสริมอาชีพด้านศิลปะและวัฒนธรรม คลังสมองภูมมิปัญญา การส่งเสริมจริยธรรม ลานวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สารสนเทศและห้องสมุดประชาชน

 

14.ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง

 

เป็นวาระแห่งชาติวันที่ 9 ต.ค.2550 ตามที่ครม.ประชุมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง มีอำนาจหน้าที่หลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงผลกระทบอันจะเกิดจากการซื้อสิทธิขายเสียง และรณรงค์, กระทรวงศึกษาธิการจัดทำโครงการรณรงค์ส่งเสริประชาธิปไตยในสถานศึกษาและอาสาสมัครส่งเสริมประชาธิปไตย

 

 

15.น้ำ

วันที่ 21 พ.ค.2550 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ อุทกภัย น้ำเสีย และการบริหารจัดการ เช่น ปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสีย ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้เพื่อเป็นวาระแห่งชาติแล้ว (ไม่ทราบว่าอะไรถูกจัดว่าดำเนินการตามวาระนี้บ้าง)

 

16.ด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

 

ประกาศเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2549 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกเสนอ (เดิมคือการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2549 ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ)จัดตั้งสภาธรรมาภิบาลแห่งชาติ เป็นองค์กรระดับนโยบายในระดับมหภาค  และการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลภาครัฐ จากรายงานของสำนักงานก.พ.ร. วันที่ 6 มี.ค.2550 มีโครงการที่สำเร็จแล้ว 248 โครงการ จาก 209 หน่วยงาน

 

17.การจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2549 ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ โดยกำหนดเขตการจัดงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2550-31 ธ.ค.2550 เช่น กระทรวงพานิชย์ จัดโครงการประกวดผลงานสิทธิบัตรการประดิษฐ์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย โครงการ UN  Conferenceon Sustainable Economy โครงการ Thailand  Rice  Convention  2007  และโครงการทำบุญ  พัฒนาจิตใจเพื่อพ่อหลวง เป็นต้น

 

18.โครงการเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติ

 

ครม.เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2549 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดย 1.ให้เพิ่มการเรียนศาสนาเป็นเกณฑ์การผ่านช่วงชั้นและการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าอบรมหลักสูตรปฏิบัติธรรมเป็นวันปฏิบัติราชการ 3.ผลักดันให้ประชาชนปฏิบัติธรรมเพื่อผ่านเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ครม.ให้นำหลักการและแนวทางการจัดโรงเรียนวิถีพุทธมาขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

19.สร้างเมืองไทยแข็งแรง คนไทยแข็งแรง

 

เป็นมติครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2547 เพื่อการเป็นเมืองไทยแข็งแรงภายในพ.ศ.2560

 

20.การค้ามนุษย์

 

ประกาศเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2547 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลัก ได้รณรงค์ป้องกันด้วยสื่อต่างๆ, ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดี, ให้ความรู้แก่ชุมชน, มีผลการจับกุมเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น, ปรับกฎหมาย (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์), ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแนวทางปฏิบัติร่วมกันในภาครัฐ เอกชนภายในประเทศในการช่วยเหลือหญิงและเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์, ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง, ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ, ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์

 

21.แก้ไขปัญหาอบายมุขและการจัดระเบียบอาบอบนวด

 

เป็นมติครม.ในพ.ศ.2546 และแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอบายมุขและการจัดระเบียบกิจการอาบอบนวด รวมถึงกิจการอื่นๆ ที่มีการค้าประเวณีแอบแฝง (พอ.) โดยระยะเร่งด่วนได้ตรวจสอบและดำเนินการกับสถานบริการที่เปิดผิดกฎหมาย, การก่อตั้งสถานบริการใหม่ต้องอยู่ในเขตจัดตั้งสถานบริการและได้รับอนุญาตก่อสร้างจากกทม.หรือโยธาจังหวัด, หากมีการละเลยฝ่าฝืนกฎหมายถูกพักใบอนุญาต 30 วัน, ไม่ต่อใบอนุญาตสถานบริการที่อยู่นอกเขตจัดตั้งสถานบริการ, ทำบัญชีผู้ประกอบการ/สถานประกอบการต้องห้าม

 

22.ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ

 

วันที่ 22 มิ.ย.2547 เห็นชอบในหลักการตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เสนอ และเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย จากนั้นแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำปุ๋ยชีวภาพ มียุทธศาสตร์ทั้งการประชาสัมพันธ์ การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ การสร้างการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง ส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาด ให้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ

 

 

 

23.โครงการแก้ไขปัญหาที่ทำกิน

 

ครม.เห็นชอบในหลักการวันที่ 30 ส.ค.2547 ตามที่คณะกรรมการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา เสนอโดยได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้ (ข้อมูลพ.ศ.2547) 1.สำรวจและแก้ไขคนเร่ร่อนที่มาจดทะเบียนและผ่านการทำเวทีประชาคม 3,964 คน 2.โครงการบ้านเอื้ออาทร ยื่นจอง 55,540 คน 3.โครงการบ้านมั่นคง แก้ไขปัญหาชุมชนแออัดซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 10,202 หน่วย 41,000 คน นอกจากนี้มีการมอบหนังสือแสดงสิทธิแก่ราษฎร

 

24.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ครม.เห็นชอบวันที่ 23 เม.ย.2545 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อขอรับผิดชอบโดยตรง โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งเห็นชอบกรอบแผนงานซึ่งกำหนดกิจกรรมดำเนินการไว้ 7 กิจกรรม ในกรอบวงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยขอจัดสรรจากงบค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณพ.ศ.2545 และโครงการศึกษาการพัฒนาขีดความสมารถในการแข่งขันของไทย ในวงเงิน 29.68 ล้านบาท

 

ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนภายใต้กรอบแผนงาน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอเพิ่มเติม  โดยให้รับความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (เกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้องค์กรภาคเอกชนเข้ามาร่วมมีบทบาทในคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ไปพิจารณาดำเนินการด้วย  ทั้งนี้ วงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ ฯ นั้น ให้ใช้จ่ายจากงบค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในงบประมาณปี พ.ศ. 2545 ของกรอบแผนงานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท

 

25.การเกษตร

 

ครม.อนุมัติตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ (คศก.) โดยเห็นชอบ ในหลักการของมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร รวม 4 มาตรการ ได้แก่  การลดความเสี่ยงของ เกษตรกร การแก้ไขหนี้สินของเกษตรกร การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการบริหาร และการจัดการ และให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ โดยให้ใช้งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวงเงิน 50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

26.การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

 

ครม.เห็นชอบวันที่ 11 พ.ค.2542 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอเพื่อฝ่าฝันวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีมาตรการ 1.เร่งรัดหน่วยงานรัฐทำความเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำตามหลักการของระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี 2.ออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 3.ประกาศใช้แผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ 4.เร่งรัดให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 5.หน่วยงานรัฐกำหนดแผนการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น 6.สนับสนุนคณะกรรมการที่มีหน้าที่ปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

 

27.การสร้างคุณภาพ

 

ครม.เห็นชอบหลักการวันที่ 16 มี.ค.2542 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตามที่คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติเสนอ

 

 

28.ทศวรรษสืบสานวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา

 

เห็นชอบแผนแม่บทวาระแห่งชาติทศวรรษสืบสานวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา พ.ศ.2541-2550 วันที่  2 ก.พ. 2552 และให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน

 

 

ส่วนเรื่องที่ครม.รับทราบ

- ปัญหาวิกฤตยาง วันที่ 26 เม.ย.2554 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

- การกระจายรายได้ด้วยการสร้างสังคมสวัสดิการ วันที่ 6 พ.ค.2552 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

- การพัฒนากระบวนการโลจิสติกส์ วันที่ 15 ม.ค.2551 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

- การปลูกต้นไม้ใช้หนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพึ่งตนเอง และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย พลังงาน  อาหาร  และยา วันที่ 17 ก.ค.2552 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ

- ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน 21 มิ.ย.25248 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

-ยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้สายโซ่แห่งคุณค่า ข้าว วันที่ 17 พ.ค.2548 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

-การบริหารจัดการลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน วันที่ 8 มี.ค.2548 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: