ปัญหาการลดลงของพืชอาหารไม่เพียงจะเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังกลายเป็นข้อวิตกกังวลของโลกเท่านั้น แต่แม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นประเทศแหล่งอาหารอันดับต้น ๆ ของโลกก็จำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังจากที่พบว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอาหารเกือบทั่วประเทศกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยส่วนใหญ่ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพืชพลังงานในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตคนไทย อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก
ชี้พืชอาหารภาคใต้วิกฤติ มีแค่ 2 จังหวัดที่ปลูกข้าวพอกิน
ในเวทีสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 โดยมูลนิธิชีววิถี และแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเด็นของการขาดแคลนแหล่งอาหารในอนาคตยังเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทย และในพื้นที่ภาคใต้กลายเป็น พื้นที่ที่ถูกจับตามากที่สุดเมื่อมีข้อมูลเปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีเพียง 2 จังหวัดเท่านั้นคือ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ที่สามารถปลูกข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ และการมีข้าวที่ไม่เพียงพอนี่เองได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ปัญหาด้านเศรษฐกิจสำคัญของคนใต้เพิ่มมากขึ้น
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้มีการขยายพื้นที่ปลูกพืชกระแสหลัก เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา คิดเป็นร้อยละ 72.5ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดเหลือเพียง 2 จังหวัดเท่านั้น ที่ยังปลูกข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคของคนในพื้นที่ คือ นครศรีธรรมราช และพัทลุง หากเกษตรกรละทิ้งการปลูกพืชอาหารมากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารแก่ประชาชนมากขึ้น เฉพาะราคาผักผลไม้ในรอบ 10 ปี พบราคาสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากดัชนีราคาอยู่ที่ประมาณ 100 บาท ในปี 2545 แต่กลับพุ่งเกือบ 350 บาท ในปี 2555 แม้ว่าราคาขายที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่เกษตรกรกลับได้รับเงินเพิ่มเพียงเล็กน้อยเป็นไปตามอัตราค่าครองชีพเท่านั้น โดยพบว่าราคาขายจริง ร้อยละ 60 เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของผลกำไรไม่ใช่ต้นทุน
ทั้งนี้จากการติดตามความเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกพืชในประเทศไทยโดยภาพรวม ขณะนี้พบการเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดยเกษตรกรหันไปปลูกพืชกระแสหลัก โดยเฉพาะพืชพลังงานเพิ่มขึ้นรวมเป็นร้อยละ 75 และลดการปลูกพืชและไม้ยืนต้นที่เป็นอาหารหลักอย่างข้าวและธัญพืช ผลไม้ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลปี 2553-2555 มีพื้นที่ปลูกอาหารหลักลดลงร้อยละ 6.45 จากที่เคยมีพื้นที่ปลูกกว่า 5.3 ล้านไร่ ขณะนี้เหลือเพียง 300,000 ไร่เท่านั้น เนื่องจากทิศทางการสนับสนุนการปลูกพืช เน้นเอื้อต่อภาคธุรกิจให้ได้กำไรในการแปรรูปเป็นพลังงาน ในขณะที่พืชอาหารเกษตรกรได้ผลตอบแทนต่ำไม่มีแรงจูงใจ การปลูกพืชอาหารจึงลดลงจนน่าวิตก โดยเฉพาะในหากปล่อยไว้ไม่ปรับนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้กลับมาปลูกพืชอาหารโดยได้รับค่าตอบแทนสูง
รัฐแทรกแซงราคาพืชเศรษฐกิจแต่ลอยแพพืชอาหาร
จากสถิติการเกษตรของประเทศไทยประจำปีพ.ศ.2555 ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ระหว่างปีพ.ศ. 2548-2555 (ระยะเวลา 7 ปี) มีพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน จำพวก อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้านไร่ หรือ 34 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปี 2548นอกจากนั้นมีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา เพิ่มขึ้นกว่า 5.6 ล้านไร่ หรือ 42 เปอร์เซนต์ เนื่องจากพืชเหล่านี้มีความสำคัญต่อความต้องการในตลาดส่งออก โดยเฉพาะในกรณีตลาดน้ำตาล ยิ่งทำให้ราคาอ้อยสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงราคาของรัฐบาล เมื่ออ้อยหรือมันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้น ย่อมทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกพืชดังกล่าวจำนวนมาก ส่งผลต่อการเพาะปลูกผักและผลไม้ของประเทศมีจำนวนลดลง และหากพิจารณาจากราคาพืชอาหารกลับพบว่าสวนทางกัน เพราะพืชประเภท ผัก ผลไม้ ราคากลับตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นแรงส่งเสริมสำคัญที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจแทนพืชอาหาร
นอกจากนี้จากสถิติการเกษตรของประเทศไทยประจำปี 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยังระบุด้วยว่า การขยายตัวของพืชกระแสหลักในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างปีพ.ศ.2553-2555 พบว่า การปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ซึ่งถือเป็นพืชเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคใต้ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ไร่ ในขณะที่สัดส่วนของพืชทั้ง 2 ชนิด มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2553 กว่า 69 เปอร์เซนต์ เป็น 73 เปอร์เซนต์ ในปีพ.ศ.2555 หรือเกือบ 3 ใน 4 ของพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ในขณะที่การปลูกพืชชนิดอื่นที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนลดลง เช่น การปลูกข้าวมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลงถึง 500,000 ไร่หรือประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่
“ปัจจุบันเหลือเพียง 2 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จากทั้งหมด 14 จังหวัด ที่ยังสามารถปลูกข้าวได้ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ คือ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ทั้งนี้ คาดว่า ภายในปีหน้าจังหวัดนครศรีธรรมราชจะขยายพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อพื้นที่ปลูกข้าวของชาวบ้าน นำไปสู่การบริโภคข้าวที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ อนาคตไทยที่ประกาศเป็นครัวของโลกจะไม่เหลืออาหารผลิตป้อนให้แม้กระทั่งประชาชนของตนเอง จะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร จนเพิ่มปัญหาทุพโภชนาการมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้มีรายได้น้อย จะต้องใช้เงินกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่จำเป็น” ดร.เดชรัตน์กล่าว
คนใต้จนลงเพราะต้องจ่ายเงินซื้ออาหารมากขึ้น
การลดลงของพื้นที่ปลูกพืชอาหารโดยเฉพาะข้าวนี่เอง ที่ไม่เพียงจะส่งผลต่อการขาดแคลนอาหารในอนาคตเท่านั้น เพราะปัจจุบันยังส่งผลโดยตรงต่อสภาเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ภาคใต้แล้ว โดยจากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้สามารถบริโภคอาหารที่ผลิตได้เองเพียง 6.9 เปอร์เซนต์ เท่านั้น ทำให้ปัจจุบันประชาชนต้องบริโภคอาหาร ในการซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าถึง 76.4 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบการบริโภคอาหารที่ผลิตเองในภาคอีสานแล้ว ภาคอีสานมีสัดส่วนที่ต้องซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าเพียง 58.2 เปอร์เซนต์ แต่สามารถบริโภคอาหารที่ผลิตเองได้ถึง 41.8 เปอร์เซนต์ ในขณะที่คนภาคใต้บริโภคอาหารจากการผลิตเองเพียง 23.6 เปอร์เซนต์ นับว่าคนภาคใต้เป็นกลุ่มที่ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารจากร้านค้า เป็นอันดับสองรองจากคนกรุงเทพฯ อีกด้วย
“สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ สัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารต่อรายได้ พบว่า ส่วนใหญ่คนที่รวยมักใช้เงินเพื่อบริโภคอาหารเพียง 11 เปอร์เซนต์ ของรายได้ ในขณะที่คนจนต้องใช้เงินเพื่อบริโภค 47 เปอร์เซนต์ ของรายได้ ทำให้คนจนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นของราคาอาหารมากที่สุด ราคาอาหารมักจะเพิ่มเร็วกว่าราคาสินค้าทั่วไป เราอยู่ในยุคที่อาหารแพงขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าราคาอาหารเพิ่มขึ้นคนจนจะอยู่อย่างไร” ดร.เดชรัตน์ระบุ พร้อมกับเห็นว่า ความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นภัยเงียบ ไม่ได้เข้ามาในลักษณะที่เราขาดแคลนอาหารจนต้องแย่งกัน แต่จะมาในลักษณะของราคาอาหารที่ค่อย ๆ แพงขึ้นเรื่อย พืชพลังงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสเศรษฐกิจเท่านั้น โจทย์ที่สำคัญคือความไม่สมบูรณ์ของระบบตลาด ที่ผู้บริโภคต้องจับจ่ายสินค้าในราคาสูงขึ้น ในขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าที่เกษตรกรรมควรได้รับ ไม่จูงใจเท่าที่ควร ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนจนที่ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้นั่นเอง
ข้อมูลระบุพื้นที่ปลูกข้าวภาคใต้มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2537
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการปลูกข้าวในภาคใต้ ของสำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคใต้ระบุว่า ในปี 2545 ในภาคใต้มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 3.161 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวข้าวนาปี ถึงร้อยละ 87.7 ในขณะที่มีการทำนาปรังเป็นพื้นที่เพียงร้อยละ 11.1 ในแต่ละปีข้าวที่ปลูกมักได้รับผลกระทบจากสภาพฟ้าอากาศ และการระบาดของศัตรูพืชเข้าทำลาย จึงทำให้พื้นที่การเก็บเกี่ยวข้าวจริง เหลือเพียงประมาณร้อยละ 85.6 ของพื้นที่ปลูก
ผลผลิตที่ได้เป็นข้าวเปลือกประมาณ 1.245 ล้านตัน แยกเป็นข้าวในฤดูนาปี (ส.ค.-ก.พ.) ประมาณ 0.996 ล้านตัน และเป็นข้าวนาปรัง (เม.ย.-ก.ค.) 0.239 ล้านตัน ข้าวที่ผลิตได้ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในภาคใต้ที่ประมาณว่าปีละ 1.7 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนั้นจึงต้องมีการนำเข้าข้าวสารอีกจำนวนหนึ่งมาจากภาคอื่น
แหล่งผลิตใหญ่ข้าวในภาคใต้อยู่บริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ลุ่มทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำตาปี ได้แก่พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา และสุราษฎร์ธานี เกษตรกรทำนามีรายได้ต่ำ และมักเป็นเกษตรกรยากจน อย่างไรก็ตามการปลูกข้าวก็มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนใต้ ได้แก่ การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวเฉี้ยง ข้าวเล็บนก ข้าวเหนียวคอดำ และมีการใช้แกระในการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นรวงแล้วมัดเป็นกำที่เรียกว่าเรียง ตลอดจนการเก็บรักษาไว้ในยุ้งฉางในลักษณะเป็นเรียง มากกว่าการเก็บรักษาเป็นข้าวเปลือกที่นวดแล้ว
สภาพภูมิประเทศที่มีนาข้าวและต้นตาลโตนด จัดเป็นภูมินิเวศที่สำคัญของบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระโนด ปากพนัง และสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้กำลังหดหายไปเนื่องจากการเปลี่ยนที่นาไปเป็นนากุ้งกุลาดำ และจากการละทิ้งที่นาไปทำงานนอกภาคการเกษตร นอกจากนี้ที่นาในบางพื้นที่ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นระบบไร่นาสวนผสม เพื่อสร้างความหลากหลายและรายได้แก่เกษตรกรมากกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว
จากปี พ.ศ.2537 ในระยะเวลา 5 ปีที่ พื้นที่นาปี 3.24 ล้านไร่ ได้ลดลงเหลือ 2.92 และ 2.77 ล้านไร่ในปี 2540 และ 2542 ตามลำดับ พื้นที่นาเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง พื้นที่นาร้างไม่เหมาะสมเช่น เป็นนาลุ่มจัด หรือนาดอนถูกปรับเปลี่ยนเป็นไร่นาสวนผสม ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตรสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล
และเมื่อมาถึงปี 2556 สถิติการลดลงของนาข้าวในภาคใต้ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม คือลดลงอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนปัจจัยจากการที่เกษตรกรเปลี่ยนไปทำนากุ้ง เป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือพืชน้ำมันแทนเท่านั้น
จี้จัดสรรพื้นที่อย่างเท่าเทียมแก้ปัญหา
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาผลกระทบจากการปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยระบุว่า แนวคิดการเพิ่มพืชเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการแย่งทรัพยากร และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ไม่เพียงแต่ในภาคใต้ แต่จะกระทบไปทั้งประเทศ เนื่องจากความมั่นคงทางอาหารนั้นมีรากฐานหลักการผลิตที่สำคัญมาจากเกษตรกรรายย่อย ที่ใช้พื้นที่ในการผลิตแตกต่างกันไป หลายหลายรูปแบบ แต่หากพื้นที่การปลูกข้าวลดลง
“หัวใจสำคัญของปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คือเราต้องคิดถึงการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ หรือการกระจายทรัพยากรกันอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ว่าจะมีการพูดถึงการจัดสรรทรัพยากร หรือนโยบายส่งเสริมการเพาะปลูกทั้งพืชอาหาร และพืชพลังงาน ก็เป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการค้าเป็นสำคัญเท่านั้น ภายใต้กลไกดังกล่าวนี้ เกษตรกรรายย่อยก็ยังคงตกอยู่ในภาวะที่ถูกบีบให้ต้องสูญเสียที่ดินออกไปมากยิ่งขึ้นทุกที ก็ทำให้กำลังการผลิตอาหารลดลงอีกด้วย” นายวิทูรย์ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ