7อาชีพเออีซีกระทบ'พยาบาล'มากที่สุด ไทยมี‘นักบัญชี’อื้อแต่ทำงานตปท.ไม่ได้

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 21 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6360 ครั้ง

ความตื่นตัวต่อการเข้าสู่การเป็นหนึ่งในประเทศแห่ง ประชาคมอาเซียน หรือ เอซี (ASEAN Community : AC) ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมประชากรเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการรวมตัวกันในปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 ที่ว่ากันว่าประเทศไทยยังมีอีกหลายมิติที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้ทันกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ผลวิจัยชี้คนไทยยังสับสนการเข้าสู่ประเทศเอเซียน

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่กันอยู่ในขณะนี้ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ถึงแม้จะรู้จัก AEC แต่ก็ยังมีความสับสนต่อเนื้อหาแท้จริงของการรวมตัวของประเทศทั้ง 10 โดยเฉพาะ การกล่าวถึง ประชาคมอาเซียน  หรือ  AC (ASEAN Community) กับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (ASEAN Economic community) โดยมักจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน  แต่แท้จริงแล้ว เออีซี เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ในการจะร่วมกันพัฒนาประเทศไปด้วยกันของประเทศในภูมิภาคทั้ง 10 ประเทศ โดยอีก 2 เสา ที่เหลือ คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community : APSC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio Cultural Community : ASCC) ซึ่งหลังการรวมตัว ประชาคมนี้จะมีประชากรรวมประมาณ 600 ล้านคน

จากผลการวิจัยโครงการพัฒนาบุคลากรและผลิตภาพบุคลากร เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บุคลากรทางการศึกษา กว่าร้อยละ 70-80 มีความรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนน้อยมาก และไม่รู้ว่านโยบายเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมีอะไรบ้าง นอกจากนี้เมื่อสอบถามนักศึกษาไทยพบว่า นักศึกษา 8 คนจาก 10 คน ไม่กล้าไปทํางานในประเทศกลุ่มอาเซียน เพราะกลัวเรื่องภาษา แต่เมื่อถามนักศึกษาประเทศอื่นในอาเซียน ทุกคนต้องการเข้ามาทํางานที่ประเทศไทย นอกจากนั้น ผลการวิจัยจากสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ซึ่งสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่ามีคนกรุงเทพฯเพียงร้อยละ 49 เท่านั้น ที่รู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสํารวจจากกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ 400 คน อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีรายได้ครอบครัวตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป

7 อาชีพเสรียังรู้น้อยและไม่เห็นประโยชน์จากการรวมตัว

นอกจากนี้ประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ภายหลังการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เพราะจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเออีซีอย่างชัดเจนก็อาจจะทำให้เกิดความสับสน และขาดแคลนแรงงานฝีมือขึ้นได้ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือใน 7 อาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การสำรวจ และบัญชี โดยจากผลการสำรวจความรู้ความเข้าใจเรื่อง เออีซี เกี่ยวกับข้อตกลงด้านการเคลื่อนย้ายวิชาชีพ 6 สาขา จัดทำโดยศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการไทย เมื่อปี 2555 พบว่า

วิชาชีพทันตแพทย์พบว่า ทันตแพทย์ไทย มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเออีซี ร้อยละ 50 เนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์โดยทันตแพทย์สมาคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลทันตแพทย์ไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในรายละเอียดถึงระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง

ขณะที่ วิชาชีพแพทย์ พบว่าแพทย์ไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง เออีซี มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากแพทยสมาคมฯ และ แพทยสภา มีการสัมนาเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์ไทยเข้าใจดีว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียนขึ้น แต่ยังขาดความเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเปิดเสรี ซึ่งแพทย์ไทยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว

วิชาชีพพยาบาล พบว่าพยาบาลไทย มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น สำหรับผู้ที่ทราบและเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการเปิดเสรี และผู้ที่อยู่ในสภาการพยาบาล ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติวิชาชีพยังไม่ค่อยทราบเรื่องดีเท่าที่ควร จึงส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจการเปิดเสรีด้านวิชาชีพพยาบาล อย่างไรก็ตามสภาการพยาบาลได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ทราบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนวิชาชีพนักบัญชี พบว่านักบัญชีของไทย มีความเข้าใจเรื่องเออีซีค่อนข้างสูง มากกว่าร้อยละ 80 เพราะเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับนักบัญชีนั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้นักบัญชีทราบอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นักบัญชีเพิ่งมาตื่นตัว และการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นักว่าเป็นแรงผักดันแก่นักบัญชีของไทยในการพัฒนามาตรฐาน เพราะตลาดงานในวิชาชีพบัญชี จะมีความเสรีอย่างจริงจังมากขึ้น

วิชาชีพวิศวกรพบว่า วิศวกรไทย มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเออีซี  เพียงร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย และที่ยังไม่เข้าใจมีถึงร้อยละ 70 เนื่องจากวิศวกรไทยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่มีความสนใจไปทำงานในอาเซียน วิชาชีพสถาปนิก พบว่าสถาปนิกของไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง เออีซี น้อยกว่าร้อยละ 50

‘พยาบาล’กระทบมากสุดแต่รู้เรื่องเออีซีน้อยสุด

ทั้งนี้จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า กลุ่มวิชาชีพพยาบาล เป็นกลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับเรี่องนี้น้อยที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มวิชาชีพที่กำลังจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มวิชาชีพ ที่ให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน เช่นเดียวกับแพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งมีความกังวลว่าอาจจะกลายเป็นวิชาชีพที่ส่งผลต่อประชาชน  หากมีการเคลื่อนย้ายออกไปยังประเทศอื่น ๆ หรือย้ายการให้บริการจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน อาจจะส่งผลกระทบกับการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของพยาบาลที่ถือเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าแพทย์หรือทันตแพทย์ และยังเป็นอาชีพที่คลาดแคลนจำนวนมากในปัจจุบันอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า แม้ว่าสังคมจะมีความเป็นห่วงเรื่องของบุคลากรการแพทย์ ว่าจะไม่มีเพียงพอต่อความต้องการที่จะเกิดจากการเคลื่อนย้ายฐานการทำงานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านนั้น ส่วนตัวไม่ได้คิดกังวลต่อประเด็นนี้ เนื่องจากสัดส่วนประชากรมีเพิ่มขึ้นปีละ 1 เปอร์เซนต์ แต่จำนวนแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 8 เปอร์เซนต์ ซึ่งไม่เกิน 10 ปี อาจเกิดภาวะแพทย์ล้นตลาดเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนแพทย์ 21 แห่ง สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 2,500 คน แต่สิ่งที่กังวลกลับเป็นเรื่องของบุคลากรพยาบาลมากกว่า เพราะในแต่ละปีพยาบาลจบใหม่มีไม่มากนัก ขณะที่พยาบาลเองทำงานไปไม่นานก็จะเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องนำเข้าพยาบาลจากต่างประเทศเข้ามาทำงานก็เป็นได้

พยาบาลขาดแคลนอาจต้องนำเข้าจากฟิลิปปินส์

จากบทความเรื่อง “เมื่อพยาบาล (อาเซียน) ไร้พรมแดน” โดย ศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า ในรายงานของ World Health Statistic 2012 ระบุข้อมูลสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรมากที่สุด คือมีสัดส่วนพยาบาล 6 คน ต่อประชากร 1,000 คน รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ มีสัดส่วนพยาบาล 5.9 คนต่อประชากร 1,000 คนและ บรูไน มีสัดส่วนพยาบาล 4.9 คน ต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนพยาบาล 1.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรน้อยที่สุดคือ พม่า และกัมพูชา มีสัดส่วนพยาบาลเพียง 0.8 คน ต่อประชากร 1,000 คน

ในรายงานฉบับเดียวกันยังระบุถึงความสามารถในการผลิตพยาบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน  โดยพบว่าประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จัดเป็นประเทศที่สามารถผลิตพยาบาลได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนหลายเท่า โดยในปี 2550 ประเทศฟิลิปปินส์สามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพ และพยาบาลผดุงครรภ์ได้จำนวน 63,697 คน จากสถาบันการศึกษาด้านการพยาบาลจำนวน 785 แห่ง แบ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ 60,199 คน และพยาบาล ผดุงครรภ์ 3,498 คน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน สอดคล้องกับรายงาน Nurse Migration : The Asian Perspective รายงานว่าประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการผลิตพยาบาลเพื่อส่งออกไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 25 ของพยาบาลทั้งหมดทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 83 ของพยาบาลชาวต่างชาติในสหรัฐอเมริกา

            “ตอนนี้เราอาจจะเห็นโรงพยาบาลเอกชนของไทยนำเข้าพยาบาลจากประเทศฟิลิปปินส์แล้ว แต่เนื่องจากติดเรื่องของระเบียบ จึงทำให้พยาบาลเหล่านี้ต้องมาทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลแทน” นายกแพทยสภากล่าว

ห่วงพยาบาลไหลออก แม้จะนำเข้าก็ไม่ถึงคนจน

จากบทความชิ้นเดียวกันนี้ยังชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพได้ไม่น้อยกว่า 7,000 คนต่อปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยพิจารณาจากข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาการพยบาลเกี่ยวกับข้อมูลความต้องการพยาบาลปี 2553-2562 กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยควรจะมีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1: 400 หรือคิดว่าควรมีพยาบาลประมาณ 168,500 คน เพื่อที่จะดูแลประชากรไทยได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ 125,250 คน ทำให้ยังขาดแคลนพยาบาลอยู่ถึง 43,250 คน แบ่งเป็นขาดแคลนในกระทรวงสาธารณสุข 31,250 คน และจากโรงพยาบาลอื่น ๆ (ในสังกัดภาครัฐและเอกชน) อีก 14,000 คน ทำให้เห็นว่า คนไทยยังขาดพยาบาลที่จะคอยดูแลประชากรเจ็บป่วยอีกจำนวนมาก

สำหรับสาเหตุปัญหาการขาดแคลนอาชีพพยาบาล ที่มาจากการผลิตที่ได้ออกมาในปริมาณไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรแล้ว สาเหตุสำคัญของการลาออกของพยาบาลส่วนใหญ่ คือปัญหาเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการของพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ จนต้องมีการย้ายออกไปสู่สถานพยาบาลเอกชนมากขึ้น และตกเป็นปัญหาเรื้อรังจนเกิดการเรียกร้องมาแล้ว และสาเหตุนี้ยังทำให้พยาบาลอีกจำนวนมาก มีความพยายามที่จะเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น

ดังนั้นแม้จะพบว่า ส่วนหนึ่งจะมีการนำเข้าพยาบาลจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่ก็ดูเหมือนอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนแล้ว การนำเข้าก็อาจจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชน ในขณะที่โรงพยาบาลของรัฐกลับไหลออกมากขึ้น การไหลออกของพยาบาลวิชาชีพก็ยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

หมอฟันขยับย้ายยากเพราะต้องทำงานเป็นทีม

ส่วนในกลุ่มของทันตแพทย์นั้น ท.พ.ศิริชัย ชูประวัติ นายกทันตแพทยสภา ได้เคยแสดงความคิดเห็นว่า ยังไม่รู้สึกว่าการเปิดเออีซีจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการขาดแคลนหรือแย่งงานกันทำ ในกลุ่มของทันตแพทย์ ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีทันตแพทย์ประมาณ 12,000 คนทั่วประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะในต่างจังหวัดยังขาดแคลนอีกประมาณ 4,000 คน แต่คงไม่ห่วงเรื่องการเดินทางไปทำงาน เนื่องจากเชื่อว่าหากทันตแพทย์ไทยจะไปทำงานต่างประเทศจริง ๆ จะต้องมุ่งเข้าไปในประเทศที่ร่ำรวยและตอบแทนรายได้ที่มากกว่าในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพราะจะถูกประเทศนั้น ๆ กีดกันด้วยข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาท้องถิ่น ถ้าไม่เก่งจริง คงไปได้ยาก ที่สำคัญทันตแพทย์ไม่เหมือนแพทย์ หรือพยาบาลที่เดินทางไปทำงานที่ไหนก็ได้เพียงลำพัง แต่ทันตแพทย์จะต้องมีทีม คือมีผู้ช่วย และเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการทำงานซึ่งหากไปทำงานในต่างประเทศจะต้องลงทุนด้วยงบประมาณที่สูงมาก อาจจะไม่คุ้มค่าหากเทียบกับการทำงานในประเทศไทย

            “แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่าคือเรื่องของหลักสูตรการเรียนทันตแพทย์ที่มีความแตกต่างกัน มาตรฐานจึงย่อมไม่เท่าเทียมกัน เช่น ประเทศไทย ยึดหลักสูตรตามแบบสหรัฐอเมริกา เรียนจบหลักสูตรภายใน 6 ปี ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดหลักสูตรแบบอังกฤษเรียนเพียง 5 ปี”

ระบุวิชาชีพบัญชีรุ่งที่สุดในตลาดอาเซียน

สำหรับผลกระทบในกลุ่มของนักวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงานระดับสูงในเออีซีมากที่สุดนั้น นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ประธานคณะกรรมการเตรียมพร้อมสู่เออีซี สภาวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า แม้ทุกประเทศเห็นด้วยในหลักการว่า ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายนักบัญชีเสรี แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศติดขัดข้อกฎหมายภายใน เช่น ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย สำหรับอินโดนีเซียและมาเลเซียมีความพร้อม อนุญาตให้นักบัญชีของอีกฝ่ายเข้ามาสอบใบอนุญาตและทำงานในประเทศตัวเองได้

นายสุพจน์กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมด้านจำนวนนักบัญชี เพราะไทยน่าจะมีนักบัญชีมากที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพบัญชีประมาณ 5.8 หมื่นคน และมีผู้ถือใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) 8,700 คน สถาบันผลิตนักบัญชีทั่วประเทศมีกว่า 300 แห่ง ผลิตนักบัญชีปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้จบด้านบัญชีมาขึ้นทะเบียนกับสภาปีละไม่เกิน 2,000 คน ซึ่งนายสุพจน์ประเมินว่า กลุ่มที่เหลือกว่าร้อยละ 90 ไปทำงานในสำนักงานที่ไม่ไหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะไปถึงขั้นการสอบ CPA ซึ่งเมื่อเปิดเสรีวิชาชีพบัญชีในประชาคมอาเซียน กลุ่มนี้จะเสียเปรียบจากมาตรฐาน โอกาส และความสามารถของบุคลากร ส่วนกลุ่มไม่ถึงร้อยละ 10 ทำงานกับบริษัทบัญชีข้ามชาติขนาดใหญ่ในไทยจะมีโอกาสเติบโตไปสู่ต่างประเทศ ได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่นักบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีดำเนินงาน 5 กิจกรรมประกอบด้วย (1) สัมมนาปรับความรู้และทัศนคติ 8 ครั้ง เริ่มครั้งแรกวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 (2) เปิดหลักสูตร 1 ปี ประกาศนียบัตรพิเศษนักบัญชีเพื่อเพิ่มทักษะด้านบัญชีขั้นสูง (3) เปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานและขั้นกลางในปลายปี (4) เปิดทดสอบมาตรฐานสำนักงานบัญชีโดยเฉพาะสำนักงานบัญชีขนาดเล็ก และ (5) พาไปดูงานในอาเซียน โดยปีที่แล้วไปดูงานที่ประเทศพม่า

อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเห็นว่า หากพิจารณาถึงโอกาสการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะสูงเหล่านี้ กลุ่มลูกจ้างเอกชนน่าจะเป็นกลุ่มที่จะมีโอกาสเคลื่อนย้ายแรงงานสูงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก และนักบัญชี ซึ่งมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ประกอบอาชีพทั้ง 7 สาขาวิชาชีพ ปัจจัยผลักที่มีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานปัจจัยหนึ่ง คือ วิศวกรบางส่วนยังว่างงานและกำลังหางานทำ ส่วนนักวิชาชีพด้านสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างรัฐบาลที่ดูเหมือนจะมีความมั่นคง แต่หากประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศในอาเซียนมีปัจจัยดึงดูดที่ดีกว่าโดยเฉพาะในเรื่องของค่าตอบแทน ก็จะมีโอกาสเคลื่อนย้ายแรงงานสูงด้วยเช่นกัน

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Goole

ภาพที่ใช้เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: