สืบเนื่องจากสถานการณ์การพนันในปัจจุบันขยายออกไปในวงกว้าง และมีการพัฒนารูปแบบและชนิดของการเล่นการพนันออกไปอย่างหลากหลาย จึงทำให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงการพนันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ยืนยันว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศ ออกมาอย่างชัดเจนว่า การพนันสร้างผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างชัดเจนและรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนระบุชัดเจนว่า สมองของเด็กและเยาวชนขณะกำลังเติบโตช่วงเด็กไปสู่วัยรุ่นหากมีประสบการณ์การพนัน จะส่งผลต่อเซลล์สมองเกี่ยวกับความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และทักษะการใช้ชีวิต ทำให้กลายเป็นคนที่ชอบเสี่ยงโชค ลงทุนน้อยแต่หวังผลมาก ขณะที่ด้านจิตใจ การพนันเป็นภาวะเสพติด ส่วนด้านสังคม การพนันเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม ด้วยเหตุนี้การหาแนวทางในการป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างจากการพนัน จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างเร่งด่วน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการ
ขณะที่ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การเข้าถึงการพนันเป็นไปได้ง่ายเนื่องจากกฎหมายที่จะใช้ควบคุมเรื่องการพนัน คือ พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาเป็นเวลากว่า 80 ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับการพนันในปัจจุบัน และระบบการควบคุมกำกับดูแลผู้ที่ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการพนันตามกฎหมายก็มีความหละหลวม การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ และในส่วนของภาครัฐไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการผลกระทบจากการพนัน
นอกจากนี้การจัดแบ่งประเภทหรือชนิดของการพนันยังล้าสมัยและขาดความชัดเจน อีกทั้งการบัญญัตินิยามศัพท์การพนัน และถ้อยคำที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะนิยามที่มีความสำคัญตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้การปรับใช้และการตีความกฎหมายชัดเจนมากขึ้น ก็ยังไม่สามารถทำได้ และประเด็นที่สำคัญคือ การพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตให้มีการเล่นพนันถูกกฎหมายโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ ก็เป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการออกใบอนุญาตที่ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ซึ่งบุคคลใด ๆ ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตให้มีการเล่นพนันได้ ซึ่งแตกต่างจากการอนุมัติใบอนุญาตในประเทศตะวันตกที่มีความเข้มข้นในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ที่สำคัญคือ บทลงโทษล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้ามือรายใหญ่ที่มีเงินพนันหมุนเวียนหลายล้านบาท แต่เมื่อกระทำความผิดก็เสียเงินค่าปรับไม่กี่พันบาท หรือได้รับโทษจำคุกไม่นาน หรือได้รับโทษเพียงรอลงอาญา ทำให้ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการลงโทษตามกฎหมายที่ต้องการให้เข็ดหลาบ ซึ่งมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การพนัน กำหนดระวางโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 8 ซึ่งเงิน 5,000 ในสมัยก่อนกับสมัยนี้ถือว่ามีความแตกต่างของค่าเงินหลายร้อยเท่า ดังนั้นจึงควรมีการปรับแก้กฎหมาย โดยกำหนดโทษคนที่ทำความผิดออกเป็น 4 กลุ่มคือ เจ้ามือ ผู้เล่น ผู้รับใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้รับใบอนุญาตและเจ้าหน้าที่รัฐหากกระทำผิดควรต้องได้รับโทษในอัตราสูงสุด และยังเสนอว่าควรเปลี่ยนแปลงการลงโทษเด็กและเยาวชน เช่น ไม่ควรให้จำคุก แต่ควรเป็นมาตรการพิเศษ เช่น การให้ความรู้ หรือการทำงานให้สังคม
ทั้งนี้ในงานวิจัยของ ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เรื่อง “โครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรมและผลกระทบการพนันในประเทศไทย” โดย ระบุถึงสถานการณ์การพนันในประเทศไทยว่า จากการสำรวจข้อมูลของกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 5,042 คน ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 16 จังหวัด พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 64.2 เคยเล่นการพนันในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และประชากรมากกว่าร้อยละ 63 เคยเล่นการพนันในขณะที่เป็นเด็ก เยาวชน หรือมีอายุไม่เกิน 24 ปี โดยพบผู้เล่นการพนันที่มีอายุต่ำที่สุดคือ 7 ปี ซึ่งประเภทของการพนันที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเล่นมากที่สุดคือ หวยใต้ดิน จำนวน 19,923,643 คน รองลงมาคือสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 19,211,727 คน อันดับสาม คือการเล่นพนันในบ่อนพนันผิดกฎหมาย จำนวน 3,125,705 คนอันดับสี่ คือ การพนันฟุตบอล จำนวน 1,067,418 คน อันดับห้าคือการพนันกีฬาพื้นบ้าน จำนวน 883,592 คน และเมื่อพิจารณาจำนวนเงินหมุนเวียนที่มีในการพนันแต่ละประเภท พบว่า หวยใต้ดินมีเงินหมุนเวียนราว 1 แสนล้านบาทต่อปี รองลงมาคือสลากกินแบ่งรัฐบาลคือ 76,770 ล้านบาท รองลงมาคือการพนันในบ่อน การพนันฟุตบอล และการพนันพื้นบ้าน ตามลำดับ
ด้านนายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า เรื่องการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยสถานการณ์การพนันผิดกฎหมายในประเทศไทย ที่สรุปโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติในครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2556 พบว่ามีจำนวนคดีการพนันทั่วไปและการพนันสลากกินรวบรวม 3,988 คดี ซึ่งถือเป็นจำนวนสถิติที่มาก เพราะยังไม่ถึงสิ้นปีจำนวนผู้กระทำความผิดก็มีแนวโน้มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอย่างชัดเจนว่ากฎหมายที่บังคับใช้ของเรานั้นล้าสมัย และยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งแก้ไข และร่าง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. ...ซึ่งเสนอโดยกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีรับหลักการเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เราก็ยังมีความห่วงใยถึงผลกระทบ ที่จะตามมา เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจน บทลงโทษที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ ที่สำคัญไม่มีการระบุถึงการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ