‘เชียงของ’หวั่นเมืองโตเร็วจนเละ  ชี้ศก.-ท่องเที่ยวทำวิถี-สวล.เพี้ยน แนะทำ‘2ระบบ’รักษาชุมชนดั้งเดิม

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 2517 ครั้ง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความตื่นตัวจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2558 กำลังกลายเป็นกระแสลุกลามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาดการณ์กันว่า จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการติดต่อซื้อขายของพ่อค้า นักธุรกิจในระดับต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่พากันเตรียมการรับมือกับเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นอีกเมืองหนึ่ง ที่ถือว่ากำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีภูมิศาสตร์เหมาะสมกับการเป็นเมืองท่า และจุดเชื่อมต่อสำคัญ ในการติดต่อซื้อขายไปยังประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน การพัฒนาสาธารณูปโภค ทางวัตถุต่าง ๆ จึงผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ไม่กี่ปีมานี้จึงพบว่า ในเมืองเชียงของ มีอาคารพาณิชย์ ร้านค้า โรงแรม และการให้บริการผุดขึ้นมากมาย ใครที่เคยไปเชียงของเมื่อหลายปีก่อน กลับไปในวันนี้อาจจำหน้าตาของเมืองอันเงียบสงบแห่งนี้ไม่ได้แล้วเพราะพื้นที่หลายแห่งกำลังถูกเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นเมืองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยรถราขนส่งสินค้า พ่อค้าต่างถิ่น และแรงงานนอกพื้นที่ ที่เข้ามาใช้เชียงของ เป็นแหล่งทำมาหากินกันอย่างคึกคัก

 

 

 

ตั้งกลุ่มสร้างแนวคิดรักษาวิถี ‘เมืองเชียงของ’

 

 

อย่างไรก็ตามแม้คนในเมืองเชียงของจำนวนมาก จะรู้สึกยินดีกับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ โดยมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สำหรับชาวเชียงของกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง กลับเกิดความวิตกห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งรับมือกับความเจริญทางวัตถุ ที่กำลังคืบคลานเข้ามา ขณะที่ชาวเชียงของเอง ยังไม่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มที่ การเคลื่อนไหวเพื่อหวังจะรักษาความเป็นตัวตนของ “เชียงของ” จึงเกิดขึ้น โดยพยายามผลักดันให้ภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติ รวมไปถึงชาว อ.เชียงของเอง ตระหนัก และเร่งหาแนวทางร่วมกันในการรับมือ กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนาธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ตัวแทนภาคประชาชนหลากหลายอาชีพใน อ.เชียงของ แสดงความเห็นว่า แม้จะยอมรับว่า การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน จะทำให้เชียงของ ซึ่งมีภูมิศาสตร์สำคัญในการเป็นเมืองชายแดน และเป็นจุดเชื่อมต่อในการทำการค้าระหว่างประเทศ จนเกิดโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้นก็ตาม แต่ที่ผ่านมาข้อเท็จจริงก็พบแล้วว่า หากรัฐบาลหรือแม้แต่ชาวเชียงของ ไม่จัดวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการรับมือกับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ การเปิดเป็นประชาคมอาเซียนก็อาจทำให้ให้เกิดผลเสียต่อคนไทยได้ โดยเฉพาะคนในพื้นที่

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมิติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องทบทวน และหาแนวทางป้องกัน หรือแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งในมิติด้านสังคม สาธารณสุข หรือสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันยังไม่พบว่ามีความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้เลย และรัฐบาลเองก็ไม่เคยพูดถึง

 

 

 

ห่วงคนเที่ยวไร้วัฒนธรรม ทำเมืองเก่าเละ

 

 

นิวัฒน์กล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ อ.เชียงของ กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากชุมชนที่เคยมีความสงบ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน เต็มไปด้วยรถรามากมาย เพราะผลจากการเปิดเส้นทางคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งนอกจากเชียงของจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขนส่งสินค้าชายแดนแล้ว ยังถือเป็นจุดผ่านของการท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ใช้เส้นทางนี้ผ่านเข้าประเทศไทย แต่การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ได้สร้างปัญหาให้พื้นที่พอสมควร เพราะส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยวแบบวัฒนธรรมของตนเอง โดยไม่ใส่ใจวิถีชีวิตดั้งเดิมของสถานที่ที่เข้าไปท่องเที่ยว จึงมีความกังวลว่า ไม่นานวัฒนธรรมของคนเชียงของจะเปลี่ยนไป แทนที่เชียงของจะได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่นักท่องเที่ยวอย่างสง่างาม ก็กลับรับวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาแทน ซึ่งปัญหานี้ล้วนเคยเกิดขึ้นมาแล้วใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ความพยายามในการผลักดันให้เกิดการรับมืออย่างเข้มแข็ง จึงเป็นสิ่งจำเป็นของเมืองเชียงของในขณะนี้

 

 

 

ด้านผู้ประกอบการรายหนึ่ง ในฐานะตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่น แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ที่ผ่านมา เชียงของคือเมืองหน้าด่าน ที่เคยเป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดนที่ได้รับความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางผ่านไป สปป.ลาว, จีน หรือ การเดินทางจากจีน เข้ามาในเมืองไทย ซึ่งในอดีตจะต้องผ่านธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่น แต่ปัจจุบันด้วยการเปิดเสรีมากขึ้น การติดต่อขายตรงโดยไม่ผ่านตัวแทน ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวย่ำแย่มาก โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เข้ามาแบบหลบหลีก มีไกด์ผี รับส่งมากมาย ท่องเที่ยวแบบไม่เคารพทั้งสถานที่และวัฒนธรรม หรือรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อประเทศไทยอยู่แล้ว

 

 

จี้ออกเทศบัญญัติควบคุมทุกมิติการพัฒนา

 

 

ดังนั้นภาครัฐจำเป็นที่จะต้องหามาตรการแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย เช่น การออกกฎด้านการท่องเที่ยว ในเทศบัญญัติ เช่นเดียวกับจีนที่ออกกฎด้านการท่องเที่ยว คือหากนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศเพื่อท่องเที่ยวในประเทศจีน จะต้องทำสัญญากับบริการการท่องเที่ยวที่มีระบบ เช่น ไกด์ก็ต้องใช้ไกด์ท้องถิ่นคนขับรถในพื้นที่ เจ้าของโรงแรมที่รับทัวร์ก็ได้ส่วนแบ่ง รัฐบาลไทยจึงต้องให้ความสนใจเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะทัวร์ท้องถิ่นที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในพื้นที่มากกว่า เพราะหากไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ เลย เมืองเชียงของก็อาจจะกลายเป็นแค่เมืองท่าที่เต็มไปด้วยแรงงาน หรือนักท่องเที่ยวไร้คุณภาพเหมือนหลายเมืองชายแดนของ จ.เชียงราย ที่ถูกเปลี่ยนสภาพจากเมืองโบราณ เป็นเมืองการค้าระดับล่างเท่านั้น

 

นอกจากนี้ในประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ นั้น นิวัฒน์และเครือข่ายเห็นว่า การเติบโตที่เกิดขึ้นมากทั้งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ จะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของแรงงานต่างถิ่น ที่จะพากันหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเชียงของ ในฐานะของลูกจ้างในธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่จะไม่ได้จำกัดเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แต่จะข้ามไปใช้แรงงานในฝั่งสปป.ลาวด้วย คนรุ่นใหม่ที่เคยมีวิถีชีวิตตามบรรพบุรุษดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ก็จะกลายมาเป็นแรงงาน มนุษย์เงินเดือน ส่วนกลุ่มที่เคยมีอาชีพค้าขายรายย่อยในพื้นที่ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนธุรกิจไป ไม่เป็นพนักงานที่รับเงินจากกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ก็อาจต้องโยกย้ายไปทำมาหากินในเมืองใหญ่ต่างถิ่น ชีวิตที่เคยเป็นมาในอดีตจะหายไปด้วยเช่นกัน ขณะที่ในมิติของสิ่งแวดล้อม หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ขยะจำนวนมากจะถูกนำมาทิ้งใน อ.เชียงของ ทั้งในเรื่องของของเสียอื่น ๆ ทั้งมลภาวะทางเสียง น้ำเสียย่อมเกิดขึ้นตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

 

 

             “ระยะหลังในเชียงของมีการพัฒนา ด้วยการสร้างสิ่งสาธารณูปโภค อาคารพาณิชย์ โรงแรม ขึ้นอย่างไร้ทิศทางจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน เพื่อรองรับการเปิดการเสรีก็มีมากขึ้นเช่นกัน แต่เมืองเชียงของเองยังขาดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาที่ชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน อย่างเรื่องของการจัดการผังเมือง ที่ปัจจุบันยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี ดังนั้นเราเองจึงต้องร่วมกันในการที่จะรักษาเมืองที่เคยเป็นเมืองประวัติศาสตร์เอาไว้”

 

 

ทุกประเด็นล้วนเป็นปัญหาที่มองเห็นชัดเจนว่าย่อมเกิดขึ้นแน่ แต่จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีการวางแผนเตรียมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เลย

 

 

กังขาผังเมืองทำช้าหรือติดปัญหาแบ่งเค้ก

 

 

ปัจจุบันสิ่งที่ภาคประชาชนกำลังเรียกร้อง และเร่งให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงของดำเนินการคือ การจัดทำผังเมืองให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะจะมีผลอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการพื้นที่เมืองเชียงของ หลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ระหว่างเมืองเชียงของ จ.เชียงราย และ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว แต่กลับพบว่า การจัดการผังเมืองเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่ ทั้งห้างสรรพสินค้า หรือนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ กำลังเตรียมการก่อสร้าง การบริหารจัดการเรื่องขยะ โรงบำบัดน้ำเสียยังไม่มีการจัดทำอยู่ในผังเมือง โดยเฉพาะการจัดทำผังเมืองใน ต.เวียง ที่เหลือเพียงตำบลเดียวที่การจัดทำผังเมืองยังไม่เสร็จสิ้น จนทำให้หลายส่วนเกิดความคลางแคลงใจ เรื่องการดำเนินการดังกล่าวว่า อาจเป็นเพราะตกลงเรื่องส่วนแบ่งของงบประมาณในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้หรืออย่างไร

 

 

                “จากความกังวลที่มีอยู่ อยากให้ดำเนินการเรื่องผังเมืองเชียงของที่ชัดเจน ก่อนสะพานเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากขณะนี้ท้องถิ่นยังไม่ได้คุยกันในเรื่องเทศบัญญัติ เมือง และยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ออกมาเพื่อพัฒนาเชียงของอย่างยั่งยืน ขณะที่ภาคประชาชน ได้แค่ทำหน้าที่เสนอแผนพัฒนา หนึ่งเมืองสองแบบ เมืองในส่วนนี้พยายามจะจัดระเบียบเมืองใหม่ ให้มีการค้าได้ แต่เมืองเก่าต้องรักษาไว้ ไม่ให้พื้นที่อุตสาหกรรมลงมาครอบครอง แต่ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรการจัดทำผังเมืองจึงนานมาก ข้อติดขัดตรงไหน จึงเป็นที่น่าสงสัย” เครือข่ายคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

 

 

แนะแผน ‘1 เมือง 2 ระบบ’ แบ่งเมืองเก่า-ใหม่ ไม่ก้าวก่ายกัน

 

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความพยายามของภาคประชาชน ผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการเสนอแผนการพัฒนาเชียงของ และได้จัดทำเป็นร่างแนวคิด “เชียงของ-หนึ่งเมืองสองแบบ การพัฒนาอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน” ซึ่งหลักคิดเหล่านี้ นิวัฒน์กล่าวว่า ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น แต่เป็นการนำความคิดจากการจัดการเชิงพื้นที่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

 

ทั้งนี้สำหรับอำเภอเชียงของ หรือเมืองเชียงของ ในปัจจุบัน หากมองจากบริบททางประวัติศาสตร์และฐานการผลิตเดิม จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 เขต คือ เขตเวียงเชียงของ ซึ่งเป็นเขตเมืองเก่า และพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นฐานการผลิตทางเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวเดิมที่ตั้งอยู่ในด้านทิศเหนือของเมือง ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่มีวัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วัดแก้ว วัดหลวง วัดหัวเวียง วัดศรีดอนชัย ฯลฯ และเขตเมืองใหม่ที่จะมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเข้ามารองรับ ตั้งอยู่โดยรอบเชิงสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ทางด้านทิศใต้ของเมือง ปัจจุบันที่ดินบริเวณนี้เปลี่ยนมือไปยังคนต่างถิ่น และนายทุนต่าง ๆ ไปแล้ว ดังนั้น ร่างแนวคิด “เชียงของ-หนึ่งเมืองสองแบบ การพัฒนาอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน” ที่ภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน คือการพัฒนาเมืองโดยแบ่งรูปแบบของเมืองทั้ง 2 แบบอย่างชัดเจน

 

 

เน้นสร้างสมดุลการพัฒนาและอนุรักษ์

 

 

นิวัฒน์กล่าวต่อว่า ในเขตเมืองเก่า เราเห็นว่าควรจะมีการบริหารจัดการในลักษณะของการจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์พื้นที่วัฒนธรรมต่าง ๆ เอาไว้ ให้เกิดความสวยงามเช่นเดิมและควรจะระมัดระวังในเรื่องของการจัดทำภูมิสถาปัตยกรรมเดิมเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในขณะที่เขตเมืองใหม่ ที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจ ควรเคารพต่อประวัติศาสตร์ นิเวศวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นเชียงของ และหากมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม ก็จำเป็นต้องเป็นระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญการจัดผังเมืองจะต้องมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการผังเมืองในเขตเมืองใหม่นี้ด้วย

 

 

 

หลักคิดทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ล่าสุดทีเดียว แต่เป็นการนำความคิดการจัดการเชิงพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น การมีระบบเหมืองฝายแบบเก่าในลำห้วยหรือลำน้ำอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องไปทำลายของเก่าแล้วเอาระบบชลประทานแบบปูนซีเมนต์มาสร้างซ้อนทับลงบนที่เก่า ซึ่งเป็นฝายแบบไม้ที่ใช้ได้ทั้งทางการเกษตรและวัฒนธรรมได้ดีอยู่แล้ว เหตุใดไม่สร้างระบบชลประทานแบบปูนซีเมนต์ มาเสริมในจุดอื่นของลำน้ำแล้วจัดการให้สองระบบนี้เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือกล่าวสรุปได้ว่า เหตุใดต้องสร้างสิ่งที่ใหม่กว่ามาซ้อนทับหรือลงมาทำลายสิ่งเก่า

 

 

             “ในประวัติศาสตร์การพัฒนา ก็พอมองเห็นแล้วว่า สิ่งใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีมีคุณต่อผู้คนเสมอไป และสิ่งเก่าที่เราหวงแหนร่วมกัน ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องและดีต่อสังคมในวันนี้อนาคตเสมอไป เราควรสร้างดุลยภาพในการจัดการสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าอย่างไร ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อคนเชียงของร่วมกัน” นิวัฒน์กล่าวในตอนท้าย

 

 

แม้การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องรักษาความเป็น “เมืองเชียงของ” ของชาวเชียงของกลุ่มนี้ จะดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ ด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งจากความเข้าอกเข้าใจ ในประเด็นการเคลื่อนไหวจากชาวเชียงของกลุ่มอื่น ๆ เอง หรือ การตอบรับจากภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่การเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อไป

 

ถึงแม้รู้ว่าอาจจะไม่ทันการพัฒนาที่กำลังรุกคืบอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว พร้อมกับยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ใคร ๆ กำลังชื่นชม โดยไม่รู้ว่าจะต้องแลกไปด้วยอะไรบ้าง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: