‘มีเดีย อินไซด์เอาท์'ถกตอบโจทย์ ปมอวสานเพราะศึกนอกหรือศึกใน เหตุการณ์นี้ให้อะไรกับสังคมไทย

สำนักข่าวประชาไท 22 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1560 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม กลุ่มมีเดีย อินไซต์ เอ้าท์ จัดเสวนาหัวข้อ “อวสานตอบโจทย์ ศึกนอกหรือศึกใน” ร่วมเสวนาโดย จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวี ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และอธึกกิต แสวงสุข หรือ คอลัมนิสต์นามปากกา ใบตองแห้ง และบรรณาธิการอาวุโสวอยซ์ทีวี ดำเนินรายการโดยพิณผกา งามสม

 

 

‘จอม’ห่วงภิญโญถูกผลักเป็นพวก 'ล้มเจ้า' กระทบการประกอบวิชาชีพ

 


จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวี กล่าวชื่นชมภิญโญว่า มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมาโดยตลอด โดยพยายามเสนอความเห็นต่างและแหลมคม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เห็นในพื้นที่ของไทยพีบีเอสเลย แต่สุดท้าย คนในไทยพีบีเอสกลับไม่ตื่นตัวและยังต่อต้าน ทั้งนี้ แสดงความกังวลต่อการที่ภิญโญถูกผลักให้เป็นพวก 'ล้มเจ้า' ด้วยว่า ตนเองถูกหาว่า 'แดง' สมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ แม้แต่งานพิธีกร-อีเวนต์ คนยังมองว่านอกจากจะดูเป็นการเมืองแล้วยังเป็นฝ่ายแดงอีก เป็นภาวะที่มีทางเลือกประกอบวิชาชีพน้อยมาก ในกรณีภิญโญ ที่ถูกผลักให้เป็นพวกล้มเจ้า จะยิ่งได้รับผลกระทบร้ายแรง ตั้งคำถามว่าจะช่วยดูแลให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร

 

 

นอกจากนี้ จอมยังกล่าวถึงการก่อตั้งของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในอดีตด้วยว่า กว่าจะเริ่มออกอากาศได้ คนทำงานต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะขณะนั้น อุตสาหกรรมโทรทัศน์อยู่ภายใต้กรอบของรัฐบาลมาตลอด ใช้เวลาทบทวนออกแบบกันถึงหกเดือนว่าจะเป็นทีวีเสรีได้อย่างไร จะทำข่าวแตกต่างจากช่องอื่นอย่างไร มีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง นำเสนอข่าวประชาชนก่อนนักการเมือง เห็นข้อจำกัดของการส่งนักข่าวไปประจำในที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น ซึ่งเขามองว่าขณะนั้นถือว่าไอทีวีประสบความสำเร็จในการปฏิรูปทีวี แต่หลังจากนั้นประสบปัญหาเศรษฐกิจ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาซื้อหุ้นในที่สุด

 

จอมกล่าวต่อว่า ขณะที่ไทยพีบีเอสนั้นเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมืองหลังรัฐประหาร เพื่อกำจัดไอทีวีของทักษิณที่ผ่านมา จะเห็นว่าไม่มีอุดมการณ์ทีวีสาธารณะที่แท้จริง ไม่ได้ทำตัวรักษาผลประโยชน์ทุกกลุ่ม มีเพียงภาคประชาชน แต่ไม่มีนักธุรกิจ ข้าราชการ คนอีกหลายกลุ่ม ช่องนี้พยายามบอกให้เกลียดระบบทุน ให้พอเพียง เป็นคนดีมีศีลธรรม สะท้อนว่าไม่เข้าใจความเป็นทีวีสาธารณะว่าต้องตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม มีอคติ ยังคงเป็นคนทำสื่อช่องต่าง ๆ เป็นเจ้าของความดีความจริง แต่ไม่กระจายพื้นที่สื่อให้กับทุกกลุ่ม

จอมชี้ด้วยว่า ความเข้มแข็งของทีวีสาธารณะจะต้องขึ้นกับความหลากหลายที่เป็นภาพสะท้อนของคนในสังคม ต้องมีความคิดของคนทุกกลุ่มในความคิดของคนไทยพีบีเอส และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่เห็นต่าง ลงโทษและปิดกั้น อย่างกรณีภิญโญที่เห็นต่างจากคนอื่นก็อยู่ไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม จอมเสนอว่า ไทยพีบีเอสควรพลิกวิกฤต ทบทวนตัวเองจากกรณีนี้ เพื่อเป็นสังคมต้นแบบของคนทำสื่อและคนในสังคม ทำให้เห็นว่ามีความเห็นต่างแล้วยังอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้เห็นด้วยกับการตัดสินใจของไทยพีบีเอส ที่รับฟังคนที่มาทักท้วง โดยชี้ว่าไม่ว่ากี่คนก็ต้องสนใจ ให้ความเป็นธรรม เช่น กรณีนี้มีการปรับปรุงเพิ่มสกู๊ปแล้วจึงนำมาออกอากาศ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าอย่าหยุดออกอากาศ เพราะจะกลายเป็นความเสียหายในความเป็นทีวีสาธารณะอย่างที่สุด นอกจากนี้เสนอด้วยว่า ในฐานะที่ทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของไทยพีบีเอส จึงน่าจะมีผู้ลุกขึ้นมาตั้งองค์กร ตรวจสอบงบประมาณและทัศนคติของคนทำงานด้วย

 

จอมกล่าวว่า ถ้าถามว่าถึงเวลาต้องคุยกันเรื่องสถาบันกษัตริย์หรือยัง มองว่า ถึงเวลาแล้ว สถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในระยะสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนที่มีความผูกพันทั้งที่จงรักภักดีหรือตั้งคำถาม ต่างก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอด อย่าปฏิเสธความจริงว่า คนที่รักจะไม่อ่านคำวิจารณ์ ยิ่งปัจจุบันมีการพูดถึงทั้งจากนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คณะนิติราษฎร์ และในสื่อออนไลน์ก็ต้องคุยและพูดให้ชัด ถามว่าเมื่อเสนอเรื่องอ่อนไหว ต้องปูพื้นความเป็นมาก่อนไหม ส่วนตัวมองว่า รูปแบบรายการที่ออกไปนั้นรับได้ เพราะประเด็นนี้มีการถกเถียงพูดคุยมานานแล้ว

 

จอมกล่าวว่า ถ้าถามว่า ทำไมคนไทยงอแง ถ้าจะพูดแบบตรงๆ คำถามใหญ่ที่สุด อาจไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 การหมิ่นสถาบัน หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่คือเมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้ว องค์ต่อไปคือใคร นี่ต่างหากที่ทำให้งอแง เพราะไม่มีใครให้ความชัดเจน เนื่องจากพระองค์ทรงสร้างมาตรฐานกษัตริย์ไว้สูงมาก จึงเกิดคำถามว่าองค์ต่อไปจะทำได้แค่ไหน

 

 

'ประวิตร' ชี้กรณี้นี้สะท้อนภาวะน่าห่วง คนออกมาเซ็นเซอร์คนอื่นและเซ็นเซอร์ตัวเองได้

 

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น กล่าวว่า สิ่งที่เกิดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (15 มีนาคม) เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในสังคมไทย เรื่องการเซ็นเซอร์สื่อและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมา สมศักดิ์เป็นบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ของสื่อกระแสหลัก ไม่เคยถูกอ้างอิง ถ้ามีการพูดถึงก็เป็นการด่า ถ้าจะบ่นว่าการนำสุลักษณ์และสมศักดิ์มาออกรายการสามตอน ไม่มีคนคานข้อมูล อยากชี้ว่า นี่เป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ของข้อมูลด้านเดียวที่ประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงของสื่อทุกสำนัก ถามว่า เจ้าจะล้มเพียงเพราะสองท่านไปออกรายการหรือ วันนี้สถาบันก็ยังอยู่

 

ประวิตรเสนอว่า เมื่อสถานีตัดสินใจออกอากาศตอบโจทย์แล้ว แปลว่าภิญโญไม่ได้ทำผิดอะไร ก็อยากเห็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสออกมาแสดงเจตนารมณ์ในที่สาธารณะ เชิญภิญโญกลับไปทำงาน ทั้งนี้จากเหตุการณ์ตอบโจทย์ ทำให้เห็นปรากฏการณ์หลายอย่าง เช่น แนวคิดดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ว่าโง่ เช่น ในบทความ ตอบโจทย์ พ่อง (พ่อมึง) เหรอ! ของจิตตนาถ ลิ้มทองกุล มีคนไทยที่เชื่อว่าตัวเองมีการศึกษาจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้โง่ คิดเองไม่เป็น ส่วนตัวมองว่าหากดูถูกประชาชนขนาดนี้ ก็ควรไปทำงานประชาสัมพันธ์ที่ปวารณาตัวให้ข้อมูลด้านเดียว ไม่ควรมาทำสื่อ และถ้าเชื่อว่าประชาชนคิดไม่เป็น ก็ควรให้เขาเริ่ม สังคมต้องเรียนรู้ ถ้าสิ่งที่ตอบโจทย์จัด ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงเศษเสี้ยว ยังรับไม่ได้ สังคมจะมีวุฒิภาวะได้หรือ โดยเฉพาะที่ยังมีการยึดกับตัวบุคคล ในยุคปลายรัชกาล จะอยู่กันอย่างไรในสิบปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ประวิตรกล่าวว่า ที่น่าละอายคือ กรณีที่พนักงานอาวุโสในไทยพีบีเอส แสดงความเห็นตั้งคำถามกับการให้พื้นที่นำเสนอ โดยมองว่า สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นั้นทำได้ แต่ควรเชื่อในความเห็นที่หลากหลาย นี่เป็นครั้งแรกที่สมศักดิ์ได้ออกทีวีกระแสหลัก ทั้งที่แสดงความเห็นเท่าทันเจ้ามา 20 ปีแล้ว คนเหล่านี้กลับบอกว่าไม่แฟร์ ทั้งที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนควรมีสิทธิแสดงความเห็นต่าง

 

ประวิตรกล่าวว่า กรณีภิญโญที่ถูกหาว่าล้มเจ้า เหมือนถูกทำร้ายแบบไม่ให้มีแผ่นดินอยู่ และอาจส่งผลต่อการทำงานในอนาคต สังคมไทยต้องให้กำลังใจ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องเห็นด้วยกับที่เขาพูดขณะเดียวกันเรียกร้องต่อคนเสื้อแดง หรือคนที่เท่าทันต่อสถาบันด้วยว่า อย่างน้อยต้องประนามการถอดรายการเหนือเมฆไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “โจทย์ใหญ่ของสังคม อยู่ที่ว่าสังคมไทยจะสร้างที่ยืนสำหรับความเห็นที่หลากหลายได้อย่างไร โดยไม่ต้องปิดปาก เกลียดชัง หรือฆ่ากัน เป็นภาระของสื่อทุกองค์กรที่อ้างตนว่ายืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยและสังคมไทย มิเช่นนั้นสังคมไทยจะไม่มีทางสงบ มีวุฒิภาวะ ถ้าต้องคอยเกลียดชัง ปิดปาก จำกัดคนเห็นต่าง”ประวิตรกล่าวและว่า “ปัญหาไม่ใช่แค่สื่อ ไม่ต้องมี 112 พ.ร.บ.คอมฯ ก็มีคนรักพ่อภาคปฏิบัติจัดให้ ที่น่ากลัวคือมีประชาชน เซ็นเซอร์คนอื่น และตัวเองโดยไม่มีใครสั่ง”

 

นอกจากนี้ ประวิตรกล่าวด้วยว่า การมีกรรมการนโยบายและอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนของไทยพีบีเอสเป็นเรื่องที่ดี ถ้าไม่มีโครงสร้างนี้ คงไม่มีการนำเสนอรายการตอบโจทย์ตอนที่ 5 ในวันจันทร์ พร้อมยกตัวอย่าง หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ที่มีระบบผู้ตรวจการซึ่งจะเชิญคนนอกที่ได้รับการยอมรับว่าไม่อยู่ใต้อิทธิพลของสื่อนั้น ให้มีพื้นที่ในสื่อเพื่อแสดงความเห็นวิพากษ์การทำงานของสื่อ ตำหนิและฟังฟีดแบก ซึ่งในไทยยังไม่มี

 

 

'ใบตองแห้ง' วิพากษ์สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์สองมาตรฐาน

 

 

อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความไม่พอใจระหว่างฝ่ายข่าวกับรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ที่ปัจจุบันแยกออกจากฝ่ายข่าวมาอยู่กับฝ่ายรายการแล้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีการจ้างคนนอกมาทำแทน โดยจากอีเมล์โต้ตอบระหว่างอรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ ซึ่งเป็น บก.ตอบโจทย์ กับ บก.ข่าวในไทยพีบีเอสคนหนึ่ง จะพบว่ามีความไม่พอใจที่รายการถูกแยกออกมาจากฝ่ายข่าว ทั้งที่เดิม แม้ภิญโญจะดำเนินรายการเอง จะยังมีพิธีกรสลับกันและมีการหารือกัน เหมือนฝ่ายข่าวถูกตบหน้าจากการที่ตอบโจทย์ซึ่งเป็นรายการหลักของสถานีถูกแยกออกไป

 

 

นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งภายใน จากการที่ที่ผ่านมา สมชัย สุวรรณบรรณ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ พยายามจัดระเบียบฝ่ายข่าวใหม่ เพราะระบบในไทยพีบีเอสยุ่งเหยิง มีเจ้ากรมอิสระ ต่างคนต่างมา มีที่มาแบบองค์กรเอ็นจีโอคือเป็นพรรคพวกกัน มีการสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกัน มีปัญหาด้านการบริหาร มีทัศนะชี้นำ ทำให้สมชัยอยากจะปฏิรูปโดยเริ่มที่รายการตอบโจทย์ แต่เมื่อสมชัยตัดสินใจพลาดโดยชะลอออกอากาศเมื่อวันศุกร์ และเสียภิญโญไปแล้ว ก็ยังสงสัยว่าสมชัยจะทำอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัว มองว่าแม้สมชัยจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ตรงข้ามกับตนเอง แต่ก็เป็นคนที่เปิดกว้างต่อทัศนะที่แตกต่าง

 

ใบตองแห้งกล่าวต่อว่า กรณีสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ชื่นชมการตัดสินใจระงับการออกอากาศ ชื่นชมผู้ที่ไปกดดัน และตำหนิรายการตอบโจทย์ฯ นั้น สมควรแล้วที่อรพินจะขอลาออกจากการเป็นอุปนายกด้านสิทธิเสรีภาพ เพราะปกป้องเสรีภาพของรายการไม่ได้ ทั้งนี้อรพินเองตอนที่นักข่าวไทยพีบีเอสถูกตำรวจตีในม็อบเสธ.อ้าย ก็เป็นผู้ไปต่อสู้ให้ แต่กับกรณีนี้สมาคมกลับเงียบกริบ พอสุดท้าย กลับออกแถลงการณ์เช่นนี้ ตั้งคำถามว่าสองมาตรฐานไหม กรณีที่ อ.เจตน์ไปพบกนก รัตน์วงศ์สกุล ยังไม่รุนแรงเท่านี้ ที่คน 20 กว่าคนไปบอกว่าหากไม่ถอดรายการจะไม่กลับ ถามว่า ต่อไปถ้ามีใครไปกดดันวิสุทธิ์ (คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย) ที่คลื่น 96.5 จะชื่นชมไหม

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: