‘จาตุรนต์’แจงเร่งพ.ร.บ.นิรโทษฯ ไม่เอื้อ‘ทักษิณ’ช่วยเหยื่อการเมือง ชี้ทำช้าหวั่นเสียฐานเสียงเสื้อแดง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 22 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1821 ครั้ง

 

ในที่สุดร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ก็ถูกเลื่อนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาเป็นวาระแรกในสมัยประชุมทั่วไป (สิงหาคม 2556)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลังฝ่ายเพื่อไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันมาแล้วถึง 3 ครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยส่งวาระใส่มือคนสำคัญของพรรคมาแล้วหลายคน อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ คนที่เคยถูกระบุว่าเป็น “สายตรง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 

ชื่อ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ไม่เคยเป็นเครือข่ายสายตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เขาเป็น “สายตรงประชาธิปไตย”

 

เขาปรากฎตัวทั้งใต้ดิน-บนดิน ร่วมขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งธงนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง

 

อะไรคือหลักการและเหตุผล หัวใจของการช่วยคนเสื้อแดงตาดำ ๆ ที่อยู่คุกการเมือง คำตอบเริ่มจากบรรทัดนี้ไป...

 

 

 

            “ประชาชนที่มาชุมนุมแล้วถูกดำเนินคดี ไม่ได้ตั้งใจทำความผิด เขามาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้ตั้งใจทำผิดกฏหมาย เขาตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง เพราะฉะนั้นประชาชนควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองทุกรูปแบบ” จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าว

 

แกนนำควรได้รับการนิรโทษหรือไม่

 

นายจาตุรนต์ : ในอดีตการนิรโทษกรรม จะนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และแกนนำ

 

ฝ่ายประชาธิปัตย์ ต้องการให้นิรโทษให้ประชาชนอย่างเดียว ไม่ให้คนที่มีโทษอาญา และติดคดีทุจริต

 

นายจาตุรนต์ : เขาให้นิรโทษกรรมเฉพาะการขัดพระราชบัญญัติความมั่นคง ขัดพระราชกำหนดฉุกเฉิน ส่วนคดีทุจริต ความหมายจริง ๆ คือเกือบไม่ได้

 

มีข้อสงสัยว่า เป้าหมายอยู่ที่การช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

นายจาตุรนต์ : ไม่เกี่ยว แต่เป็นการตั้งแง่ เพื่อกล่าวหา การนิรโทษกรรมการเมืองส่วนใหญ่นิรโทษคดีอาญาจึงจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นเวลาจะนิรโทษกรรมไม่ให้เขาเป็นเหยื่อ เยียวยาให้เกิดความยุติธรรม ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมทางการเมืองที่ทำความผิดทางกฎหมาย แต่การลงโทษไม่เท่าเทียมกันเลย

 

หลายกรณีมีการต่อต้านรัฐบาล ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน หลายพันคนกระทำความผิดข้อหาร้ายแรง แต่ไม่ถูกดำเนินคดี มีความล่าช้า ไม่ได้ลงโทษ แต่อีกฝ่ายถูกดำเนินคดีเป็นพันคน ซึ่งข้อเสนอที่เป็นพระราชบัญญัติ-พระราชกำหนด ก็มีหลักการ 3-4 แบบ ซึ่งนิรโทษความผิดอาญาเป็นหลักก่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีคดีอาญา-คดีทุจริต และมีประเด็นที่มีการวิจารณ์ว่า จะนิรโทษกรรมให้คนเผาบ้านเผาเมืองหรือ

 

นายจาตุรนต์ : การทุจริตไม่เป็นประเด็น เพราะประชาชนที่มาชุมนุมไม่มีใครมีคดีทุจริต มีแต่คดีอาญา พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะยืนกระต่ายขาเดียวว่า การนิรโทษจะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ มีประโยชน์ ซึ่งก็ต้องให้รัฐสภาตัดสินใจ

 

คณะนิติราษฎร์ เคยเสนอให้การนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แนวทางนี้ยากไปหรือไม่

 

นายจาตุรนต์ : ก่อนหน้านี้มีทั้งข้อเสนอที่เป็นพระราชกำหนด พระราชบัญญัติ และรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำเป็นรัฐธรรมนูญ อาจทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ยังไม่ผ่านวาระที่สาม หากมีการแก้ประเด็นนิรโทษ ก็จะเกิดความซับซ้อน และทำให้การแก้รัฐธรรมนูญโดยรวมมีปัญหาได้

 

 

 

 

ทำไม่การนิรโทษกรรม คราวนี้ถึงทำยากในทางการเมือง เฉพาะรัฐบาลนี้พยายามผลักดันมาแล้วถึง 3 ครั้ง

 

นายจาตุรนต์ : ที่ผ่านมามีการนิรโทษฯ ให้กับคณะรัฐประหารมากที่สุด การนิรโทษประชาชนในญี่ปุ่นเขาต้องรอให้สงครามสิ้นสุด หรือการนิรโทษนายอุทัย พิมพ์ใจชน ก็ทำให้ขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

ครั้งนี้มีความยาก เพราะความขัดแย้งยังไม่จบ และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าไปในทิศทางไหน ตอนนี้ยังชักเขย่อกันอยู่ ทั้งสองขั้วผลัดการเป็นฝ่ายค้าน ผลัดกันเป็นรัฐบาล เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็มาต่อต้าน ตอนนี้อีกฝ่ายเป็นรัฐบาล ก็มีฝ่ายหนึ่งมาต่อต้าน ความขัดแย้งไขว้กันไป กันมา ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ถูกข้อหานิรโทษพวกเดียวกันเอง

 

แต่ในยุค 6 ตุลาคม 2519 การนิรโทษก็ทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง

 

นายจาตุรนต์ : หลังนิรโทษกรรมแล้ว ก็ยังมีคนเห็นต่าง

 

กว่าจะออกกฏหมายนิรโทษได้ พรรคเพื่อไทยก็คงต้องเผชิญหน้าความเสี่ยงทางการเมือง

เรื่องความเสี่ยงถามว่ามีหรือไม่

 

นายจาตุรนต์ : ก็ต้องบอกว่ามี...แต่ต้องดูว่ามีเหตุ มีผลหรือไม่ในการทำให้เกิดการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่เป็นเหยื่อทางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยก็ยังมีความขัดแย้ง ที่ผ่านมามีคนตาย 98 คน แต่ละฝ่ายมีความบาดหมางภายใต้กติกาที่คนไม่ยอมรับ เช่นรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งความขัดแย้งจะพัฒนาต่อไป การนิรโทษให้ประชาชน น่าจะมีคนเห็นต่างน้อย เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งลง

 

 

 

พรรคเพื่อไทย จะออกจากความกลัว เพื่อเดินหน้าทำเรื่องนิรโทษให้ประชาชนได้หรือไม่

 

นายจาตุรนต์ : ไม่ได้พูดจากันว่า พรรคเขาจะตัดสินใจกันอย่างไร ก็มีการเชิญนักวิชาการ นักการเมืองเจ้าของร่างกฏหมายมาครั้งหนึ่ง...ก็ตอบแทนพรรคไม่ได้ สุดท้ายส.ส.พรรคเพื่อไทย น่าจะสนับสนุนให้มีการพิจารณาในวาระการประชุมสมัยหน้า...ไม่ควรให้ประชาชนรอนาน

 

 

แต่ที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญ ไปจ่อที่วาระ 3 แล้วเพื่อไทยยังถอย

 

นายจาตุรนต์ : ก็คิดว่าต่อบแทนเพื่อไทยไม่ได้...คิดว่าประเด็นนิรโทษต่างกัน ผลกระทบต่างกัน รัฐธรรมนูญกระทบกับศาลรัฐธรรมนูญลุกลามไปถึงทั้งพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาล แต่การนิรโทษกรรมประชาชน ไม่น่าจะมีผลกระทบขนาดนั้น

 

พรรคเพื่อไทย ก็ต้องชนกับศาลรัฐธรรมนูญ

 

นายจาตุรนต์ : ถ้าพิจารณาเป็นพระราชบัญญัติการนิรโทษกรรม แล้วต้องติดปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องให้สังคมได้เห็นว่า เพราะเหตุใดถึงไม่ผ่าน

 

หากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่ได้พิจารณาในสมัยประชุมหน้า และเพื่อไทยยอมถอยอีก ความเสี่ยงทางการเมืองคืออะไร

 

นายจาตุรนต์ : ความเสี่ยงใหญ่คือ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนจากประชาชน และอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งต่อไป ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ฐานเสียงของพรรคอาจจะเสียความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่รากหญ้า ที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมือง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: