เป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศที่ตกเป็นที่สนใจตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยก่อนหน้านี้ไทยและและกัมพูชาแถลงด้วยจาต่อศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์กลางเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างรอการพิจารณาของศาลอีกไม่กี่เดือน คณะกรรมการมรดกโลกก็เตรียมจัดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 37 ขึ้นในวันที่ 16-26 มิถุนายน 2556 นี้ ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
โดยในครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีความกังวลว่า กัมพูชาอาจจะนำประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกขึ้นมาหารือในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย และหากเป็นเช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบประเทศไทย ล่าสุด นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวถึงท่าทีและการเตรียมการของประเทศไทยหากกัมพูชาจะอาศัยโอกาสนี้ในการเคลื่อนไหวกรณีเขาพระวิหาร
ตรวจสอบเครียดพบเขมรยังไม่กล้าบรรจุพระวิหารในการประชุม
นายปรีชากล่าวว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดของวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะหน่วยงานประสานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเป็นผู้รับผิดชอบ พบว่า ในเอกสารการประชุมยังไม่พบว่า มีบรรจุวาระเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าสู่ที่ประชุมแต่อย่างใด โดยในเนื้อหาการประชุมส่วนใหญ่เป็นการนำประเด็นเรื่องของมรดกโลกในที่ต่าง ๆ มาพูดจาหารือในรายละเอียดกัน
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้คือ การนำเรื่องของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกโลกของไทย เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะพบว่าไม่มีการนำเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าสู่วาระการประชุม ที่ประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมการต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพูดถึงประเด็นนี้หรือไม่ เพราะหากมีการพูดจากันขึ้นจริง ๆ ก็จะได้มีการตอบคำถาม หรือแก้ไขสถานการณ์ในแนวทางที่ถูกต้องและทันท่วงที
เตรียมแผน 5 ข้อค้านทุกกรณี
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับประเด็นเขาพระวิหารนั้น ในส่วนของประเทศไทย ล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกมีมติให้นำประเด็นต่าง ๆ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบดังนี้
1.กรณีคณะกรรมการมรดกโลกยืนยันที่จะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตย เหนือดินแดนของไทย ให้ดำเนินการคัดค้านหรือไม่ร่วมประชุม
2.กรณีคณะกรรมการมรดกโลกตามข้อ 1 ดำเนินการมีผลกระทบกระเทือนต่ออธิปไตยของไทยราชอาณาจักรไทยจะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยจะยึดถืออธิปไตยของชาติเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และจะดำเนินการตามกระบวนการภายในของประเทศต่อไป
3.ในกรณีที่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณตัวปราสาท ราชอาณาจักรไทยควรให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งข้อ B4 ของคำสั่งศาลระบุว่า “ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ข้อพิพากในศาลทวีความรุนแรงหรือแก้ไขได้ยากขึ้น ทั้งสองประเทศจึงไม่ควรกระทำกิจกรรมใดๆ บริเวณปราสาทพระวิหารจนกว่าศาล จะมีคำตัดสินในคดีตีความปราสาทพระวิหารปี 2505 รวมทั้งรอผลการจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และควรเสนอให้ปราสาทพระวิหารออกจากกลไกการตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กลไกการติดตามตรวจสอบ เช่น การเข้ามาติดตามตรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบูรณะตัวปราสาท ซึ่งอาจจะดำเนินการนอกเหนือจากตัวปราสาทและไปกระทบกับพื้นที่ยังเป็นข้อพิพาท
4.กรณีวาระเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนมรดกโลก มีการให้การสนับสนุนกัมพูชา เพื่อกิจกรรมใดๆ ขอกัมพูชาที่เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของไทย ไทยควรคัดค้านเพื่อไม่ให้มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และขอให้ศูนย์มรดกโลกและ/หรือคณะกรรมการมรดกโลก ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนมรดกโลกของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะแหล่งมรดกโลก เช่น การซ่อมแซมตลาดบริเวณเชิงบันไดนาค หรือปรับปรุงกิจกรรรมอื่นๆ ของกัมพูชา
5.กรณีปราสาทพระวิหาร อาจปรากฎในวาระที่ 7B ประเด็นสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมปราสาทพระวิหาร โดยกัมพูชาอาจเสนอเป็นวาระเพิ่มเติมเข้ามา ดังนั้นราชอาณาจักรไทยควรเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างข้อตัดสินใจ และการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ด้วย เช่น สรุปรายงานการอนุรักษ์ปราสาทโดยศูนย์มรดกโลก เพื่อโต้แย้งหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกหากมีการพิจารณาร่างข้อตัดสินใจ
ส่งผู้ช่วยรมต.เฝ้าระวังหวั่นเขมรลักไก่
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ประเทศไทย ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานการประชุม ร่วมกับรัฐภาคีอื่นๆ อีก 4 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย โคลัมเบีย เซเนกัล และสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีประเทศกัมพูชาทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยจะต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลก (Bureau) ทุกวันก่อนการประชุมเพื่อกำหนดและทบทวนวาระที่จะประชุมในแต่ละวัน จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะเฝ้าระวังหากมีการบรรจุวาระปราสาทพระวิหารในการประชุม ซึ่งไทยสามารถทักท้วงและยืนยันท่าทีของไทยได้ และหากกัมพูชาจะเสนอวาระการประชุมที่เกี่ยวที่ข้องกับตัวเอง ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ ต้องให้ประเทศอื่นเป็นประธานแทน
“ตอนนี้จากการติดตามวาระการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่พบว่ามีการบรรจุวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารเข้าสู่การประชุมในครั้งนี้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย จะมีนายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วยฯ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยจะนำประเด็นทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า” นายปรีชากล่าว
ชี้ไทยยังต้องส่งแผนดูแลมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่
นอกจากนี้ในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ มีการบรรจุประเด็นวาระเกี่ยวกับกลุ่มป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เข้าสู่ที่ประชุมด้วยนั้น นายปรีชากล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องชี้แจงรายงานสถานภาพการอนุรักษ์กลุ่มป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ต่อที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 36 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ได้มีมติ 5 ข้อให้ประเทศไทยต้องชี้แจงและรายงานผลการดำเนินการ ประกอบด้วย
a) การขยายถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304
b) การแยกส่วนของป่า การเชื่อมต่อ และความจำเป็นสำหรับทางเชื่อมต่อระบบนิเวศ;
c) การบุกรุกพื้นที่
d) การวางแผนการจัดการ;
e) ระดับการท่องเที่ยวและผู้เข้าชม
f) เขื่อน และการทำปศุสัตว์
นอกจากนี้ศูนย์มรดกโลกยังเป็นห่วงสถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยให้ประเทศไทยชี้แจงเพิ่มเ ติมว่า กรณีไม้พะยูงต้องดำเนินอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้งหมดต้องเข้ามาตั้งด่านสกัดอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรฯ มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะสนับสนุนกำลังในการดูแลพื้นที่ หากเจ้าหน้าที่ของเราไม่เพียงพอ ทั้งนี้ตนได้มอบให้ผู้ตรวจราชการทั้งระดับกระทรวงและกรมทุกคน ต้องลงไปดูการทำงานของแต่ละพื้นที่
พื้นที่ใดมีปัญหาทั้งเรื่องการบุกรุก หรือการลักลอบตัดไม้พะยูง หัวหน้าอุทยานฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าทำงานขาดประสิทธิภาพ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157
ทั้งนี้ที่ผ่านมาศูนย์มรดกโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (ไอยูซีเอ็น) พิจารณาแล้วเห็นว่าคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อยู่ภายใต้ภัยคุกคามที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการขยายทางหลาวงแผ่นดินหมายเลข 304 การบุกรุกพื้นที่ทั้งจากรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และการเลี้ยงปศุสัตว์ การลักลอบตัดไม้มีค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้พะยูง (Siamese rosewood) และการบริหารจัดการที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้นศูนย์มรดกโลกและไอยูซีเอ็น เห็นว่ามีข้อจำกัดของความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลก และจากภารกิจการติดตามตรวจสอบเมื่อปี 2555 ระดับภัยคุกคามในปัจจุบันอาจส่งผลให้แหล่งมรดกโลกถูกขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย (World Heritage in Danger) ถ้าหากไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญใน 12 เดือนหลังจากนี้ ทั้งนี้ศูนย์มรดกโลกและไอยูซีเอ็นเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกร้องขอให้ รัฐภาคืคือประเทศไทยเชิญไอยูซีเอ็น ติดตามตรวจสอบพื้นที่มรดกโลก ก่อนการประชุมครั้งที่ 38 ในปี 2557 เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ และเพื่อให้คำแนะนำว่ากลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จะเข้าสู่เงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตรายหรือไม่ภายในปี 2557
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ