แนะเปิดทางเอกชนเร่งระบายข้าว ชี้เลือกพื้นที่รับจำนำอย่าเหมารวม ปรับวิธีใหม่แก้โรงสีโกงความชื้น

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 22 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1786 ครั้ง

 

 

จากปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่เดินมาถึงจุดวิกฤต ประสบปัญหาขาดทุน อีกทั้งปัญหาการสวมสิทธิ์ การโกงตราชั่ง ค่าความชื้น และปัญหาประสิทธิภาพในการระบายข้าว ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถออกมาชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน หลายฝ่ายจึงร่วมกันหาทางออก ชี้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าว

 

 

 

ทีดีอาร์ไอเสนอให้รัฐเร่งการระบายข้าว

 

 

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) กล่าวถึงนโยบายการจำนำข้าวว่า ที่ผ่านมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายประกันราคาข้าว แต่ไม่มีรัฐบาลใดเคยออกนโยบายดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้การพยุงราคาข้าวหรือการแทรกแซงราคาข้าว ทำให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์ไม่ทั่วถึง และอำนาจการต่อรองราคาข้าวตกอยู่ในมือของโรงสี แต่นโยบายการจำนำข้าว ชาวนาส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการขายข้าวได้ราคาดี แต่ชาวนาที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่ คือชาวนาที่มีฐานะปานกลางจนถึงฐานะดี เพราะข้าวที่นำมาจำนำเป็นข้าวที่เหลือจากการเก็บไว้กินแล้ว จึงนำออกมาขาย แต่ชาวนาที่ปลูกข้าวไว้กินเองไม่มีข้าวเหลือพอที่จะนำมาขาย

 

 

            “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือแยกยากว่า เป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวกินเองเท่าไหร่ ปลูกเพื่อขายเท่าไหร่ จึงแก้ปัญหาด้วยการให้จำนำข้าวตั้งแต่ตันแรก และเป็นครั้งแรกที่ชาวนาจะได้เงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ตอนนี้พูดได้ว่า เงินถึงมือชาวนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าจบโครงการแล้วถึงหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับว่าผลการระบายข้าวเป็นอย่างไร” ดร.วิโรจน์ กล่าว

 

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ รัฐบาลขายข้าวได้ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ทีดีอาร์ไอประมาณการไว้ จึงคาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท หรืออาจจะสูงถึง 120,000 ล้านบาท เพราะรัฐบาลรับซื้อข้าวในราคาที่ประกาศรับจำนำคือตันละ 15,000 บาท แต่กลับขายข้าวได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ทำให้ประมาณการตัวเลขการขาดทุนน่าจะสูงขึ้นไปอีกถึง 130,000 ล้านบาทหรืออาจสูงถึง 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนที่มากกว่าที่มีการประมาณการไว้ในตอนต้น

 

ดร.วิโรจน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือรัฐบาลไม่ควรเก็บข้าวไว้ขายเอง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เลิกขายข้าวเองมาแล้วกว่า 20 ปีแล้ว จึงต้องไปพึ่งบริษัทเอกชนให้เข้ามาบริหารจัดการ แต่บริษัทดังกล่าวไม่มีความเชี่ยวชาญในการขายข้าวที่ต้องทราบวิธีเก็บรักษาและหาตลาด ทางทีดีอาร์ไอจึงเสนอว่า ควรให้พ่อค้าที่เชี่ยวชาญในแต่ละตลาด ประมูลเพื่อนำไปขายในตลาดที่ตัวเองถนัด จะเป็นทางออกของการระบายข้าวที่ดี

 

 

ชาวนาถูกโกงค่าความชื้น-รับเงินช้า

 

 

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า นโยบายการจำนำข้าวส่วนใหญ่มักไม่ต่อเนื่องและกลายเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง แต่การจำนำข้าวในรัฐบาลนี้ส่วนที่ดีคือชาวนาไทยขายข้าวได้ราคา ซึ่งโครงการนี้ดีขายข้าวแล้วไม่ขาดทุน เพราะถ้าปล่อยตามราคากลไก ชาวนาก็อยู่ไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำข้าวยังมีจุดอ่อนที่การวัดค่าความชื้น ชาวนาถูกโรงสีโกงค่าความชื้นให้มีความชื้นสูงเพื่อกดราคาให้ต่ำลง และมีการกำหนดเขตการขาย ถ้าอยู่ในพื้นที่ใดจะต้องนำไปขายให้กับโรงสีในพื้นที่ที่กำหนด นอกจากนี้การรับเงินจากเดิมที่กำหนดให้รับเงินได้เร็วที่สุด 3 วันและช้าที่สุดภายใน 7 วัน แต่ชาวนาประสบปัญหาว่า 2-3 เดือนแล้วยังไม่ได้รับเงิน ประการสำคัญคือ ชาวนายังไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการข้าวแห่งชาติดังที่เรียกร้อง

 

 

เสนอทางเลือกการจำนำยุ้งฉางนอกเหนือจากโครงการจำนำข้าว

 

 

นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายการจำนำข้าว แต่การขับเคลื่อนสินค้าเป็นตัว ๆ มีจุดอ่อน จึงเสนอให้มีนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่ตัวเกษตรกรด้วย ไม่ควรมีนโยบายข้าวเดียวปฏิบัติทั้งประเทศ นโยบายจำนำข้าวเหมาะสมกับชาวนาภาคกลาง ที่จะได้ขายข้าวปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ส่วนชาวนาภาคเหนือและอีสาน ควรใช้นโยบายจำนำยุ้งฉาง เนื่องจากชาวนายังคงเก็บข้าวคุณภาพดีไว้ที่ยุ้งฉาง การมีนโยบายจำนำยุ้งฉาง เพื่อให้รัฐเข้าไปอุดหนุนดอกเบี้ยแทนชาวนา อาจจะมีความเหมาะสมที่จะทำ เพราะในทางวัฒนธรรมข้าวในภาคเหนือและอีสาน มีฐานะเป็นการออมของครอบครัว

 

 

นอกจากนี้ ยังเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาการโกงความชื้น โดยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีตราชั่งส่วนกลาง หรือให้กระทรวงพาณิชย์นำตราชั่งส่วนกลางมาตั้งที่หน้าอำเภอ ก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวไปขายให้นำข้าวมาชั่งที่ตราชั่งกระทรวงพาณิชย์และวัดเกรดข้าวก่อน อย่างน้อยชาวนาจะมีใบรับรองก่อนจะไปโรงสี

 

ส่วนในระยะยาว ควรสร้างนโยบายเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร สนับสนุนให้ชุมชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น จัดการเมล็ดพันธ์และปุ๋ยให้อยู่ในมือของเกษตรกร ด้านนโยบายการตลาดควรสัมพันธ์กับความยั่งยืนของการผลิต

 

 

            “คนไทยปลูกข้าวตั้งแต่บนดอยจนถึงพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคถูกครอบงำโดยการตลาด ส่งผลให้คนไทยไม่รู้จักพันธุ์ข้าวของตัวเอง ซึ่งสะท้อนช่องว่างของประเทศที่กินข้าว วันนี้ความมั่นคงทางการผลิตจึงมีความเปราะบางมาก”

 

 

นอกจากนี้ นายอุบลยังสนับสนุนให้ปลูกข้าวคุณภาพโดยใช้พันธุ์ข้าวที่หลากหลายและจะต้องเป็นการปลูกข้าวด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: