อึ้งเด็ก3ล้านคนหายจากระบบการศึกษา ความยากจน-มุ่งคะแนนผลักเด็กพ้นร.ร.

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5432 ครั้ง

รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 49 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นความจริง ความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษามีให้เห็นชัดเจนระหว่างเมืองและชนบท ระหว่างผู้มีฐานะดีและผู้มีฐานะยากไร้ คุณภาพการศึกษายังถูกตั้งคำถามเสมอ

ปลายปี 2554 กระทรวงศึกษาธิการรายงานสถิติภาวะการจัดการศึกษาของประชากรวัยเรียนทั่วประเทศทั้งหมด 16 ล้านคน พบว่า มีเด็กและเยาวชนวัยเรียนอยู่ในระบบการศึกษาเพียง 14 ล้านคน แบ่งเป็นประชากรในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ 13 ล้านคน และสังกัดอื่นๆ อีก 1 ล้านคน ตัวเลขชุดนี้บ่งชี้ว่า ประชากรวัยเรียนของประเทศไทยหายไปจากระบบถึง 2 ล้านคน คิดเป็น 12.5 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ในเด็กทุกๆ 10 คน จะมีเด็ก 1 คนที่ไม่ได้รับการศึกษาจากระบบ หมายความว่า ขณะที่นักการเมืองกำลังทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ตอนนี้ เด็ก 2 ล้านคนอาจกำลังเร่ร่อน เลี้ยงลูก ทำงาน อยู่ในสถานพินิจ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ฯลฯ

นั่นคือตัวเลขเมื่อปลายปี 2554 แต่ข้อมูลล่าสุดที่ศูนย์ข่าว TCIJ ได้รับคือ เด็ก 3 ล้านคนหายไปจากระบบได้อย่างไรและหายไปไหน

‘เด็กผี’ ทำตัวเลขเด็กหลุดระบบสับสน

ต้องยอมรับว่าตัวเลขของเด็กที่หายจากระบบการศึกษาดูเหมือนจะไม่นิ่ง รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบไม่เที่ยงตรงก็คือ เด็กผี หมายถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบแล้ว แต่ชื่อยังคงอยู่ในระบบ ที่เป็นเช่นนี้เพราะจำนวนเด็กผูกโยงกับค่าใช้จ่ายรายหัวของโรงเรียน ทำให้ไม่มีการนำชื่อเด็กออกจากบัญชี ขณะที่กศน. ก็มีปัญหาเด็กผีในทำนองนี้เช่นกัน

            “ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความซับซ้อน เพราะเมื่อตัวเลขไม่ชัดเจน ย่อมมีผลต่อผู้วางนโยบาย วางแผนทรัพยากรและงบประมาณ”

ด้าน ดร.กมล ยอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในความหมายของกระทรวงศึกษาธิการจะใช้คำว่า เด็กออกกลางคัน หมายถึงเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว แต่เรียนไม่จบ เหตุนี้ตัวเลขที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลอยู่จึงเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก อีกคำหนึ่งคือ เด็กตกหล่นหรือเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดูเหมือนจะมีจำนวนมาก

            “เหตุที่กระทรวงไม่นับเด็กกลุ่มนี้เข้ามาด้วย เพราะถือว่าเรามีระบบการศึกษาอื่นรองรับอยู่แล้ว เช่น ระบบการศึกษานอกโรงเรียน หรือบางคนอาจจะไปประกอบอาชีพ หรือศึกษาตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่ความรับผิดชอบเบื้องต้น เราถือว่าเรานับเฉพาะเด็กที่เข้ามาสู่ระบบ แล้วเราก็จะดูแลจนจบ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า วันนี้สังคมมีความประสงค์ให้ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ลงไปดูแลเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบด้วยว่า จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านั้นเข้าสู่ระบบมากขึ้น”

เมื่อดูตัวเลขอัตราการออกกลางคันตั้งแต่ปี 2550-2554 พบว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยในปีการศึกษา 2550 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 130,000 คน หรือร้อยละ 1.61ปีการศึกษา 2551 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 120,000 คนหรือร้อยละ 1.47 ปีการศึกษา 2552 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 49,000 คนหรือร้อยละ 0.63 ปีการศึกษา 2553 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 40,000 คนหรือร้อยละ 0.51 และปีการศึกษา 2554 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 30,000 คนหรือร้อยละ 0.38

แม้ตัวเลขเด็กออกกลางคันในช่วง 5 ปีจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่า จำนวนเด็กออกกลางคันมี ‘การสะสม’ ขึ้นทุกปี เมื่อนำตัวเลขมารวมกัน จะทำให้เห็นขนาดของปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

เด็ก 3 ล้านคนหลุดจากระบบการศึกษา

            “เด็กที่อยู่ในวัยเรียนประมาณ 10 ล้าน แต่เด็กที่สพฐ.รับผิดชอบอยู่ที่ประมาณ 7,500,000 คน แน่นอนเด็กชั้น ป.1 เข้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ประมาณ 560,000 คน แต่เด็กจะลดไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งคือออกกลางคัน แต่ตอนที่ลดมากคือตอนขึ้นม.1 กับขึ้น ม.4 หายไปเป็นหลักล้าน เด็กหายไปตอน ม.1ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หายไปตอน ม.4 อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็คือหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ จากระบบ คือถ้า 10 ล้านก็หายไป 3 ล้านคน

            “แต่คำว่าหายไปในที่นี้ไม่ได้หายไปโดยไม่มีอะไรทำ หรือไม่ได้เรียนเลย ใน 3 ล้านที่ไม่จบชั้น ม.6 ส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กพิการหลักหมื่น ซึ่งก็มีระบบการดูแล อาจจะเป็นเด็กที่เข้าสู่ระบบที่เรียกว่า การศึกษานอกระบบของ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) เด็กที่เรียนอาชีวศึกษา หรือประกอบอาชีพตามอัธยาศัยในช่วงต่อ ๆ ไป เพราะฉะนั้นตัวเลขจะมีความสับสนหรือฟังแล้วเกิดความไม่สบายใจ คือถ้าเราบอกว่าเด็กไทย 10 ล้านคน เรียนไม่จบตั้ง 3 ล้านคน อันนี้จริง แล้วก็เรียนไม่จบจริง ๆ เพราะถ้าไปนับมหาวิทยาลัยยิ่งหนักเข้าไปอีก คนไทยประมาณ 100 คนจบมหาวิทยาลัยแค่ 18 คน แต่เขาได้เลือกเส้นทางชีวิตเอง ไม่ได้หมายถึงมีปัญหาในเรื่องระบบการศึกษา ประเทศอื่นก็ใกล้เคียงกัน เพียงแต่จำนวนที่ว่านี้ คนที่ออกกลางคันจริงๆ คือเรียนแล้วเรียนไม่ได้ต้องออกด้วยเหตุใดก็ตาม มีจำนวนไม่มากเพียงแค่หลักหมื่น” ดร.กมล อธิบาย

ตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่งอ้างอิงจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่า หากนับเด็ก 1,108,856 ที่เข้าเรียนชั้น ป.1 พร้อมกันในปี 2540 เมื่อถึงชั้น ป.4 จะเหลือเด็กอยู่ร้อยละ 90.4 หรือ 1,002,050 คน พอถึงปี 2548 เมื่อเด็กขึ้นชั้น ม.3 ตัวเลขจะลดลงเหลือ 860,271 คนหรือร้อยละ 77.6 พอปี 2551 เมื่อเด็กขึ้นชั้น ม.6 หรือ ปวช.3 จะลดลงเหลือแค่ 585,088 คนหรือร้อยละ 52.8 หมายความว่าเด็กที่เข้าเรียนชั้น ป.1 เมื่อปี 2540 เกือบครึ่งหลุดออกไปจากระบบการศึกษา

จะสังเกตเห็นได้ว่า ยิ่งชั้นเรียนสูงขึ้น จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ประเด็นนี้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. อธิบายว่า สิ่งนี้สะท้อนถึงปัญหาการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย 0-5 ปี ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 3 ขวบที่กำลังเข้าสู่ชั้นเรียนอนุบาลมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 31 หรือ 1 ใน 3 ของเด็กวัย 3 ขวบทั้งหมด เป็นเหตุให้เมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาจึงกลายเป็นเด็กเรียนช้า ซึ่งหากการดูแลที่ถูกวิธีก็จะกลายเป็นปัญหาสะสมทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต ปัจจุบัน เริ่มสังเกตเห็นปัญหาในเด็กตั้งแต่ชั้น ป.1 และ ป.2 แล้ว

            “ประการที่ 2 คือชั้นเรียนประถมศึกษา เราทุ่มกับการแข่งขันสูง ถ้าโรงเรียนทุ่มกับชั้นเด็กเล็กให้ดีและรอบด้าน ช่วงประมาณ ป.4 ป.5 เด็กก็มีพัฒนาการที่ดีได้ แต่ทุกวันนี้ระบบการแข่งขันทางวิชาการของประเทศมีโอเน็ตเป็นตัววัด โรงเรียนถูกบีบให้ไประดมพลังกันที่ชั้น ป.5 ป.6 ทำอย่างไรก็ได้ ให้คะแนน ป.6 ออกมาดูดี ผ่านเกรณ์ ครูเก่ง ๆ ไปกองกันตอนประถมปลายหมด ความจริงมันต้องย้อนศร ครูเก่งต้องลงมาที่อนุบาล ต้องนำสหวิชาชีพลงมาช่วยเด็กกลุ่มที่มีพัฒนาการช้า ให้กลับเข้ามาสู่การเรียนปกติได้ แต่ตอนนี้ระบบไม่ใช่แบบนั้น เราเน้นแต่ช่วงรอยต่อ ป.6 กับ ม.1 ผลพวงคือเด็ก ป.5 ป.6 เริ่มเรียนไม่ไหว พอขึ้นชั้น ม.1 ก็เริ่มหลุด

ผลที่ตามมาคือบีบเด็กให้เข้าสู่วงจรพฤติกรรมเสี่ยง เพราะเมื่อเรียนไม่ไหว จึงกลายเป็นเด็กหลังห้อง แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไม่ยอมรับโรงเรียน จึงหันเหสู่ชีวิตนอกโรงเรียน ที่ทำให้ตัวเด็กรู้สึกมีความหมายมากกว่าและตื่นเต้นมากกว่า สุดท้ายอาจจบลงที่เรื่องเพศ ความรุนแรง หรือยาเสพติด

ข้อสรุปของ สสค. เมื่อคำนวณจากสถิติข้างต้นจึงพบว่า ปี 2540-2551 มียอดเด็กสะสมที่หลุดจากระบบการศึกษาเกือบ 3 ล้านคน ที่ไม่มีวุฒิ ม.3 และ 5-6 ล้านคนไปไม่ถึงชั้น ม.6

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 3 ล้านคนของ สสค. หมายถึงกลุ่มเด็กยากจน แต่ยังมีเด็กกลุ่มอื่น ๆ ที่เสี่ยงจะหลุดหรือหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งสสค.ระบุออกมาคือ กลุ่มแม่วัยรุ่น 100,000 คน, เด็กไร้สัญชาติ 200,000-300,000 คน เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 40,000 คน ที่หลุดจากระบบ และอีก 10,000 คนที่มีความเสี่ยงจะหลุด, เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของเด็กในระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบ, กลุ่มเด็กในชนบทห่างไกล 1.6 แสนคน, เด็กกำพร้า 90,000 คน, เด็กพิการขาดโอกาส 1 แสนคน และเด็กและเยาวชนที่ต้องคดีอีก 50,000 คน

‘ความยากจน’ สาเหตุหลักที่เด็กไม่ได้เรียน

คำถามสำคัญคือยอดเด็กสะสม 3 ล้านคนหลุดจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุใด

หากตอบจากมุมมองของกระทรวงศึกษาธิการ สาเหตุที่ทำให้เด็กออกลางคันมีอยู่ 9 สาเหตุคือ ฐานะยากจน, มีปัญหาครอบครัว, สมรสแล้ว, มีปัญหาในการปรับตัว, ต้องคดี/ถูกจับ, เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ, อพยพตามผู้ปกครอง, หาเลี้ยงครอบครัว และกรณีอื่นๆ โดยในปี 2555 นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1-ม.6 ที่ต้องออกกลางคันจาก 9 สาเหตุข้างต้นรวมกัน 34,390 คน โดยเรียงตามลำดับดังนี้ กรณีอื่น ๆ 11,720 คน, อพยพตามผู้ปกครอง 5,877 คน, มีปัญหาในการปรับตัว 5,366 คน, มีปัญหาครอบครัว 3,844 คน, หาเลี้ยงครอบครัว 2,455 คน, สมรสแล้ว 2,177 คน, ฐานะยากจน 1,537 คน, เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ 1,226 คน และต้องคดี/ถูกจับ 188 คน

น่าสนใจว่า ‘กรณีอื่นๆ’ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดคืออะไร ดร.กมล อธิบายว่า

            “คำว่า กรณีอื่น ๆ มีหลากหลายมาก แต่สรุปได้ว่าจะเกิดจากตัวนักเรียนเอง ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัว เช่น ปัญหาเรื่องศาสนา โรงเรียนนี้สอนอย่างหนึ่งก็ต้องไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ปัญหาเกิดจากตัวนักเรียนเอง เช่น นักเรียนติดเกม ฝักใฝ่สิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือทะเลาะกับเพื่อน ชกต่อยกันแล้วก็ไม่ยอมมาโรงเรียน รวมไปถึงปัญหาเรื่องของการเบื่อระบบโรงเรียนด้วย อันนี้ถือว่าเป็นปัญหาของเราเอง คือเด็กไม่อยากเรียนในโรงเรียน เด็กเบื่อระบบการศึกษา ครูสอนยากเกินไป หรือรู้สึกว่าไม่ถูกใจกับระบบการเรียนแบบนี้”

อย่างไรก็ตาม ดร.กมล มีความเห็นที่สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.อมรวิชช์ ที่เห็นว่าสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษาคือ ความยากจน ซึ่งปัจจุบันมีเด็กยากจนประมาณ 3-4 ล้านคน และบางครั้งความยากจนก็พัวพันกับปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาความบกพร่องด้านการเรียนรู้ ความพิการ เกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อนในตัวเด็กคนเดียว

            “สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาคือความยากจน การต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน บางครั้งพ่อแม่ก็เป็นแรงงานที่เคลื่อนย้ายบ่อย เลยต้องย้ายตามพ่อแม่ นี่เป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาน่าจะเป็นเรื่องปัญหาพฤติกรรม การเรียนรู้ของเด็กเอง เป็นปัจจัยส่วนบุคคลของเด็ก เด็กบางคนพอเรียนไม่ไหวก็มีพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง ทั้งเรื่องเพศ เรื่องความรุนแรง พอเขาล้มเหลวในการเรียน เขาก็ไปแสวงหาความตื่นเต้นอย่างอื่นนอกโรงเรียน มันก็พาเขาไปสู่ความเสี่ยงต่างๆ ได้ สุดท้ายเขาก็เรียนต่อในระบบไม่ไหว ถูกเชิญออกบ้าง ถูกไล่ออกบ้าง มีเรื่องทะเลาะวิวาท มีพฤติกรรมชู้สาว ท้องหรืออะไรต่างๆ ผมคิดว่ามีสองเรื่องที่เป็นสาเหตุหลักๆ แล้วก็เป็นสาเหตุที่แก้ยากทั้งคู่”

ขณะที่ รศ.ดร.สมพงษ์ ได้เพิ่มมุมมองเกี่ยวกับตัวระบบการศึกษาว่า

            “ในระยะหลัง โรงเรียนถูกระบบมาตรฐาน กับระบบผลสัมฤทธิ์เข้ามาอาละวาดและมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานว่า โรงเรียนจะผ่านหรือไม่ผ่าน ขึ้นบอร์ดหรือไม่ขึ้นบอร์ด ผลสัมฤทธิ์กลายเป็นตัวเลขที่มีอำนาจมากที่สุด สพฐ.เอาสองตัวนี้ไปผูกกับวิทยฐานะของครู และผูกกับการเลื่อนตำแหน่งของผู้อำนวยการโรงเรียน จากขนาดเล็ก ไปขนาดกลาง ไปขนาดใหญ่ จึงทำให้ระบบการศึกษากับระบบโรงเรียนรองรับคนแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ คือเด็กที่เป็นลูกคนชั้นกลาง เด็กดี เด็กตั้งใจเรียน ส่วนเด็กหลังห้อง เด็กมีปัญหา ทะเลาะวิวาท ไม่ตั้งใจเรียน เด็กที่มีปัญหาตั้งครรภ์ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะค่อย ๆ ถูกผลักออก”

อีกประการหนึ่งคือความแข็งตัวของระบบการศึกษา ดร.กมลอธิบายว่า ระบบการศึกษาของไทยใช้เวลาค่อนข้างนาน จาก ป.1-ป.6 ใช้เวลาถึง 6 ปี ทั้งที่บางคนอาจใช้เวลาแค่ 3 ปี นี่คือตัวอย่างความแข็งตัวของหลักสูตรประการหนึ่ง ซึ่งทำให้เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถทนอยู่ในระบบได้

เด็กหลุดระบบบางส่วนเข้าสู่วงจรยาเสพติด-ค้ามนุษย์

แล้วเด็ก 3 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปอยู่ยังจุดใดของสังคม ดร.อมรวิชช์อธิบายว่า เมื่อปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบคือความยากจน เด็กกลุ่มนี้จึงหลุดเข้าสู่โลกของการทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือสูงนัก เช่น ลูกจ้างตามร้านอาหารหรือธุรกิจขนาดเล็ก แรงงานในภาคเกษตร เป็นต้น แต่บางส่วนก็หลุดเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์และการค้ายาเสพติด

            “ไม่เยอะ แต่ก็ไม่น้อยครับที่ติดเชื้อและพิการยังเข้าไม่ถึงการบริการน่าจะมีจำนวนหลายหมื่นคนหรืออาจจะเป็นแสนคนตรงนี้ก็เป็นระบบที่ต้องจัดการดูแล”

สร้างฐานข้อมูล-พัฒนาครู-ปรับการเรียนให้ยืดหยุ่น

แน่นอนว่าการจัดการปัญหาเด็กหลุดจากระบบมิใช่สิ่งที่จะแก้ได้ในชั่วข้ามคืน อย่างไรก็ตาม แนวทางนั้นมีอยู่ นอกจากการทุ่มทรัพยากรตรงไปยังกลุ่มเด็กปฐมวัยแล้ว ดร.อมรวิชช์เห็นว่า ก่อนอื่นจำเป็นต้องทำระบบฐานข้อมูลที่ดีและทันสมัย เป็นฐานข้อมูลที่ตรงจากท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด

            “เด็กบางคนวันนี้ยังเป็นเด็กดี พรุ่งนี้อาจจะท้องก็ได้ แล้วถูกไล่ออกจากโรงเรียน เด็กบางคนมีชีวิตดี ๆ ปรากฎว่าพรุ่งนี้เสียพ่อแม่ไปกลายเป็นเด็กที่ด้อยโอกาสแบบฉับพลัน มันจึงต้องมีระบบข้อมูลท้องถิ่นที่ไวและเก็บข้อมูลเด็กเหล่านี้ได้เร็วและเข้าไปช่วยเหลือได้เร็ว”

เมื่อข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยเท่ากับเด็กยังคงอยู่ในระบบหรือความรับรู้ของรัฐ กลไกความช่วยเหลือก็จะตรงจุดและเข้าถึงตัวเด็กได้อย่างทันท่วงที ซึ่งขณะนี้ทาง สสค. กำลังมีจัดทำโครงการนำร่องใน 14 จังหวัด

เรื่องการพัฒนาครูก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ดร.อมรวิชช์กล่าวว่า สิ่งที่ครูหยิบยื่นให้แก่เด็กก็จะมีผลกับเด็กทันที ถ้าครูยังสอนแบบท่องจำ ยังสอนแต่วิชาการตามกลุ่มสาระต่าง ๆ ไม่ได้เน้นตัวตน ความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ไม่ได้เน้นการสร้างทางเลือกที่เหมาะสมให้แก่เด็ก ไม่ได้เน้นทักษะชีวิตหรือการค้นพบความถนัดของตัวเอง เด็กก็คงเป็นเยื่อของระบบการศึกษาผ่านมือครู แต่ถ้าครูเก่งก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวได้ไวมากเช่นกัน

อีกหนทางหนึ่งคือการปรับระบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นตามสภาพของเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่ง ดร.กมลกล่าวว่า สพฐ. กำลังดำเนินการอยู่ เช่น การจัดการศึกษาโดยครอบครัว การจัดการศึกษาในโรงงาน การจัดการศึกษาแบบอื่น ๆ ที่เด็กสามารถใช้เวลาเรียนน้อยลง โดยมีการทดลองใช้ใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดร.กมลยอมรับว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย อีกทั้งตัวเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาทางเลือกก็มีอยู่ในหลักหมื่นซึ่งถือว่าน้อยมาก

            “ถามว่าทำไมมันน้อย เพราะระบบเดิมมันเซตรวมตัวแล้ว รัฐบาลจัดงบประมาณตามระบบเดิม คือมีโรงเรียน มีครูชัดเจน เดิมการมองของกระทรวงฯ มองแค่ว่า ถ้าคุณไม่อยู่ในระบบเดิม คุณก็ไปอยู่ในระบบ กศน. แต่บางคนไม่ได้อยากเรียนในระบบ กศน. แต่อยากเรียนด้วยตัวเอง เขาทำงานที่ปั้มน้ำมัน เขาอยากเรียนที่ปั้มน้ำมันทำไมครูไม่มาสอนที่ปั๊มน้ำมัน หรือว่าบางทีเขาเป็นเด็กขายพวงมาลัย ช่วยพ่อแม่ทำไร่อ้อย ทำไมคุณไม่มีการเรียนการสอนตอนค่ำ โรงเรียนทั่วไปทำไมไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยสรุปคือแม้เราจะมีสิ่งเหล่านี้ แต่มันก็เป็นเพียงแต่นวัตกรรมหรือเป็นโครงการนำร่องเท่านั้น มองว่า สพฐ.ยังทำสิ่งเหล่านี้น้อย จุดนี้ต้องมีการปรับระบบครั้งใหญ่”

ดร.กมลเปิดเผยว่า ช่วงที่ พงษ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีการตั้งคณะกรรมการจัดการศึกษาทางเลือก และได้เสนอรูปแบบการเรียนการสอน 10 รูปแบบ สำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบปกติได้ แต่ยังอยู่ในการดูแลของ สพฐ. เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่คุมเงิน บุคลากร และทรัพยากร

            “สรุปง่าย ๆ คือแทนที่โรงเรียนจะสอนปกติ โรงเรียนสอนตอนเย็นก็ได้ เด็กเรียนที่บ้านกับพ่อแม่ แล้วค่อยมาสอบกับโรงเรียนก็ได้ หรือโรงงานขอพาคนงานของเขามาเรียนก็ได้ ซึ่งเด็กที่ทำงานแล้วมาเรียนตอนเย็นก็ได้ มาเรียนเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ด้านการประเมินก็มีการประเมินในรูปแบบอื่น ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ เป็นการพัฒนาจากโครงการนำร่องเป็นการทำอย่างเป็นระบบทั้งประเทศ”

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทางที่ยังไปไม่ถึง

ด้าน ดร.สมพงษ์เสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการควรยกเลิกเรื่องเกณฑ์มาตรฐานและคะแนนผลสัมฤทธิ์ สอง-ควรมีโรงเรียนที่รองรับเด็กที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรมหรือเด็กที่เรียนไม่ได้ประมาณ 3-4 โรงเรียนต่อเขต โดยไม่มุ่งเน้นด้านวิชาการ แต่เน้นกิจกรรมและอาชีพ และสุดท้าย ดร.สมพงษ์เห็นว่า หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวง เช่น เด็กท้อง แท้ง ทิ้ง ก็ต้องทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับกระทรวงศึกษาธิการ จัดหาที่พักให้ เมื่อคลอดแล้วอาจกลับไปเรียนต่อได้ เป็นต้น

ส่วน ดร.อมรวิชช์เห็นว่า โจทย์ของการปฎิรูปการศึกษาต้องไม่ใช่เรื่องโอเน็ต ไม่ใช่ผลทางวิชาการ แต่ต้องเป็นโจทย์เรื่องการใช้ชีวิต เป็นการมีชีวิตที่มั่นคง การมีทักษะในการเผชิญชีวิต การมีงานทำ

และที่สำคัญคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาด้วยตนเอง ดร.อมรวิชช์ อธิบาย ถ้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สัก 10-20 แห่งในจำนวน 8,000 แห่ง จัดการศึกษาด้วยตนเองเต็มรูปแบบ ถ้าหากทำไม่สำเร็จ ประเทศก็ไม่เสียหายมาก แต่ถ้ายังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ถ้าล้มเหลวย่อมเสียหายทั้งประเทศ

            “รัฐบาลต้องกระจายอำนาจอย่างจริงจังลงสู่พื้นที่หรือจังหวัดในท้องถิ่นให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง ยกระดับโจทย์จากวิชาการเป็นโจทย์การมีชีวิตและการมีงานทำมากขึ้น แล้วตรงนี้เราจะเห็นการเข้ามามีส่วนร่วมของท้องถิ่น ผมคิดว่าตรงนี้อย่างน้อยเราก็ไม่เดิมพันหมดหน้าตักไปกับระบบรวมศูนย์อำนาจที่เวลาพัง มันพังทั้งประเทศ ชึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นแบบนั้น”

อย่างไรก็ตาม ดร.กมลยอมรับอีกเช่นกันว่า ระบบราชการไทยมีความแข็งตัวและรวมอำนาจสูง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังทำได้ยากในทางปฏิบัติ แม้ตอนนี้จะมีการกระจายอำนาจการศึกษาแล้ว แต่ก็เฉพาะในด้านการบริหารบุคคลที่ท้องถิ่นสามารถเลือกคนได้เอง ทำหลักสูตรของตนเองได้บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ดร.กมล คิดว่ายังเป็นเพียงการกระจายแต่ในนามเท่านั้น

 

ขอบคุณภาพจาก สยามรัฐ Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: