พบตะกั่วในสีบ้านเกินมาตรฐาน100เท่า แนะรัฐเร่งบังคับผู้ผลิตคุมระดับตะกั่ว

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3089 ครั้ง

ประมาณ 20 กว่าปีก่อน สังคมไทยตื่นตัวกับการรณรงค์การใช้น้ำมันปลอดสารตะกั่วในรถยนต์ ทำให้คนไทยตื่นตัวกับพิษภัยของสารตะกั่วมากยิ่งขึ้น แต่ตะกั่วยังคงเป็นสารอันตรายที่แฝงอยู่ในอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ใกล้ตัว ซึ่งค่อยๆ ถูกเปิดเผยและมีมาตรการออกมาเป็นระยะๆ เช่น หม้อก๋วยเตี๋ยว ตู้น้ำเย็นในโรงเรียน เครื่องเล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น

ล่าสุด มูลนิธิบูรณะนิเวศในโครงการความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย แถลงผลการศึกษาระดับสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ซึ่งพบว่ามีระดับสารตะกั่วอยู่ในระดับสูงมาก และกลุ่มที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายที่สุดคือเด็ก

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว (Lead-caused Mental Retardation) เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของโรคร้ายแรงที่สุดที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาสูงถึงปีละกว่า 6 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

ไทยยังไม่บังคับระดับตะกั่วในสีทาบ้าน

วลัยพร มุขสุวรรณ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในขั้นตอนการศึกษาได้ทำการเก็บตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร 2 กลุ่มคือ โทนสีสด โดยเฉพาะสีเหลืองซึ่งมักใช้เม็ดสีประเภทตะกั่ว และโทนสีขาว รวมทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จำนวน 68 ตราสินค้า แบ่งเป็นโทนสีสด 68 ตัวอย่าง จำนวน 64 ตราสินค้า และโทนสีขาว 52 ตัวอย่าง จำนวน 51 ตราสินค้า ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยนำสีตัวอย่างมาทาบนชิ้นไม้ แล้วส่งไปยังห้องแล็บในประเทศอิตาลีเป็นผู้ตรวจสอบ

วลัยพร อธิบายมาตรฐานปริมาณตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีในต่างประเทศว่า ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิลและศรีลังกากำหนดระดับตะกั่วต้องไม่เกิน 600 พีพีเอ็ม (Part Per Million หรือส่วนในล้านส่วน เป็นค่าวัดความเข้มข้นของสารพิษ) ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดาและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 90 พีพีเอ็ม ส่วนประเทศไทยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ทำการปรับมาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันไปเมื่อปี 2553 ซึ่งตามระเบียบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ดังกล่าว มาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันลดลงจาก 600 พีพีเอ็ม เหลือ 100 พีพีเอ็ม อย่างไรก็ตาม กรณีของไทยไม่มีการบังคับว่าผู้ผลิตสีต้องควบคุมระดับสารตะกั่วในสีทาอาคาร แต่เป็นความสมัครใจของผู้ผลิตสีแต่ละราย ทำให้ไม่มีผลบังคับและลงโทษทางกฎหมาย

พบตะกั่วในสีเกินมาตรฐานกว่า 100 เท่า

ผลการศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่า ในโทนสีสดมีสีที่มีสารตะกั่วมากกว่า 90 พีพีเอ็ม 63 ตัวอย่างหรือร้อยละ 93 จำนวน 60 ตราสินค้าหรือร้อยละ 94, สีที่มีสารตะกั่วมากกว่า 600 พีพีเอ็ม 59 ตัวอย่างหรือร้อยละ 87 จำนวน 57 ตราสินค้าหรือร้อยละ 89 และสีที่สารตะกั่วมากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม 48 ตัวอย่างหรือร้อยละ 70 จำนวน 47 ตราสินค้าหรือร้อยละ 71 ซึ่งบางตัวอย่างในกลุ่มนี้มีค่าพีพีเอ็มสูงถึงเกือบ 100,000 พีพีเอ็ม

ส่วนในโทนสีขาวพบว่า มีสีที่มีสารตะกั่วมากกว่า 90 พีพีเอ็ม 32 ตัวอย่างหรือร้อยละ 61 จำนวน 32 ตราสินค้าหรือร้อยละ 63, สีที่มีสารตะกั่วมากกว่า 600 พีพีเอ็ม 24 ตัวอย่างร้อยละ 46 จำนวน 24 ตราสินค้าหรือร้อยละ 47 และไม่พบสีที่มีสารตะกั่วมากกว่า 10,000 พีพีเอ็มจากตัวอย่างทั้งหมด

ผลจากการทดสอบในภาพรวม สรุปว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด ที่กำหนดให้สีมีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม และมีตัวอย่างร้อยละ 40 ที่มีปริมาณสารตะกั่วมากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม  ซึ่งสูงเกิน มอก. กว่า 100 เท่า โดยปริมาณสารตะกั่วสูงสุดที่พบคือ 95,000 พีพีเอ็ม ส่วนต่ำสุดคือน้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม

             “ผลจากตรวจวิเคราะห์ พบว่า 8 ใน 29 ตัวอย่างของสีที่ติดฉลากว่า ไม่ผสมสารตะกั่ว กลับมีปริมาณตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม และจากตัวอย่างที่เรานำมาศึกษาพบว่า มีเพียง 15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตสี ที่ผลิตตาม มอก. ฉบับปรับปรุงใหม่ แต่มอก.นี้ยังเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ประกอบการ ถ้าไม่ติดสัญลักษณ์มอก. การผลิตสีน้ำมันที่มีตะกั่วเกินกว่าค่าที่กำหนด ก็ไม่ถือว่าทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด” วลัยพรกล่าว

พบตะกั่วในสีเกินค่ามาตรฐาน ในศูนย์เด็กเล็กกทม.9 แห่ง

ด้าน รศ.ดร.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อนุกรรมการฝ่ายป้องกันโรคและอุบัติเหตุในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า ปัจจุบัน ความรู้ทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เหตุนี้ ในปี 2553 คณะกรรมการร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติจึงมีข้อสรุปว่า ต้องลดปริมาณสารตะกั่วที่ร่างกายรับได้ต่อสัปดาห์โดยไม่ก่ออันตรายให้เหลือศูนย์ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว

ทว่า จากการสำรวจระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเขตอุตสาหกรรม 4 จังหวัด คือระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา จำนวน 1,526 คน พบว่า มีเด็ก 197 คนที่มีระดับสารตะกั่วสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นค่าความปลอดภัยที่เกือบทุกประเทศกำหนดไว้ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.9 ของตัวอย่างทั้งหมด

ส่วนการสำรวจบ้านของเด็กเหล่านี้จำนวน 49 ราย พบว่า 45 รายหรือร้อยละ 92 มีการใช้สีน้ำมัน ทาบางตำแหน่งภายในบ้าน โดยสีน้ำมันที่ทาในบ้านของตัวอย่างจำนวน 25 ราย หรือร้อยละ 55.6 มีสารตะกั่วสูงกว่า 100 พีพีเอ็ม ขณะที่การสำรวจฝุ่นผลภายในบ้าน พบว่า 11 รายหรือร้อยละ 22.4 มีสารตะกั่วในฝุ่นผงภายในบ้านสูงกว่า 400 พีพีเอ็ม น.พ.อดิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า

           “ปี 2552 ทางศูนย์ฯ ได้ตรวจระดับสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็กในกรุงเทพฯ 17 ศูนย์ พบว่า 14 ศูนย์ใช้สีน้ำมันทาอาคาร โดย 9 ศูนย์ฯ หรือร้อยละ 64.3 มีระดับตะกั่วในสีทาอาคารภายในสูงกว่าค่ามาตรฐานสากลที่ 600 พีพีเอ็ม โดยค่าสูงสุดที่พบคือ 32,400 พีพีเอ็ม โดยเฉพาะสีดำ สีเหลือง และสีเขียว จะพบสารตะกั่วปนเปื้อนมากที่สุด บ้านที่ทาสีแล้วมีการหลุดรอกจึงเสี่ยงมาก เพราะเด็กอาจไปจับ กิน หรือสูดดม”

เด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษจากตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ ผลที่ตามมาคือระดับพัฒนาการของเด็กจะได้รับผลกระทบ โดยมีการศึกษา พบว่า การที่มีสารตะกั่วในเลือดเพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรจะทำให้ระดับหรือไอคิวลดลง 4.6 จุด

แนะรัฐเร่งออกเป็นข้อบังคับคุมระดับตะกั่วในสี

ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงมีข้อเสนอให้มีการบังคับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีน้ำมันทาอาคาร โดยในระยะต้นอาจกำหนดให้มีปริมาณตะกั่วไม่เกินร้อยละ 0.06 หรือ 600 พีพีเอ็ม ซึ่งจะครอบคลุมตราผลิตภัณฑ์ถึงร้อยละ 88 แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มงวดขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ ควรกำหนดให้มีการแสดงข้อมูลปริมาณตะกั่วและคำเตือนบนฉลาก ที่ติดบนภาชนะบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถผลิตและจำหน่ายสีน้ำมันทาอาคารที่ได้มาตรฐาน และทำการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ด้านเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารมาตรฐาน 3 (เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า

             “สีแต่ละชนิดมีวัตถุประสงค์ต่างกัน บางชนิดอาจจะบังคับไม่ได้เลย เช่น สีทาเรือกันเพรียง ซึ่งผู้ประกอบการบอกว่า ถ้าบังคับอาจมีผลกระทบมาก อีกทั้งทางสมอ.ก็ไม่มีห้องแล็บสำหรับทดสอบ ทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ผู้ประกอบการจึงขอให้เลื่อนการบังคับไปก่อน แล้วติดฉลากแทน แต่สังเกตว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านฉลากเลย การบังคับฉลากจึงยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

อย่างไรก็ตาม สมอ.ได้จัดทำมาตรฐานบังคับด้านความปลอดภัยของสีน้ำมันทาอาคารว่าโลหะหนักทั้งหมด ซึ่งทางคณะกรรมการ สมอ. ได้เห็นชอบแล้วและรอดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เสนอให้รัฐบาลเร่งกำหนดมาตรฐานกำกับปริมาณตะกั่วในสีเป็นมาตรฐานบังคับภายในปี 2556 นี้ด้วย

 

 

หมายเหตุ : ภาพที่นำมาทั้งหมดเป็นเพียงภาพประกอบเนื้อหาข่าวเท่านั้น

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: