ประชาพิจารณ์น้ำ‘แม่กลอง’ล้มไม่เป็นท่า ครึ่งหมื่นยันไม่เอา'ฟลัดเวย์'ทำลายชุมชน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 22 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2380 ครั้ง

นับเป็นเวทีที่ร้อนแรงอีกเวทีหนึ่ง สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท  ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม หลังเดินสายจัดเวทีมาแล้วหลายจังหวัด ท่ามกลางการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งในส่วนของกลุ่มผู้สนับสนุน และ ฝ่ายคัดค้าน ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นการเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุดในการเปิดเวทีที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อเช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวสมุทรสงครามจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการจัดเวทีภายในระดับจังหวัดมาแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา และคนส่วนใหญ่แสดงความเห็นร่วมกันว่าไม่ต้องการคลองส่งน้ำ หรือฟลัดเวย์ ให้มาลงที่ปากอ่าวไทย ซึ่งในวันนี้ประชาชนชาวสมุทรสงครามต่างทยอยเดินทางเข้าร่วมเวทีกันอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่แสดงจุดยืนเช่นเดียวกัน คือการคัดค้านการการสร้างฟลัดเวย์ตะวันตก ตามแผนงานในโมดูล A5 ระยะทาง 289 กิโลเมตร จากอ.ขาณุวรลักษณ์บุรี จ.กำแพงเพชร มาออกที่ปากอ่าวไทย ในจ.สมุทาสงคราม ซึ่งชาวแม่กลองเรียกว่า การสร้างแม่น้ำสายใหม่ เนื่องจากเชื่อว่า จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสายหลักเดิมของชุมชนแม่กลอง

การแสดงออกอย่างชัดเจนต่อการไม่ยอมรับโครงการของกบอ. เริ่มต้นก่อนหน้าการจัดเวทีอย่างเป็นทางการหลายวัน โดยเครือข่ายชาวแม่กลอง ได้เริ่มตระเวนเปิดเวที่ล่วงหน้ากว่า 60 ครั้ง เพื่อรับฟังเสียงของชาวแม่กลองในสาขาอาชีพต่าง ๆ พร้อมสรุปประเด็น คำถามไว้เรียบร้อยแล้ว จนมีข่าวว่า มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ของจังหวัด ให้สกัดกั้นมิให้สถาบันการศึกษาและโรงเรียนต่าง ๆ ทำป้ายคัดค้าน และให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครฝ่ายปกครอง (อส.) ติดตามเก็บป้ายที่ชุมชนทำขึ้นมาต่อต้านด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

โดยในช่วงเช้ามีประชาชนเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก ขณะที่นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงครามจำนวนกว่า 2,000 คน จัดทำป้ายรณรงค์ทั่ววิทยาลัย ทั้งอาคารเรียน โรงอาหาร ฯลฯ พร้อมทั้งเดินถือป้ายรณรงค์และตะโกนคำว่า “ไม่เอาแม่น้ำสายใหม่” รวมทั้งมี นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัดเดินทางมาชุมนุม พร้อมทั้งเป่านกหวีดและถือป้ายรณรงค์ด้วยข้อความต่างๆ เช่น “No flood way” “เราแม่กลองไม่เอาแม่น้ำสายใหม่” “ปลอดประสพออกไป”

สำหรับบรรยากาศ ตั้งแต่การเริ่มลงทะเบียน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นไปด้วยความวุ่นวาย เนื่องจากประชาชนที่เดินทางมามากกว่า 5,000 คน ต่างไม่พอใจการเตรียมงานของกบอ. ที่เชิญประชาชนเพียง 800 คนมาร่วมเวที ทำให้การลงทะเบียนไม่สามารถดำเนินการได้ จนในที่สุดชาวบ้านทั้งหมดจึงเดินเข้าห้องประชุม พร้อมทั้งยึดเวทีประกาศจุดยืนการคัดค้านและเรียกร้องให้ล้มเวทีดังกล่าว

ทั้งนี้ นายอภิชาต อนุกูลอำไพ ประธานคณะอนุกรรรมการวิชาการและวิเคราะห์โครงการ กบอ. ได้ขึ้นเวทีชี้แจงรายละเอียดโครงการ แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากชาวแม่กลอง ถึงกับมีเสียงโห่ตลอดเวลา กระทั่งในช่วงบ่ายซึ่งเดิมถูกกำหนดให้เป็นการเปิดรับฟังเป็นเวทีย่อย ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจึงได้ประกาศยุติเวทีดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับมีตัวแทนภาคประชาชนแม่กลอง อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐยุติโครงการ และแสดงจุดยืนของคนแม่กลอง และยื่นรายชื่อผู้ที่คัดค้านให้ นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และ นายอภิชาติ อนุกูลอำไพ เพื่อให้รับทราบเจตนารมณ์ของชาวแม่กลอง โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.การเปิดเผยข้อมูลก่อนการดำเนินการรับฟังความเห็นโดยภาครัฐมีน้อยมาก และการเปิดเผยที่มีในเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ช่องทางสื่อสารสาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงได้ 2.ไม่มีการนำเสนอผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางมาตรการป้องกันผลกระทบ และแนวทางกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบ 3.การแจ้งล่วงหน้าทั้งข้อมูล และการกำหนดวันเวลา สถานที่ เป็นไปในลักษณะที่มุ่งหมายจะให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ มากกว่าที่จะประสงค์ให้ได้รับรู้ได้อย่างทั่วถึง ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และในคำพิพากษาของศาลปกครอง 4.การจัดการเรื่องการลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อเข้าร่วมประชุม โดยประชาชนต้องยอมรับเงื่อนไข ตามคำแนะนำของทางราชการ ซึ่งมิได้มีระเบียบรองรับ เป็นการดำเนินการเพื่อความสะดวกของหน่วยงานราชการ มิใช่การอำนวยความสะดวกของประชาชน และเป็นการเพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยากยิ่งขึ้น

5.กระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยการนำเสนอวีดิทัศน์ครึ่งชั่วโมง โดยไม่แยกแยะชัดเจนระหว่างแผนแม่บท และแผนโครงการ และการไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น อย่างเป็นองค์รวม ในเวทีกลางแล้ว ให้ประชาชนแยกห้องย่อยทันที ยิ่งไม่เป็นการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความเข้าใจ 6. ประชาชนชาวสมุทรสงคราม ผู้มีชื่อตามเอกสารแนบท้ายเห็นว่า เอกสารที่ใช้ประกอบงาน “มหกรรมจับตาแม่น้ำใหม่” ที่จัดทำโดยคณะกรรมธิการของวุฒิสภา และข้อมูลคำถามข้อวิตกกังวลจากเวทีที่จัดขึ้นในระดับพื้นที่ต่าง ๆ ที่รวบรวมมา เป็นข้อมูลจริงระดับพื้นที่ พวกเราชาวสมุทรสงครามผู้มีชื่อตามเอกสารแนบท้ายนี้ จึงไม่เห็นชอบที่จะให้มีการดำเนินการตามแผนแม่บท และแผนโครงการดังกล่าวข้างต้น และขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการดำเนินการดังกล่าว

อย่างไรก็ตามภายหลังประชาชนออกแถลงการณ์ และยุติเวทีรับฟังความเห็น นายอภิชาติ ได้เดินลงจากเวทีออกจากบริเวณจัดงานโดยเร็ว โดยไม่ได้นำเอกสารรายชื่อที่ชาวบ้านยื่นคัดค้านโครงการกลับไปด้วย ขณะเดียวกันนักศึกษาที่ร่วมคัดค้านได้หอบลังเอกสารรายชื่อ วิ่งตามไปมอบให้ แต่เกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ที่รักษาความปลอดภัยในบริเวณจัดงาน นักศึกษาจึงปิดประตูรั้วแล้วนำเอกสารไปมอบให้ จนเหตุการณ์เกือบบานปลายถึงขั้นชุลมุนกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล ประมาณ 100 นายต้องรีบเข้ามาระงับเหตุ เพื่อให้รถของนายอภิชาติ และทีมงานออกจากพื้นที่ได้ปกติ

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์แม่กลอง กล่าวว่า จากข้อมูลที่ทาง กบอ.ชี้แจงในช่วงเช้า ชาวบ้านยอมรับฟัง เพื่อให้เวทีดำเนินอย่างปกติ แม้จะมีข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน การจ่ายค่าชดเชย ไม่มีความชัดเจนทำให้ชาวบ้านรับไม่ได้กับข้ออ้าง จึงมีเสียงโห่ไล่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านทุกคนเห็นตรงกันว่า เวทีภาคบ่ายไม่ควรดำเนินการ คือมีคนเห็นแบบสอบถามและประเมินความคิดเห็นของกบอ.รั่วไหล โดยมีผู้นำท้องถิ่นให้คนเดินกระจายข้อมูลให้ชาวบ้าน ได้กรอกแบบสอบถามซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะเหมือนการจัดตั้งข้อมูลและวางแผนการทำงาน ที่บังคับให้คนลงความเห็นทั้งที่ยังไม่ได้รับฟังข้อมูลอย่างละเอียด ดังนั้นชาวบ้านจึงตกลงกันว่า เวทีไม่ควรดำเนินการต่อไป เพราะไม่เป็นธรรม และอีกเหตุผลคือประชาชนนับหมื่น ลงชื่อคัดค้านโครงการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนแม่กลอง ไม่มีใครต้องการแม่น้ำสายใหม่ ดังนั้นเวทีที่ดำเนินไปก็ไม่จำเป็น เพราะชาวแม่กลองมีเสียงเดียว คือคัดค้าน

            “ชาวแม่กลอง รักแม่น้ำยิ่งชีวิต วันนี้ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันมาคัดค้าน โดยเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ผ่านมา เคยแจกเอกสารให้เด็กนักเรียนกรอก ทุกคนรู้ว่าคำขวัญแม่กลองคือ “สายน้ำ สายชีวิต สายโลหิตบ้านเรา” สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าทุกคนแข็งแรงพอจะลุกมาต่อสู้ และถึงแม้ทางภาครัฐจะยังจัดเวทีภาคบ่าย ความเห็นก็เป็นเช่นเดิม คือ ข้อสรุปของชาวบ้านไม่ใช่หลากหลายความเห็น แต่ความเห็นเดียวคือไม่เอาแม่น้ำสายใหม่ และวันนี้เราก็ล่ารายชื่อคัดค้านมาได้จำนวน 22,473 รายชื่อยื่นแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและกบอ.รวมทั้งจะใช้เวลาอีก 15 วัน ล่ารายชื่อเพิ่มเติมแล้วเสนอให้ กบอ.รับทราบอีกครั้งว่า ชาวแม่กลองไม่เอาแม่น้ำสายใหม่ และไม่มีใครยอมรับเงินเบี้ยเลี้ยงในการจัดประชุม เพราะรู้ว่าไม่คุ้มค่า” น.ส.บุญยืน กล่าว

ด้าน นายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภาสมุทรสงคราม และรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ความเข้มแข็งของคนแม่กลองในวันนี้ เป็นเพราะประชาชนรับรู้ข้อมูลในพื้นที่อย่างละเอียด โดยผ่านเวทีรับฟังข้อมูลมาทั้งหมด 66 ครั้ง ถือว่าเป็นสาระสำคัญที่ต้องแจกแจง จึงทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจ ก่อเกิดเป็นความสามัคคี อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาตระหนักดีว่า แม่น้ำแม่กลองคือ จุดเริ่มของโครงการทั้งหมด หากโครงการนี้เกิดขึ้น โครงการอื่น ๆ ก็ไปต่อได้ และสิ่งหนึ่งที่ กบอ.นึกไม่ถึง คือ ชาวน้ำแม่กลอง เป็นชาวน้ำแห่งสุดท้ายของภาคกลางที่มีชีวิตผูกพันอย่างมากต่อแม่น้ำแม่กลอง พวกเขายังจำกรณีเขื่อนแม่กลองปล่อยน้ำปี 2555 มาได้ ขณะนั้นคนเลี้ยงหอยก็เดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีทางที่ประสบการณ์ดังกล่าวจะทำให้แม่กลองยอมรับได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกบอ.ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ที่จ.ลำพูนเป็นแห่งแรก และติดตามมาอีกหลายจังหวัดทั้งเชียงใหม่ ชัยนาท พิษณุโลก กำแพงเพชร ลฯ โดยจะทำทั้งหมดใน 39 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่ทำไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งผู้เข้าร่วมเวที ที่มาจากกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการสร้างเขื่อน หรือแทบจะไม่เกี่ยวข้องแต่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน หรือถูกคัดเลือกมาจากหัวคะแนนของพรรคการเมือง หรือนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมเวที โดยเจ้าหน้าที่จัดการดังกล่าว อ้างว่าจะต้องมีการลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ และในบางเวทีแม้ว่าจะมีที่ว่างเหลืออยู่ ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมด้วยเหตุผลเดียวกัน

 

ขอบคุณภาพจาก Facebook จับตาแม่น้ำใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: