สมัชชาปฏิรูปหนุนเลือกตั้ง ก่อนร่วมกันปฏิรูปประเทศ

22 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1515 ครั้ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่อาคารบรรยายรวม  4มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลุ่มนักวิชาการสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) จัดกิจกรรม “คนเท่ากันเดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมกันปฏิรูป” โดยมีนักวิชาการกลุ่มสปป. และผู้รักประชาธิปไตยเข้าร่วมทอล์คโชว์ ประกอบด้วย ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือคำ ผกา นางจิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ดร.เกษียร เตชะพีระ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมี ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ และดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการ โดยมีผู้ร่วมฟังกว่า 1,000 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีกิจกรรมการอ่าน “คำประกาศแห่งความเสมอภาค” เพื่อเป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัยว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางจะปักหลักฐานอย่างมั่นคงได้ ถ้าประชาชนไม่เริ่มยอมรับกันว่า คนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมือง นอกจากนี้ ในงานยังจำลองคูหาเลือกตั้ง 4 คูหา และให้ผู้ที่มาร่วมงานเข้าคูหาเขียนคำประกาศแห่งความเสมอภาคด้วย

ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วโยนชะตากรรมไปให้ประชาชน ที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้หนักกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มกปปส.ประกาศว่าจะตั้งสภาประชาชน ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการอีกจำนวนมาก และประกาศตัวว่าแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งถ้าเราปล่อยให้เป็นไปต่อก็จะทำให้สังคมเป็นมิคสัญญี เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะออกมาปกป้องประชาธิปไตย

ดร.พวงทองกล่าวต่อว่า เรื่องความดีและคุณธรรมเป็นปัญหาใหญ่ของนักการเมืองมานาน ไม่จำกัดแค่คนโกงหรือไม่โกง แต่ขึ้นอยู่กับนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ที่ผ่านมาก็เป็นเหมือนกัน ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์เยอรมันในยุคฮิตเลอร์ที่เป็นเผด็จการ โดยให้สัญญากับประชาชนว่า จะจัดตั้งระบอบที่ดีขึ้น และจะทำให้เยอรมันกลับมายิ่งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยทำให้เราตรวจสอบรัฐบาลได้ คนไทยอยู่ใต้วาทะกรรมของความสามัคคีมานานแล้ว ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยจะยังไม่เข้มแข็งมากนัก ที่จะทำให้นักการเมืองรับผิดชอบต่อสังคมได้ แต่ทำไมไม่ให้ทุกฝ่ายดำเนินไปอย่างประชาธิปไตย

ดร.พวงทองกล่าวต่อว่า การมีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นเรื่องดี แต่ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำตัวเป็นใหญ่เสียเอง คนที่มีการศึกษากลับไปสนับสนุนสภาประชาชน มอบอำนาจให้คนเพียงกลุ่มเดียว การที่คนในเมืองดูถูกคนชนบทอย่างหยาบคาย เป็นการสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ สปป.จึงต้องบอกว่าคนเท่ากันทุกคน ไม่มีใครมีสิทธิทางการเมืองมากไปกว่ากัน

ด้านดร.ปิยบุตร กล่าวว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีความสำคัญสรุปได้ 5 ข้อ คือ 1.อำนาจเป็นของประชาชนใช้อำนาจตามวิธีการต่าง ๆ ไม่ใช่อำนาจของพระเจ้าหรือของบุคคลใด ๆ แต่อำนาจเป็นของประชาชนทั้งหมด 2.การตัดสินใจทางการเมืองต้องอาศัยเสียงข้างมาก ไม่ได้ตัดสินใจกับบุคคลเพียงคณะเดียว 3.เมื่อการตัดสินใจมาจากเสียงข้างมาก เพราะพื้นฐานบุคคลแตกต่างกัน จึงนำมาสู่ความเสมอภาค มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน 4.การรับรองสิทธิในสังคม เพื่อให้มีความหลากหลายให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การชุมนุม  และเมื่อเสียงข้างมากตัดสินใจเลือกแล้ว เสียงข้างน้อยก็มีสิทธิในการแสดงความเห็นได้ และ 5.ต้องมีความอดทน ต้องใช้กับทุกฝ่ายทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ยอมรับซึ่งกันและกัน

ดร.ปิยบุตรกล่าวต่อว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยยังมีจุดอ่อนอยู่ ทำให้คนที่มีความคิดแบบเผด็จการนำโอกาสมาทำลายประชาธิปไตย พวกเขาจะอ้างการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยเป็นเผด็จการแบบฟาสซิสต์ มี 5 องค์ประกอบ คือ 1.ต่อต้านระบอบรัฐสภา ที่ไม่ควรมาจากการเลือกตั้ง ควรมาจากการสรรหา 2.ต่อต้านปัจเจกชน และตั้งผู้นำขึ้นมา 1 คน 3.ไม่เปิดโอกาสให้คนมีความคิดเห็น 4.เป็นคนชาตินิยม  และ 5.สนับสนุนระบบบริษัทมากกว่าสนับสนุนเกษตรกร ทำไมเราต้องเลือกประชาธิปไตย เพราะให้บุคคลพูดแสดงความเห็น เพราะระบอบนี้เท่านั้นที่จะหาฉันทามติได้ และประชาธิปไตยทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้โดยไม่ต้องนองเลือด

ดร.ปิยบุตรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองบอยคอตไม่ลงเลือกตั้งมาแล้วในปี 2549 โดยขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 จากนั้นก็มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ชนชั้นนำเลือกที่จะใช้กลไกนอกระบบจัดการกับระบอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากจะทำไม่สำเร็จแล้ว ยังทำให้กลุ่มนักการเมืองระบอบประชาธิปไตยมีพลังมากขึ้น แต่ชนชั้นนำก็เลือกใช้วิธีการที่จะทำลายประชาธิปไตย โดยอาศัยทั้งกองทัพ และศาลรัฐธรรมนูญ และล่าสุดมีความพยายามไม่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นอีก

            “ความขัดแย้งครั้งนี้มีปมปัญหาใหญ่คือ ชนชั้นนำไม่ต้องการให้เสียงส่วนใหญ่ยึดการปกครอง และเป็นเช่นนี้มาตลอด มีบทบาทชี้ขาดการเมืองไทยอยู่หลายครั้ง หากครั้งนี้พวกเขาทำเช่นนั้นอีกจะทำให้การเมืองเป็นอย่างไรบ้าง มีระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ทำให้ชนชั้นนำอยู่ได้ การเลือกที่จะทำลายประชาธิปไตยนั้น ถ้าคุณชนะก็ทำได้เพียงชนะศึก แต่ไม่ชนะสงคราม การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จึงเป็นหนทางเดียวที่จะหนีสงครามกลางเมืองได้ และทำให้ชนชั้นนำอยู่รอดในสังคมไทยและอยู่กับคนทั้งประเทศได้” นายปิยบุตร กล่าว

ด้าน ดร.เกษียรกล่าวว่า อยากจะนำข้อถกเถียงของนักวิชาการอย่าง ดร.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. และดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาเสนอ สืบเนื่องจากการเปิดตัวสปป. มีความพยายามของคนบางกลุ่มทำให้ปัญหา พ.ร.บ.นิรโทษลุกลามไปจนมาถึงสภาปฏิรูปประชาชน ที่เป็นไปไม่ได้ทางการเมือง และเสนออำนาจทางการเมืองยัดเยียดให้ประชาชน อาจารย์ธีรยุทธ ที่ออกมาพูดในวันเดียวกับที่เปิดตัวสปป.ต่อมาดร.สมบัติก็ออกมาบอกว่า เป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดของประชาชน และให้อำนาจกปปส.ตั้งสภาประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นใครไม่รู้ ลักษณะของนักวิชาการทั้งสองคนนี้ มันแยกไม่ขาดกับความขัดแย้ง 7-8 ปี ที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งทั้งหมด ตนไม่แน่ใจว่ามันเป็นการปฏิวัติของประชาชนหรือสงครามกลางเมืองหลายระลอกกันแน่ กับกลุ่มที่เห็นต่าง ตนขอย้อนเหตุการณ์ในอดีตคือปี 49 กลุ่มพันธมิตรต่อต้านระบอบทักษิณ เกิดรัฐประหาร 50 กลุ่มนปก.ต่อต้านรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ปี 2551 กลุ่มพันธมิตร ต่อต้านรัฐบาลนายสมัคร และนายสมชาย  ปี 52 และ 53 กลุ่มนปช.ต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ต่อมาปี 2556 กปปส.ก็ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์

            “การที่กปปส.ออกมาเป็นการปฏิวัติประชาชน ทำให้เห็นว่าเรามาถึงขั้นนองเลือดกันแล้ว เราต้องทำให้บ้านเมืองอยู่ในกรอบกติกา มีทางเดียวคือการออกไปเลือกตั้ง ให้อำนาจเสียงข้างมากประคองเหตุการณ์ให้ดำเนินต่อไป แต่ถ้าคุณไม่ฟังคนทั้งประเทศ และจะยึดอำนาจทั้งหมด จะทำให้เราไม่มีบ้านเมืองให้อยู่ ในสถานการณ์สงครามการเมืองยืดเยื้อเผด็จการเสียงข้างน้อยจะทำให้เกิดการนองเลือดขึ้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องปฏิรูปโดยคนไทยทั้งประเทศทำไปด้วยกัน และจะอยู่ปกป้องประชาธิปไตยต่อไปไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตาม” นายเกษียรกล่าว

น.ส.ลักขณากล่าวว่า ประเทศต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพราะรัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว ช่วงนี้เราจะได้ยินว่า เราไม่พร้อมในการเลือกตั้ง และคนชนบทไม่เข้าใจประชาธิปไตย จะต้องปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เราจะตอบเรื่องนี้อย่างไร ในช่วงปี 2475 มีกลุ่มคนที่ไม่ต้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็ยังใช้วาทะกรรมนี้อีกแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 80 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเรามีชนชั้นกลางคอยฉุดรั้งไม่ให้มีประชาธิปไตยและปฏิเสธกำพืดไพร่ของตัวเอง แยกตนเองว่าเป็นผู้รู้เท่าทันทางการเมือง เป็นคนรักชาติ ต้องการขจัดนักการเมืองที่ขายชาติ สิ่งที่เราจะยืนยันวันนี้ทุกคนเท่ากัน ผ่านการเลือกตั้ง เรามีสิทธิหนึ่งคน หนึ่งเสียงพื้นฐานของประชาธิปไตยน้อยกว่านี้ไม่ได้ ถ้าน้อยกว่านี้ ไม่ใช้ประชาธิปไตยเราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่ผุดผ่องแบบคนที่เขาอ้างนั้นเป็นอย่างไร

            “หัวใจของประชาธิปไตยคือต้องทำงานร่วมกัน ทั้งนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ทุกคนมีสิทธิเลือก หากการเลือกผิดพลาดเรามีโอกาสเลือกใหม่ทุก 4 ปี มนุษย์ย่อมเลือกผิดบ้างถูกบ้าง ทำให้เราเรียนรู้ เริ่มจากหนึ่งคนหนึ่งเสียง ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป ให้นักวิชาการไม่กี่คนใส่กลองให้เรา แต่มันคือการเลือก ให้เกิดการเท่ากันของประชาชน ประชาธิปไตยไม่มีการหยุดพักไว้ก่อน เพราะนั้นคือการล้มล้างประชาธิปไตย เราทุกคนมีหนึ่งเสียงมีโอกาสเลือก อย่าให้ใครมาชิงสิทธิไปได้” น.ส.ลักขณา กล่าว

ขณะที่ นายสมบัติกล่าวว่า ตนทำรายการ 3.0 ในทีวีเสื้อแดง โดยมีพัฒนาการของเว็บไซต์ 1.0 ที่เป็นของหน่วยงานราชการที่ดูเพียงอย่างเดียว ต่อมาเป็น 2.0 ดูได้วิจารณ์ได้ มีคนใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงเว็บไซต์ 3.0 เขียนเองวิจารณ์เอง เป็นประชาชนสร้างเฟซบุ๊คแล้วให้คนอื่นมาอ่าน เป็นยุคที่ประชาชนนำเสนอ ในโลกของประชาธิปไตยมีการปกครองแบบบูรณาการที่ตนเรียกว่าอำมาตย์ 1.0 ทำงานแบบคิดว่า เขาดีเลิศประเสริฐ ให้เราดูแล้วอยู่เฉย ๆ ต่อมาได้รับความนิยมน้อยลง มาถึงนักการเมือง 2.0 มาจากการที่ประชาชนเลือกมาให้เป็น ยอมให้วิจารณ์ได้ ต่างจากระบบแรก จนถึงวันนี้คือ ประชาชน 3.0 เหมือนกันเว็บไซต์ 3.0 ที่ต้องออกมาพูดว่าคิดอะไร ฝันอะไร แล้วมาวิจารณ์กันเอง ไม่เหมือนระบบนักการเมือง 2.0 ทั้งนี้ ยุคประชาชน 3.0 แล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอำมาตย์ หรือนักการเมือง แต่ความนิยมแตกต่างกันไป

นายสมบัติกล่าวต่อว่า ถ้าจะให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ ทั้งสองต้องอัพเกรดตัวเองให้เป็น 3.0 ด้วย ในอดีตเราฟังรายการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้กรอกหูประชาชน ตนจำเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้ เห็นคน การที่คุณจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี บอกว่าคนในชนบทไม่รู้ประชาธิปไตยนั้น ตนคิดว่าเขามีวิสัยทัศน์แค่ขนาดของโทรทัศน์ที่ดูเท่านั้น เขาไม่มีวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน อาจจะดูทีวีแค่ช่องเดียวคือ บลูสกาย คงมีหลายคนที่มองเช่นนั้น เป็นโลกทัศน์ของคนมีการศึกษา

            “กระบวนการนกหวีดที่ทำให้คนออกมาชุมนุมกัน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ได้มาจากยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย นอกจากนี้ยังมีสมาร์ทโฟนและ 3จี ก็เข้ามามีบทบาท วันนี้คือยุคของเสียงนกเสียงกา ที่มีเสียงดังไปทุกทิศทาง นักการเมืองต้องเคารพ เราจึงได้ยินเสียงนกหวีด แต่มีเสียงที่ดังกว่าคือเสียงของกากบาทในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ผมคิดว่าถ้าวันที่ 2 ก.พ.นี้มีการล้มการเลือกตั้งจริงก็ขอให้ทุกคนช่วยกันเขียนสัญลักษณ์กากบาทในทุกๆ ที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย” นายสมบัติกล่าว

นางจิตรา คชเดช กล่าวว่า ในมุมมองของตนต้องมองคนที่เท่ากัน อย่ามองที่ชนชั้น บางคนไม่ได้ทำอะไรเลยแต่กลับถูกยกย่อง การมองแบบนี้มองแบบชนชั้น การมองแบบนี้จะเห็นมากขึ้นว่า ความเป็นจริงมีการเอาเปรียบในสังคม ยากจนเพราะไม่ทำงาน ในระบบทุนนิยมมองคนงานเป็นเครื่องจักร ที่จะสร้างกำไรให้ การทำให้คนเท่ากันต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพตั้งสหภาพแรงงานต่อลองกับเจ้าจองกิจการ แต่เมืองไทยคนงานไม่มีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ ต้องกลับไปเลือกตั้งที่บ้าน คนงานจึงไม่มีสิทธิ ทำให้การเท่าเทียมทางการเมืองยังไม่มี

นางจิตรากล่าวต่อว่า ส่วนสังคมของคนดีที่มองเห็นแบบทุกวันนี้ มองคนชนบทเป็นคนโง่ ปล่อยให้ขายเสียงได้ และบอกว่าสังคมชนบทยังไม่ต้องเลือกตั้ง เพราะมาขายเสียง สังคมพยายามใช้วาทะกรรมต่าง ๆ แต่คนโง่คือคนที่พูดออกมาเอง ทั้งนี้ คนชนบทต้องเลือกพรรคการเมืองที่ทำให้เขากินดีอยู่ดี อีกกลุ่มหนึ่งคือนักวิชาการบางคนที่พยายามปลุกปั่นให้มองคนไม่จบปริญญาตรีว่าไม่มีสิทธิเท่าตัวเอง และบอกว่าเสียงในกรุงเทพฯเป็นเสียงที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงในต่างจังหวัด

            “ยังมีสังคมเผด็จการที่มองประชาชนเป็นเพียงฝุ่นละออง ซึ่งจะหายไปตอนไหนก็ได้ สังคมแบบนี้ยอมที่จะให้ตั้งสภาประชาชน ยอมให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ใครที่เห็นต่างก็จะหายไปจากสังคม ตายไปโดยการเห็นต่างทางการเมือง ที่ผ่านมาคนที่เห็นต่างต้องตายไป จากการติดคุก สังคมประชาธิปไตยต้องมองคนเท่ากัน หนึ่งคนหนึ่งเสียง เราอยู่ในประเทศนี้ต้องส่งตัวแทนของเราเข้าสภา เรามีสิทธิ ใช้สิทธิของเราเลือกตั้ง เดินหน้าเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พรุ่งนี้ก็จะมีการสมัครเลือกตั้งแล้ว เราต้องช่วยกันขัดขวางคนที่จะล้มการเลือกตั้งด้วย” นางจิตรากล่าว

ดร.ยุกติกล่าวว่า ตนคิดว่ามายาคติของชาวกรุงเทพมี 6 ข้อ คือ 1.คนชนบทโง่ จน เจ็บ จึงใช้เงินซื้อได้ คนจนมี 81 เปอร์เซ็นต์ ลดลงอย่างมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา แต่ชนบทขณะนี้เปลี่ยนไปแล้ว  จึงมีคนรายได้ปานกลางมากขึ้น 2.คนชนบทไม่เสียภาษี รัฐเก็บภาษีทางอ้อมจากการใช้สอยมากกว่าทางตรง 3.ระบบอุปถัมภ์ ครอบงำคนชนบท ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว 4.คนชนบทเลือกตั้งไม่เป็น ในชนบทมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล ใน 1-2 ปี คนชนบทจึงเลือกตั้งบ่อยมาก การซื้อเสียงมีมากขึ้นจากการเลือกตั้ง เราจะยอมให้อำนาจเผด็จการมายึดอำนาจประชาชนไปหรือ เพราะฉะนั้นอย่ามาสอนประชาธิปไตยคนชนบท เพราะพวกเขารู้ดีมากกว่าคุณ 5.นักการเมืองท้องถิ่นถูกพรรคการเมืองครอบงำ โดยหลังรัฐประหารมีการเสนอให้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ชาวบ้านใช้เกณฑ์การเลือกอบต. อบจ. กับการเลือกตั้งใหญ่แตกต่างกัน เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นเหมือนร้านสะดวกซื้อ สามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลา แต่การเลือกตั้งใหญ่ชาวบ้านต้องซื้อนโยบาย เลือกพรรคการเมืองเป็นหลัก ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ ที่ต้องเลือก ส.ข. ที่แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย และ 6.คนชนบทไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

ดร.ธเนศ กล่าวผ่านวีดีโอว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับอดีตในปี 2519 ที่แตกแยกทางความคิดจากกลุ่มต่างๆ นายป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการมธ. แสดงความเห็นก่อนการเลือกตั้งในปีนั้นว่า หนักใจเพราะว่าประชาธิปไตยมีรากฐานไม่นาน และคิดว่าในระยะนี้ใครจะเป็นรัฐบาลต้องเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองที่เลื่อมใสประชาธิปไตยต้องทำให้ระบบนี้หยั่งรากลึก ควรหันหน้าเข้าหากัน ตนขอยกคำพูดของนายป๋วยมาเป็นอุทาหรณ์ให้คนในปัจจุบันเห็น อาจารย์ป๋วยบอกว่า อย่าไปคิดว่าพรรคการเมืองใดจะชนะเลือกตั้ง ให้คิดถึงหลักประชาธิปไตย ทำให้มันหยั่งรากลึกเสียก่อน ขณะนี้เราจะรักษาระบบ หรือจะทำลายระบบประชาธิปไตย สภาพการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีเพียงแห่งเดียวในโลก เสียงข้างมากมีปัญหาด้านการปกครอง เสียงข้างน้อยไม่พอใจ คล้ายกับเหตุการณ์ในประเทศอียิปต์ คือเกิดเหตุการณ์รุนแรง

ดร.ธเนศกล่าวต่อว่า การชุมนุมของกลุ่มกปปส.นักวิชาการเรียกว่าประชาธิปไตยเกิดใหม่ การชุมนุมของชนชั้นกลางทำได้ง่ายขึ้น มีประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม มีพลังต้านรัฐบาล มีพลังทั้งบวกและลบ ทั้งสร้างและทำลาย ทำให้การตั้งรัฐบาลทำได้ลำบากมากขึ้น ในที่สุดใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดยังไม่มีคำตอบ แต่ยังมีการดูถูกฝ่ายตรงข้ามด้วยคำพูด ซึ่งจะทำให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ความเป็นคนเท่ากันไม่ต้องอธิบายอะไรมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เราผ่านการเจ็บปวดมามากแล้วกับประชาธิปไตย สังคมไทยยังมีคนไม่น้อยที่เห็นคนไม่เป็นคน ไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ทำไมวันที่ 2 ก.พ.2557 นี้จึงมีความสำคัญ เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่ให้คนเปล่งเสียงออกมาเท่ากัน การเรียกร้องมี 2 ฝ่าย หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าหนึ่งคนหนึ่งเสียงไม่เท่ากัน แค่นี้ก็ถึงทางตันแล้ว

ดร.วรเจตน์กล่าวต่อว่า ระบอบประชาธิปไตยให้ความเท่าเทียมกัน มีเสน่ห์หลายอย่างที่คนคิดได้หลายอย่าง เราออกแบบตามความชอบหรือตามน้ำหนักคะแนนก็ได้ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าการเลือกตั้งที่คนทั่วโลกทำ ต้องหยุดไว้แล้วปฏิรูปก่อน แต่ใครที่ชอบธรรมที่จะปฏิรูป กลุ่มกปปส.หรือไม่ ทำไมต้องเป็นกลุ่มคนๆ เดียว การให้นายกฯลาออกแล้วให้คนเข้ามาบริหารก่อนตั้งสภาประชาชน ถามว่าทำไมต้องทำตามที่กปปส.เรียกร้อง หากการเคลื่อนไหวในเวลานี้มีความต่อเนื่องจากความขัดแย้งมานาน และจะทำให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบที่นายสุเทพบอก แต่ระบอบที่นายสุเทพสถาปนาขึ้นจะต้องเป็นระบอบอนาธิปไตยแน่นอน

            “เวลานี้คนกังลงว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง ซึ่งเคยทำมาแล้วในปี 2495 และ ปี 2549 สุดท้ายทหารก็ออกมายึดอำนาจ ผมก็ไม่ทราบว่า ทำไมพรรคนี้ไม่ลงเลือกตั้ง อย่างในปี 2549 บอกว่ากกต.ไม่เป็นกลาง และดำเนินการกับกกต.ชุดนั้น วันมาบอยคอตเลือกตั้งอีก หรือไม่ต้องการให้ระบบนี้เดินต่อไป ถามว่าต้องการทำลายระบบนี้หรือ ทำไมไม่ถามคนส่วนใหญ่ว่าเขาคิดอย่างไร การเลือกตั้งต้องจัดต่อไป ถ้าบอกว่าการเลือกตั้งมีการโกงกัน คำถามคือต้องให้พรรคการเมืองของคุณชนะเลือกตั้งเท่านั้นใช่ไหม ที่จะบอกว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ปัญหาอยู่ที่พรรคการการเมืองที่ไม่ศรัทธา ไม่ใช่ประชาชน ผมคิดว่าเราอย่าไปกังวลว่าในวันที่ 2 ก.พ. นี้จะมีการลือกตั้งหรือไม่ เอาไว้ให้ถึงเวลานั้นก่อนค่อยวิตกกัน”

ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อว่า ถ้าการเลือกตั้งขาดความชอบธรรมจริง ประชาชนจะเห็นเอง และการขับไล่รัฐบาลนี้ก็ทำได้ง่ายแค่ไปเลือกตั้งเท่านั้น ปัญหาที่ต้องมาพูดเรื่องคนเท่ากันมันมีเหตุผลมากกว่านั้น หน้าฉากอาจจะพูดอย่างหนึ่ง หลังฉากพูดอย่างหนึ่ง เพราะข้อเสนอต่างๆ จะตอบโจทย์การเมืองไทยอย่างไร โดยแท้จริงอาจมีเป้าประสงค์อย่างอื่น แต่ไม่บอกให้ประชาชนรู้ ไม่ใครรู้ว่าการปฏิรูปประเทศจะออกมาอย่างไร ไม่แยแสคนส่วนใหญ่ว่าจะเป็นอย่างไร ปัญหาอุดมการประชาธิปไตยและปัญหาปรปักษ์ประชาธิปไตยนี้ มันฝั่งรากลึกมานานแล้ว นำไปสู่ปัญหาที่ว่าจะปกครองในระบอบนี้หรือไม่

            “โลกสมัยใหม่เราไม่สามารถปฏิเสธระบอบนี้ได้ มันต้องเป็นประชาธิปไตย เคารพมนุษย์ ถ้าทำได้อย่างเต็มที่คนก็จะไม่ถูกปิดกั้น บ้านเมืองก็จะเดินหน้า ไม่เอากะลามาครอบ ไม่เหมือนคนบางกลุ่มที่เอากะลารูปขวานมาปิดกั้นประเทศไว้ ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะไม่ยอมให้ประเทศถูกปิดด้วยกะลา เราเป็นคนเหมือนกัน จะตัดสินใจถูกหรือผิดก็เป็นเรื่องของเรา อย่าให้ใครหน้าไหนมาตัดสินแทน อยากฝากรัฐบาลว่า พรรคใดไม่พร้อมลงเลือกตั้งก็ให้ไปปฏิรูปพรรคเขาเองให้สำนึกประชาธิปไตยซึมลงไปทุกอณู ให้โอกาสปฏิรูป รัฐธรรมนูญทุกหมวด ทั้งพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ และภารกิจของรัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องไม่ทำงานแบบปกติ แต่ต้องคิดโครงสร้าง ผู้สมัครทุกคนต้องคิดการปฏิรูปประเทศให้ระบอบประชาธิปไตยเจริญก้าวหน้า ชนชั้นนำ องค์กรอิสระ ศาล อย่าฝืนคำเตือนของโลก นี่เป็นคำเตือนของผม คุณไม่สามารถทำคนที่สว่างไสวกลับไปมืดบอดอีก คุณไม่มีทางเอาพวกเราทั้งหมดออกจากประเทศนี้ได้ อยากเห็นการฆ่าแล้วนับจำนวนหัวว่าใครเหลือมากกว่ากัน เมื่อถึงเวลาทุกคนจะลุกขึ้นมาต่อสู้ เราจะไม่ยอมให้ใครพรากประชาธิปไตยไปจากเราได้อีก” แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าว

 

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: