ที่ด่านสากลไทย-ลาว ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก USAID จัดเสวนา “ปัญหาการพัฒนาด่านช่องเม็ก” ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน โดยมีตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง นักวิชาการ และตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าร่วมสะท้อนปัญหา มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเปิดประเด็นถามหาความอยู่รอดทางการค้าของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หลังปรับเป็นด่านผ่านแดนสากลไทย-ลาวแล้ว
นายประพันธ์ จันทร์ไทยศรี ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด่านศุลกากรช่องเม็ก กล่าวว่า หากเพื่อความอยู่รอดของพ่อค้าแม่ขายที่ด่านชายแดนช่องเม็ก ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ โดยพ่อค้าแม่ค้าต้องปรับปรุงรูปแบบการค้าขาย การให้บริการ การสร้างอัตลักษณ์ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และกลับมาเที่ยวอีกหลายครั้ง แต่ยอมรับว่า ปัจจุบันทางเลือกของผู้ซื้อมีมากขึ้น ดังนั้นการที่ชาวบ้านอ้างว่า สมัยก่อนขายดี เมื่อปรับเป็นด่านสากล ทำให้การค้าขายซบเซา มีปัจจัยจากหลายสาเหตุ โดยต้องยอมรับว่าหลังปี 2540 เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ไม่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น เศรษฐียังพากันล้มละลาย หลังจากนั้นห้างใหญ่ข้ามชาติรุกคืบเข้ามา ผู้บริโภคมีทางเลือก ก็เลยแย่งส่วนแบ่งด้านการตลาดไป
ด้าน พ.ต.ท.พันธศักย์ พันธุ์เพ็ง รองผกก.ตม.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งดูแลการผ่านแดนช่องเม็กกล่าวถึงกระบวนการผ่านแดนหลังการยกระดับเป็นแดนสากลในปี 2549 เกิดจากกระบวนการข้อตกลงการข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว ผู้ที่ต้องการข้ามแดนต้องมีเอกสารหลักฐานเข้า-ออกทั้งคนไทยและคนลาว พร้อมยอมรับว่า ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน มีความยุ่งยากใช้เวลานาน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเบื่อหน่าย แต่ตอนหลังได้รับการปรับปรุงอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ลดลง นักท่องเที่ยวเดินทางเดินทางสะดวกขึ้น ปัจจุบันตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เน้นป้องกันการค้าสิ่งของผิดกฏหมาย ทั้งการค้ามนุษย์ ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง เพื่อจัดระเบียบให้ด่านช่องเม็กน่าท่องเที่ยวมากขึ้น
ขณะที่ ผศ.ชื่น ศรีสวัสดิ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี มองปัญหาดังกล่าวเป็นยุคของโลกเสรี ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุนน้อยได้รับผลกระทบ นักการเมืองถูกควบคุมโดยพ่อค้าข้ามชาติ ทั้งที่ศักยภาพพื้นฐานของด่านช่องเม็กเสามารถป็นศูนย์กลางของอาเซียนคือ ไทย-ลาว-เวียดนามได้ดี แต่ทุกภาคส่วนต้องหันหน้าคุยกัน มีผู้นำในการขับเคลื่อนพัฒนาตามความต้องการของผู้ค้ารายย่อย เพื่อให้อยู่ได้เหมือนผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยช่องเม็กต้องมีสินค้าคุณภาพ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวแห่กันมาเที่ยว จะช่วยให้การค้าขายปรับตัวดีขึ้น
นายฉัตร จันทร์แก้ว สมาชิกสภาเทศบาลตำบลช่องเม็ก พูดถึงจุดเด่นของด่านช่องเม็กไม่ใช่ความเป็นสากล แต่เป็นวิถีชีวิตของคนทั้งสองฝั่งไทบ-ลาว โดยช่วงปี พ.ศ.2539 แม้ร้านค้ามีจำนวนมาก แต่ร้านเล็ก ๆ มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 บาท ส่วนร้านใหญ่มีรายได้กว่าวันละ 100,000 บาท ทำให้การค้าขายลื่นไหลมีกำไร แต่หลังจากปรับเป็นด่านผ่านแดนสากล รายได้หดหายลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงวันละไม่กี่พันบาท ทำให้ช่องเม็กวันนี้ใกล้หมดลมหายใจแล้ว
นางฟ้าดาว พิทักษา ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมฟังเสนอว่า รัฐจะพัฒนาช่องเม็กอย่างไรก็ได้ แต่ให้คงไว้ด้านวิถีชีวิตประเพณีดั้งเดิมของคนของสองฝั่ง อย่าตามก้นฝรั่งเพียงอย่างเดียว เพราะประเพณีคนสองฝั่งไทย-ลาวมีการแบ่งปันของคนสองฝั่งโขง อย่าได้ทอดทิ้งชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าช่องเม็ก หากมีความเป็นอิสระในการคิด สามารถจัดการบริหารจัดระเบียบช่องเม็กได้ แต่รัฐต้องไม่มาครอบงำความคิดนั้นไว้
การค้าที่ด่านพรมแดนไทย-ลาว ช่องเม็ก เริ่มเปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 2505 และปิดตัวหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518 เนื่องจากประเทศเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
ต่อมาในปี 2532 โลกสิ้นสุดสงครามเย็น และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายทหารที่มีความคิดก้าวหน้าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ประกาศปรับสนามรบให้เป็นสนามการค้าเปิดประเทศค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบอบการปกครองแตกต่างกันอีกครั้ง ด่านช่องเม็ก จึงเป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว ด้านอีสานใต้ ในช่วงแรกการเปิดด่านค้าขายราษฎรลาวนำสินค้าพื้นเมืองที่หาได้จากในพื้นที่จำพวกของป่า
อาทิ เครื่องหวาย อาหาร พืชผัก สัตว์ป่า สมุนไพร มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันพ่อค้าไทยที่นำสินค้าจำพวกเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ ทั้งวิทยุทรานซิสเตอร์ เครื่องเล่นเทป โทรทัศน์ ของใช้ในครัวเรือน อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม การค้าขายช่วงแรก จึงเป็นการค้าของผู้ค้ารายย่อยทั้งไทยและลาว โดยฝ่ายไทยให้คนลาวเดินทาง ข้ามแดนเข้ามาซื้อของได้ฟรี แต่ฝ่ายลาวเรียกค่าผ่านแดน (ค่าเหยียบดิน) คนละ 5 บาท ทำให้เกิดการท่องเที่ยวของคนท้องถิ่นทั้งจากแขวงจำปาสัก สปป.ลาว และคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทย ต่อมาสมัยนายชวน หลักภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายยกระดับจุดผ่านแดนถาวรเป็นด่านสากล แต่การดำเนินการมาเริ่มจริงจังสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเป็นด่านสากลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 โดยมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดนในอัตราสูงทั้งขาไปและกลับ และมีขั้นตอนขอข้ามแดนยุ่งยาก ส่งผลกระทบกับการค้าที่ตลาดพรมแดนช่องเม็กเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
แม้ต่อมาทางการไทยมีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดน (ส่วนลาวยังเก็บตามเดิม) แต่ไม่ได้ช่วยให้การค้าของพ่อค้ารายย่อยที่ด่านพรมแดนทั้งฝ่ายไทยและลาวกลับมาดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะการค้าระหว่างแดนถูกกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่ยึดครองไป โดยอาศัยระเบียบในการผ่านแดนตั้งแต่ปี 2549 เป็นตัวกีดกันทางการค้านั่นเอง
การจัดวงเสวนาปัญหาการจัดระเบียบด่านชายแดนช่องเม็กครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกภาคส่วนต้องมาคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ และส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยต่อลมหายใจให้การค้าขายที่ด่านพรมแดนช่องเม็กมีอายุยืนยาวได้ต่อไป
หมายเหตุ : สำหรับการเสวนาเรื่องนี้ สามารถชมเทปบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่สร้างสุขชาแนล ซึ่งออกอากาศทางวีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี, ราชธานีเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย, รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75Mhz และ Cleanradio92.5
Mhz อุบลราชธานี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ