‘พิชิต’โต้กลุ่มค้านค่าแรง300บาท อย่าเหมาผลกระทบ-เชื่อปรับตัวได้ ชี้ไทยหมดยุคแข่งค่าแรงราคาถูก

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 23 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2153 ครั้ง

 

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เรียกเสียงสนับสนุนจากแรงงาน 38 ล้านคน แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากสังคม นักวิชาการ ผู้ประกอบการ สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ปรากฏบนหน้าสื่อกลับเป็นไปในทางลบ

 

 

เสียงคัดค้านการขึ้นค่าแรง 300 บาทอื้ออึง เหตุผลหลัก ๆ ที่ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดคือ จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีต้องล้มหายตายจาก เพราะไม่สามารถสู้ต้นทุนที่พุ่งสูงแบบก้าวกระโดดได้ ฝ่ายคัดค้านอ้างตัวเลขน่าตกใจว่า เอสเอ็มอีอาจต้องปิดตัวนับแสนราย และข่าวบนหน้าสื่อกระแสหลัก ก็ดูจะเทน้ำหนักให้กับประเด็นนี้-โรงงานปิดตัว ลูกจ้างถูกลอยแพ ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิต ฯลฯ

 

ทำไมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจึงถูกคัดค้านหนักหน่วง เสียงคัดค้านต่าง ๆ มีน้ำหนักพอจะรับฟังหรือไม่ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะชำแหละให้เห็นว่าเสียงไหนฟังขึ้น หรือเสียงไหนเป็นเพียงความรู้สึกที่ไม่มีหลักฐาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยืนยันต้องขึ้นค่าแรง 300 บาท เหตุถูกกดมากกว่า 10 ปี

 

 

รศ.ดร.พิชิตกล่าวว่า เท่าที่ดูประเด็นของฝ่ายคัดค้านสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการคัดค้านแบบไม่มีตรรกะเหตุผลรองรับ เช่น จะทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดตัว คนงานจะตกงานมากขึ้น ซึ่ง ดร.พิชิต ตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ ส่วนกลุ่มหลังเป็นข้อคัดค้านที่อ้างอิงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ และมีข้อมูลตัวเลขยืนยัน และบางประเด็นก็มีแง่มุมที่น่าสนใจและต้องรับฟัง

 

เริ่มต้น รศ.ดร.พิชิต แสดงจุดยืนชัดเจนสนับสนุนนโยบายนี้ ส่วนวิธีการเหมาะสมหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เขาให้เหตุผลว่าหลายปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขึ้นช้ามากและไม่ยุติธรรมต่อคนงาน ทำให้เสียเปรียบคนอาชีพอื่นมาก รายได้ประชาชาติของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 เพิ่มขึ้นปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร และค่าจ้าง แต่ส่วนที่เป็นค่าจ้างโตขึ้นเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่พนักงานบริษัทเงินเดือนขึ้นปีละ 5 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย เงินเฟ้อก็ไม่เคยต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ผลได้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนที่ได้ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร

 

 

 

        “เหมือนก้อนเค้กส่วนที่คนงานกินมันเล็กลง ๆ แต่เค้กของคนที่เป็นเจ้าของบ้าน ที่ดิน พันธบัตร ได้เค้กเพิ่มขึ้นๆ คนงานในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ จึงโดนสองเด้ง ของแพงขึ้น รายได้ไล่ตามไม่ทัน คนอาชีพอื่นๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจในช่วงสิบกว่าปีมานี้”

 

 

 

ในระยะที่ผ่านมา ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และแรงงานที่มีอยู่จำนวนหนึ่งก็มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ดร.พิชิตยกตัวอย่างว่า ในภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาร่วม 20 ปีแล้ว โดยมักเป็นโรงงานขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ซึ่งจะไม่ค่อยจ้างแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่ใช้แรงงานไทยที่ค่อนข้างมีคุณภาพ เช่น จบ ป.6 หรือ ม.6 ธุรกิจกลุ่มนี้จะมีปัญหามากในการหาคนงาน ส่วนในภาคตัวเมืองใหญ่ ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แม้แต่แรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ก็เริ่มขาดแคลน  เช่น เด็กปั๊ม พนักงานตามร้านอาหาร เป็นต้น ทำให้เริ่มเห็นคนต่างด้าวมาทำงานส่วนนี้ จะเห็นได้ว่าแม้เราจะขาดแคลนแรงงาน แต่ที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกลับขึ้นช้ามาก

 

 

              “หมายความว่าของแพงขึ้นมากกว่าค่าจ้าง ค่าจ้างไล่ตามราคาสินค้าไม่ทัน ในแง่มาตรฐานการครองชีพที่แท้จริง คนงานจึงมีฐานะแย่ลง ได้กิน ได้ใช้น้อยลง”

 

 

ไม่ควรขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ บริบทเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน

 

 

รศ.ดร.พิชิตเห็นว่า ข้อท้วงติงที่น่ารับฟังก็คือ การขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดเท่ากันทั้งหมด ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีขนาดเศรษฐกิจ รายได้ และจำนวนคนจน-คนรวยไม่เท่ากัน

 

 

            “ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังไม่เจริญมาก การตั้งค่าแรง 300 บาท อาจจะปฏิบัติจริงไม่ได้ ในท้องถิ่นอาจจะรู้กันและยังจ้างในอัตราที่อยากจ้าง ลูกจ้างก็ไม่ว่าอะไรเพราะยังอยากทำงาน ตราบใดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ในจังหวัดที่ค่าแรง 300 บาท ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในพื้นที่ ค่าแรงก็อาจไม่ถึง 300 บาท หรือในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดมาก การจ้างงานก็อาจมีปัญหาเพราะว่าถ้าไปบังคับจ่าย 300 บาท นายจ้างไม่จ้างก็อาจเกิดปัญหา

 

 

 

รศ.ดร.พิชิต ชี้ว่า การจ่ายค่าแรง 300 บาท ในทางปฏิบัติถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ค่าแรงสูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ แต่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมต้องดูว่าเป็นโรงงานของใคร ถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติ  ค่าจ้างมักเกิน 300 บาทอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นโรงงานขนาดกลางของคนในท้องถิ่นค่าแรงอาจยังไม่ถึง 300 บาท แต่โดยทั่วไปเกิน 300 บาทไปแล้ว

 

 

             “สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ที่เจริญมาก มันมีปัญหาหนึ่งที่เผชิญร่วมกันอยู่คือปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่า ค่าแรง 300 บาทน่าจะได้ผล ส่วนในบางพื้นที่ บางอาชีพ ซึ่งยังไม่ถึง 300 บาทมาแต่เดิมก็ใกล้แล้ว ดังนั้น ขึ้นมาเป็น 300 บาท ผมคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมาก” รศ.ดร.พิชิต อธิบาย

 

 

 

ชี้เอสเอ็มอีเกิด-เจ๊งนับแสนอยู่แล้ว อย่าเหมารวม

 

 

ด้านผลกระทบที่จะเกิดแก่เอสเอ็มอี รศ.ดร.พิชิต ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มี แต่เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งจะปรับตัวได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะเข้าเกณฑ์การช่วยเหลือของรัฐ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเอสเอ็มอีตามต่างจังหวัด ที่เน้นการใช้แรงงานและไม่ได้จดทะเบียน เพราะไม่สามารถเข้าถึงมาตรการของรัฐได้ ซึ่งเขาเห็นด้วยว่ากลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

 

ส่วนตัวเลขที่ว่าเอสเอ็มอีจะล้มหายตายจากเป็นแสน รศ.ดร.พิชิต ออกตัวว่าไม่มีตัวเลขข้อมูลที่จะใช้คำนวณว่าเอสเอ็มอีจะปิดตัวไปเท่าไหร่ แต่ข้อมูลที่เผยแพร่ขณะนี้ออกมาจากสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม  ทั้งสองแหล่งระบุว่าจะมีเอสเอ็มอีปิดกิจการประมาณ 1 แสนราย

 

คำถามก็คือว่า ลักษณะพิเศษที่ผ่านมาของเอสเอ็มอีไทยคือ มีอัตราการเกิดและอัตราการตายต่อปีในระดับสูงอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน ถ้าบอกว่าเอสเอ็มอีจะปิดกิจการอีก 1 แสนราย ก็จำเป็นต้องถามว่า 1 แสนรายนี้ปิดกิจการเพราะเหตุใดบ้าง จุดสำคัญคือต้องถามด้วยว่า อัตราการเกิดเอสเอ็มอีใหม่น้อยลงหรือไม่ด้วย

 

รศ.ดร.พิชิตกล่าวว่า ไม่ต้องการโต้แย้งว่าเอสเอ็มอีจะล้ม เพราะค่าแรง 300 บาทจริงหรือไม่ แต่การจะสรุปได้ต้องดูภาพรวม ไม่ใช่ดึงออกมาเพียงบางส่วน แล้วบอกว่าปิดกิจการเพราะค่าแรง 300 บาท เพราะเอสเอ็มอีใดจะได้รับผลกระทบอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นใช้ปัจจัยอะไรเข้มข้น ถ้าเป็นธุรกิจที่เน้นงานฝีมือ ใช้แรงคน ใช้ทักษะสูง กลุ่มนี้น่าจะต้องจ่ายมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ถ้าจะต้องปิดตัวก็เป็นเพราะหาคนงานที่มีทักษะฝีมือไม่ได้

 

 

 

 

            “ผมจึงคิดว่าเอสเอ็มอีมีเกิดเยอะ ตายเยอะ เอสเอ็มอีเกิดน้อยลง เพราะ 300 บาทหรือเปล่า วันนี้พนักงานบริษัทอยากจะออกจากงานมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่เจอ 300 บาทจึงเปิดไม่ได้ อัตราการเกิดขึ้นของเอสเอ็มอีน้อยลงหรือเปล่า ต้องศึกษาตรงนี้ แล้วส่วนที่บอกว่าตายเป็นแสน ก็ต้องจำแนกออกมาว่าเพราะเหตุใด แต่ต้องแยกก่อนว่า เอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดที่ห่างไกลจะโดนผลกระทบ แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพ ภาคกลาง ต้องจ่าย 300 บาทอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจ้างแรงงานไม่ได้ ต้องแข่งกับธุรกิจอื่นในการดึงคน”

 

 

นอกจากข้อคัดค้านเรื่องเอสเอ็มอีจะปิดเป็นแสนรายแล้ว รองลงมาคงเป็นประเด็นเกี่ยวกับเงินเฟ้อ เพราะเมื่อเงินถูกผลักเข้าสู่ระบบมากขึ้น ค่าครองชีพย่อมถีบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิชิตอธิบายว่า เงินเฟ้อจะมากหรือน้อยประกอบด้วยหลายปัจจัย แม้ค่าแรง 300 บาทจะผลักเงินเฟ้อในฟากต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น แต่ผลอีกด้านก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

 

            “การขึ้นค่าจ้างทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแน่นอนเพราะมันเป็นต้นทุน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการใช้จ่ายด้วย การขึ้นพรวดเดียวเป็น 300 บาทก็คือการชดเชยกับในอดีตที่ไม่ได้ขึ้นเลยหรือขึ้นช้ามาก ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรมทางสังคม มันมีเหตุผลอยู่”

 

 

 

เชื่อแนวโน้มภาคเกษตรต้องหดตัว ดันรายได้เกษตรกรสูงขึ้น

 

 

 

อีกหนึ่งประเด็นที่นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ วิจารณ์ก็คือ การขึ้นค่าแรง 300 บาท จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย

 

ดร.พิชิต ตอบประเด็นนี้สั้น ๆ ว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน  แนวโน้มหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือภาคเกษตรจะเล็กลง ส่วนภาคเมือง ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การอพยพออกจากภาคเกษตรจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการขึ้นค่าแรง 300 บาทหรือไม่

 

 

             “การขึ้นค่าแรง 300 บาทจะทำให้คนอพยพเข้าสู่ภาคการผลิตมากขึ้นหรือไม่ ไม่รู้ อาจจะใช่ก็ได้ แต่แนวโน้มปกติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว”

 

 

 

รศ.ดร.พิชิต ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า

 

 

          “ที่บอกว่า 300 บาทจะทำให้คนอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง สร้างความแออัด แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ออกมาค้านโครงการรับจำนำข้าวก็บอกว่า จำนำข้าวจะทำให้คนอพยพจากเมืองกลับไปสู่ท้องนา ตกลงจะเอายังไง ไปจำนำข้าวแพง ๆ คนก็ทิ้งอาชีพในเมืองกลับไปทำนา บอกว่านี่มันไม่ดี แต่พอขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็บอกว่าจะทำคนทิ้งภาคเกษตรอีก”

 

 

รศ.ดร.พิชิต กล่าวถึงปรากฏการณ์แรงงานเคลื่อนย้ายออกจากภาคเกษตรไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่คนออกจากภาคเกษตร คือการเพิ่มรายได้ของคนในภาคเกษตรเอง เพราะเมื่อเอาคนออก แรงงานล้นเกินจะน้อยลง สัดส่วนของคนต่อทรัพยากรก็จะน้อยลง ทำให้รายได้เฉลี่ยในภาคเกษตรสูงขึ้น เมื่อสูงขึ้นมากจนไม่แตกต่างหรือแตกต่างไม่มากเมื่อเทียบกับภาคเมือง การอพยพก็จะหยุด ระบบจะปรับตัวสู่สมดุลโดยตัวมันเอง

 

 

             “ในอเมริกามีคนเป็นเกษตรกรเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ยุโรปแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นอยู่ในเมืองหมด แต่เกษตรกรที่นั่นรวย เพราะเมื่อเอาคนออกไปแล้ว เขาก็ต้องหันมาใช้เครื่องจักร ใช้เทคโนโลยี ผลผลิตต่อหัวจะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ความจริงแล้วภาคเกษตรของเมืองไทยหดตัวช้ากว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะในระดับรายได้ต่อหัวของคนไทยทั้งประเทศระดับนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ คนไทยยังอยู่ในภาคเกษตรสูงมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ประเทศอื่นเขาเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว เราช้ากว่าเขามาก มันจึงทำให้ภาคเกษตรของเรามีปัญหามาก แต่ตรงนี้อาจจะเป็นลักษณะพิเศษของคนไทย  เศรษฐศาสตร์จะไม่นิยมอธิบายจากลักษณะประจำชาติ แต่ผมเดาว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะลักษณะของคนไทยที่ยังติดกับชีวิตในชนบท ยังต้องการความสงบ ไม่ชอบความแออัด การที่จะอพยพเข้าเมืองจะต้องมีปัจจัยที่บีบคั้นมากกว่านี้”

 

 

ไม่กระทบรายได้รัฐ แต่ควรลดภาษีมานานแล้ว

 

 

การขึ้นค่าแรง 300 บาทยังถูกกล่าวหาว่าจะกระทบกองทุนประกันสังคม เนื่องจากมาตรการเยียวยาของรัฐอนุญาตให้นายจ้างลดการจ่ายเงินสมทบลงเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวิตกกันว่าจะกระทบต่อกองทุนบำนาญในอนาคต เพราะมีการคำนวณว่าเมื่อเริ่มจ่ายเงินส่วนนี้ออกไป จะทำให้เงินกองทุนหมดลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อนายจ้างลดเงินสมทบด้วยแล้ว วิกฤตข้างต้นก็อาจจะขยับเข้ามาเร็วขึ้น

 

รศ.ดร.พิชิต เห็นด้วยว่า เมื่อถึงเวลานั้นเงินจะไหลออกจากกองทุนบำนาญจำนวนมาก เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ลักษณะนี้เป็นลักษณะปัญหาทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว ถึงกระนั้น ก็คิดว่าจะไม่กระทบฐานะกองทุนบำนาญมาก เพราะเป็นการลดการเก็บเงินสมทบเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

 

     

 

การที่เงินเข้ากองทุนประกันสังคมน้อยลง อนาคตเงินจะไหลออก เนื่องจากโครงสร้างทางอายุ ใช่ อาจทำให้มันหมดเร็วขึ้น แต่ว่าเงินที่ลด  จริง ๆ ถือว่าไม่เยอะ”

 

 

ส่วนผลกระทบด้านภาษีที่ฝ่ายคัดค้านระบุว่า จะทำให้การเก็บภาษีของรัฐต่ำลง เพราะมาตรการเยียวยาหลายข้อเป็นมาตรการทางภาษี รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า การลดภาษีไม่ได้แปลว่าจะเก็บภาษีได้น้อยลง หากมองอีกมุมหนึ่งการเก็บภาษีต่ำลง คนย่อมหนีภาษีน้อยลง การเก็บภาษีต่ำจึงเป็นการจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบ

 

 

             “การลดภาษีจึงถูกแล้ว คนเสียภาษีน้อยลง แต่มีคนเข้ามาเสียภาษีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเม็ดเงินภาษีไม่จำเป็นต้องลด ที่บอกว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้ ใช่ แต่เป็นปีแรก ๆ ที่คนยังไม่ปรับตัว แต่พออยู่กันไปนานๆ ระบบเข้าที่แล้ว มันจะเห็นผล”

 

 

เหตุผลอีกประการหนึ่ง รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยแต่เดิมอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นอัตราที่เกือบจะสูงที่สุดในเอเชีย ซึ่งทำให้ไม่ดึงดูดการลงทุน ภาษีจึงควรลดมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

 

 

 

แค่ 300 บาทไม่พอยกระดับเศรษฐกิจ ฉะรัฐบาลไร้มาตรการส่งเสริม

 

 

 

              “เรื่องค่าแรง 300 บาท ถามว่ามีชุดนโยบายอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ ถ้ายังนึกไม่ออก ผมก็ยังให้คะแนน 70 คะแนนจาก 100 เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ผมก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าในขณะนี้ก็ทำไปเถอะ ค่าแรง 300 บาทก็เหมือนกัน หลักการของมันก็คือค่าจ้างควรจะขึ้นเพื่อชดเชยกับความล้าหลังต่ออัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการขึ้นของค่าจ้างมาสิบกว่าปีแล้ว”

 

 

 

 

ดังนั้น ในมุมของ รศ.ดร.พิชิต การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่วิธีการจัดการนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเขาคิดว่าควรจะค่อย ๆ ปรับขึ้นมากกว่าขึ้นรวดเดียวแบบนี้

 

ส่วนหลักการที่ว่าประเทศไทยควรเลิกใช้แรงงานราคาถูก หันไปเน้นทักษะและปัจจัยทุน แต่การที่กดค่าแรงให้ต่ำ ทำให้การปรับตัวดังกล่าวเกิดขึ้นได้ช้า เพราะฉะนั้นการขึ้นค่าแรง 300 บาท เท่ากับบีบให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไปตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม รศ.ดร.พิชิต เห็นด้วยในประเด็นนี้ ทว่า เพียงการขึ้นค่าแรง 300 บาทยังไม่พอ ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อรัฐบาลต้องการให้ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท แล้วรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการปรับตัวหรือไม่

 

 

             “ข้อคัดค้านประการหนึ่งที่ผมเห็นด้วย คือรัฐบาลบอกว่าต้องการให้ผู้ประกอบการปรับตัว แต่คุณไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะช่วยเขามากนัก เช่น สนับสนุนให้มีเทรนนิ่งโปรแกรม เอาคนงานมาปรับทักษะ เพราะคนงานไทยแม้จะค่าแรงสูง แต่อัตราการว่างงานก็ยังพอมีอยู่ในหลักแสน แล้วพวกว่างงานไม่ใช่ว่าหางานไม่ได้ แต่เป็นเพราะทักษะไม่ตรงกับงาน ที่ผ่านมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ยังไม่พอ งบก็น้อย หรือเงินกู้ให้ซื้อเครื่องจักรเก่าแทนเครื่องจักรใหม่ ก็ให้ไม่เยอะ คนที่เข้าถึงก็มักจะเป็นธุรกิจที่จดทะเบียน ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนใหม่ๆ หรือไม่ได้จดทะเบียนก็จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะรับผล กระทบไปเต็ม ๆ”

 

 

ขณะนี้เอสเอ็มอีที่ไม่ได้เข้าระบบมีจำนวนมากกว่าเอสเอ็มอีในระบบ ทั้งการเข้าสู่ระบบก็ยุ่งยาก มีขั้นตอนวุ่นวาย ดังนั้นการที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้ผู้ประกอบการ ปรับตัวสู่ยุคการใช้แรงงานที่มีทักษะสูงจำเป็นต้องมีชุดนโยบายที่สอดรับและ ต้องทำอย่างขนานใหญ่ ทุ่มงบระดับแสนล้าน และต้องเป็นมาตรการที่ Aggressive มากๆ ซึ่ง รศ.ดร.พิชิต เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ส่วน 16 มาตรการที่ออกมา ก็ไม่น่าจะมีผลในทางปฏิบัติมากนัก

 

 

หนุนแรงงานตั้งสหภาพ เพิ่มอำนาจต่อรองในไตรภาคี

 

 

แน่นอนว่า รัฐบาลต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนคงไม่มีใครกล้าลดค่าแรงให้ต่ำกว่านี้ แต่มิใช่ว่าปัญหาค่าแรงขั้นต่ำจะยุติ ต้องยอมรับว่าแรงบีบจากภาคการเมืองทำให้คณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ต้องยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท

 

 

 

แต่ในอนาคตเมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง ถึงค่าจ้างจะไม่ลดต่ำกว่า 300 บาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี จะสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า ค่าแรงจะไม่ถูกกดหรือขึ้นครั้งละ 5 บาท 10 บาท เหมือนที่แล้ว ๆ มา ส่วนการจะหวังพึ่งการเมืองฝ่ายเดียว โดยไม่มีกลไกที่ยั่งยืนรองรับก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่ปลอดภัย

 

ดร.พิชิต อธิบายว่า ที่ผ่านมาท่าทีของภาครัฐในคณะกรรมการไตรภาคีค่อนข้างเกรงใจตัวแทนนายจ้าง ขณะที่ตัวแทนลูกจ้างก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า เป็นตัวแทนของแรงงานทั้งหมดอย่างแท้จริง ผลพวงที่เกิดขึ้นคือลูกจ้างนอกโต๊ะประชุมไตรภาคีมีสิทธิ มีเสียงน้อยมากต่อตัวแทนที่อยู่ในคณะกรรมการไตรภาคี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสร้างความสมดุลตรงนี้

 

 

             “อย่าไปฟังนายจ้างให้มากนัก ต้องดูจากข้อเสนอของคนงานและสภาพเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุดเลยคืออัตราเงินเฟ้อกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่าจ้างต้องขึ้นไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อและต้องไม่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจโต 4 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องขึ้นให้ 4 หรือ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ให้ 1.9 เปอร์เซ็นต์”

 

 

ส่วนการสร้างกลไกที่ยั่งยืนกว่า รศ.ดร.พิชิต ยอมรับว่ายังมองไม่เห็นหนทาง แต่ถ้าดูกรณีตัวอย่างในต่างประเทศจะพบว่า การขึ้นค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นเพราะฝ่ายลูกจ้างมีความเข้มแข็ง มีสหภาพแรงงานจำนวนมาก และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ขณะที่เมืองไทย ลูกจ้าง-พนักงานมีการรวมตัวน้อยมาก ในภาคเอกชนแทบจะไม่มีเลย และนายจ้างเองก็ไม่พอใจให้ลูกจ้างตั้งสหภาพ จึงพบว่าสหภาพแรงงานมักอยู่ในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐเองก็ไม่อยากให้แรงงาน-ลูกจ้างในภาคเอกชนมีสหภาพ เพราะเกรงว่าจะไม่ดึงดูดนักลงทุน ภาพโดยทั่วไปจึงกลายเป็นว่าลูกจ้างคือผู้ที่เสียประโยชน์มาโดยตลอด

 

 

             “ทางออกคือทำให้สหภาพมันเกิดขึ้น ทุกวันนี้เรามีกฎหมาย ขั้นตอนเรียบร้อย แต่ตั้งไม่ค่อยได้ เพราะนายจ้างไม่ชอบและมักกดดันด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายแรงงานไทยคือมีการปกป้องคุ้มครองค่อนข้างครบถ้วน มาตรฐานการคุ้มครองแรงงานของเราถือว่าดี การปฏิบัติต่อแรงงานแบบแย่ ๆ มีน้อยมากแล้ว มีกลไกการคุ้มครองที่ดี แต่ไม่ชอบให้มีสหภาพ ความหวังที่จะให้ยั่งยืนก็อาจจะยาก ผมจึงบอกว่าทุกวันนี้มันยังเป็นเรื่องของการเมือง เพราะกลไกอื่น ๆ ไม่เอื้อเลยที่จะช่วยฝ่ายลูกจ้าง-พนักงาน”

 

อ่านบทสัมภาษณ์ อ.พิชิต ได้ ที่นี่ 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: