กินต่างเช้าวันศุกร์ที่‘กาดยูนนาน’ ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่น-แปลกสารพัน เสน่ห์แฝงเร้นกลางเมืองเชียงใหม่

บุษกร พิชยาทิตย์ 23 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 11698 ครั้ง

ตื่นตั้งแต่เช้า เพื่อเตรียมตัวเดินทางโดยไม่ลืมที่จะบอกกับคนในบ้านทุกคนว่า “อย่าเพิ่งกินอาหารเช้านะ จะซื้อของกินอร่อย ๆ มาฝาก”

 

 

เมื่อบอกความตั้งใจกับทุกคนแล้ว... ฉันก็ออกจากบ้านตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า เป็นการเดินทางยามเช้าที่สดชื่นในขณะที่ฟ้ายังเพิ่งหมาดฝนใหม่ ๆ เพราะตกหนักมาเกือบค่อนคืน...โชคดีที่ฝนหยุดตกแล้วไม่อย่างนั้นการชมตลาดคงไม่ค่อยรื่นรมย์เท่าใดนัก

 

จริง ๆ แล้วจากบ้านฉันซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสารภี สามารถไปตลาดจีนฮ่อได้ 3 ทางคือ ทางสายที่มีต้นยางใหญ่เก่าแก่ตลอดสาย นับเป็นถนนที่สวยงามสายหนึ่งของเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ และนับเป็น 1 ใน 3 ทางซึ่งจะนำไปถึงตลาดง่ายที่สุด ทางสายที่ 2 ตรงออกไปทางถนนสายซุปเปอร์ไฮเวย์เข้าเมืองเชียงใหม่  แต่เช้านี้ฉันตัดสินใจเลือกขับรถไปบนถนนสายเล็ก ๆ ซึ่งขนานไปกับทางรถไฟจากสถานนีรถไฟลำพูน ถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ดีกว่า เนื่องจากเวลาอย่างนี้ถนนเลียบทางรถไฟจะทำให้ไปถึงตลาดได้เร็วกว่าทางอื่น ๆ เพราะค่อนข้างปลอดโปร่งจากรถราจำนวนมากที่ต่างก็มุ่งเข้าเมือง และอีกประการหนึ่งถนนสายนี้ในยามเช้า ๆ ก็สวยงามโล่งโปร่งสบายตาด้วยทุ่งหญ้าริมทางรถไฟ และบางช่วงอีกฟากหนึ่งก็มีเหล่าดอกบัวหลวงสีขาวทั้งดอกตูมและดอกบานงามสล้างมีหยาดฝนซึ่งยังทิ้งร่องรอยพราวพรายอยู่ตามซอกกลีบและใบอยู่ในหนองน้ำซึ่งกินพื้นที่เป็นแนวยาวนับกิโลเมตร  ขณะเดียวกับที่บางช่วง ฉันต้องขับรถขนานไปกับรถไฟที่กำลังวิ่งอย่างรวดเร็วและมีเสียงดังจนให้ความรู้สึกช่างน่าเกรงขามเหลือเกิน... รถไฟคันนี้กำลังพาผู้คนจากจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้คนจากกรุงเทพมหานครฯมาสู่ปลายทางที่สถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่ในยามเช้าพอดี

 

 

 

ยามเช้าเช่นนี้ ...จึงเป็นเสมือนเป็นบรรยากาศของการเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่าง และสำหรับฉันเองก็รู้สึกกำลังเริ่มต้นเช่นกัน... เป็นการเริ่มต้นอย่างมีชีวิตชีวาในการชมตลาด เพราะจะได้พบกับความหลากหลายของพืชผักและอาหารการกินจำนวนมากมายที่แตกต่างกับความคุ้นเคยที่นั่นเช่นกัน

 

ใช้เวลาเพียง 10 กว่านาทีเท่านั้นข้ามแม่น้ำปิงที่สะพานนวรัตน์ แล้วก็อ้อมเป็นวงกลม เพราะถนนสายนี้ถูกกำหนดให้วิ่งรถได้ทางเดียวผ่านหน้าตลาดไนท์บาซ่าร์มาที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จัก ไปตามถนนเล็ก ๆ โค้งไปเรื่อย ๆ เกือบสะพานนวรัตน์อีกครั้ง แต่เราเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ ชื่อซอยเจริญประเทศ 1 ทางซ้ายมือเสียก่อน และซอยนี้เป็นซอยที่เชื่อมกับถนนหน้าไนท์บาซาร์นั่นเอง

 

 

 

บริเวณนี้เป็นชุมชนของชาวจีนฮ่อ ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ และความเป็นมาของชาวจีนฮ่อเหล่านี้คือ กลุ่มชนคนจีนที่อยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน ซึ่งอยู่ติดกับตอนใต้ของรัฐฉานประเทศพม่าและอยู่ติดกับชายแดนไทยตอนเหนือสุด และชาวจีนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “ยูนนานเย่อ” หรือ “หานจื้อเย่น”แต่ชาวเหนือของเราและชาวไทยใหญ่เรียกว่า”ฮ่อ”  กลุ่มชนเหล่านี้เคยนำ ม้า ลา บรรทุกสินค้าเป็นกองคาราวานมาขายให้แก่ชาวเหนือเมื่อ 50-60 ปีก่อน จนกระทั่งบางคนก็มีครอบครัวหรือมีภรรยาเป็นคนไทย และมีการเข้ามาตั้งหลักแหล่งในภาคเหนือของเรารวมถึงการเกิดชุมชนในเชียงใหม่บริเวณนี้นั่นเอง

 

ตลาดจีนฮ่อเกิดขึ้นในเบื้องต้น เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนพืช ผัก อาหารของชาวมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่นำมาโดยชาวมุสลิมจากบนดอยสูงแถบดอยอ่างขาง อำเภอฝางนำพืชผัก อาหารลงมาขายให้กับชาวจีนฮ่อมุสลิมในเมืองเชียงใหม่ที่ตลาดแห่งนี้มานานนับสิบ ๆ ปีนั่นเอง แต่ปัจจุบันฟังว่า พื้นที่ของตลาดได้ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของชาวมุสลิมเป็นคนไทยเมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว ประกอบกับผู้คนในเชียงใหม่เองก็มีกลุ่มชนหลากหลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐานใช้ชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งจีนฮ่อซึ่งเรียกตัวเองว่า “ผาห้า” ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ตลาดแห่งนี้จึงเปลี่ยนแปลงทำให้มีสินค้า และอาหารการกินหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ถึงกระนั้น...เท่าที่ฉันสังเกตและพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าคนจีนฮ่อมากกว่าคนกลุ่มอื่น กลุ่มชนอื่นที่กล่าวหมายถึง คนไทยใหญ่ และคนเมืองเอง(หมายถึงคนเชียงใหม่พื้นถิ่น )ก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก

 

 

 

ตลาดอยู่ภายในกำแพงสูง ๆ ซึ่งก่อด้วยอิฐสีแดงเก่าแก่ งดงามด้วยกาลเวลา มีบ้านไม้เก่าแก่อยู่ภายในหนึ่งหลัง มีอายุนับ 100 ปีของท่านขุนชวงเลียง ซึ่งเป็นต้นตระกลูจีนมุสลิมในยุคแรกของเมืองเชียงใหม่ แต่ในปัจจุบันไม่มีลูกหลานใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้อีกแล้ว บ้านจึงถูกปิดหน้าต่างประตูทุกบาน แต่ยังคงตั้งอยู่อย่างเงียบเชียบท่ามกลางความคึกคักของตลาดในทุกวันศุกร์มานานนับหลายสิบปีมาแล้ว

 

ฉันเดินผ่านประตูกำแพงสีแดงซึ่งมีแม่ค้าจีนฮ่อขายอาหารและขนมอยู่ 2-3 ร้านภายนอกกำแพง ภายในกำแพงเริ่มมีร้านค้าหนาตาขึ้นทั้งวางกับโต๊ะทั้งปูพลาสติกวางขายกับพื้นเป็นกอง ๆ เข้า ขณะเริ่มเดินชมตลาดก็หาเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ชวนพ่อค้าแม่ค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮ่อคุยไปด้วย จึงทำให้รับรู้ว่า พวกเขาเดินทางนำพืชผัก ผลไม้ซึ่งปลูกบนดอยสูง ส่วนใหญ่จากดอยอ่างขางซึ่งอยู่ในเขตอำเภอฝาง อำเภอชายแดนหนึ่งของเชียงใหม่  โดยจะรวมตัวกันเช่ารถยนต์เพื่อบรรทุกสินค้าเหล่านี้มาด้วยกันทั้งหมด(หมายถึงทั้งคนและของที่จะนำมาขาย) โดยจะออกจากที่นั่นราวๆเที่ยงคืน มาถึงเชียงใหม่ก็ร่วม ๆ ตี 4 กว่าจะจัดร้าน จัดวางสินค้าที่เตรียมมาให้เรียบร้อยก็ใกล้ ๆ ตี 5 ซึ่งเป็นเวลาเริ่มมีผู้คนเข้ามาจับจ่าย ทั้งขายปลีกและขายส่งจำนวนเยอะ ๆ แล้วก็เริ่มคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ จนสาย จากนั้นตลาดก็จะเริ่มวายราว ๆ 11 โมงถึงเที่ยง หลังจากตลาดวาย ผู้คนบางตา สินค้าร่อยหรอหรือหมดทุกคนก็เริ่มเก็บข้าวของเตรียมตัวเดินทางกลับอ่างขางในบ่ายวันนั้นทันที

 

 

 

ยิ่งฉันได้ฟังเรื่องราวการเดินทาง ชีวิตการค้าขายของพวกพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนฮ่อเหล่านี้ ก็ดูเหมือนจะยิ่งทำให้ฉันสนใจและตื่นเต้นกับบรรยากาศของตลาดแห่งนี้ขี้นอีกหลายเท่า

 

จากนั้นฉันก็เริ่มเดินชมตลาดซึ่งมีสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย มีพืชผักหน้าตาแปลกๆให้ชมอย่างเพลิดเพลิน สด อวบอิ่มจนอดใจไม่ไหวที่จะต้องซื้อผักกลับบ้านหลายต่อหลายอย่าง เช่น  ดอกรากซู ที่เห็นฉันครั้งแรกคิดว่าคือ ดอกกุยช่าย เพียงแต่รู้สึกแปลกตาเพราะก้านดอกและดอกอวบใหญ่กว่ากุยช่ายที่ฉันคุ้นเคย แม่ค้าเห็นฉันมองอยู่นานจึงบอกว่า นี่คือ “ดอกรากซู”นำไปผัดกับน้ำมันหอยจะหวานอร่อยมาก  แล้วก็ยังมีถั่วแขกฝักใหญ่อวบอ้วนผิดตากว่าถั่วแขกที่เราเคยกินกิน  ซึ่งแม่ค้าก็อธิบายว่า เพราะบนดอยอากาศเย็นมากผักจึงงามและสมบูรณ์อย่างนี้ นอกจากนี้มีผักแปลกๆอีกมากมายเช่น มะเขือดอยลูกกลมๆสีเขียวทั้งลูกขนาดเท่ามะเขือเปาะ มีรอยขีดที่ด้านข้าง พอสุกแล้วจะออกสีส้มทองคล้ายฟักทองลูกจิ๋ว... แล้วก็พริกไทยป่าซึ่งมีคำอธิบายตามมาทันทีเมื่อเห็นท่าทางที่ฉันสนใจ เธอบอกว่าเผ็ดและหอมกว่าพริกไทยบ้านเสียอีก

 

 

 

ผลไม้ที่มีมากมายในตลาดก็มีอะโวคาโดทั้งลูกกลมและลูกยาว ลูกพลับ ลูกพีช ส้มฟรีมองต์ ลูกไหน ทับทิม และลูกสมอสด ๆ บางชนิดเข้าใจว่าเป็นผลไม้จากชายแดนซึ่งมาจากประเทศจีน นอกจากนั้นยังมองเห็นผลไม้หลายชนิดที่ไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นที่ตลาดไหน ๆ ส่วนใหญ่คือ ผลไม้ป่าที่เก็บมาจากบนภูเขา

 

บางร้านมีเนื้อชิ้นใหญ่แขวนเป็นราวเรียงรายคล้ายเนื้อแดดเดียว เพียงแต่ว่า เนื้อแต่ละก้อนหรือแต่ละชิ้นใหญ่โตเกินกว่าจะเป็นเนื้อหรือหมูแดดเดียวแบบที่ชาวที่ราบอย่างเรา ๆ รู้จักเป็นอย่างดี แล้วก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อได้ยินแม่ค้าคนจีนฮ่อเรียกเนื้อที่แขวนเรียงรายเหล่านี้ว่า “เนื้อน้ำค้าง”

 

“เนื้อน้ำค้าง”เกิดจากการหาวิธีถนอมอาหารของชาวจีนยูนนาน ในฤดูหนาวซึ่งหนาวจัดมีหิมะปกคลุมจนยากกับการออกไปหาเนื้อสัตว์มากินในครัวเรือน การถนอมอาหารของคนจีนฮ่อประเภทหนึ่งเรียกว่า เนื้อน้ำค้าง

 

 

 

ฉันรู้สึกดีมาก ๆ กับความไพเราะเพราะพริ้งของชื่อ จึงถามไถ่วิธีการทำด้วยความสนใจจริง ๆ ว่า มีอะไรเกี่ยวข้องกับน้ำค้างหรือ? จึงได้ชื่อ “เนื้อน้ำค้าง” ซึ่งได้ความว่า เนื้อน้ำค้างเกิดจากการหาวิธีถนอมอาหารของชาวจีนยูนนานในฤดูหนาว ซึ่งหนาวจัดมีหิมะปกคลุม จนยากจะออกไปหาเนื้อสัตว์มากินในครัวเรือน เป็นการเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตในฤดูกาลที่ต้องเผชิญความยากลำบาก เพราะเนื้อเหล่านี้จะผ่านการหมักและการนวดมือด้วยเกลือ เพื่อให้ความเค็มซึมเข้าไปในเนื้อ แล้วจึงนำเนื้อที่หมักไว้ชักรอกไว้บนเสาสูง สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เนื้อได้รับน้ำค้างเวลากลางคืน แล้วก็รับแสงแดดในเวลากลางวัน ที่สำคัญความสูงทำให้เนื้อสะอาดพ้นจากแมลงและมลภาวะอื่น ๆ เป็นอย่างดีอีกด้วย ใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงจะได้เนื้อน้ำค้างที่แสนอร่อย ในสมัยโบราณจะแขวนเนื้อไว้ข้างบนตลอดเวลาจะใช้ประกอบอาหารก็ชักรอกลงมาเฉือนเท่าที่จะใช้แล้วก็ชักรอกไปไว้สูง ๆ เหมือนเดิม

 

 

 

 

 

และในปัจจุบันการทำเนื้อน้ำค้าง ยังคงเป็นวัฒนธรรมการเก็บถนอมอาหารของบรรดาคนจีนยูนนาน และได้เผยแพร่ให้แก่คนจีน และกลุ่มชนใกล้เคียง จนเป็นที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นด้วย แล้วก็นิยมทำในกลุ่มชนคนจีนแถบบ้านเรา ซึ่งอยู่บนภูเขาสูงไม่เฉพาะฤดูหนาวอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป เราจึงได้เห็นและสามารถเลือกซื้อเนื้อน้ำค้างได้ที่ตลาดแห่งนี้ในทุก ๆ วันศุกร์

 

 

 

 

ประเภทอาหารเช้าที่ใคร ๆ สามารถนั่งกินได้เลย ก็มีหลายอย่าง เช่น โมหิงงะหรือคนไทยมักเรียกขนมจีนพม่า ข้าวแรมฟืนหรือข้าวฟืนถั่วร้อน ๆ และแบบยำ ทุกอย่างดูส่วนประกอบในการปรุง ล้วนแล้วแต่เป็นโปรตีนจากถั่วลันเตา เต้าหู้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารอย่างยิ่ง บรรยากาศการกินในร้านซึ่งมีผู้คนมากหน้าหลายตาชวนให้ลิ้มลองย่างมาก  ฉันสั่งมากินทุกอย่างที่มี รสชาติกลมกล่อมไม่ผิดหวังเลยจริง ๆ และยิ่งเมื่อลองกินเคียงกับผักดองอย่างที่เห็นคนอื่นกิน (ผักดองซึ่งผสมเครื่องเทศ รวมทั้งพริกดองจนออกรสเปรี้ยว เผ็ด หวานดูหน้าตาคล้าย ๆ กิมจิของคนเกาหลีและญี่ปุ่น) ก็ยิ่งทำให้การกินมีรสชาติอาหารทุกอย่างอร่อยจัดจ้านยิ่งขึ้น

 

นอกจากอาหารเช้าที่น่าสนใจและน่ากินแล้ว ยังมีขนม นมเนยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนมวง ซึ่งทำด้วยแป้งข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ) ปั้นเป็นวง ๆ จากนั้นนำไปทอดให้สุกแล้วเอาขึ้นจากกะทะแล้วราดหรือโรยด้วยน้ำอ้อยข้นๆหอมและอร่อยอย่าบอกใคร

 

 

 

 

มีอยู่ร้านหนึ่ง ผู้คนกำลังต่างรุมล้อม รอคอยขนมบนเตาถ่าน 3 เตาที่กำลังย่าง ฉันเดินเข้าไปใกล้ๆจึงได้รู้ว่าขนมที่หลายคนกำลังรอคอยคือ ข้าวปุกงา ข้าวปุกงาเป็นขนมที่ทำจาก ข้าวก่ำหรือข้าวเหนียวดำตำคลุกกับงาให้เข้ากัน แล้วทำเป็นแผ่นพักไว้ เวลาจะกินก็นำมาย่างไฟด้วยเตาถ่านให้พอง จึงวางบนใบตองอ่อนๆราดด้วยน้ำอ้อยและงาดำแล้วก็กินตอนร้อน ๆ แป้งข้างนอกกรอบนิด ๆ ข้างในจะหนึบๆ เวลาเคี้ยวจะหอมงาแล้วก็หวานหอมด้วยน้ำอ้อย ข้าวปุกงา 1 แผ่นสามารถกินเป็นอาหารเช้าได้อิ่มเลยทีเดียว

 

นอกจากพืชผัก ผลไม้ที่หลากหลายแตกต่างไปจากความคุ้นเคย รวมทั้งอาหาร ขนมที่มีให้เราลิ้มลองมากมายหลายชนิดแล้ว สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนฮ่อนำมาขายส่วนใหญ่คือเต้าหู้แบบต่าง ๆ ผักดอง ซึ่งมีหลายเจ้า เพราะถือเป็นของคู่ครัวของชาวจีนฮ่อ ผักดองส่วนใหญ่จะดองใส่พริกและรากซู รสชาติจึงจัดจ้านกว่าผักดองทั่วไป

 

“บุก” ซึ่งทำเป็นก้อน ๆ หรือสไลด์เป็นแผ่น ๆ ซึ่งนำมาทำอาหารมังสวิรัตได้หลายอย่างก็มีมาขายจำนวนมาก และบุกที่ขายในตลาดจีนฮ่อนี้ยังเป็นที่นิยมของบรรดาแม่บ้านญี่ปุ่นเป็นอย่างมากด้วย

 

 

 

 

 

 

บางร้านมีของกินบางอย่างพับเป็นแผ่น ๆ จนดูเหมือนแผ่นผ้าที่พับไว้อย่างเรียบร้อย ได้ความว่าคือ น้ำนมจากควาย ซึ่งอบหรือตากด้วยแสงแดดจนแห้งเป็นแผ่นนำไปทอดกินเป็นอาหารหรือของว่างทั้งอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีอาหารแห้งจำพวกเครื่องกระป๋อง น้ำพริก  โดยเฉพาะแฮมกระป๋องซึ่งบรรจุอย่างดีมาตรฐานและสวยงาม ใคร ๆ ที่เคยซื้อไปทดลองปรุงอาหารจะรู้ดีว่าเมื่อนำมาใส่น้ำซุปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น น้ำซุปก็จะหอมหวานอร่อยและเมื่อนำน้ำซุปไปปรุงอาหารอื่นๆก็ยิ่งทำให้รสชาติอาหารกลมกล่อมมากขึ้น

(น้ำพริก)

ฉันเดินชมตลาดอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย  แวะชิมอาหารจนอิ่มท้องแล้วก็ซื้อผักแปลก ๆ และน่าสนใจเพิ่มอีกหลายอย่างด้วยความสนุก อีกทั้งราคาก็ไม่แพงเสียด้วย

 

ก่อนกลับ ฉันยังไม่ลืมที่จะซื้อเนื้อน้ำค้าง ไส้กรอกยูนนานกลับมาด้วย เพราะเคยได้กินแล้วจำติดใจในรสชาติของผัดผักที่ใส่ไส้กรอกยูนนานเพียงเล็กน้อยว่า ทำให้ผัดผักยิ่งมีกลิ่นหอมและมีรสเค็มของไส้กรอกซึ่งมีรสชาติอร่อยที่เฉพาะตัวมากขึ้นจริง ๆ

 

 

 

ทุกสิ่งทุกอย่างในตลาดจีนฮ่อในวันนี้ ดูเหมือนจะทำฉันให้เพลิดเพลินเสียยิ่งกว่าการชมตลาดครั้งไหน ๆ บรรยากาศภายในตลาดได้ยินเสียงคำถามและคำตอบของผู้คนตลอดเวลา เพราะความแตกต่างที่น่าสนใจไปหมดไม่เว้นแม้แต่หน้าตา สำเนียงภาษาของพ่อค้าแม่ค้า ฉันเพลินและตื่นตาตื่นใจเหมือนทุกครั้งที่มา จนทำให้หลงลืมเวลาและคำพูดที่กำชับคนในบ้านไว้ว่า ให้รอกินอาหารเช้าอร่อยๆจากฉันไปแล้วจริงๆ

 

แต่ถึงอย่างไรฉันยังรักษาสัญญาด้วยการเดินกลับไปซื้อ ข้าวแรมฟืน โมหิงงะในภาษาไทยใหญ่(หรือขนมจีนพม่า) ขนมวง ข้าวปุกงา ฯลฯ เพื่อนำกลับมาบ้านด้วย

 

ตอนขากลับ ฉันเดินทางถึงบ้านภายในระยะเวลาเพียงเล็กน้อยซึ่งเร็วกว่าตอนขาไปเสียด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะในใจฉันหมกมุ่นคิดถึงแต่ข้าวปลาอาหารต่าง ๆ ที่ซื้อกลับมาจนไม่อยากอ้อยอิ่งชมดอกหญ้าและดอกบัวในหนองน้ำอย่างเคย  แต่ถึงจะเดินทางกลับรวดเร็วเพียงใด...ก็เลยเวลาอาหารเช้าสำหรับทุกคนไปแล้วจริงๆ  ในที่สุดอาหารเช้าที่หอบหิ้วกลับมาจึงต้องกลายเป็นอาหารกลางวันของทุกคน และที่สำคัญต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า แปลกและอร่อยมาก

 

 

 

 

สำหรับฉัน...รู้สึกว่าเรื่องราวของตลาดแห่งนี้ยังไม่จาง ๆ ไปจากใจฉัน และคนในบ้านง่าย ๆ ภายในวันสองวันอย่างแน่นอน เพราะเมื่อฉันถึงบ้านก็มีกิจกรรมนำผัก ผลไม้ อาหารแห้งที่ซื้อมาอวดใครๆทั้งบ้านพร้อมกับชี้ให้เห็นความต่างทั้งความสด และความอวบอิ่มสมบูรณ์ แล้วเราต่างช่วยวางแผนการใช้สิ่งของที่ซื้อมาทั้งหมดในวันนี้ทำอาหารมื้อต่อ ๆ ไปด้วยสนุกกสนาน พร้อมทั้งความตั้งใจที่จะเดินทางไปตลาดแห่งนี้อีกหลายๆครั้ง

 

และสุดท้าย...ฉันก็รู้สึกขอบคุณโชคชะตาหรือสิ่งใดๆในชีวิตก็ตามที่ทำให้ได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แห่งนี้ เมืองซึ่งทำให้ได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับความหลายหลายของกลุ่มชนและความหลากหลายของวัฒนธรรมประเพณีรวมถึงวัฒนธรรมการกิน การอยู่ที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจและยากที่จะพบในเมืองอื่นๆ แม้ว่าในปัจจุบัน ความเป็นเมืองเชียงใหม่จะได้ชื่อว่า มีความเจริญทางวัตถุไม่ต่างกับเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร หรือแบบเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในโลกทั่วไป แต่สภาพทางภูมิประเทศไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป

 

 

 

 

 

ความหลากหลายของกลุ่มชนที่ยังคงดำรงชีวิตแบบเผ่าพันธุ์ของตนในบรรพกาล และยังรักษาความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับตนไว้อย่างเข้มแข็ง และสิ่งสำคัญคือ ผู้ปกครองของเมืองเชียงใหม่ก็ยังคงรักษาพื้นที่ความแตกต่างเหล่านี้ไว้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมชาติ...เชียงใหม่จึงจะยังคงความเป็นเมืองที่งดงามและมีเสน่ห์ต่อผู้ใช้ชีวิตและผู้ที่มาเยือนไม่เสื่อมคลาย....

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: