แนะปฏิรูป 'ชันสูตรศพ' คุ้มครองสิทธิคนตาย-ญาติ

23 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 3886 ครั้ง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ โดยการการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชันสูตรพลิกศพ ร่วมให้ข้อมูลด้วย

 

นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ความตายเป็นเรื่องสำคัญมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ การชันสูตรพลิกศพ โดยที่ผ่านมาการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ญาติต้องการรู้ว่าสามี หรือลูกที่เสียชีวิตจากสาเหตุใด ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ จนกว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจะเสร็จสิ้น หรือบางกรณีที่การบันทึกรายงานการรับศพ ซึ่งมีการบันทึกในรายงานว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืน ซึ่งเมื่อเจาะลึกพบว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนแต่เป็นการเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด ประกอบกับมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ก็เห็นได้ชัดว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่มีความแม่นยำเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา

 

 

นอกจากนี้ยังปัญหาเรื่องการไต่สวนการตาย ที่ยังมีปัญหาทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุด้วย พบว่ามีความยุ่งยากไม่สามารถกระทำได้ และถูกบิดเบือนไป ซึ่งจะเห็นว่าผู้ที่ไปถึงที่เกิดเหตุคนแรก ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายวัตถุ และส่งผลให้พยานหลักฐานสูญหายไปด้วย ดังนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเชิญบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการฯจะนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็นครั้งนี้ไปประมวลและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

น.ส.ฐิตารีย์ เอื้ออำนวย คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายกระบวนการชันสูตรพลิกศพ”ว่า จากการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ พบว่า วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ การตายอื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือป.วิอาญามาตรา 148 จะไม่ได้รับการชันสูตรพลิกศพ เพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสอบสวนเท่านั้น มิได้กระทำไปทั้งกระบวนการ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น การคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ การสร้างมาตรการป้องกันความเสียหายในอนาคต เป็นต้น และกระทบถึงประสิทธิภาพ มาตรฐาน ความเป็นธรรมและความโปร่งใส ส่วนมาตรฐานในการชันสูตรพลิกศพ ยังมีปัญหาขาดเอกภาพและการบูรณาการร่วมกัน มีมาตรฐานต่างกัน เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน นอกจากนั้น การเข้าถึงข้อมูลยังอยู่ในวงจำกัด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวน จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปดำเนินการที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ได้

 

น.ส.ฐิตารีย์กล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับชันสูตรพลิกศพมีวัตถุประสงค์ที่แคบ ควรขยายกรอบวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ควรปรับปรุงเดิมหรือออกกฎหมายใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและโปร่งใน นอกจากนั้น ยังควรพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ และโดยผลักดันให้การชันสูตรพลิกศพได้มาตรฐาน เข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ และมีสภาพบังคับ เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินการได้

 

 

 

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ต้องตระหนักว่า การตายไม่ใช่สิทธิของผู้ตายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม และกระบวนการนี้ เป็นการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตาย เป็นการใช้อำนาจของรัฐรูปแบบหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิดการกระทบสิทธิได้ ดังนั้นกฎหมายต้องกำหนดขอบเขตและการตรวจสอบเอาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน บนหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นธรรม และโปร่งใส

 

ขณะที่ รศ.ณรงค์ ใจหาญ อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า หากพิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ มีประเด็นที่จะขยายความบางประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกัน ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายและน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง และกฎหมายปัจจุบันยังไปไม่ถึงจุดนี้ ประการที่สอง ส่วนที่เป็นกฎหมายเดิมที่ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญายังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ในเรื่องที่ว่า กรณีที่ความตายเกิดจากเจ้าพนักงาน ในตัวบทระบุว่า ต้องอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นส่วนหนึ่งต้องปรับปรุงและลงลึกในรายละเอียด นอกจากนี้บทบาทของเจ้าพนักงาน เรายังไม่แน่ชัดว่ากระบวนการตรงนี้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจนหรือไม่ ฉะนั้นการปรับปรุงตรงนี้จำเป็นต้องมี4 ฝ่ายหรือใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจพิสูจน์

 

ประเด็นเรื่องญาติของผู้ตายจะทำอะไรได้บ้าง ในชั้นศาลหากเป็นไปได้ให้แจ้งญาติ แสดงว่าญาติเข้ามาในลักษณะไม่ถูกบังคับ เท่าที่เข้าใจเพราะบางกรณีเราไม่รู้กระทั่งผู้ตายเป็นใคร หากเรารู้ว่าญาติเป็นใคร กฎหมายปัจจุบันได้เอื้อให้ญาติเข้ามาหรือไม่ คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาจะทำอย่างไรให้เขาสามารถเข้ามาตรวจสอบได้

 

 

 

นางพิกุล พรหมจันทร์ ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีเยาวชนอายุ 17 ปี เสียชีวิตระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ควบคุมตัวในช่วงปราบปรามยาเสพติดปี 2547 ซึ่งศาลตัดสินให้ประหารชีวิตจำเลย ระบุว่า คดีนี้มีความยุ่งยาก และยืดเยื้อพอสมควร มีการปิดบังอำพรางคดี มีการคุกคาม ข่มขู่พยาน และแม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประหารชีวิต แต่พบว่าจำเลยยังไม่ถูกสั่งพักราชการ เป็นที่น่ากังวลมากของประชาชนที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไร และขณะนี้ทุกคดีก็ยุติการสืบสวนสอบสวน และไม่มีบันทึกทางการแพทย์ ดังนั้นจึงอยากเสนอ ให้มีหน่วยงานอื่นนอกจากตำรวจเข้ามาดูแล นอกจากนี้ควรมีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในการตรวจพิสูจน์ และชันสูตรศพ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงในการเก็บรักษาสภาพศพ

 

ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ น.พ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง กรณีเด็กอายุประมาณสิบปี มีอาการชักและเสียชีวิตขอให้รับรองสาเหตุการตาย โดยบิดาเด็กไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ศพ จนในที่สุดบิดาเด็กยินยอมจึงพบว่า เด็กกะโหลกร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชักและเสียชีวิต บิดาของเด็กก็มิได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและแพทย์เองก็ไม่มีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ จะเห็นว่า การตรวจหาสาเหตุการตายควรเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องนอกจากญาติผู้ตายควรมีสิทธิร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (Coroner) จะเป็นแกนหลักในการสอบสวนสาเหตุการตายโดยตรง อีกกรณีหนึ่ง คือ หากเป็นชิ้นส่วนของศพเกิดความยุ่งยากว่า ในการพิจารณาว่าถือว่าเป็นศพหรือไม่ ต้องชันสูตรหรือไม่ เป็นต้น จากตัวอย่างดังกล่าว เห็นว่า กฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาและคลุมเครือ อีกทั้ง การรวมกระบวนการชันสูตรพลิกศพเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับการสอบสวน ทำเกิดช่องโหว่มากมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในกระบวนการชันสูตรพลิกศพได้

 

 

นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำ จ.ปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ทางภาคใต้จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอยู่ด้วย ประกอบกับลักษณะพื้นที่มีความแตกต่างด้านศาสนาและความเชื่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคของเจ้าหน้าที่และประชาชนในการเข้าถึงความยุติธรรม กรณีการวิสามัญฆาตกรรม เห็นว่า ในเบื้องต้นควรพิจารณาว่าเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ บางครั้งข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลสองด้านสารวัตรป้องกันและปราบปรามจึงแก้ปัญหา โดยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย เป็นเพียงการสอบข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายเท่านั้น และไม่แน่ใจว่ามีผลในชั้นศาลหรือไม่ จากประสบการณ์ที่เคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบปัญหาคือ ชาวบ้านเข้าถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุได้ยาก ทำให้เข้าถึงศพหรือหลักฐานต่าง ๆ ได้ยาก และก็มีกรณีที่ชาวบ้านขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เข้าเก็บพยานหลักฐาน เพราะไม่ไว้วางใจ เป็นต้น

 

นอกจากนี้การขอข้อมูลหรือเอกสารจากเจ้าหน้าที่ยังเป็นอุปสรรค แม้จะขอข้อมูลในฐานะที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเองก็ตาม ดังนั้น ควรมีกระบวนการที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงได้ในทันทีโดยกลไกกระบวนการเอง ไม่ใช่โดยแรงกดดันของสังคม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: