คปก.เล็งออกกม.กลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

23 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2669 ครั้ง

 

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดการประชุมเครือข่ายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีตัวแทนจากสภาพัฒนาการเมือง,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตัวแทนจังหวัดจัดการตนเอง ร่วมนำเสนอแผนการดำเนินการผลักดันกฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการเฉพาะเรื่องด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนและกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการการกระจายอำนาจการปกครองดูแลตนเองไม่ใช่การแก้ไขที่อำนาจศูนย์กลาง แต่เป็นการจัดการภายในพื้นที่แต่ละชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงมาสู่การจัดการทางการเมืองศูนย์กลางได้ สำหรับการปฏิรูปกฎหมายแม้จะพิจารณาเรื่องร่างกฎหมายเป็นหลัก แต่ก็เน้นที่การเชื่อมโยงกฎหมายกับท้องถิ่น กล่าวคือ ไม่ได้มองกฎหมายเป็นธงในการแก้ไขปัญหา แต่มองเป็นกระบวนการในการเรียนรู้ การเรียนรู้ร่วมกันย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดอำนาจในเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบให้มีการทำงานร่วมกันใน4 ด้าน คือ 1.การยกร่างกฎหมาย 2.การขับเคลื่อน 3.งานวิชาการและ 4.การสื่อสารสาธารณะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของคปก.ว่า คปก.มีแนวทางจะดำเนินการในสองเรื่องหลัก ๆ คือ 1.การจัดทำกฎหมายกลางขึ้นมา 2.สนับสนุนกฎหมายที่ประชาชนจัดทำอยู่แล้ว โดยจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า มี 3-4 ประเด็นสำคัญคือ 1.มีการบูรณาการกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมี 5-6  รูปแบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และคปก.เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทบทวนและประมวลเรื่องนี้โดยยึดหลัก ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระทุกด้าน รวมถึงต้องมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งและมุ่ง้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน 2. เป็นความพยายามของประชาชนในระดับจังหวัด ถ้าประชาชนมีเจตจำนงที่จะปกครองตนเองในระดับจังหวัด ซึ่งพบว่ามีการตื่นตัวอย่างมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และอำนาจเจริญ โดยใช้คำว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” นั้น คปก.ได้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่า ควรจัดทำเป็นกฎหมายกลางขึ้นมา โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ1.มีความเป็นอิสระในทุกด้าน 2.มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง 3.เน้นการส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งคปก.มีแผนที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2556-2557 นี้

 

นายไพโรจน์กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้มีกฎหมาย โดยกำหนดแผนสำคัญ คือ1.ผลักดันกรอบแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.แกนนำต้องตกผลึกในเนื้อหาและแนวคิด 3.ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารให้ประชาชนระดับจังหวัด ตำบลและหมู่บ้าน เข้าใจและรู้สึกว่าเป็นร่างกฎหมายของเขาเอง 4.การรวบรวมรายชื่อ ซึ่งต้องกระทำคู่ขนานไปกับแผนทำความเข้าใจ โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งหมื่นชื่อแต่จะให้ได้มากที่สุดเพื่อสะท้อนความต้องการ 5.แผนการสื่อสารกับสาธารณะในวงกว้าง ในทุกช่องทาง และ 6.แผนในการเข้าสู่สภา ซึ่งรวมทั้งวิธีการ ขั้นตอนและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อตรากฎหมาย

 

 

ทางด้าน นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้แทนเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวว่า การเรียกร้องให้มีกฎหมายการจัดการตนเองเชียงใหม่มีการเรียกร้องมานานแล้ว ในปี 2550-2551 มีการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการตนเอง จนในที่สุดจึงมีการยกร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ยกเลิกราชการส่วนกลาง คงไว้เพียงส่วนส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ส่วนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันร่างกฎหมายนั้น เริ่มที่มีการจัดเวทีลงที่พื้นที่ต่างๆ มีเวทีรณรงค์ 120 วัน เป็นต้น เวทีเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องในจังหวัดต่างๆ เช่น การศึกษา การบริหาร สิทธิสตรี เป็นต้น ต่อมาก็มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อผลักดันร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร ประเด็นหลักที่สำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนของร่างนี้คือ ให้สภาพลเมือง ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ มีการทดลองสภาพลเมืองไปแล้ว กรณีที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การย้ายเรือนจำที่ตั้งในเมืองไปอยู่นอกเมือง เป็นต้น

 

ผู้แทนจังหวัดจัดการตนเอง จังหวัดอำนาจเจริญกล่าวว่า มีแผนดำเนินการในรูปแบบบันไดสามขั้นที่จะนำไปสู่จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งบันไดขั้นที่หนึ่งคือ การปรับเปลี่ยนสำนึกของประชาชน จากผู้ที่ถูกปกครองมาเป็นผู้ที่ปกครองตนเองในระดับหมู่ ตำบล ถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งบันไดขั้นที่หนึ่งบรรลุผลไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยได้จัดทำธรรมนูญจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นสำนึกใหม่ของประชาชน หลังจากนั้นเราก้าวไปสู่บันไดขั้นที่สอง มองคนที่อยู่ในอำนาจเจริญทุกคนคือคนอำนาจเจริญ ที่จะมาคิดเรื่องของคนอำนาจเจริญร่วมกัน โดยสร้างเป้าหมายใหม่ร่วมกันโดยใช้ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่สังคมที่อยู่เย็น เป็นสุข อย่างไรก็ตามในขั้นตอนต่อไปคือ จะใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเปิดเวทีให้ทุกหมู่บ้านดำเนินการร่วมกัน คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ในการสร้างสำนึกร่วมกัน

ผู้แทนปัตตานีมหานครกล่าวว่า เป็นเวลา 9  ปีแล้วที่เกิดเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 5,100 คน และสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ดังนั้น การให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐดำเนินการเพียงส่วนเดียวอาจจะไม่เกิดผลสำเร็จ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องเข้าไปร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราจึงได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต้องการผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ยังต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ความเป็นมาลายู และการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม จึงได้มีการดำเนินงานร่วมกับองค์กร และภาคส่วนต่างๆช่วยกันคิดสรุปว่าต้องการให้มีการปกครองตนเอง โดยมีโมเดล 4-5 โมเดล โดยมีโมเดลปัตตานีมหานคร น่าจะเป็นโมเดลที่ดีที่สุด ซึ่งตรงนี้เราใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี โดยยืนยันว่าโมเดลปัตตานีมหานครไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน โดยข้อเสนอปัตตานีมหานคร นั้นเราต้องเข้าใจร่วมกันว่า การใช้กำลังเข้าต่อสู้นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องใช้วีการเจรจา และการให้เขตปกครองพิเศษ เพื่อให้เกิดสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “การดำเนินการในระยะต่อไปจะเดินหน้าลงชื่อให้ได้ไม่น้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายซึ่งคาดว่าจะได้รายชื่อครบภายในปลายปีนี้ ส่วนประเด็นที่ต้องสนับสนุนต่อไปคือ การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความเห็น ซึ่งเห็นว่าควรส่งเสริมการเริ่มต้นการพูดคุยให้เกิดขึ้น และยอมรับว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ในปัจจุบัน ชุมชนแบ่งย่อยเป็นหลายกลุ่ม ภาคประชาสังคมเองพยายามคิดวิเคราะห์ด้วยความยากลำบากว่า จะใช้วิธีใดในการเชื่อมโยงแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน และการขับเคลื่อนต้องระมัดระวัง เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ปัญหาสำคัญของการทำสันติภาพใน 3 จังหวัดต้องผ่าน  2 ปราการ คือ ปราการอำมาตย์และปราการทหาร หากพังปราการเหล่านี้ได้ก็จะทำให้มีสันติภาพเกิดขึ้นได้” ผู้แทนปัตตานีมหานครกล่าว

 

 

นายณัชพล เกิดเกษม ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม. กล่าวว่า ข้อดีของกรุงเทพมหานครคือ ไม่ต้องผลักดันให้มีกฎหมายเนื่องจากมีพ.ร.บ.กรุงเทพมหานครอยู่แล้ว แต่ก็ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ กรุงเทพฯมีขนาดใหญ่แต่อำนาจแขวนไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงท่านเดียวและการบริการงานโดยข้าราชการประจำ แม้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 จะรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในพ.ร.บ.ก็ยังไม่ได้ระบุถึงการมีส่วนร่วมได้มากเท่าที่ควร ดังนั้น การขับเคลื่อนจึงเป็นไปโดยกลไกประชาชนและภาคประชาสังคม ส่วนสิ่งที่ควรแก้ไข ได้แก่ ควรแก้ไขที่โครงสร้างและการมีส่วนร่วม ด้านโครงสร้างควรแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนมหานคร โดยแบ่งจากเดิม 50 เขต เป็น 50 นครบาล โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่ากทม.และควรจัดให้มีสภาพลเมือง ข้อเสนอโดยสรุป คือ แก้ไขพ.ร.บ.กรุงเทพมหานครในประเด็นการมีส่วนร่วม ซึ่งก็จะนำร่างนี้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นหลายระดับและเข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้แทนจังหวัดจัดการตนเอง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การขับเคลื่อนในส่วนของภูเก็ตยอมรับว่าค่อนข้างล่าช้า เดิมทีจากบทเรียนในอดีตต้องมีหลักคิดในการปกครองพิเศษหรือการปกครองตนเอง เรามีแนวคิดว่า ความสามัคคีของภูเก็ตต้องคงอยู่ ทั้งนี้มีความเห็นว่าการปกครองและการพัฒนาภูเก็ตนั้นเรา ต้องการโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนา มีอำนาจที่เพียงพอ และต้องมีธรรมาภิบาล ซึ่งหนีไม่พ้นเป้าหมายเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องใช้เวลาทบทวน โดยวางแผนไว้ภายใน 3 ปีจะผลักดันกฎหมายให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของคนในพื้นที่ด้วย

 

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้คือ จะสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่จัดการตนเองนี้อย่างไร อาจจะหมายถึงเขตจังหวัดปกครองพิเศษ อย่างปัตตนีมหานคร ทั้งนี้พื้นที่จัดการตนเองอย่างที่เราพูดถึง คือ ต้องมีกฎหมาย เพื่อให้สถานะองค์กรปกครองตนเอง ให้สามรถเดินไปต่อในระดับปฏิบัติการได้ แต่ที่เป็นมองที่ปลายทาง แต่ขณะนี้ตัวต้นทางยังไม่เกิด จึงเป็นประเด็นพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะทำให้มีกฎหมายเกิดขึ้น

 

 

            “ควรมีคณะทำงานร่วมฯขึ้นมาชุดหนึ่ง อาจมีคปก.เป็นเจ้าภาพหลัก ก่อนจะพิจารณาขอบเขตหน้าที่ โครงสร้างภายในของจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงเรื่องการเงินกาคลัง การตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจ จึงจะสามารถยกร่างกฎหมายขึ้นมาได้ กฎหมายร่วมนี้จะเป็นช่องทางให้แต่จังหวัดขับเคลื่อนต่อไปได้ นอกจากนี้อาจจะมีกฎหมายเฉพาะ เช่น ปัตตานีมหานคร , กฎหมายกทม.ที่จะต้องยกร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ขึ้นมาใหม่ในอนาคต ดังนั้นจึงมีสองสามจุดที่จะดำเนินการร่วมกัน ขณะเดียวกันด็จะต้องมีกระบวนการขยายความคิดในระดับพื้นที่ และในระดับชาติ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อไป” ดร.จรัส กล่าว

 

 

นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ นักวิชาการอิสระ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงแผนจังหวัดจัดการตนเองขอนแก่นว่า จังหวัดขอนแก่นกำลังจัดทำพ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเองตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดของคณะกรรมการ ซึ่งยังไม่ตกผลึก นอกจากนี้ ยังได้แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐซึ่งส่วนที่เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดการตนเองได้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมักจะเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ซึ่งเห็นว่ายังยึดติดกับลัทธิอำมาตย์นิยมอยู่ไม่จางหาย และควรใช้เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู้สิ่งที่ดีกว่า” เป็นแกนในการขับเคลื่อน

 

อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่สำคัญอีกประการในการขับเคลื่อนกฎหมายคือ งบประมาณ ส่วนหลักการของร่างพ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเอง คือ มีรูปแบบการปกครองพิเศษขอนแก่นมหานคร มีสภาพลเมืองโดยกำหนดสัดส่วนสมาชิกสภาจากอาชีพ ซึ่งสมาชิกสภาจะต้องเข้าใจว่าสภาพลเมืองมีบทบาทในการดำเนินงานร่วมกับสภาจังหวัดอย่างไร ส่วนด้านการตรวจสอบนั้น ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนได้ทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิกสภาโดยลงคะแนนเสียงไม่น้องกว่า 5,000 คน 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: