จี้รัฐบาลหนุนใช้‘กองทุนการออมฯ’ จวกพท.ขวางเพราะเป็นงานปชป. แรงงานฮึ่ม-ขีดเส้นต้องเริ่ม1พ.ค.

ปาลิดา พุทธประเสริฐ, พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 23 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1981 ครั้ง

 

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในวัยชราภาพให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจมาตรา 84 (4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการเร่งผลักดันและเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติในปี 2553

 

ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้เป็นกฎหมายที่ประกาศออกใช้ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือเป็นกฎหมายที่สร้างหลักประกันรายได้ขั้นต่ำรายเดือนที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบในวัยชราภาพ หรือเกษียณอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้วเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน แต่ยังไม่มีการดำเนินการเปิดรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมกองทุนดังกล่าว เป็นผลทำให้ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 33 ล้านคน ที่มีคุณสมบัติการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ สูญเสียโอกาสในการออมเงิน เพื่ออนาคตของตนเอง และยังส่งผลเสียหาญต่อระบบการเงิน การคลัง เศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอีกด้วย

 

ความคืบหน้าเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับเครือข่ายการออมแห่งชาติภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ สภาผู้สูงอายุแห่งชาติ สภาเด็ก เยาวชนกทม. มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน (สสส.) จัดอภิปรายหัวข้อ “กองทุนการออมแห่งชาติ ถ้าไม่บังคับใช้ ใครเสียประโยชน์” ขึ้น เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

 

 

มีผู้เข้าร่วมอภิปรายคือ น.พ.บรรลุ ศิริพานิช ผู้บทบาทในการผลักดันการมีระบบประกันชีวิตในอนาคตหลังวัยเกษียณ นายชนะชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายกรณ์ จาติกวณิช กรรมธิการที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ และอดีตรมว.คลัง นายอเนก จิระจิตรอาทร รองประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกทม. นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน โดยมีประพจน์ ภู่ทองคำ นักสื่อสารมวลชนอิสระ ดำเนินรายการ

 

 

กอช.ซ้ำซ้อนประกันสังคมเสนอแผนใหม่รอมติครม.

 

 

นายชนะชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อดีตรมว.คลัง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแนวคิดให้กองทุนการออมแห่งชาติ จากนั้นกระทรวงการคลังจึงหารือกับสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน เนื่องจากทั้งสองหน่วยงาน มีการจัดสวัสดิการด้านการชราภาพให้แก่แรงงานนอกระบบเช่นเดียวกัน และได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินสมทบจากรัฐบาลด้วย จึงเห็นควรให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ นอกจากนี้กองทุนประกันสังคม ได้เสนอทางเลือกที่ 3 ขึ้นมา เน้นเรื่องสวัสดิการบำเหน็จบำนาญ โดยใช้รูปแบบของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติงรัฐจ่อรวมกอช.กับประกันสังคม

 

 

นายอเนก จิระจิตรอาทร รองประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกทม.กล่าวว่า “ต้องให้รออีกนานแค่ไหน ในเมื่อพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ได้ประกาศออกเป็นกฎหมายแล้ว ควรจะดำเนินการได้แล้ว วันนี้ต้องประกาศใช้และทำให้เป็นจริงขึ้นมา ส่วนที่บกพร่องให้มีการแก้ไขกันต่อไป เพราะการแก้กฎหมายต้องใช้เวลามากพอสมควร หากปล่อยไว้ยิ่งจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์มากขึ้น”

 

นอกจากนี้นายอเนกยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เพราะอะไรจึงต้องการนำกองทุนการออมแห่งชาติหรือกอช. ที่เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับหน่วยงานราชการ และถือเป็นหน่วยงานที่ใหญ่กว่า มารวมกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เล็กกว่า ทั้งยังเป็นหน่วยงานของราชการด้วย อาจส่งผลทำให้กองทุนการออมแห่งชาติ ขาดความเป็นอิสระและขาดความโปร่งใสในการบริหารงาน

 

 

 

ระบุ3กลุ่มเสียประโยชน์‘แรงงาน-ประเทศ-เพื่อไทย’

 

 

น.พ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ผู้มีบทบาทในการผลักดันการมีระบบประกันชีวิตในอนาคตหลังวัยเกษียณ กล่าวว่า ความยากจนเป็นปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ไม่มีการเก็บออม จึงต้องหาทางแก้ไขให้มีการออมเงินขึ้น กระทั่งจัดตั้งคณะกรรมการผลักดันให้เกิดกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น อีกทั้งยังได้ชี้ให้เห็นถึงผู้เสียประโยชน์ จากการไม่ดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว ว่ามีผู้เสียประโยชน์ 3 กลุ่ม คือ1.แรงงานนอกระบบจำนวน 33 ล้านคน เสียโอกาสในการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ 2.ประเทศชาติ ประชาชนไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมีหลายปัจจัยที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้นได้ 3.พรรคเพื่อไทย เมื่อพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ไม่มีการดำเนินงาน ทำให้แรงงานนอกระบบ 33 ล้านคน เกิดความไม่พอใจต่อการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย

 

 

ชี้การเมืองทำประชาชนเสียประโยชน์

 

 

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช กรรมาธิการที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ และอดีตรมว.คลัง แสดงความคิดเห็นว่า การที่รัฐบาลนำกองทุนการออมแห่งชาติมาปฏิบัติใช้ เนื่องจากประเด็นทางการเมือง เพราะพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติเป็นการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เริ่มต้น และมีการผลักดันอย่างมากในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย อาจจะเห็นว่าเป็นการเสียผลประโยชน์ทางการเมือง จึงไม่มีการผลักดันให้ดำเนินการต่อ หรือควรเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก นอกจากนั้นแรงงานนอกระบบจำนวน 33 ล้านคน ซึ่งในขณะนี้ได้เสียสิทธิในการได้รับประโยชน์จากกองทุนไปแล้วคนละ 1,000 บาท หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทนั่นเอง

 

 

         “ในอนาคตเมืองไทยจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น ย่อมเป็นผลดีต่อรัฐบาล เนื่องจากเงินออมเป็นเงินของประชาชนครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลจ่ายเพียงครึ่งหนึ่ง ถ้าหากเราไม่มีการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเหล่านี้ สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตภาระทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐบาล ที่จะต้องจ่ายค่ายังชีพของคนเหล่านี้ในวัยชราภาพ และเป็นภาระของประชาชนอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องหาแนวทางในการผลักดันและแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว” นายกรณ์กล่าว

 

 

 

รัฐมนตรีไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย ถือเป็นความผิด

 

 

นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า กองทุนการออมแห่งชาติมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว หากผู้ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่บังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม จะถือว่าเป็นความผิด ซึ่งตามกลไกทางกฎหมายสามารถดำเนินการเอาผิดในระดับนโยบายได้ดังนี้  ตามที่กลไกของศาลปกครอง กำหนดให้มีการออกเป็นกฎกระทรวง หากรัฐมนตรีใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือปฎิบัติงานล่าช้า สามารถใช้กลไกจากศาลปกครองฟ้องรัฐมนตรีได้ หรือใช้กลไกรัฐสภา กลไกกรรมาธิการหรือกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในแง่ของการไม่การบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของรัฐมนตรี

 

สำหรับประเด็นการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายนั้น ถ้าในระดับนโยบายศาลจะไม่เข้ามาควบคุม แต่ในระดับของการกระทำทางปกครอง สามารถใช้กลไกศาลปกครองเข้ามาควบคุมได้ เช่น การออกกฎ กรณีออกกฎล่าช้า ออกกฎผิดไปจากเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หรือการไม่ออกกฎ สามารถฟ้องร้องดำเนินการได้ แต่กรณีที่มีการเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกกฎ และรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามนั้น ถือเป็นคดีทางอาญา เนื่องจากเป็นเรื่องของเจตนาการทุจริต ไม่ใช้อำนาจสั่งการ

 

 

บำเหน็จไม่ใช่ทางออกของผู้สูงอายุ การบริหารจัดการต้องยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ

 

 

ขณะที่ ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดที่อยากเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกองทุนการออมแห่งชาติ ให้สมาชิกสามารถรับเงินบำเหน็จได้ มีข้อควรระวัง เนื่องจากการรับเงินบำเหน็จ อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และกอช. ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐบาล ต้องการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับประชาชนผู้สุงอายุ ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เช่น ผู้สูงอายุนำเงินบำเหน็จไปลงทุนแล้วไม่ประสบผล หรือลูกหลานนำเงินบำเหน็จของผู้สูงอายุไปใช้จ่าย แสดงให้เห็นว่า การรับเงินบำเหน็จไม่ใช่หลักประกันที่มั่นคงไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

 

 

 

นายวรเวศน์เสนอต่อว่า การที่กอช.บูรณาการกับกองทุนประกันสังคมนั้น ตามหลักการสามารถทำได้ แต่ในหลักธรรมาภิบาล การนำเงินของกลุ่มคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ได้เป็นสมาชิกประกันสังคม ซึ่งรวมแล้วใหญ่กว่าแรงงานนอกระบบไปให้ ข้าราชการ นายจ้าง ลูกจ้างดูแล ถือเป็นการผิดหลักธรรมมาภิบาลที่ดี และผิดหลักการบริหารจัดการที่ดี

 

อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของการสัมมนา น.พ.บรรลุเสนอว่า หากภายในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ยังไม่เห็นการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม กลุ่มแรงงานนอกระบบจำเป็นต้องออกมาแสดงจุดยืนต่อภาครัฐ เพื่อแสดงพลัง ขณะที่นายอเนกเสนอให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ เตรียมข้อมูลกองทุนการออมแห่งชาติให้ได้มากที่สุด เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และร่วมกันสร้างกระแสสังคมเพื่อกดดันรมว.คลัง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: