ดึงเอกชนต่อยอด'หลักสูตรใหม่' สร้างรายได้-ลดนร.ออกกลางคัน อุตฯพร้อมรับชี้ปรับให้สอดคล้อง

23 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3069 ครั้ง

 

หลังจากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมีศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการฯ คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ จึงเริ่มประชุม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้กำหนด “ร่างทักษะที่เป็นที่มุ่งหวังจากหลักสูตรการศึกษาไทย” เพื่ือเป็นแนวทางในการยกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเมื่อนำมาใช้แล้ว บุคคลจะต้องเกิดทักษะอย่างน้อยตามที่กำหนดนี้ การกำหนดเช่นนี้จะเป็นแนวทางในการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาด้านวิชาการ กระบวนการเรียนการสอน และกิจกรรมประกอบหลักสูตรที่จะนำไปสู่การสร้างทักษะเหล่านี้

 

ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นของโครงสร้างหลักสูตร (Curriculum Framework) การศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่

 

 

 

 

 

ดร.ภาวิชระบุไว้ใน Facebook ส่วนตัวระบุว่า ต้นร่างฉบับนี้ยังเป็นข้อเสนอเบื้องต้น ซึ่งต้องผ่านการพิจารณา ระดมความคิด และต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกไม่น้อย ก่อนที่จะลงตัวและนำมาประกาศใช้ ซึ่งแนวคิดสำคัญประการหนึ่งที่คณะกรรมการฯ นำมาประกอบการออกแบบหลักสูตร ได้แก่ การที่หลักสูตรจะต้องไม่เพียงแต่ตอบสนองการที่บุคคลจะต้องเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่จะต้องสร้างบุคคลให้มีความรู้และทักษะเพียงพอในการที่จะดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพ แม้ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

 

ทั้งนี้ในสังคมไทยในปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้าสู่ระบบการศึกษาต้องออกไปกลางคัน ด้วยเหตุต่างๆ โดยไม่ได้ศึกษาจนจบระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่ได้เข้าศึกษาต่อในระบบมหาวิทยาลัย มีเป็นจำนวนมากกว่าผู้ศึกษาจนเข้ามหาวิทยาลัยได้ ระบบการศึกษาจึงต้องสร้างศักยภาพให้แก่คนทุกกลุ่ม หากจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องมีวิชาการที่เข้มแข็ง แต่หากต้องออกมาก่อนก็จะต้องมีทักษะในการดำรงชีพได้ ดังนั้นหากพิจารณารายละเอียดของเนื้อหาเท่าที่ปรากฏอยู่ในตารางนี้ จึงจะเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์และยังต้องการการเพิ่มเติมอีกมาก

 

 

 

 

หลังจากการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือเพียง 6 กลุ่มสาระ คือ 1.ภาษาและวัฒนธรรม(Language and Culture) 2.กลุ่มสาระวิชา STEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Life Skills and the World of Work) 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร(Media Skill and Communication) 5.สังคมและและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) และ 6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก (Asean Region and World) โดยฝีมือของคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนี้ 6 กลุ่มสาระที่ได้ จะเสริม เพิ่ม เติม วิตามินที่เรียกว่า “ทักษะ” อะไรลงไป ยังต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

 

การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Life Skills and the World of Work) 1 ใน 6 กลุ่มสาระ ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) นำมาตีความ เพื่อเจาะให้ตรงประเด็นโดยเปิดวงเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา เป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การพัฒนาทักษะอาชีพและโลกของงาน” เพื่อถอดบทเรียนการปฏิรูปหลักสูตร และโลกของงานจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ 2 กรณีเด่น 1.ประเทศไต้หวัน ยกระดับเด็กยากจนด้วยการสร้างรายได้และอาชีพด้วยอาชีวศึกษา 2.ประเทศสหรัฐอเมริกา นำรูปแบบ CTE (Career Technical Education) ขับเคลื่อนงานพัฒนาทักษะชีวิตและโลกของงาน ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับโลกของการทำงาน

 

 

น.ส.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการโปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ในฐานะผู้ร่วมนำเสนอเรื่อง “Career Technical Education (CTE) : การขับเคลื่อนงานพัฒนาทักษะชีวิตและโลกของงาน กรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา” กล่าวว่า CTE เป็นรูปแบบการศึกษาที่ประเทศสหรัฐฯ ดำเนินการมากว่า 40 ปี ความโดดเด่นของโปรแกรมคือ เป็นต้นแบบของการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต่อการพัฒนาการศึกษาที่ไม่ได้โยนให้การศึกษาเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่เน้นมิติของความร่วมมือ อาทิ นายจ้างที่มาจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการอบรมต่าง ๆ และชุมชน

 

โดยร่วมวางแผนความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนา และบริหารจัดการการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานทั้งด้านองค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษา อันจะนำมาสู่การยกระดับคุณภาพการเรียน การสอนและปรับวิธีการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับโลกแห่งการทำงาน ซึ่งนำมาสู่การลดอัตราเด็กนักเรียนออกกลางคัน การเพิ่มรายได้ของผู้เรียนในระหว่างเรียน และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

 

จากงานวิจัยโรงเรียนในโครงการ จํานวน 9 แห่ง พบว่าอัตราการออกกลางคันของนักเรียน กลุ่มเสี่ยงลดลง จาก 32 เปอร์เซนต์ เหลือ 21 เปอร์เซนต์ และมีอัตราการเรียนจบสูงขึ้น 90 เปอร์เซนต์ โดยนักเรียนที่จบการศึกษาจากโปรแกรมนี้ยังได้รับเงินเดือนสูงกว่า นักเรียนที่จบจากการศึกษาแบบปกติถึง 11 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ 2,088 เหรียญสหรัฐต่อปี

 

น.ส.ไหล ปี้ จี นักวิชาการการศึกษาอาวุโส สำนักเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรสายวิชาชีพ เพราะเศรษฐกิจของไต้หวันเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีการลงทุนทางด้านการศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพต่าง ๆ แก่ผู้เรียน

 

 

นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจที่เข้ามามีบทบาท และลงทุนร่วมกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ส่วนกรณีเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ไต้หวันยังมีหลักสูตรเฉพาะที่เรียกว่า TVE High School Cooperative Work Experience Education  ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนวิชาชีพ พร้อมทั้งทำงานไปด้วยอย่างละครึ่ง โดยเด็กที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาสจะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน อีกทั้งยังสามารถหารายได้ไปจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้การศึกษาในรูปแบบดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 คือเด็กจะเรียนสายอาชีพในโรงเรียน 3 เดือน สลับกับการฝึกงานในสถานประกอบการจริงอีก 3 เดือน หมุนเวียนไปเช่นนี้จนครบ 3 ปี โดยระหว่างนั้น นักเรียนจะได้หมุนเวียนไปฝึกงานในสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ทักษะอาชีพที่หลากหลาย โดยโรงเรียนจะต้องทำสัญญากับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุให้มีการจ่ายค่าจ้างในระหว่างการฝึกงาน ตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด สำหรับทางเลือกที่ 2 เด็กจะได้เรียนวิชาชีพในโรงเรียน 2 ปี จากนั้นในปีที่ 3 จะเป็นช่วงเวลาฝึกงานในสถานประกอบการจริงตลอดปีการศึกษา ทั้งนี้นักเรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกแนวทางใดที่เหมาะสมกับตน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ให้การสนับสนุน เมื่อเรียนจบแล้วนักเรียนจะได้ใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางสู่การทำงาน

 

ขณะที่ นายวิโรจน์ แวววรวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทต้องการแรงงานอาชีพเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีการผลิตรถจักรยานยนต์มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อมีการผลิตรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ทางบริษัทจะประสานไปยังสถาบันการศึกษา ครู เด็ก เพื่อให้เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างของบริษัท ก็ต้องเข้ารับการอบรมทุกขั้นตอนของการผลิต  นอกจากนี้บริษัทยามาฮ่ายังได้สนับสนุนสถาบันการอาชีวศึกษาที่มีความพร้อม โดยลงไปสร้างโรงฝึกงานให้ในสถานศึกษา แต่มีเพียง 3 แห่งจากสถาบันอาชีวศึกษาทั้งหมดที่มีความพร้อม

 

 

 

 

นายพงษ์ศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ กรรมการสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้การจัดการศึกษาของประเทศเป็นหลักสูตรทางกายภาพ ยังไม่มีการทำหลักสูตรที่เป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้มีอำนาจในการออกแบบหลักสูตร ดึงภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามามีบทบาทในการร่างหลักสูตรเพราะความจำเป็นในการยกระดับความรู้ ความสามารถ โดยต้องเริ่มปลูกฝังสร้างแรงจูงใจด้านอาชีพตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออาจสร้างกลยุทธ์ด้วยการนำค่านิยมไปใส่ในการศึกษา เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานถึง 300,000 คน และเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะยิ่งน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานที่จบสายตรงกับสิ่งที่เรียนมีเพียง 15 เปอร์เซนต์ เท่านั้น และด้วยประชากรวัยแรงงานลดลง ประชากรวัยสูงอายุมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดกระบวนการการศึกษาใหม่ทั้งหมด หากจะพูดให้แรงถึงเวลาที่ต้องปฏิวัติการศึกษาใหม่ไม่ใช่แค่การปฏิรูป

 

 

 

 

ปิดท้ายหัวเรือใหญ่แห่ง สสค. ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คนที่ 2 กล่าวว่า ขอเน้น 3 เรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหา 1.การศึกษาของไทยนำไปสู่การมีวุฒิ แต่ไม่นำสู่การมีงานทำ จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดการศึกษา ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาต้องนำสู่การเรียนรู้ 2.ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรลดลง มากว่า 20 ปีแล้ว คนในวัยเรียนลดลง ดังกรณีข่าวยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะปัญหาไม่มีเด็กเข้าเรียน

 

 

 

ดังนั้นถ้าไม่คิดแก้ไขต่อไปวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาจะร้าง เรามีคนวัยทำงาน 35-40 ล้านคน และเกือบ 80 เปอร์เซนต์ จบการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ 9 ปี ประเทศใช้งบประมาณเกือบ 400,000 ล้านบาท กับการจัดการศึกษาให้กับคน 13 ล้านคน แต่ไม่ได้ใช้เงินเลยกับคน 35 ล้านคน จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับคนวัยทำงาน โดยสนับสนุนให้การพัฒนา การฝึกอบรม และในโอกาสที่ประเทศกำลังกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท หากมองในแง่ของการพัฒนาคน การสร้างคน ทั้งช่วงก่อสร้าง การดำเนินการ การบำรุงรักษา จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ อย่ามองว่าแค่สร้างรถไฟรางคู่ แก้ปัญหาน้ำท่วม นำมาลงทุนเพื่อการเตรียมคนของประเทศ ดังนั้น การศึกษาและการจัดหลักสูตรต้องเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำ และควรเป็นเสื้อสั่งตัดไม่ใช่เสื้อโหลอีกต่อไปแล้ว ทุกคนต้องรุกขึ้นมาเป็นเจ้าของพัฒนาประเทศ 3.รัฐบาลต้องเปลี่ยนบทบาท เป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้งบประมาณ ไม่จัดการศึกษาเอง โดยให้โอกาสท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนจังหวัด ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้จัดการศึกษา

 

ขอยืมคำดร.กฤษณพงษ์ “หนึ่งจุดหมาย หลายเส้นทาง”  ปฏิรูปหลักสูตรใหม่ เน้นสร้าง “ทักษะ” จะเป็นจุดหมายที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้หรือไม่ และจะมีเส้นทางใดบ้างให้ผู้เรียนได้เลือกเดิน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: