นับเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและดูเหมือนจะไม่จบสิ้นลงง่ายดาย สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือสนับสนุนปฏิบัติการขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แม้ว่าเมื่อ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนฯออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่า จะยุติโครงการทั้งหมดแล้ว ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ที่ระบุว่าไม่คุ้มทุน รวมทั้งเพื่อยุติความขัดแย้งกับชุมชน แต่กลับไม่ยอมถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ออกจากการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำให้เกิดความคลางแคลงใจขึ้นว่า แท้จริงแล้วการ “ยุติ” โครงการของ บริษัทเชฟรอนฯ เป็นความจริงใจที่จะยกเลิกการดำเนินการโครงการจริง หรือเป็นเพียงแค่การใช้เทคนิคเพื่อลดกระแสการต่อต้านของสังคมกันแน่
เชฟรอนอ้างไม่ถอน EHIA เพราะต้องการให้คนอื่นได้ประโยชน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมา เชฟรอนส่งหนังสือชี้แจงตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ขอให้แจ้งเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่อง การยุติการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าวที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ว่า มีความหมายอย่างไร ซึ่งเชฟรอน โดยนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหารเชฟรอน มีหนังสือตอบกลับไปยังสผ. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 โดยระบุชัดเจนว่า
“การที่บริษัทฯ ยุติโครงการนั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงการขอถอนรายงานฯ แต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทมีความประสงค์ที่จะให้สาธารณชนได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่สมบูรณ์ของรายงานฯ อันเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยมิได้มุ่งหวังเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด นอกเหนือจากรายงานดังกล่าว ก็ยังจะช่วยยืนยันความโปร่งใส ในขั้นตอนการทำและจัดเตรียมข้อมูลของรายงาน ที่ถูกดำเนินการไปแล้วอีกด้วย”
และจากหนังสือฉบับดังกล่าว ทำให้สผ.จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายต่อไป ในการส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เพื่อให้กอสส.พิจารณาให้ความเห็นประกอบภายใน 60 วัน เนื่องจากเข้าข่ายโครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยนำเรื่องส่งมายังกอสส. เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้กอสส.ดำเนินการต่อภายใน 60 วัน หรือกอสส.จะต้องให้ความเห็นเสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 กันยายน 2556 นั่นเอง
กอสส.เรียกเชฟรอนชี้แจงจุดประสงค์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา กอสส.ได้เชิญตัวแทนจากเชฟรอน มาให้ข้อมูลกรณีได้แถลงต่อสาธารณชน ว่าได้ยุติโครงการแล้ว แต่เหตุใดยังไม่ขอถอนรายงาน พร้อมทั้งขอให้บริษัทยืนยันต่อความตั้งใจ เพื่อใช้ในการดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป โดยในวันดังกล่าวเชฟรอนได้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ประธาน กอสส. ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ภายหลังการประชุมว่า ในการเชิญตัวแทนของเชฟรอนมาชี้แจง เพื่อต้องการคำตอบที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้ว บริษัทมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนอะไร เพราะการประกาศต่อสาธารณชนว่าได้ยุติโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้ถอนรายงานออกจากการพิจารณาของสผ. ก็เท่ากับว่า ทุกอย่างจะต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อ สผ.ส่งเรื่องมายังกอสส.แล้ว คณะกรรมการจะต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นภายใน 60 วัน ตามกฎหมาย โดยจะต้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นต่างๆ จากประชาชน เพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็นต่อไป
ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ประธานกอสส. (ขวา)
ซึ่งทางกอสส.เกรงว่าจะเกิดความสับสน และความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่ว่า เมื่อเชฟรอนประกาศยุติโครงการแล้ว เหตุใดจึงยังต้องมีการศึกษา หรือให้ความเห็นผลกระทบอื่น ๆ อีก และยังเป็นห่วงว่า กอสส.จะถูกเข้าใจว่าจะดำเนินการเพื่อฟอก โครงการดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้ทางเชฟรอนชี้แจงต่อ กรรมการให้ชัดเจน
“ถ้าหากเขาต้องการยุติไม่ทำโครงการแล้วจริงๆ นั่นคือจะต้องขอถอนรายงานออกจากการพิจารณาของสผ. เพื่อให้สผ.ดึงเรื่องกลับไป ทุกอย่างก็จะยุติ แต่ขณะนี้เชฟรอนยังไม่มีคำตอบ และผู้ที่มาประชุมก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะไม่เช่นนั้นกอสส.จะต้องเดินหน้า เพราะมีกรอบ 60 วันกำหนดไว้อยู่แล้ว” ดร.เปี่ยมศักดิ์กล่าว
ต้องเรียกชี้แจงเพราะกลัวลงพื้นที่แล้วชาวบ้านสับสน
ด้านนายสุรพล ดวงแข คณะกรรมกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เปิดเผยหลังการประชุมว่า ขณะนี้ทางเชฟรอนก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าได้ยุติโครงการแล้ว และกำลังดำเนินการเรื่องการคืนพื้นที่ รวมถึงเตรียมยุบบริษัทที่ตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ หากแต่ก่อนหน้านี้ เชฟรอนกลับส่งหนังสือไปยังสผ.ระบุชัดว่า จะไม่ขอถอนรายงาน โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้รายงานเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต ดังนั้นด้วยกฎหมายที่บังคับไว้ กอสส.ก็จะต้องดำเนินการตามหน้าที่ แต่หากลงพื้นที่ไปแล้วก็เกรงว่า ประชาชนจะตั้งข้อสงสัยต่อการดำเนินการของกอสส. และแม้จะลงพื้นที่ไปแล้วและมีการพิจารณาให้ความเห็นแล้ว ก็เท่ากับว่ารายงานดังกล่าวผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง แต่หากไม่ดำเนินการภายใน 60 วัน ก็หมายความว่าโครงการจะผ่านการพิจารณา และเชฟรอนจะสามารถนำไปขออนุญาตได้ในอนาคตได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าเชฟรอนจะมีลายลักษณ์อักษรถึง สผ.ว่า จะยุติโครงการแล้ว แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจกับชุมชนอยู่ดี
ตั้งข้อสังเกตทำไมสผ.เพิ่งส่งเรื่องที่กอสส.และมาทีเดียวพร้อมกัน 4 เรื่อง
ทั้งนี้รายงานข่าวระบุว่า มีการตั้งข้อสังเกตต่อการดำเนินการ กรณีการพิจารณาโครงการฯ ดังกล่าว ในหลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกรอบระยะเวลาในการส่งเรื่องพิจารณาตามกระบวนการ โดยพบว่า จากข้อมูลการพิจารณาผ่านรายงาน EHIA ของสผ.ที่ระบุชัดว่า ได้มีมติพิจารณาผ่านการเห็นชอบมาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 แต่เรื่องกลับยังไม่ได้ส่งมายังกอสส. กระทั่งเชฟรอนออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่า จะยุติการดำเนินการโครงการนี้ แต่กลับทำหนังสือยืนยันตอบกลับไปยัง สผ.ว่าจะไม่ขอถอนรายงานดังกล่าว ก่อนที่สผ.จะส่งเรื่องมาให้กอสส.พิจารณาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเรื่องพิจารณาร่วมกันอีก 3 โครงการ ได้แก่ กรณีของเชฟรอน, ลวดทองแดง, แบตเตอรี่ และ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องเวลาในการทำงานของคณะกรรมการ ที่จะต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ
“เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งเรื่องมาให้ กอสส.พิจารณากลับถูกส่งมาพร้อมกับอีก 3 โครงการ ที่จะต้องใช้เวลาพิจารณาเช่นเดียวกัน ทั้งที่สผ.เองก็ได้รับคำตอบจากบริษัทเชฟรอนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 แล้วว่า จะไม่ขอถอนรายงาน แต่กลับไม่ส่งเรื่องมายังกอสส.เพื่อให้ดำเนินการ แต่เมื่อส่งมาก็ส่งมาพร้อมกัน 4 เรื่อง ทำให้อาจจะมีปัญหาเรื่องของระยะเวลา การดำเนินการของกอสส. ซึ่งเรื่องเวลามีผลต่อโครงการด้วย นั่นหมายถึงว่า ถ้าพิจารณาให้ความเห็นไม่ทันภายใน 60 วัน จะถือว่าโครงการได้รับความเห็นชอบ และเชฟรอนก็มี EHIA ที่ผ่านการพิจารณาแล้วไว้ในมือ สามารถนำไปขอใบอนุญาตเมื่อใดก็ได้” แหล่งข่าวในกอสส.กล่าว
สังคมตั้งคำถาม กอสส.ให้ความเห็นได้เลย เพราะชาวบ้านไม่เอาแต่ทำไมยังรีรอ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้กระบวนการต่าง ๆ จะยังคงดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยที่เชฟรอนไม่มีคำตอบว่าจะถอนรายงาน EHIA หรือไม่ แต่ทางด้านเอ็นจีโอและภาคประชาชน ต่างตั้งข้อสังเกตต่อการดำเนินการของกอสส.ด้วยเช่นกันว่า โดยอำนาจหน้าที่แล้ว กอสส.สามารถจะให้ความคิดเห็นต่อโครงการของเชฟรอนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ชุมชนและคนในพื้นที่ได้นำเสนอข้อมูลผลกระทบต่างๆ มากมาย และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้นหากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็ควรแสดงความเห็น และไม่จำเป็นจะต้องรอคำตอบของเชฟรอน เพราะเชื่อว่าเชฟรอนไม่น่าจะทำเรื่องขอถอนรายงานออกจากสผ.อยู่แล้ว
ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี หนึ่งในกอสส. ชี้แจงว่า แม้ว่าอำนาจหน้าที่ของกอสส.จะสามารถให้ความคิดเห็นได้เลย ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต แต่โดยการทำงานของกอสส.ที่ผ่านมา จะต้องลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการเอง เหมือนกันทุกโครงการ ไม่ได้ทำเฉพาะกับโครงการของเชฟรอน เพราะ กอสส.ไม่สามารถเชื่อมั่นในการจัดเวทีที่กอสส.ไม่ได้ดำเนินการเอง ดังนั้นการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ จะมีการเปิดเวทีอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดข้อมูลที่รอบด้าน ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นยืนยันว่าการลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลพิจารณาเพื่อให้ความคิดเห็นต่อโครงการ เป็นการดำเนินการเท่าเทียมกันหมด ไม่ได้มีโครงการใดที่จะพิเศษกว่ากันอย่างแน่นอน
เชฟรอนออกหนังสือแจ้งสื่อขอให้สผ.ทำหนังสือถึงกอสส.ให้ยุติการพิจารณาแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เชฟรอนได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังสื่อมวลชนยืนยันว่า บริษัทได้ยุติการดำเนินงานโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานในอ่าวไทย หรือชอร์เบส ในเขตพื้นที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่แน่นอน แม้ว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ไปแล้วก็ตาม
สำหรับในกรณีที่สผ.ยื่นรายงาน EHIA ดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอ. สส.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 นั้น เป็นกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่เชฟรอนไม่ได้ขอถอนรายงานจากสผ. หลังจากประกาศยุติโครงการ เนื่องจากเชฟรอนมีความประสงค์ที่จะให้สาธารณชนได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่สมบูรณ์ของรายงาน อันเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โดยมิได้มุ่งหวังเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด
“นอกจากนั้นรายงานดังกล่าวยังยืนยันความโปร่งใสในขั้นตอนการทำรายงาน และการจัดเตรียมข้อมูลของรายงานที่ได้ถูกดำเนินการไปแล้ว” นอกจากนี้หนังสือฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่าย เกี่ยวกับการยุติโครงการชอร์เบสนั้น วันนี้เชฟรอนจึงมีหนังสือถึงสผ. เพื่อขอให้แจ้งความประสงค์ไปยังกอ.สส.ให้ยุติกระบวนการ ในการพิจารณา EHIA ฉบับดังกล่าวในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้เชฟรอนยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อคืนพื้นที่โครงการที่เคยเช่าซื้อไว้ในช่วงของการศึกษาโครงการ ให้แก่เจ้าของที่ดินอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของบริษัทในการยุติโครงการอย่างแท้จริง”
เลขาธิการสผ.ระบุทำตามร้องขอส่งหนังสือให้กอสส.มีดุลยพินิจเอง
ด้านนายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ต่อกรณีดังกล่าวว่า สำหรับหนังสือดังกล่าวเชฟรอน ได้ติดต่อมายังสผ. ให้ทำหนังสือแจ้งไปยังกอสส. เพื่อขอยืนยันว่าได้ยุติโครงการแล้ว ซึ่งสผ.ก็ได้ดำเนินการไปตามการร้องขอดังกล่าว ทั้งนี้ในเนื้อหาที่ส่งถึงกอสส.นั้นระบุว่า “ให้กอสสส.พิจารณาโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทางกอสส.ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะตนไม่สามารถไปก้าวก่ายอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการได้ แต่สำหรับเรื่อง EHIA ขณะนี้เชฟรอนยังไม่ได้มีการแจ้งของถอนรายงานแต่อย่างใด”
“ผมไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปสั่งกอสส. ว่าให้ยกเลิกหรือยุติกระบวนการ กอสส.จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเรื่องนี้เอง เพราะในส่วนของสผ.ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่เมื่อได้รับการร้องขอจากเชฟรอน มาแจ้งขอให้ทำหนังสือให้ เราก็ทำให้อยู่แล้ว” นายสันติกล่าว
จับพิรุธเล่นแง่ใช้คำเพื่อเดินหน้าโครงการต่อ
รายงานข่าวจากกอสส.ระบุว่า สำหรับหนังสือที่สผ.ส่งให้กับกอสส.ดังกล่าว ระบุว่า “ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กอสส.” นั้น ไม่สามารถตีความหมายว่า “ให้ยุติการพิจารณาโครงการได้” ดังนั้นคณะกรรมการจึงจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน เพราะสผ.ไม่ได้มีหนังสือมาว่าขอดึงเรื่องกลับ หรือให้ยุติขั้นตอนการพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้นกอสส.จึงต้องเดินหน้าพิจารณาโครงการนี้ต่อไปดังกล่าว
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับขั้นตอนในการยุติการพิจารณาโครงการ ของ กอสส.นั้นสามารถทำได้ หากทางกอสส.ยุติการพิจารณา นั่นหมายถึงว่า เป็นการดำเนินการไม่ครบขั้นตอนตามกฎหมายที่จะส่งผลให้ EHIA ตกไปทันที แต่ในกรณีนี้จุดสำคัญคือเนื้อหาในหนังสือจากสผ.ไปยัง กอสส. ที่ระบุว่า “ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกอสส.” ขณะที่กอสส.ก็อ้างว่าไม่สามารถยุติได้ เพราะไม่ได้รับคำขอดึงเรื่องกลับจากสผ. จึงเป็นเหตุทำให้กระบวนการต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากเชฟรอนเข้าประชุมร่วมกับกอสส.เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพียงวันเดียว
จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การไม่เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของเชฟรอน ออกจากการพิจารณาทั้งของสผ.และกอสส. รวมถึงคำมั่นสัญญาที่เชฟรอนเคยกล่าวไว้กับสังคมว่าหยุดดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือฯแล้ว และการยืนยันว่าอยู่ระหว่างการคืนที่ดินที่จะดำเนินการให้กับเจ้าของเดิมนั้น เป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การเลี่ยงบาลีเพื่อรอวันที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป ท่ามกลางการคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ ที่ประกาศอย่างชัดเจนเช่นเดียวกันว่า ห้ามเชฟรอนเข้าพื้นที่ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยเด็ดขาด
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ