บทวิเคราะห์ : ฝันหวาน

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 23 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1700 ครั้ง

ด้วยทัศนะทางการเมืองที่คับแคบของผู้นำการเคลื่อนไหวที่อยู่ในวัย 50 ตอนปลาย และ 60 ตอนต้นผู้ที่เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค 14 ตุลาคม 2516 และพยายามเทียบเคียงการเคลื่อนไหวของตนเองกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ไม่มีทางจะพาการเมืองออกจากวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ได้เลย

ในการเมืองยุคปัจจุบันไม่มีใครสามารถตั้งตนเองเป็นผู้ทรงศีล (moral authority) แล้วเที่ยวป่าวประกาศหลักการที่ถูกต้องของตัวเองให้คนอื่นยอมรับได้ง่าย ๆ ข้อเสนอในเชิงศีลธรรมของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นคนดี จึงเป็นความคิดที่เลื่อนลอย ยากที่จะยอมรับได้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฎอยู่เบื้องหน้ามานานแล้วว่า ผู้ที่อ้างว่าตัวเองมีมาตรฐานทางศีลธรรมสูงส่งกว่าคนอื่นๆ แท้จริงแล้วไม่ได้มีราคาค่างวดต่างกันตรงไหนเลย

วิกฤติทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ความจริงแล้วมันเป็น วิกฤติที่ยังไม่จบตั้งแต่ช่วงปี 2548-2549 การวิเคราะห์ปัญหาที่ผิดพลาดและการแก้ไขด้วยวิธีการที่ผิด ทำให้วิกฤติยังคงอยู่ วิกฤติในครั้งนี้นั้นล้วนตั้งอยู่บนพยาคติและอคติอื่นๆของชนชั้นนำในสังคมไทยเป็นสำคัญ

พยาคติคือความกลัว พวกเขากลัวว่าทักษิณ ชินวัตรและพวกพ้องจะแย่งความจงรักภักดีของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนอกนครหลวงที่เคยมีไปจากพวกเขา กลัวว่าทักษิณจะผันทรัพยากรที่เคยกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางออกไปเสียจากพวกเขา และกลัวว่าทักษิณจะโกงกินจนสิ้นชาติ มากไปกว่านั้นในบางกลุ่มไม่อยากเห็นหน้าทักษิณอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนรัชสมัย

ในการเมืองแบบเก่า ชนชั้นนำอาจจะใช้วิธีง่าย ๆ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจและกำจัดศัตรูทางการเมืองของเขาไปโดยไม่มีใครว่าอะไร อาจจะมีปัญญาชนออกมาบ่นกระปอดกระแปดบ้างนิดหน่อยพอเป็นพิธีแล้วก็เงียบหายไป หลังจากที่คณะนำใหม่ตอบแทนตำแหน่งแห่งที่ในฐานะที่ปรึกษาให้พวกเขาไป

แต่โชคร้ายที่วิธีการแบบนั้นไม่มีใครยอมรับได้อีกต่อไปทั้งในและต่างประเทศ และวิธีการดังกล่าวที่ใช้ในปี 2549 ก็ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ผล

เหตุผลคือ สังคมการเมืองได้ขยายตัวออกจากชนชั้นนำไทยไปนานแล้ว ก่อนที่พวกเขาจะทันรู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำไป อาจจะกล่าวได้ว่าการเมืองในระบบเลือกตั้งนับแต่ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นต้นมาได้สร้างผลประโยชน์ให้ประชาชน (แน่นอนรวมถึงนายทุนท้องถิ่นด้วย) นอกเมืองหลวงอย่างเป็นกอบเป็นกำ เงินทุนจำนวนมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยทักษิณ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ได้สร้างความเป็นเมืองให้กับเขตนอกเมืองหลวงมากขึ้นและการเคลื่อนย้ายประชากรไปมาระหว่างเมืองหลวงและนอกเมืองหลวงทำได้อย่างง่ายดาย รถปิกอัพ โทรศัพท์มือถือ การสื่อสารและสื่อมวลชนทั้งนอกและในกระแสหลัก ทำให้แบบแผนและวิถีชีวิตของคนเมืองหลวงและนอกเมืองหลวงมีความแตกต่างกันน้อยลงทุกที ยังมีชนบทไทยอีกไม่กี่แห่งในปัจจุบันที่ไฟฟ้า และการสื่อสารไปไม่ถึง นอกนั้นล้วนแล้วแต่สามารถเข้าถึงสิ่งที่คนในเมืองหลวงและชนชั้นนำสามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

ถ้าชนชั้นนำสามารถเดินทางไปช็อปปิ้งที่ฮ่องกง โตเกียว ปารีส นิวยอร์คได้ แพคเกจทัวร์ราคาถูกที่มีอยู่ดาษดื่นในปัจจุบัน ทำให้สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่ไหนก็ได้ เดินทางไปเห็นสิ่งเหล่านั้นได้เช่นกัน ทั้งพวกเขายังได้พบว่า แท้จริงแล้วพวกผู้ดีแปดสาแหรกในกรุงเทพฯปัจจุบันนี้ นิยมไปซื้อของลดราคาตอนซัมเมอร์เซล ซึ่งเป็นราคาที่สมาชิกอบต.ทั่ว ๆ ไปก็ซื้อได้

ชนบทในจินตนาการของชนชั้นสูง ประเภทจุดตะเกียง ทำไร่ ทำนา ปลูกผัก หาปลา ไร้การศึกษาและมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เหมือนที่ปรากฎในโปสเตอร์ท่องเที่ยวนั้น ไม่มีอยู่จริง ประชาชนซื่อบื้อที่ไปลงคะแนนเสียงตามเงินที่จ้างหมดไป 20 ปีแล้ว แน่นอนการซื้อเสียงยังมีอยู่ แต่ปัจจุบันนี้การเลือกตั้งเป็นการต่อรองระหว่างประชาชนและนักการเมือง นักการเมืองที่วาทศิลป์ดี แต่ไร้ความสามารถที่จะดึงทรัพยากรลงสู่พื้นที่ได้ อยู่ได้อย่างมากแค่สมัยเดียว คนอื่น ๆ เสนอตัวเข้ามาแข่งขันได้ง่าย การซื้อเสียงไม่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจทางการเมืองมากนัก งานวิจัยบางชิ้นบอกว่าแค่ประมาณ 5 เปอร์เซนต์ เท่านั้น สภาพจริงอาจจะมากกว่านั้นเล็กน้อย แต่การซื้อเสียงล้วน ๆ ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ ถ้านักการเมืองอำนวยผลประโยชน์ที่มากกว่านั้นไม่ได้

น่าเสียดายที่พรรคการเมืองที่ชนชั้นนำนิยมนั้น ไม่สามารถผลิตนโยบายที่ดีและมีผู้สมัครที่มีคุณภาพเพียงพอจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชาชน และสถานการณ์ใหม่ของประเทศได้ พวกเขาเอาแต่พล่ามด่าทักษิณโดยไม่เสนออะไรใหม่ มาทดแทนสิ่งที่ทักษิณสร้างเอาไว้ได้เลยแม้แต่น้อย โอกาสที่พวกเขาจะได้รับเลือกตั้งจึงมีน้อยเต็มทน

เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเขาเห็นว่านี่เป็นวิกฤติ แน่นอนไม่ผิดเลย เป็นวิกฤตของพวกเขาแน่นอน เพราะการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งไม่ทำให้พวกเขาสามารถยึดกุมอำนาจและอยู่ในอำนาจได้อีกต่อไปแล้ว พรรคการเมืองที่ชนชั้นนำนิยมนั้น ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ชัยชนะครั้งสุดท้ายในปี 2535 ไม่มีทางอื่นใดนอกจากทางลัด

ปัญหาของทางลัดคือ มันไม่ทำให้วิกฤติจบลงได้ และดูเหมือนสร้างปัญหาเพิ่มเติม การยึดอำนาจปี 2549 ติดตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายเลือกตั้งใหม่ ตั้งองค์กรอิสระชุดใหม่ เพื่อกีดกันไม่ให้ทักษิณและพวกของเขามีโอกาสกลับเข้าสู่อำนาจอีก ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทักษิณไม่เพียงอาศัยการเลือกตั้งภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชนชั้นสูงกำหนดขึ้นใหม่ เข้าสู่อำนาจได้เท่านั้น เขายังได้ผู้สนับสนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย ผู้สนับสนุนดูเหมือนจะมีจำนวนมาก และมีความภักดีกว่าสมัยพรรคไทยรักไทยเสียอีก ทักษิณประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการผนวกกลุ่มของเขาเข้ากับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ในขณะที่ฝ่ายชนชั้นนำกลับไปยืนอยู่ชัยภูมิของการเมืองแบบอภิชนาธิปไตยและอำนาจนิยม

ข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมืองก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความพยายามอันเดิมที่จะสร้างกฎเกณฑ์ที่กีดกันพวกทักษิณให้ออกไปจากการเมือง แต่คราวนี้ยืนอยู่บนฐานของการเมืองมวลชนแทนที่จะเป็นกองทัพ

นอกจากว่ามันจะให้ผลไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไรแล้ว ปัญหาสำคัญคือ การต่อสู้รอบนี้จะเหมือนกับรอบที่แล้วคือ จะต้องทำลายหลักประชาธิปไตยและบิด (แม้ไม่ถึงกับต้องทำลายทั้งหมด) รัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์ที่พวกตัวเองสร้างขึ้นมากับมือ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า มันเป็นเรื่องตลกสิ้นดีที่ชนชั้นสูงจะบอกว่า ให้ประชาชนเลือกตั้งตามกฎที่พวกเขากำหนด เมื่อไม่ได้ถูกใจ ก็ทำลายกฎนั้น สร้างใหม่ และเวลาต่อมาก็จะออกมาบอกประชาชนว่า ให้ทุกคนไปเลือกตั้ง แล้วถ้าผลเลือกตั้งมันออกมาเป็นอย่างเดิมอีก ชนชั้นสูงก็จะต้องทำอย่างเดิมอีกต่อไปหรือ?

อีกประการหนึ่งคือ การเมืองมวลชนจะค้ำจุน “การปฎิรูป” นี้ไปได้นานสักเท่าใด จำนวนคนที่ออกมาเดินขบวนในเมืองหลวงนั้น ไม่มีใครปฎิเสธว่ามาก แต่คงไม่มากนักเมื่อเปรียบกับคนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพวกที่ต้องการใช้สิทธิทางการเมืองของเขาผ่านการเลือกตั้ง อาจจะเป็นไปได้ว่า มวลชนส่วนหนึ่งเพียงต้องการแสดงอำนาจและพลังของตนเอง แต่ไม่ประสงค์จะค้ำจุนอำนาจชนชั้นสูงต่อไปก็ได้

การปฏิรูปเที่ยวนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเพ้อฝันที่คิดว่าจะสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ที่กีดกันพวกทักษิณได้อย่างถาวร แต่คาดหมายได้ยากว่า สิ่งที่สร้างขึ้นใหม่นั้นจะได้ผลอย่างที่ต้องการ เพราะโครงสร้างทางสังคม ประชากร เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบท และที่สำคัญทัศนะทางการเมืองของประชาชนทั่วไปนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากกว่ากฎเกณฑ์ที่ชนชั้นสูงสร้างขึ้นจะรองรับมันได้

ถ้าเป็นเช่นนั้น การปฏิรูปนี้ก็ยังคงจะเป็นการปฏิรูปที่ไม่เสร็จสิ้น เพราะประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะถูกกีดกันออกไปนั้น จะมาทวงสิทธิของเขา ซึ่งมันก็คงจะทำให้สถานการณ์ยุ่งเหยิงและวิกฤติการณ์ไม่สิ้นสุด

 

ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขอบคุณภาพจาก กปปส.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: