เมื่อวันที่ 23 มกราคม กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม (ขปส.) ชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลอย่างเป็นรูปธรรม หลังต้องเผชิญผลกระทบยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เวทีปราศรัยและเต็นท์พักแรมของผู้ชุมนุมถูกตั้งขึ้นโดยใช้พื้นที่ตั้งแต่แยกสวนมิสกวันจนถึงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
กลุ่มผู้ชุมนุมระบุข้อเรียกร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมติของอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน ให้ทดลองเปิดเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 5 ปี เพื่อคืนธรรมชาติให้แม่น้ำมูล และจ่ายเงินเยียวยาจากผลกระทบที่สร้างเขื่อนมานาน 20 ปี ครอบครัวละ 310,000 บาท เกือบ 6,000 ครอบครัว ในพื้นที่ 55 หมู่บ้าน 3 อำเภอ คือ อ.โขงเจียม อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สิรินธร แต่ยังไม่มีการดำเนินการเนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล
สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการแก้ปัญหากรณีเขื่อนปากมูล ที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของรัฐบาล มีกำหนดการประชุมในวันที่ 24 มกราคม 2556 ทั้งนี้ จากที่เคยประชุมกันเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 แต่ไม่ได้ข้อสรุป เพราะรัฐบาลต้องการให้ศึกษาแนวทางเยียวยาแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลใหม่
นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน หนึ่งในกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่ออ่านแถลงการณ์ระบุว่า ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่เรื้อรังยาวนานมากว่า 20 ปี ให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ซึ่งจากการศึกษาของคณะกรรมการที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการระบุแล้วว่า การปิดเขื่อนปากมูลนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำมูล
อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีอาชีพหลักคือ หาปลา หาสัตว์น้ำ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากเขื่อนปิด และจากการศึกษาที่อนุญาตให้ทดลองเปิดเขื่อนได้ 4 เดือน ก็ไม่ตรงฤดูหาปลาส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อนมากว่า 20 ปี ตามมติของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย
นางสมปองกล่าวว่า ชาวบ้านไม่ยอมรับหากต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ศึกษาอีก เพราะเท่ากับเป็นการยื้อเวลา จึงตกลงกันว่า หากวันที่ 24 มกราคมนี้ รัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง หรือยกเลิกมติอนุกรรมการฯ ชุดที่แล้ว ชาวบ้านจะปักหลักชุมนุมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โดยยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอีกส่วนหนึ่งทยอยเดินทางเข้ามาสมทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการชุมนุมกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนปากมูล ได้ทำกิจกรรมยิงลูกธนูที่ผูกติดข้อเรียกร้อง เข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งหนังสือร้องเรียนถึงรัฐบาลและนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
เอกสารดังกล่าวระบุว่า นายนิวัฒน์ธำรงไม่ควรซื้อเวลาอีกต่อไป และขอเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหา โดยทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เป็นเวลา 5 ปี พร้อมกับศึกษาข้อมูลควบคู่ไป นอกจากนี้รัฐบาลต้องเยียวยาความเสียหาย ที่ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน หรือกว่า 23 ปีแล้ว และให้ยกเลิกมติ ครม. คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล แล้วใช้แนวทางการแก้ปัญหาตามมติ ครม.วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554
สำหรับเขื่อนปากมูลได้รับการอนุมัติสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2534 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 136 เมกะวัตต์ ซึ่งระหว่างก่อสร้าง โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีการเคลื่อนไหวจากประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากการก่อสร้างต้องระเบิดเกาะแก่งหินตามธรรมชาติซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด และการดำเนินโครงการยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำ และที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลหลายสมัย ร่วมทั้งมีการศึกษาผลกระทบหลายครั้งแต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ