ชาวฮอดสุดทนเดินหน้าออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินด้วยตัวเอง หลังเดือดร้อนที่ดินทับซ้อนกว่า50ปีจนวิถีชีวิตล่มสลาย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 เม.ย. 2556


 

ชาวฮอดสุดทนออกหลักฐานที่ดินทำกิน รอรัฐช่วยเหลือไม่ไหว

 

 

เมื่อความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐไม่ได้ผล การเดินหน้าเพื่อช่วยเหลือตัวเองให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนจึงถือเป็นหนทางสุดท้าย ล่าสุดชาวบ้านในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ใน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาความเดือดร้อนทับซ้อนจากการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และ การสร้างเขื่อนภูมิพล มายาวนานกว่า 50 ปี จึงรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการปัญหาด้วยตัวเอง โดยไม่หวังพึ่งพิงการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว ด้วยการเดินหน้าจัดทำหนังสือรับรองสิทธิชุมชนการจัดการที่ดิน ขึ้นด้วยตัวเอง เพื่อมอบให้กับชาวบ้านซึ่งครอบครองที่ดินทำกินจำนวน 778 แปลง หรือประมาณ 500 ไร่  ออกเป็น “หนังสือรับรองสิทธิชุมชนการจัดการที่ดินตำบลฮอด'  เพื่อเป็นเอกสารหลักฐาน ยืนยันการใช้ประโยชน์ที่ดินดั้งเดิม  หลังต้องประสบกับปัญหาที่ดินทับซ้อนมาเกือบครึ่งศตวรรษ  นับแต่ปี พ.ศ.2507 ที่มีการเปิดใช้ 'เขื่อนภูมิพล' และต่อมามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง  จนต้องกลายเป็นผู้บุกรุกในที่ดินของตนเอง แม้จะพยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่ปรากฎว่าได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานาน

 

นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การมอบหนังสือรับรองสิทธิฯ ดังกล่าว เป็นความพยายามของชาวบ้านเอง ที่จะต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง หลังจากหมดหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาจากหน่วยงานของรัฐ เพราะที่ผ่านมานอกจากปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนของชาวบ้านแล้ว ความเดือดร้อนที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมยาวนานกว่า 6 เดือน จากการเก็บกักน้ำของเขื่อนภูมิพล และปัญหาภัยแล้งในฤดูร้อน ยังเป็นความยากลำบากของชาวบ้านดงดำที่ต้องประสบตลอดมา โดยไม่ได้สิทธิรับการช่วยเหลือจากภาครัฐใด ๆ เลย ทั้งที่พื้นที่หมู่บ้านดงดำ มีประวัติศาสตร์ ร่องรอยอารยธรรมของชุมชนตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ว่าเป็นเจ้าที่ดินพื้นที่เดิมแห่งนี้มาก่อนที่จะถูกภาครัฐประกาศพื้นที่ทับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทำข้อมูลกว่า 5 ปี อบต.เป็นผู้รับรองสิทธิ์ให้

 

 

รองนายกอบต.ฮอดกล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญคือไม่มีหน่วยงานใดที่สนใจแก้ปัญหานี้ เมื่อชาวบ้านพยายามเรียกร้องหรือกระตุ้นให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน กลับไม่มีหน่วยงานใดที่ให้ความสนใจต่อปัญหา อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติก็ไม่สามารถขอรับการช่วยเหลือหรือการชดเชยจากหน่วยงานรัฐได้ จุดนี้เองเป็นสาเหตุให้ชุมชนและท้องถิ่นคือ อบต.ฮอด ต้องร่วมมือกับชาวบ้าน หาทางจัดการปัญหา จึงเกิดเป็นแนวคิดการรับรองสิทธิที่ดินของชุมชนขึ้น และเริ่มลงมือเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา โดยแรกเริ่มชาวบ้านไม่คิดอยากได้ นส.3 หรือเอกสารสิทธิอะไร แค่อยากจะมีความมั่นใจในการทำสวนทำไร่ในที่ดินซึ่งทำกินมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ชาวบ้านไม่มีอะไรเลยเพื่อจะยืนยันสิทธิของเขาเอง จะไปขอขุดสระน้ำก็ไม่ได้ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรหรือไม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์กรณีประสบภัยพิบัติได้เลย

 

 

            “เราต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ในการเก็บข้อมูลชุมชนและร่องรอยการทำมาหากินรวมทั้งที่แหล่งที่ตั้งชุมชนในอดีต เพื่อพิสูจน์ว่าชาวบ้านไม่ใช่ผู้บุรุก โดยมี อบต.ฮอด เป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชน และนำไปสู่การออกหนังสือรับรองสิทธิชุมชนฯ อันเป็นหลักฐานยืนยันสิทธิ์ของชาวบ้าน เราเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก การลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายแปลงและกำหนดเขตเพื่อออกเอกสารชุดแรก แม้เราจะรับรองกันเอง แต่ก็เป็นความหวังเดียวของชาวบ้าน ดีกว่าอยู่กันไปวันๆ ไม่มีความมั่นใจ ถ้าวันหนึ่งรัฐมีนโยบายเข้ามาพัฒนาโครงการในพื้นที่ อย่างน้อยเราก็มีเอกสารรับรองที่ชาวบ้านและ อบต.ช่วยกันรับรองสิทธิ์ของชาวบ้าน”นายจงกล กล่าว

 

 

เชิญตัวแทนรัฐรับรู้ ทั้งที่ร้องขอความช่วยเหลือแต่ไม่เคยได้

 

 

หลังจากความพยามในการที่จัดการปัญหาเรื่องหนังสือรับรองสิทธิ์ฯ มาเป็นเวลานาน กระทั่งถึงวันนี้ การดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านได้มีเอกสารยืนยันการใช้พื้นที่เป็นของตัวเองจึงเสร็จสิ้นลง และพร้อมที่จะมอบให้กับชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ต้องรอคอยมาเป็นเวลานาน โดยในการมอบหนังสือรับรองสิทธิ์ฯ ครั้งนี้ คณะทำงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ได้ส่งหนังสือเชิญตัวแทนภาครัฐ ทั้ง ตัวแทนอุทยานแห่งชาติออบหลวง องค์กรท้องถิ่น  รวมถึง สส. และ สจ.ในพื้นที่ร่วมงาน พร้อมรับฟังปัญหาและแสดงความคิดเห็นร่วมกันด้วย

 

นายประธาน ปอกอ้าย 1 ในชาวบ้านที่จะได้รับหนังสือรับรองสิทธิฯ ในครั้งนี้กล่าวว่า ชาวบ้านกำลังประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่เป็นพื้นที่ของชุมชนดั่งเดิม แต่กลับโดนอุทยานฯ ขับไล่ให้ออกนอกพื้นที่ของตนเอง ชาวบ้านหลายคนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหันออกไปขายแรงงานในต่างถิ่น ทุกคนจึงหวังว่าหนังสือรับรองสิทธิฯ จะเป็นเครื่องมือยืนยันสิทธิให้แก่ชาวบ้าน

 

          “หนังสือรับรองจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับชาวบ้านว่าจะไม่มีใครมาไล่พวกเขาให้ออกจากผืนดินของปู่ย่าตายาย แม้จะเป็นการรับรองกันเอง แต่ครั้งนี้นับว่าเป็นแรงพลังของชาวบ้านที่เกิดจากความตื่นตัวของชุมชน เห็นได้ชัดเวลามีการประชุมในเรื่องนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะพร้อมเพรียงและร่วมมือกันอย่างเต็มที่”นายประธาน กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หวังได้ที่ดินทำมาหากิน หลังต้องออกไปรับจ้างไปวันๆ

 

 

เช่นเดียวกับ นายบุญศรี โนจา ชาวบ้านที่ได้รับหนังสือรับรองสิทธิฯ กล่าวว่า ที่ดินของตนถูกน้ำท่วมทุกปี โดยต้องอาศัยช่วงเขื่อนปล่อยน้ำออกซึ่งพอจะมีผืนดินว่างทำการเกษตรได้บ้าง เช่น ปลูกข้าวโพดแต่ก็ยังไม่พอกิน จำเป็นต้องออกหาปลาควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ช่วงน้ำท่วมจะออกไปรับจ้างขึ้นลำไยที่ จ.กำแพงเพชร ครั้งละ 10 วัน ถึง 1 เดือน แลกกับค่าจ้างตระกร้าละ 40 บาท ถ้าทำงานเต็มที่ได้เงินประมาณ 300-400 บาทต่อวัน ทั้งตนและชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน ยามแล้งน้ำก็ไม่พอใช้ ถ้าน้ำท่วมก็นาน 6 เดือน และไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ ต้องพยายามหากินไปวัน ๆ เป็นความเดือดร้อนยาวนาน ที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล การเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองของชาวบ้านในครั้งนี้จึงถือเป็นความหวังของทุกคนที่จะมีโอกาสใช้ชีวิตในที่ดินทำกินของตัวเองอย่างมั่นใจ

 

 

มีร่องรอยชัดเป็นชุมชนเกษตรกรรมก่อนเขื่อนผุด

 

 

สำหรับ“บ้านดงดำ” อ.ฮอด จ.เชียงใหม่  มีข้อมูลระบุว่า เคยเป็นชุมชนหนึ่งที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมลุ่มน้ำปิงมาเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้าที่จะถูกประกาศเป็นพื้นที่สร้างเขื่อน บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแหล่งหนึ่งของลุ่มน้ำภาคเหนือ และยังเป็นเมืองท่าสำคัญ เรือที่ขึ้น-ล่องจากภาคกลางและเชียงใหม่ เพื่อหยุดพักแลกเปลี่ยนสินค้าอีกด้วย

 

จากร่องรอยของประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ยังพบว่า ใน ต.ฮอด ในอดีตเคยมีวัดอยู่ถึง 99 แห่ง ทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งสะสมทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนโบราณมาหลายชั่วอายุคน  กระทั่ง ปี พ.ศ.2507 ภายหลังที่มีการเปิดใช้ “เขื่อนภูมิพล” หรือในชื่อเดิมว่า “เขื่อนยันฮี” ด้วยพื้นที่เหนือเขื่อนที่ครอบคลุม อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จึงทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านดงดำได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ พื้นที่การเกษตรหลายแห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพราะไม่สามารถทำมาหากินในที่ดินเดิมได้อีกต่อไป โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านถูกเวนคืนพื้นที่ทำกิน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ่ายค่าเวนคืนให้พื้นที่ในเขตเทศบาลไร่ละ 600 บาท นอกเขตเทศบาลไร่ละ 400 บาท และจ่ายค่าต้นไม้ในที่ดินที่เวนคืนต้นละ 20 บาท และแม้จะมีการจัดสรรที่ทำกินแหล่งใหม่ให้แก่ชาวบ้าน แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ย้ายออกไป เพราะพื้นที่ใหม่ที่ถูกจัดสรร กลายเป็นพื้นที่ทุรกันดารและอยู่ห่างไกลแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้เป็นเหยื่อรัฐ ชี้นิ้วเลือกที่ทำเขื่อนไม่ถามชาวบ้าน

 

 

รอง นายก อบต.ฮอด ย้อนอดีตให้ฟังว่า  คนอาจจะเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็ยอมรับการเข้ามาของเขื่อนแล้ว แต่ทำไมต้องมาเรียกร้องอีก แต่อยากให้สังคมเข้าใจว่าในอดีต สังคมไทยยังมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบที่มาจากการสร้างเขื่อนน้อยมาก มีแต่ภาพที่ถูกทำให้เข้าใจว่าเขื่อนจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่างๆ ทั้งการกักเก็บน้ำ และผลิตกระแสไฟฟ้า และหากลงไปถึงชาวบ้านดั้งเดิมก็จะยิ่งไม่มีความรู้เรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโครงการของรัฐ ที่ระบุว่าจะนำพื้นที่ใดไปทำเขื่อน ก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอยู่แล้ว ทำให้ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกสั่งให้ย้าย ถูกเวนคืนที่ดินโดยไม่มีการโต้แย้ง และเมื่อไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และกลับไปขอความช่วยเหลือจากกฟผ. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ก็จะได้รับคำตอบว่า เมื่อได้รับค่าชดเชยไปแล้วในสมัยพ่อแม่ คงจะไม่สามารถกลับมาเรียกร้องอะไรได้อีก สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไม่ได้มองถึงความเดือดร้อนที่เป็นจริงของชาวบ้านเลย ถึงแม้จะยอมรับว่ากลุ่มคนอยู่เหนือเขื่อนเป็นคนกลุ่มน้อยมาก หากเทียบกับผู้ที่อยู่ใต้เขื่อน แต่อยากให้มองว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เสียสละที่ดินและวิถีชีวิตให้กับเขื่อนไปแล้ว ก็ควรจะได้รับการช่วยเหลือหากไม่สามารถดำรงชีวิตแบบเดิมได้

 

แต่เมื่อไม่สามารถทำกินได้ก็ต้องกลับมาที่เดิม และที่ผ่านมา กฟผ.เองก็ไม่เคยคัดค้านว่าอะไร จนกระทั่งสามารถสร้างถนนหนทาง ตั้งเป็น อบต.ได้  แต่ในปี พ.ศ.2534 พื้นที่ อ.จอมทอง อ.ฮอด และ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  กับกลับถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบหลวง ครอบคลุมพื้นที่ 345,652 ไร่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ตามขอบน้ำชายป่าบริเวณนี้ ทำให้ที่ดินทำกินซึ่งหนีน้ำเหนือเขื่อนขึ้นมาที่สูงต้องถูกประกาศทับเป็นเขตอุทยาน ไร่นา สวนลำไยของชาวบ้านตกเข้าไปเป็นเขตป่า การหากินในพื้นที่เดิมจึงไม่สามารถทำได้ เพราะกลายเป็นการบุกรุกไปอีกปัญหาหนึ่ง ทำให้ ปัจจุบันชาวบ้านดงดำประมาณ 100 ครัวเรือน ต้องปรับวิถีชีวิตให้อยู่รอด กล่าวคือ พื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 260 เมตร จะอยู่ในพื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อน และหากสูงกว่าระดับน้ำทะเล 260 เมตรจะอยู่ในเขตป่า โดยชาวบ้านเลือกที่จะทำไร่ทำนาช่วงหน้าแล้งเพียงปีละครั้งเท่านั้น เนื่องจากเมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำนาน 3-6 เดือนทุกปี

 

 

น้ำท่วมใหญ่คนใต้เขื่อนท่วม 1 เดือน คนเหนือเขื่อนท่วม 6 เดือน

 

 

ในช่วงปี พ.ศ.2554 มหาอุทกภัยที่ผ่านมา บ้านดงดำก็ได้รับผลกระทบจากอุกทกภัยหนักเช่นกัน เนื่องจากเขื่อนภูมิพลจำเป็นต้องกักเก็บน้ำและชะลอการปล่อยเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากลงไปซ้ำเติมน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มใต้เขื่อน คือจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพฯ ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่เหนือเขื่อนและล้นไปถึงพื้นที่ต้นน้ำยาวนานกว่าปกติเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อน้ำระดับน้ำสูงขึ้นก็เข้าท่วมหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน และถนนเส้นหลักในบางช่วง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “แม้จะมีความเดือดร้อนอย่างหนัก แต่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็ไม่เคยคิดต่อสู้ เพราะคิดว่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของรัฐ จะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับสภาพให้ได้ แม้จะไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือก็ไม่เคยได้รับ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด แต่หากมองในด้านของมนุษยธรรม ก็อยากให้ ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นใจชาวบ้านบ้าง เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากเขื่อน ชาวบ้านจึงไม่มีที่ทำกินและไม่มีที่อยู่  และชาวบ้านไม่รู้ว่ามีช่องทางการต่อสู้อย่างไร นั่นเพราะเดิมแล้วชาวบ้านมักจะถูกจัดการโดยภาครัฐมาโดยตลอด ชาวบ้านก็มีหน้าที่ทำตามแผนของรัฐเท่านั้น เมื่องบหมดก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพิ่งมาในปี 2549 ที่ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง”

 

 

นายจงกลกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการชุมชนที่เกิดขึ้นจนกระทั่งมีแนวคิดในการจัดทำหนังสือรับรองสิทธิที่ทำกิน ดังกล่าวนี้ เป็นการริเริ่มกันด้วยชาวบ้านเอง เริ่มตั้งแต่เรียกประชุมผู้นำชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล ทำข้อตกลงร่วมกันว่าปัญหาในท้องที่เป็นอย่างไร จากนั้นก็หาฉันทามติร่วมกันว่าแนวทางการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร จากนั้นผู้นำชุมชนก็กลับไปจัดตั้งชาวบ้านด้วยการเรียกมาอบรม พร้อมกันนี้ยังได้มีการทำข้อมูลประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เพื่อให้รู้จักรากเหง้า และใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ ไม่ได้เป็นผู้บุกรุก

 

 

ขอยืนหยัดด้วยตัวเอง เพราะสิ้นหวังจากภาครัฐ

 

 

ขณะที่นายนิพันธ์ ทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ฮอด กล่าวว่า  ที่ผ่านมาสิ่งที่ทุกคนต้องการและเรียกร้องมาตลอดคือ 1.อยากให้ช่วยยกระดับพื้นที่ถนนที่ถูกน้ำท่วมให้สูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาน้ำท่วมจะสูงจากขอบถนนถึง 3 เมตร เส้นทางสัญจรถูกตัดขาดทั้งหมด 2.อยากให้คืนโฉนดที่ดินที่น้ำท่วมไม่ถึงแต่ถูก กฟผ.เวนคืนไปก่อนหน้านี้ เพราะเวลานี้ กฟผ.ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น แต่ชาวบ้านต้องการใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งการจัดทำ “หนังสือรับรองสิทธิชุมชนการจัดการที่ดินตำบลฮอด” จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการต่อสู้ด้วยตัวเองของชุมชน ที่ขาดการเหลียวแลจากภาครัฐ แม้จะไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็จะเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นตัวตนของชาวบ้านในการดำรงชีวิตในที่ดินของบรรพบุรุษต่อไป ที่ต้องยืนหยัดด้วยตัวเองเพราะความหวังจากการช่วยเหลือของภาครัฐคงจะใช้ไม่ได้ในพื้นที่นี้แล้วจริง ๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: