วิพากษ์ค่าแรงในมุม‘เกียรติอนันต์’ หวั่นทำให้เกิดเหลื่อมล้ำย้อนกลับ จวกรัฐไร้ทิศ-หักด้ามพร้าด้วยเข่า

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2343 ครั้ง

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ ยังคงติดตามกระแสความเห็น ต่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งข่าวที่ปรากฏบนหน้าสื่อกระแสหลัก มักเสนอผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข่าว TCIJ ได้นำเสนอความเห็นของ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศจุดยืนเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง เพราะที่ผ่านมาลูกจ้าง-คนงานคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

 

วันนี้ TCIJ สนทนากับ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งมีความเห็นไม่ต่างจาก รศ.ดร.พิชิต ที่ว่าค่าแรงจำเป็นต้องขึ้น แต่ในรายละเอียดนั้น เขามีมุมมองที่แตกต่างออกไป

 

 

 

ต้องขึ้น 300 แต่ไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ

 

 

             “ผมเห็นด้วยว่าต้องขึ้นค่าแรง มากกว่าที่เคยขึ้นในอดีต เพราะผลิตภาพของไทยโตค่อนข้างเร็ว แต่ค่าแรงไม่ขึ้นตามผลิตภาพ แต่ขึ้นตามค่าครองชีพ คำถามคือการขึ้นค่าแรงตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรือซีพีไอ (CONSUMER PRICE INDEX: CPI) มันสะท้อนทั้งหมดหรือเปล่า เพราะแรงงานไม่ได้ใช้เงินซื้อทุกอย่างในซีพีไอ ถ้าเอาเฉพาะส่วนของซีพีไอที่เป็นของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ละปีควรต้องขึ้นค่าแรงมากกว่านั้น ผลสะสมที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานรู้สึกว่าเงินที่มีอยู่ไม่พอจ่าย ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มองย้อนกลับไป 10 ปีเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้ว รายได้ของแรงงานเพิ่มช้ากว่าค่าครองชีพ ทำให้แรงงานจนลงโดยเปรียบเทียบ ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง”

 

 

แต่สิ่งที่ ดร.เกียรติอนันต์ ไม่เห็นด้วยคือ การขึ้นค่าแรงเท่ากันหมดทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าผิดหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เพราะบริบททางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ค่าแรงไม่ควรถึง 300 บาท ขณะที่บางพื้นที่ควรขึ้นเกินกว่า 300 บาท แต่ค่าแรง 300 บาทเท่ากันหมด จะบีบให้ผู้ประกอบการตั้งโรงงานใกล้ตลาดเป้าหมาย มากกว่าจะตั้งในพื้นที่ห่างไกล แต่ค่าแรงไม่ต่างกัน ทำให้เกิดการกระจุกตัวของการพัฒนาเฉพาะหัวเมืองใหญ่ สุดท้ายจังหวัดที่ต้องการให้เติบโต อาจไม่โตดังที่คาด และทำให้แรงงานไหลเข้าสู่ภาคเกษตร

 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เดือนกันยายน 2554 เทียบกับเดือนกันยายน 2555 มีแรงงานไหลกลับไปภาคเกษตร 600,000 กว่าคน ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและโรงแรม แรงงานลดลง 500,000 กว่าคน ภาคค้าปลีก-ค้าส่งลดลง 400,000 คน และภาคอื่น ๆ อีก 2 แสนคน การจ้างงานลดลง 1.1 ล้านคน ใน 3 ภาคส่วนนี้

 

 

                 “เรารู้ว่าภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ขาดแคลนแรงงาน แรงงานกลุ่มหนึ่งที่ไหลออกจากภาคท่องเที่ยวและโรงแรมจะไหลเข้าสู่ภาคส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็มีแรงงานจากทุกภาคส่วนไหลเข้าสู่ภาคเกษตร 600,000 กว่าคน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นตัวเลขที่กระทรวงแรงงานใช้บอกว่า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 300,000 กว่าคน มันแปลว่าเขากำลังมองตัวเลขภาพรวม แต่จริง ๆ แล้วผลกระทบมันเกิดขึ้นในระดับย่อย มันต้องดูการไหลของแรงงาน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งแรงงานไหลไปตั้งหลักในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นอีกสักพักยอดการจ้างงานในภาคเกษตรจะกลับมาเป็นปกติ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน คนที่ไหลออกจากภาคท่องเที่ยวและโรงแรม ไหลไปยังภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ ทักษะมันคนละแบบ แม้ว่าจะหางานทำได้ แต่คุณภาพชีวิตจะดีเหมือนเดิมหรือเปล่า มันเป็นคำถามที่ต้องถามควบคู่กันไปด้วยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต”

 

 

300 บาท สร้างความเหลื่อมล้ำแบบย้อนกลับ

 

 

 

กลุ่มที่สนับสนุนการขึ้นค่าแรง 300 บาท ชูการลดความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งดร.เกียรติอนันต์ มีมุมมองต่างออกไปว่า เขาเห็นว่ามันอาจช่วยลดช่องว่างระหว่างชนชั้นได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป เขาเห็นว่าค่าแรงควรจะสูงขึ้น แต่นโยบายสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต้องดู 2 มิติ คือความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกับในชนชั้นเดียวกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร.เกียรติอนันต์อธิบายความเหลื่อมล้ำภายในชนชั้นที่ค่าแรง 300 บาท ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวพันกับที่เขาอธิบายไปก่อนหน้า ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเท่ากันหมดทั้งประเทศว่า เมื่อบริบทแต่ละพื้นที่ต่างกัน การขึ้นค่าแรงเท่ากัน ค่าเงินของแรงงานในจ.พะเยากับกรุงเทพฯ ย่อมไม่มีวันเหมือนกัน โดยเปรียบเทียบแล้วแรงงานในต่างจังหวัดจะ ‘รวย’ ขึ้น แต่แรงงานในกรุงเทพฯ จะ ‘จน’ ลง ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ลดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการปรับความเหลื่อมล้ำแบบย้อนกลับ

 

 

               “ชาวนาเหมือนกันขายข้าวได้ราคาไม่เท่ากัน นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ควรต้องแก้ ก่อนทำให้ชาวนารวยเท่าคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ แล้วจึงค่อยขยับมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น จึงจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในชนชั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับโครงสร้างค่าจ้างถ้าเป็นแรงงานด้วยกัน ส่วนความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ต้องแก้ด้วยการปรับผลิตภาพ ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยการขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้วจบ”

 

 

จวกรัฐบาลขาดการวางแผน ไร้มาตรการสนับสนุน

 

 

การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ จากเน้นการใช้แรงงานราคาถูก สู่การเน้นการใช้เครื่องจักร-เทคโนโลยี และเพิ่มระดับผลิตภาพของประเทศ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เชื่อว่าจะเป็นอานิสงก์สำคัญ จากการขึ้นค่าแรง เบื้องต้น ดร.เกียรติอนันต์ เห็นด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าไปในแนวทางดังกล่าว แต่แค่ 300 บาทไม่พอ จำเป็นต้องมีชุดมาตรการเพื่อปรับโครงสร้าง ซึ่งปกติต้องวางแผนล่วงหน้า 3-5 ปี ไม่สามารถจะทำได้ในเวลา 8 เดือน อีกทั้งในระบบเศรษฐกิจ ก็มีทั้งภาคส่วนที่ก้าวหน้าและล้าหลัง ที่จะต้องได้รับการปรับไปพร้อม ๆ กัน

 

แต่เท่าที่ติดตาม ดร.เกียรติอนันต์ ยังไม่เห็นแนวนโยบายหรือมาตรการใด ๆ ของภาครัฐที่จะออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เกิดการปรับตัว 16 มาตรการที่ออกมาก็ไม่ได้ผล เขาคิดว่ามาตรการทางภาษีไม่ควรเป็นมาตรการหลัก แต่ควรเป็นมาตรการเสริม เพราะภาษีคิดเป็นรายปี แต่ผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสด ค่าจ้าง 300 บาท เป็นสิ่งที่ต้องจ่ายออกทุกวัน เหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีอีก 2 ล้านรายที่ไม่อยู่ในระบบ ที่สำคัญรัฐบาลไม่มีแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานที่เป็นรูปธรรมเลย

 

 

 

               “ผมเห็นด้วยว่าสุดท้ายประเทศไทย ต้องไปข้างหน้าแบบนี้ แต่ปกติการเปลี่ยนผ่านต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี ไม่ใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะแรงงานราคาถูกคือกลุ่มคนที่มีทักษะน้อย ซึ่งมีอยู่หลายช่วงอายุ ลองตัดไปว่าอายุ 45 ขึ้น ถ้าวันนี้กระบวนการผลิตเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลย คนกลุ่มนี้จะไปอยู่ไหน คนงานที่เคยตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยมือต้องเปลี่ยนมาใช้เลเซอร์ เขาจะทำได้หรือไม่ เพราะไม่มีกระบวนการเพิ่มทักษะแรงงานมาก่อนหน้านี้”

 

 

 

 

 

 

เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ปรับตัวได้ เจ๊งแสนกว่ารายเป็นไปได้น้อย

 

 

ดร.เกียรติอนันต์ เป็นผู้หนึ่งที่ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบที่มีต่อเอสเอ็มอีจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท รอบแรกเมื่อเดือนเมษายน 2555 เขาจึงไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายคัดค้านกล่าวว่า ค่าแรง 300 บาท จะทำให้เอสเอ็มอีต้องปิดกิจการนับแสนราย เพราะเป็นการกล่าวแบบเหมารวม แต่ต้องดูด้วยว่าปิดกิจการเพราะอะไร จากที่เขาทำการศึกษาพบว่า แม้การขึ้นค่าแรง 300 บาทจะกระทบกับเอสเอ็มอีมาก แต่จะมีที่ต้องปิดกิจการไม่มาก ส่วนใหญ่สามารถปรับตัวได้ แต่วิธีการปรับตัวก็มักเป็นวิธีที่กระทบต่อแรงงาน เช่น การเอาคนบางส่วนออก ใช้เครื่องจักรทดแทนคน ลดค่าทำงานล่วงเวลา แต่เพิ่มการทำงานเป็นกะทำให้แรงงานทำงานหนักขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นการเหมาช่วงงานไปทำที่บ้านเพื่อไม่ต้องอยู่ในระเบียบของกฎหมายจ้างแรงงาน เป็นต้น

 

 

              “แต่ที่เป็นเชิงอรรถไว้คือ ถ้าเจออะไรหนักกว่านี้ เขาจะตาย ที่ว่าเอสเอ็มอีจะปิดถึงแสนกว่าราย ผมว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเยอะ และยังมีพวกที่รอจังหวะปิดอยู่แล้วเพื่อย้ายฐาน มีกลุ่มที่คิดว่าสู้ไหว แต่พอเจอกับต้นทุนพลังงานที่จะเพิ่มขึ้นด้วยก็ไม่ไหว กับกลุ่มที่ยังไงก็ต้องตายอยู่ทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ระบบบ้านเราไม่ช่วยให้ติดตามได้ว่า ตายเพราะนโยบายนี้มากแค่ไหน และจะช่วยอย่างไร เพราะฉะนั้นตัวเลข 130,000 มันมีความเป็นไปได้ แต่โอกาสเกิดมันน้อย”

 

 

ส่วนที่ว่าค่าแรง 300 บาทจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและเป็นเหตุให้ทุนใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มมากขึ้น ดร.เกียรติอนันต์ เห็นว่าเป็นข้อคัดค้านที่ฟังไม่ขึ้นนัก เพราะไม่ว่าจะอย่างไรผู้ประกอบส่วนหนึ่งก็ต้องย้ายฐานอยู่แล้ว เพียงแต่นโยบายนี้อาจจะเป็นตัวเร่ง ส่วนการที่ทุนใหญ่จะมีอำนาจเหนือตลาดก็เป็นธรรมชาติของระบบทุนนิยม ที่ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

 

 

 

ผลกระทบภาคเกษตรไม่ชัด แต่ไทยต้องเลือกให้ภาคเกษตรโตหรือตาย

 

 

ประเด็นสำคัญต่อมาคือ ในระยะยาวค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะดึงแรงงานออกจากภาคการเกษตร ซึ่งจะกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ดร.เกียรติอนันต์ มองว่าเป็นคำถามสำคัญ แต่ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก ซึ่งคำตอบสามารถเป็นไปได้ทั้งสองทางคือ ทำให้คนงานออกจากภาคเกษตรหรือทำให้คนไหลเข้าภาคเกษตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าตลาดแรงงานเป็นอย่างไร

 

 

            “ถ้า 300 บาท ทำให้คนมาเป็นแรงงานมากขึ้น คำถามคือตลาดมันหมายถึงอุปสงค์กับอุปทาน เรากำลังพูดถึงคนเข้ามาหางานในเมืองมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้งานทำ เพราะฉะนั้นมันดึงแรงงานจากภาคเกษตร ที่อยากเข้ามาเป็นแรงงานมากขึ้นจริง แต่ได้งานทำจริงหรือเปล่า มันต้องแยกกัน ผมว่าข้อนี้ยังไม่ชัดเจน”

 

 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดว่าโดยแนวโน้มของการพัฒนา จะทำให้เกษตรเล็กลงอยู่แล้ว ที่ฝ่ายเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 300 บาทยกขึ้นมาใช้สนับสนุนนั้น ดร.เกียรติอนันต์ ตั้งคำถามกลับว่า จริงหรือไม่ โดยยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย ที่ภาคการเกษตรไม่ได้เล็กลง แต่กลับแข็งแกร่งขึ้น

 

             “อย่าบอกว่าทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาคเกษตรจะเล็กลง นั่นเป็นการคิดแบบเดินตามหลังเขา คำถามคือถ้าเราจะลงลู่วิ่งเดียวกันกับเขา เราจะวิ่งกับเขาได้หรือไม่ หรือเราจะเลือกวิธีของเรา เราเลือกได้ว่าจะให้ภาคเกษตรใหญ่หรือเล็ก ผมว่าเรากำลังทิ้งจุดแข็งของตัวเอง ภาคเกษตรเราควรจะใหญ่กว่านี้ แต่ไม่ใช่ใหญ่ในแบบเดิม ต้องเป็นภาคเกษตรที่เกษตรกรมีกรอบความคิดแบบนักธุรกิจ”

 

 

และที่ว่าเมื่อภาคเกษตรเล็กลง รายได้เฉลี่ยและประสิทธิภาพต่อหัวของแรงงานในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นจนไต่ระดับเท่า หรือเกือบเท่าภาคการผลิตอื่น ๆ สุดท้าย ระบบจะปรับตัวสู่สมดุลโดยตัวมันเอง ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า เป็นการมองแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ไม่ครบวงจร ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้มาตั้งแต่สมัยการปฏิวัติเขียว คำถามคือคนที่ออกมาจากภาคเกษตร เป็นคนที่ต้องการอยู่ในภาคเกษตรต่อหรือคิดจะออกมาอยู่แล้ว

 

 

 

            “ครอบครัวเกษตรกรตอนนี้ หัวหน้าครัวเรือนมีอายุ 50 ปีกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าคนที่ออกมาไม่ใช่หัวหน้าครัวเรือน เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจจะออกอยู่แล้วก็ได้ 300 บาทจะดึงเขาออกมามากขึ้นหรือเปล่า เราไม่รู้ ดังนั้น ที่บอกว่าผลิตภาพต่อหัวจะสูงขึ้น ใช่ แต่มันเป็นแค่คณิตศาสตร์ มันไม่ได้สะท้อนโครงสร้างการผลิตที่แท้จริง และก็พูดเองว่าโครงสร้างตลาดเกษตรกรเป็นโครงสร้างที่กดขี่ ไม่สมดุล ถ้าเกษตรต้องซื้อเครื่องมือเครื่องจักร ปรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ เมื่อถูกกดขี่ แสดงว่าเขาจน แล้วจะเอาที่ไหนมาลงทุน”

 

 

แนะรัฐเร่งหาทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี

 

 

โดยสรุปแล้ว ดร.เกียรติอนันต์ เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ และยังเห็นว่ารัฐไม่มีการบริหารจัดการ และมาตรการรองรับที่ดีพอ เขาเสริมว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาท ถือเป็นนโยบายใหญ่ระดับประเทศที่ไม่มีการศึกษาใด ๆ ไม่มีการจำลองสถานการณ์ผลกระทบ และมาตรการรับมือเลย

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นค่าแรงเท่ากันไปแล้ว ขณะนี้ก็ต้องพูดถึงการยกระดับพื้นที่ต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถจ่าย 300 บาทให้ได้ รัฐต้องมีแผนการลงทุนระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและศักยภาพที่ทำให้จังหวัดนั้นเติบโตได้ และต้องทำอย่างเร่งด่วน

 

 

            “ขณะเดียวกันต้องประคองผู้ประกอบการให้ผ่านไปให้ได้ กลายเป็นว่าต้องแก้หลาย ๆ ขาไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าทุ่มเรื่องนี้อย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์ระยะยาวกับประเทศไทย และอย่างน้อยมาตรการบรรเทาผลกระทบต้องทั่วถึงมากกว่านี้ ต้องมองข้อมูลเชิงลึกมากกว่าเดิม ไม่ใช่ตัวเลขเชิงมหภาคกว้าง ๆ  ซึ่งมันไม่สะท้อนอะไร”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สร้างแนวทางขึ้นค่าแรงแบบยั่งยืน

 

 

ประเด็นการจะทำให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตมีความเป็นธรรม โดยไม่ต้องพึ่งการฝ่ายเมืองเพียงฝ่ายเดียว ดร.เกียรติอนันต์ แนะว่า ต้องผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับอนุสัญญาพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (International Labour Organization: ILO) ซึ่งให้สิทธิแรงงานในการรวมกลุ่มกัน เพราะแม้ว่ากฎหมายไทยจะให้สิทธิแรงงานในการก่อตั้งสหภาพ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวจะช่วยปลดล็อกในส่วนนี้

 

ประการที่ 2 การปรับขึ้นค่าแรงควรพิจารณาจากผลิตภาพ ต้องมีการเปลี่ยนกรอบแนวคิดใหม่ว่า ต้องพิจารณาจากผลิตภาพเฉลี่ยของแต่ละภาคส่วนและอัตราเงินเฟ้อรวมกัน เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ ดร.เกียรติอนันต์ เห็นว่าไม่ยุติธรรม เนื่องจากถ้าภาคการผลิตดใดมีผลิตภาพเพิ่มสูง แสดงว่าแรงงานในภาคการผลิตนั้นมีผลิตภาพสูงขึ้น ก็ควรจะได้ค่าแรงมากขึ้น

 

 

 

 

            “ผมคิดว่าต้องเอาผลิตภาพมาคิดด้วย บวกกับค่าครองชีพ แล้วให้โตไปตามนั้น และต้องมีกลไก ข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน ไม่จำเป็นว่าผลิตภาพโตขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วค่าแรงต้องขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะอาจมีบางส่วนที่นายจ้างลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรเอง เมื่อผลิตภาพเพิ่มสูงกว่าจะไม่กระทบกับค่าครองชีพและต้นทุนในระยะยาว”

 

ในส่วนคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ต้องทำให้คณะกรรมการเป็นตัวแทนของทั้งสามฝ่ายโดยแท้จริง ทั้งการประชุมแต่ละครั้งต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีข้อมูลสนับสนุนที่หนักแน่น น่าเชื่อถือ และเป็นสาธารณะมากกว่านี้ ซึ่งจะช่วยให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: