วุฒิฯแนะปฏิรูปกองสลาก จี้โทษหนักขายเกินราคา

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 24 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1637 ครั้ง

 

จากกรณีที่ ส.ส. ซีกรัฐบาลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งทาง TCIJ ได้รายงานเนื้อหาและนัยที่ซุกซ่อนไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการให้อำนาจสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถออกสลากรูปแบบอื่นๆ ได้ การเพิ่มเงินค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการและการจัดจำหน่ายสลากรูปแบบอื่นๆ โดยไม่ต้องส่งเงินเข้าแผ่นดิน โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบ

 

เหตุนี้ ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา จึงได้ทำข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย เสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

ประการแรก ควรปรับเปลี่ยนปรัชญาและเหตุผลของการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล รัฐไม่ควรใช้สลากเป็นเครื่องมือแสวงหารายได้เข้ารัฐ ผ่านการส่งเสริมให้ประชาชนเล่นสลากเพิ่มมากขึ้นด้วยการออกสลากรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มจำนวนการจำหน่าย ส่วนรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายสลากควรจัดสรรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม สร้างกลไกในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดจากการเล่นสลากและการพนันประเภทอื่นๆ

 

ประการที่ 2 การออกสลากรูปแบบใหม่ๆ ต้องมีการพิจารณา ศึกษาผลดี-ผลเสียอย่างรอบด้าน มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าควรอนุมัติหรือไม่ โดยคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นและต้องสั่งระงับทันที

 

ประการที่ 3 ต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานกิจการสลาก เนื่องจากโครงสร้างคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปัจจุบันมีปัญหาด้านธรรมาภิบาลหลายประการ ทั้งขาดความโปร่งใส ขาดความเป็นอิสระ ไม่มีระบบตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ และมีการขัดกันของผลประโยชน์ ดังนั้น จึงควรมีการแยกบทบาทให้ชัดเจน ประกอบด้วย

 

1.คณะกรรมการกำกับกิจการสลาก (Lottery Regulation Board) ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสลากทุกประเภทและไม่ควรให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากฯ เป็นกรรมการ เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน

 

2.คณะกรรมการบริหารกิจการสลาก (Lottery Operation Board) ทำหน้าที่บริหารกิจการสลาก

 

3.คณะกรรมการบริหารกองทุน (Lottery Grant Board) ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดสรรเงินกองทุนที่จัดเก็บจากการจำหน่ายสลาก เพื่อนำมาพัฒนาสังคมหรือใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์ โดยมีอำนาจกำหนดนโยบายการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงิน

 

โดยคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ต้องมาจากกระบวนการสรรหาอย่างเปิดกว้าง มีวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจนและอยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ ยกเว้นกรรมการโดยตำแหน่ง

 

ประการที่ 4 การจัดสรรเงินจากการจำหน่ายสลากเพื่อพัฒนาสังคม ทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรมีการจัดสรรให้ชัดเจน โดยเป็นเงินรางวัลร้อยละ 60 ของรายได้จากการจำหน่ายสลากแต่ละประเภทที่จำหน่ายได้ทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายการบริหารงานและการจำหน่ายสลากไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้จากการจำหน่ายสลากแต่ละประเภทที่จำหน่ายได้ทั้งหมด ซึ่งอาจกำหนดค่าใช้จ่ายการจำหน่ายสลากให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยของสลากแต่ละประเภทไม่เท่ากัน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 12 เนื่องจากในร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล กำหนดค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของการจำหน่ายสลากในต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพียงประมาณร้อยละ 8-15 เท่านั้น

 

ส่วนร้อยละ 10 ของรายได้จากการจำหน่ายสลากทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นภาษีสลาก และเงินที่เหลือจากทั้งสามส่วนที่กล่าวมาจะถูกจัดสรรเข้ากองทุนสลากเพื่อพัฒนาสังคม

 

ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการเงินจากการจำหน่ายสลากที่มีธรรมาภิบาล ต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและแยกออกจากสำนักงานสลากฯ หรือคณะกรรมการสลากฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการนำเงินกองทุนไปพัฒนาสังคม

 

ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังเสนอว่าควรแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 โดยบัญญัติให้จัดสรรเงินกองทุนสลากฯ ไปยังกองทุนด้านการพัฒนาสังคมที่มีกฎหมายจัดตั้งอยู่แล้ว โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เช่น กองทุนคุ้มครองเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 เป็นต้น

 

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ในประเด็นกองทุนแตกต่างจากร่างกฎหมายของรัฐบาล ที่กำหนดว่าเงินที่จะนำมาใช้ในกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์คือเงินกองทุนสะสมเงินรางวัลส่วนที่เกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าอาจขัดต่อเจตนารมณ์การจัดทำกฎหมายจัดตั้งสำนักงานสลากฯ และจะเป็นช่องทางนำเงินไปใช้ตามนโยบายของฝ่ายบริหารหรือมีการใช้เงินในทางมิชอบ

 

ประการที่ 5 หลักเกณฑ์การคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลาก ควรมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อแก้ปัญหากลุ่มอิทธิพลที่ผูกขาดโควต้าสลาก โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรโควต้าสลากแก่องค์กรที่ดำเนินงานด้านสาธารณกุศลหรือสาธารณประโยชน์ และเป็นองค์กรที่นำเงินรายได้จากสลากมาพัฒนาสังคมอย่างแท้จริง ทางคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า โควต้าในส่วนกลุ่มองค์กรการกุศลต้องจัดสรรให้เฉพาะองค์กรที่มีการจัดจำหน่ายจริง ส่วนองค์กรที่ไม่ได้จำหน่ายจริงให้ยกเลิกโควต้าและใช้เงินกองทุนเยียวยาแทน กรณีที่เป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรกึ่งการกุศลก็จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นองค์กรการกุศลหรือองค์กรเอกชน

 

ประการสุดท้าย ควรมีการเพิ่มเติมความผิดและบทลงโทษให้ทันสมัย แบ่งเป็น 5 ข้อ ดังนี้

 

1.ห้ามโฆษณาหรือทำกิจกรรมเพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปซื้อสลากฯ

 

2.ห้ามจำหน่ายสลากฯ แต่เด็กหรือเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์

 

3.ห้ามจำหน่ายสลากเกินราคา โดยเพิ่มโทษจากเดิมที่ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นปรับตั้งแต่ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท เว้นแต่ผู้ค้าจะพิสูจน์ได้ว่า รับซื้อสลากฯ จากบุคคลอื่นในราคาที่เกินกว่ากำหนดในสลากฯ หากผู้กระทำผิดเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลากฯ จะต้องรับโทษสูงกว่ากรณีทั่วไป

 

4.กรณีตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลากฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลง ให้กำหนดโทษปรับทางปกครองที่มีอัตราสูงเป็น 2 เท่าของผลตอบแทนที่ตัวแทนจำหน่ายสลากจะได้รับในแต่ละงวด

 

5.เพื่อป้องกันและตอบข้อสงสัยของประชาชนเรื่องการล็อกเลข ควรเพิ่มบทลงโทษและมีอัตราเพิ่มเป็น 2 เท่าของความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า การล็อกเลขเป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งประเทศ ทั้งยังควรปรับปรุงวิธีการออกรางวัลและสร้างระบบตรวจสอบการออกรางวัลให้สอดคล้องกับรูปแบบของนานาประเทศและมีความน่าเชื่อถือ

 

จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ค่อนข้างแตกต่างอย่างมากกับร่างกฎหมายของรัฐบาล ที่มีแนวโน้มต้องการสร้างรายได้จากการจำหน่ายสลาก ยังไม่นับอิทธิพลของกลุ่ม 5 เสือกองสลากที่คงไม่ต้องการเห็นข้อเสนอนี้เป็นจริง เพราะหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลที่นอนกินมาตลอดจะต้องหลุดมือไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: