วิทยุ-ทีวีไม่ไว้ใจกสทช.ขอดูแลเอง สื่อ-โฆษณาปรับวิธีตรวจสอบใหม่ รับ'ทีวีดิจิตอล'จับตาเอาผิดได้ยาก

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ ภาพ-กฤชกร เกตุทองมงคล ศูนย์ข่าว TCIJ 24 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1636 ครั้ง

 

ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จนเกิดการพูดกันมากว่าภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนไปแล้ว ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ก็ยิ่งทำให้การทำงานของสื่อต้องปรับตัวและถูกตั้งคำถามหนักหน่วงขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

 

การกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนให้มีความเป็นมืออาชีพและมีจรรยาบรรณ ได้รับการพูดคุยถกเถียงกันมานานแล้ว ซึ่งผลสรุปที่แวดวงสื่อของบ้านเรามักจะเลือก คือการกำกับดูแลกันเองในวิชาชีพ โดยไม่ต้องการให้หน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากวิตกเรื่องการถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตาม ในสายตาสาธารณะ การกำกับดูแลกันเองของสื่อที่ผ่านมากลับถูกตั้งคำถามและดูแคลน ว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ เช่นกรณีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในช่วงสองสามปีนี้ ที่เกิดความขัดแย้งจนสมาชิกลาออกและเพิกเฉยต่อคำตัดสินของสมาคม

 

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จัดเวทีสัมนาในประเด็น ‘การกำกับดูแลที่ควรเป็นในสังคมไทย : กรณีการนำเสนอข่าวและเนื้อหาโฆษณา’ และมีการแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานสื่อต่างประเทศ ในประเด็นการกำกับดูแลสื่อ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การกำกับดูแลสื่อต้องปรับตามบริบทสังคม

 

 

Lukas Luwarso จากสภาการหนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซียเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2511 แต่เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ มีรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารเป็นประธานโดยตำแหน่ง กระทั่งปี 2543 ทางสภาฯ จึงคิดก่อตั้งสมาคมสื่อที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริงขึ้น แต่ในแง่การกำกับดูแลยังใช้รูปแบบการกำกับดูแลร่วม

 

Lukas กล่าวว่า รูปแบบการกำกับดูแลสื่อมี 3 รูปแบบคือ คนในวิชาชีพดูแลกันเอง การกำกับดูแลร่วมกันโดยมีรัฐรองรับ และรัฐเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมาอินโดนีเซียมีประสบการณ์ทั้งสามรูปแบบ โดยในปี 2549 ทางสภาการหนังสือพิมพ์ได้หันมาใช้ระบบการกำกับดูแลกันเอง เพราะไม่ต้องการรับงบประมาณจากรัฐ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

            “เราจึงปรับความทะเยอทะยานของเราเป็นการกำกับดูแลร่วม การมีกฎหมายรองรับ ซึ่งสร้างการยอมรับได้มากกว่า เรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกำกับดูแลกันเอง เนื่องจากสังคมรูปแบบเก่าของอินโดนีเซียมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ดังนั้นในแง่เนื้อหาเราจะดูแลกันเอง แต่ในเชิงรูปแบบเป็นการกำกับดูแลร่วม เนื่องจากสมาชิกสภาหนังสือพิมพ์ของเรา จะได้รับการรับรองโดยประธานาธิบดี หลังจากผ่านมา 13 ปี ผมยังเชื่อว่าการกำกับดูแลร่วมเหมาะสมกับประเทศในอาเซียนมากกว่า”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วน Brian Gordon ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการจากสำนักมาตรฐานการโฆษณา ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ในประเทศออสเตรเลีย บริษัทโฆษณาจะใช้วิธีดูแลกันเอง โดยผู้ที่เป็นสมาชิกจะส่งค่าสมาชิกด้วยการหักเปอร์เซ็นต์ส่วนหนึ่งจากรายได้ให้แก่สมาคม เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม Brian เห็นว่า การกำกับดูแลจรรยาบรรณสื่อ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถฟันธงได้ว่าจะต้องเป็นการกำกับดูแลกันเองเท่านั้น ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบริบทสังคม

 

 

สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ขอดูแลกันเอง ไม่ไว้ใจ กสทช.

 

 

สำหรับประเทศไทย วิสุทธ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นด้วยกับการให้สื่อกำกับดูแลกันเอง มากกว่าที่จะใช้ระบบการกำกับดูแลร่วมกับ กสทช. ซึ่งวิสุทธ์กล่าวตรงไปตรงมาว่า ไม่ไว้ใจ แม้ว่าที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพมักถูกดูแคลนว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้จริง เมื่อไม่พอใจก็เกิดการลาออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งเขาถือว่าเป็นเรื่องปกติ

 

 

 

 

 

            “ผมมองในแง่ดี ใครออกก็ออกไป คนที่ตัดสินใจคือสังคม เชื่อว่าสังคมจะบีบให้ต้องรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพ แต่ผมไม่ค่อยไว้วางใจอำนาจจากส่วนกลางที่จะมาดูแล เชื่อการดูแลกันเอง คุยกันได้ ผมยืนยันว่าการตรวจสอบกันเองเป็นเรื่องใหม่ของวงการสื่อไทย อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน”

 

            “แล้วเวลาพูดถึงการดูแลกันเอง เรามักพูดถึงเรื่องเงิน แต่ผมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ และนอกจากการตรวจสอบซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งแล้ว อีกบทบาทหนึ่ง คือตอกย้ำให้คนในวงการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ การจะเอาองค์กรวิชาชีพไปผูกกับกสทช. เพื่อรับเงินสนับสนุนจึงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม” วิสุทธ์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปรับระบบดูแลกันเองรับทีวีดิจิตัล

 

 

ดร.นิวัต วงศ์พรมปรีดา อุปนายกฝ่ายส่งเสริมจรรยาบรรณ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางดูแลกันเอง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นระบบที่ทำกันมาเกือบ 20 ปี การต่อยอดจากจุดนี้จึงน่าจะง่ายกว่าการใช้รูปแบบใหม่ ๆ แต่สิ่งที่กำลังเป็นความท้าทายใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตัลในอนาคตอันใกล้ ยังไม่นับช่องเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากในขณะนี้ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การกำกับดูแลการทำงานของสื่อและโฆษณาเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีปัญหาให้เห็นแล้วจากโฆษณาและรายการขายสินค้าตามช่องเคเบิ้ลทีวีต่าง ๆ โดยที่ผ่านมา สมาคมโฆษณาฯ ใช้กลไกการกำกับดูแลกันเองของสมาชิก

 

 

            “เรากำกับดูแลตัวเองได้ อาจมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคหรือกลุ่มเฝ้าระวังต่าง ๆ เราก็มาคุยกัน มีการพยายามปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมเสมอ แต่ถามว่าอนาคตจะเป็นยังไง เพราะตอนนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงแล้ว ตอนนี้มีฟรีทีวี 5 ช่อง มีโฆษณาปีหนึ่ง 14,000 ชิ้น และกำลังจะมีทีวีดิจิตอลอีก 48 ช่อง ดังนั้น เราต้องมีกระบวนการใหม่ที่มารองรับการกำกับดูแลของเราได้มากกว่านี้ ซึ่งไม่ง่าย” ดร.นิวัต กล่าว

 

ประเด็นข้างต้น วิสุทธ์เห็นด้วยว่าในระยะยาวการกำกับดูแลกันเองอาจไม่ทั่วถึง เพราะมีสื่อเกิดขึ้นมาก ส่วน ดร.นิวัต เสริมว่า ในอนาคตอันใกล้จะต้องสร้างระบบการตรวจสอบที่ทุกสถานียอมรับให้เกิดขึ้น

 

            “วิธีการตรวจสอบต้องเปลี่ยน ทุกวันนี้ยังลักไก่เอาโฆษณาที่ไม่ผ่านไปออกอากาศ เรารู้ก็แจ้งถึงเอเจนซี่ เราเตือนถึงผู้บริหารเลย เขาก็ไปไล่เบี้ย แต่ถ้ามีหลายร้อยช่องจะมอนิเตอร์ยังไง ก็มีแนวคิดการใช้เทคโนโลยี แต่ใครจะลงทุน ดังนั้น จะต้องมีการสร้างระบบให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น”

 

 

 

สุภิญญาเห็นด้วยสื่อดูแลกันเอง กสทช. ควรดูเฉพาะเรื่องผิดกฎหมาย

 

 

ในส่วนของสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับกลไกการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพ ปัจจุบันกสทช.กำลังพยายามวางกรอบกติกาตามที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ให้อำนาจไว้ แต่ก็เป็นเรื่องยากมาก

 

 

            “การที่ยังไม่มีกติกา ทำให้กสทช. ต้องใช้ดุลพินิจสูงมาก จึงคิดว่าอยากให้องค์กรวิชาชีพเป็นผู้ดูแล โดยทางกสทช. จะดูในส่วนที่เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่อะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องแคบและชัดเจน ส่วนอะไรที่ผิดจริยธรรมองค์กรวิชาชีพเป็นผู้กำหนด แล้วให้สภาวิชาชีพตัดสินก่อน ถ้าตัดสินได้ก็จบ เป็นการดูแลกันเอง แต่ถ้าจะให้ กสทช. ร่วมด้วย จะร่วมแค่ไหน ก็ต้องคุยกัน สรุปคือยังไม่มีแนวทางชัดเจน แต่เร็ว ๆ นี้จะมี ซึ่งสังคมต้องร่วมกันคิดด้วย

 

 

            “แต่โดยส่วนตัวชอบการดูแลกันเองของสื่อ อยากให้รัฐยุ่งน้อยที่สุด ยุ่งเฉพาะเรื่องที่ผิดกฎหมายจริง ๆ แต่ของเราชอบยุ่งในเรื่องที่ไม่ควรยุ่ง ซึ่งสื่อก็ไม่ควรไว้ใจ กสทช. แต่ควรจะออกแบบให้ทำงานร่วมกันได้” 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: