เพราะเป็นปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ เมื่อยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่แม้จะอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยยาวนานหลายสิบปี จนมีวิถี วัฒนธรรมชีวิตเป็นไทยไปเกือบหมดแล้ว แต่กลับไม่สามารถได้รับสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับคนไทยอื่น อันเนื่องมาจากยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติว่าเป็น “คนไทย” ตามกฏหมายนั่นเอง
ในการจัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา บริเวณบ้านใกล้ฟ้า บนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จึงมีผู้ไร้สัญชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจาก 11 กลุ่มชาติพันธุ์ในจ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กว่า 300 คน เข้าร่วมในเวทีนี้ ในการร่วมกันหาแนวทางเพื่อการได้มาซึ่งสัญชาติไทย ที่ต้องการอันจะนำไปสู่การได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับคนไทยคนอื่น ๆ นั่นเอง
นายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย กล่าวระหว่างร่วมเป็นประธานในการจัดงานกล่าวว่า ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า จำนวนบุคคลที่มีปัญหาไร้สัญชาติ ไร้สถานะในจ.เชียงราย จำนวนมาก หรือกว่า 47,000 คน เป็นผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยไปแล้ว 17,000 คน ขณะที่อยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ 20,000 คน ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้จ.เชียงราย ยังคงมีผู้ไม่ได้รับสัญชาติจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น การเดินทางเข้าเมืองจากพื้นที่ห่างไกล เรื่องภาษา พยานเอกสารสูญหาย ทำให้หลายคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ กลายเป็นบุคคลที่มีปัญหาเรื่องสถานะ ต้องทนอยู่กับสภาพบุคคลที่ไร้สิทธิไร้เสียง เพียงเพราะไม่มีหลักฐานการเป็นคนไทย อย่างถูกกฎหมาย ทั้งที่ความจริง ความหลากหลายของภาษา ภูมิปัญญาและการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมั่นคง ที่เกิดจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีมากมาย
จากข้อมูลของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในรัฐไทยเป็นระยะเวลานาน 10 ปีขึ้นไป จนไม่อาจที่จะกลับไปพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐต้นทางที่บุคคลเหล่านั้นได้เคยอยู่อาศัย เคยได้ยอมรับให้มีชื่อในระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยมาก่อนหน้านี้ โดยมีนโยบายที่จะต้องการทราบถึงตัวตนของบุคคลเหล่านั้น ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ในครั้งนั้นยังไม่มีนโยบายที่จะให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดแก่บุคคลเหล่านี้ กลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้จึงมีเพียงเอกสารบางจำพวกเท่านั้น อาทิเช่น แบบ ทร.ชข, แบบบันทึกรายชื่อครอบครัว, ทะเบียนประวัติ (รุ่นแรก) เป็นต้น
ต่อมารัฐไทยได้มีนโยบายกำหนดให้ผู้เฒ่าที่เคยได้รับการสำรวจได้รับสิทธิให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในรัฐไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยอาศัยมาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จึงเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่าที่ผ่านมารัฐไทยนั้นมีวิวัฒนาการในการยอมรับตัวผู้เฒ่าเหล่านั้นและให้ได้รับสิทธิที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามการยอมรับดังกล่าว เป็นเพียงการให้สิทธิอาศัยอยู่อย่างชั่วคราวยาวนานจนถึงปัจจุบัน แต่กลับยังไม่มีการพัฒนาสถานะของกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ ทำให้พวกเขามีเพียงสิทธิเพียงการอาศัยอยู่ในรัฐไทยเป็นการชั่วคราวเท่านั้น โดยไม่พัฒนาสถานะให้ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในรัฐไทยแต่อย่างใด จนเป็นเหตุให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในบางจำพวกได้ เช่น สิทธิในการเดินทาง สิทธิการถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ การดำเนินการของมูลนิธิพัฒนาชุมชน และเขตภูเขา รวมทั้งองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พยายามที่จะเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญในการให้สิทธิกับกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มนี้มีปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสิทธิการเข้าถึงการบริการของรัฐ แม้ว่าจะอยู่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการเรื่องสัญชาติให้กับผู้เฒ่าไร้สัญชาติในกลุ่มต่าง ๆนอกจากนี้ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของแต่ละกลุ่มผู้เฒ่านั้น มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาก็ได้เสนอแนวทางที่ได้จำแนกออกมา ดังนี้
กลุ่มผู้เฒ่าต่างด้าวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว : ขอสถานะเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย
(1) กลุ่มผู้เฒ่าที่ถูกบันทึกว่าเป็นคนต่างด้าว : ที่มีข้อเท็จจริงว่าตนเองเกิดในรัฐไทย
กลุ่มนี้สมควรที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเสมือนเป็นคนสัญชาติไทยทุกประการ ทั้งนี้ควรที่จะได้รับการรองรับในเรื่องสิทธิของการรับเบี้ยผู้สูงอายุ และสิทธิในการได้รับการส่งเสริมสวัสดิการทางสังคมที่ภาครัฐเข้ามารับรอง ทั้งนี้เพราะจากการที่ผู้เฒ่ากลุ่มนี้มีข้อเท็จจริงอันชัดเจนว่ามีสัญชาติไทย แต่เพราะการไม่รู้/ไม่ทราบ จึงทำให้ถูกบันทึกรายการบุคคลผิดประเภทไป ด้วยเหตุนี้กลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้จึงควรที่จะได้รับการเยียวยาในผลกระทบของสิทธิมนุษยชน
(2) กลุ่มผู้เฒ่าที่เกิดนอกรัฐไทยและอพยพเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว
กลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้สมควรที่จะได้รับการรองรับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นบานในส่วนต่างๆอันเกี่ยวข้องกับสิทธิในชีวิตเนื้อตัวร่างกาย อันจะทำให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ได้รับความมั่นคงในชีวิต และส่งผลให้เกิดเป็นความมั่นคงภายในประเทศด้วย ซึ่งในกลุ่มผู้เฒ่ากลุ่มนี้นั้นไม่อาจที่จะเข้าสู่สิทธิในการได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุนั้นได้กำหนดให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
(3) กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพยานเอกสารระบุว่าเกิดในรัฐไทย
กลุ่มผู้เฒ่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ว่ามีสัญชาติไทยและสามารถเข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรในฐานะบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้นจึงควรให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้รับการเยียวยาสิทธิที่เคยถูกกระทบกระเทือนคือสามารถเข้าสู่ระบบหลักการได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ และสิทธิต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงในชีวิตของมนุษย์ อันจะทำให้ผู้เฒ่าเหล่านี้ได้รับการเยียวยาสิทธิของการถูกกระทบในอดีตได้
(4) กลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ (กลุ่มบุคคลตกหล่นจากทะเบียนราษฎร)
กลุ่มผู้เฒ่ากลุ่มนี้นั้นจะต้องแบ่งเป็นสองประการคือ ผู้เฒ่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎรที่เกิดในรัฐไทย กับผู้เฒ่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎรที่เกิดนอกรัฐไทย
ผู้เฒ่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎรที่เกิดในรัฐไทยนั้น ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ควรที่จะได้รับการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นสิทธิการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการทำงาน สิทธิในการรักษาพยาบาล อันจะทำให้ผู้เฒ่าเหล่านี้มีความมั่นคงในชีวิตอันแสดงถึงความมั่นคงของประเทศได้
ผู้เฒ่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎรที่เกิดนอกรัฐไทย ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ควรได้รับการรองรับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นกันอันจะทำให้ผู้เฒ่าเหล่านี้สามารถอยู่ในรัฐไทยอย่างมั่นคง
(5) กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ถือบัตร แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ
ผู้เฒ่ากลุ่มนี้นั้นโดยหลักการแล้วนั้นจะมีสิทธิต่าง ๆ อยู่ ค่อนข้างจะชัดเจน เช่นในสิทธิการรักษาพยาบาลก็จะเป็นในส่วนของการซื้อประกันสุขภาพ และสามารถเดินทางได้ภายในพื้นที่จังหวัดที่ตนทำงาน แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่ถูกกระทบอยู่นั่นก็คือ ในสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะยังคงพบว่าสิทธิดังกล่าวถูกจำกัดเอาไว้อย่างมาก ทั้งนี้ส่วนมากจะถูกจำกัดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง จึงควรที่จะให้กลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้สามารถเข้าสู่สิทธิดังกล่าวได้อย่างไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด
(6) กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีผู้เฒ่ามีสถานะต่างด้าวชอบด้วยกฎหมายรอแปลงสัญชาติเป็นไทย
กลุ่มผู้เฒ่านี้จะได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้มิได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเฉกเช่นกลุ่มผู้เฒ่าอื่น ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ไม่อาจเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการรักษาพยาบาลได้โดยการคุ้มครองสิทธิจากรัฐไทย ดังนั้นจึงควรที่จะให้กลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล โดยการใช้เรื่องหลักการซื้อประกันสุขภาพแทน เพื่อเป็นการให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ได้รับการเยียวยาเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล
นายอาบออาแม แซ่เบวกู ชาวอาข่า ซึ่งเป็นช่างตีเงิน อายุ 62 ปี กล่าวว่า ตนมีสถานะเป็นต่างด้าว ที่รอแปลงสัญชาติมานานกว่า 10 ปี ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนสถานะได้ ทั้งนี้มีลูก 7 คน ทุกคนได้รับสัญชาติไทยหมดแล้ว เพราะเกิดในประเทศไทย ส่วนตนกับภรรยายังไม่ได้รับ อยู่ระหว่างเดินเรื่อง ความลำบากที่เกิดขึ้นมีหลายอย่าง เช่น ป่วยเป็นโรคปวดกระดูก เพราะนั่งทำงานเป็นเวลานาน เมื่อไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด ค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ล่าสุดที่โรงพยาบาลแม่จัน คิดค่ารักษาตนถึง 30,000 บาท เพราะไม่มีสวัสดิการใด ๆ เลย ที่เสียใจมากคือ เมื่อลงจากดอยไปหาหมอมักจะถูกตำรวจเรียกขอค่าปรับ เวลาเดินทางไปยังพื้นที่ไกลเกือบทุกครั้ง แม้มีหนังสือเดินทางในฐานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายก็ตาม แต่ภาษาไทยที่ไม่ดีพอ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมองข้ามความสำคัญทางเอกสาร ถูกปรับเป็นประจำ ขณะที่เวลาเดินทางเร่งด่วนยามเจ็บป่วย ต้องจ้างคนแบกหาม เช่ารถจากเพื่อนบ้านลงไปหาหมอในเมือง เพราะไม่มีสิทธิซื้อรถ
ขณะที่ นางยิ่ง แซ่ย่าง ผู้เฒ่าเผ่าม้งวัย 80 ปีจาก ดอยยาวผาหม่อน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ตนอยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด เลี้ยงลูก ๆ ทั้ง 4 คนจนเติบใหญ่และได้บัตรประชาชนหมดแล้ว แต่ตัวเราเองกลับไม่ได้บัตรประชาชน เพราะเมื่อตอนเขาสำรวจ เราไม่ได้เดินทางไปขึ้นทะเบียน เพราะเส้นทางไปอำเภอสมัยนั้นไกลมากและต้องเดินไป ลูก ๆ เป็นห่วงเลยไม่ให้ไปเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง เลยไม่ได้ไปและไม่ได้สัญชาติมาถึงทุกวันนี้ทั้ง ๆ ที่ทำเรื่องเสนอไปแล้วหลายรอบ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ, transbordernews.in.th, สยามรัฐ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ