สอบผลงาน‘ยิ่งลักษณ์’ครึ่งเทอม จ่อปรับใหญ่8รัฐมนตรีสายล่อฟ้า แก้ปม'ทุจริต-ไฟใต้-ประชานิยม'

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 24 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1664 ครั้ง

 

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังตกที่นั่งลำบาก ถึงขนาดปรารภกับนักการเมืองในพรรค ว่า “กินไม่ได้ นอนไม่หลับ”

 

ที่มาของอาการป่วยการเมือง เบื้องหลัง-ในจิตใจ นายกรัฐมนตรี มีปมปัญหาที่มาจาก ภารกิจรัฐบาล 1 ปี 10 เดือน ยังไม่สามารถฝ่ามรสุม ผลักดันนโยบาย ที่สัญญาไว้กับสาธารณะ ในนามของนโยบาย “เร่งด่วน” ถึง 16 ข้อ

 

 

หลายข้อกลายเป็นปมปัญหาตั้งแต่วันแรกที่นโยบาย ถูกแปลงเป็นแผน เป็นโครงการ และจัดงบประมาณลงสู่ระดับปฏิบัติการ

 

นโยบายเร่งด่วน ถึง 6 ข้อ จาก 16 ข้อ ในวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อายุ 46 ปี จึงมีปมเงื่อน ปมปัญหา ที่ต้องใช้พละกำลัง เปลี่ยนจำนวนคณะรัฐมนตรี ไปแล้วถึง 4 ครั้ง

 

หนึ่งในนโยบายนั้นคือ การรับจำนำข้าว ซึ่งถูกบรรจุไว้ในถ้อยแถลงต่อรัฐสภา ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ตามคำที่นายกรัฐมนตรี อ่านว่า “ข้อ 11 การยกระดับราคาสินค้าเกษตร และให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีระบบรับจำนำ และชดเชยดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการรับจำนำ”

 

อีก 1 ปมปัญหาที่ยังคารัฐสภา ข้องใจฝ่ายบริหารคือ นโยบายเร่งด่วนข้อที่ 1 ความว่า “การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย” ที่บัดนี้ ยังไม่ไปถึงไหน ยังวนอยู่เรื่อง ม็อบเหลือง-แดง และปรากฏการณ์ “หน้ากากขาว” ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

 

ความในถ้อยแถลงทั้งสองข้อ กับนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 3 ที่นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้พัวกันกันอย่างยากที่จะสาง คือ “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง” แต่กลับพบว่า ปมปัญหาความไม่โปร่งใส ในโครงการลงทุนขนาดยักษ์ 3.5 แสนล้าน และงบประมาณเพื่ออนาคตของประเทศที่กู้ไว้ 2 ล้านล้าน เต็มไปด้วยการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย

 

เช่นเดียวกับปมปัญหาตามนโยบายข้อที่ 5 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยิ่งสาง ปมยิ่งมัดแน่น แม้ว่าการเจรจาโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคง คนใน-คนสนิทของพรรคเพื่อไทย กับฝ่ายผู้ก่อการร้าย จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อ 4 เดือนก่อน แต่ควันปืน เสียงระเบิด และชีวิตทหารยังสูญเสีย เป็นทวีคูณ ไม่เว้นแต่ละวัน

 

 

 

สถิติความรุนแรง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 มีสถิติความรุนแรงรายเดือนช่วงก่อนลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และช่วงหลังลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ไม่มีแนวโน้มลดลงแต่อย่างใด

 

ข้อมูลจากกองทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2556 มีเหตุรุนแรง 46 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 49 ราย

เดือนกุมภาพันธ์ มีเหตุรุนแรง 42 ครั้ง เสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บ 90 ราย

เดือนมีนาคม เกิดเหตุ 57 ครั้ง เสียชีวิต 45 ราย บาดเจ็บ 109 ราย

เดือนเมษายน เกิดเหตุ 63 ครั้ง  เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 79 ราย

เดือนพฤษภาคม เกิดเหตุ 48 ครั้ง เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 133 ราย

 

ไม่ต่างจากปัญหาของการปฏิบัติการตามนโยบายแห่งรัฐในข้อที่ 7 ที่ เสียงของ น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร ยังก้องหูประชาชน คาบันทึกของรัฐสภา ที่ระบุว่า “จะดูแลประชาชนจากปัญหาเงินเฟ้อและน้ำมัน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการลดค่าครองชีพประชาชน” แต่สภาพการณ์ คือ ราคาแก๊ส-น้ำมันผันผวน และมีปมทุจริตทับซ้อน ระหว่างเชื้อเพลิงสำหรับสาขาขนส่ง กับการใช้ในครัวเรือน

 

ผูกพันกันเป็นวงโคจร กับอีกนโยบาย ที่ยิ่งสางยิ่งมัดปมแน่น คือการประกาศตามข้อ 8. เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็ง อย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค แต่กำลังซื้อของประชาชน เหือดแห้งทันที ที่นโยบาย ข้อที่ 8.4 คือ ลดภาษีรถคันแรก มีผลบังคับใช้ เพราะกำลังซื้อของคน 1.25 ล้านคน ต้องผ่อนรถ-น้ำมันรายละประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อเดือน ถูกดูดไปสู่บริษัทน้ำมันและบริษัทค้ารถข้ามชาติ ขณะที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินคืนภาษีให้ประชาชนสูงถึง 92,100 ล้านบาท

 

 

 

 

ถ้อยแถลงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกนำมา “รี-รัน” อีกหลายข้อ ที่วาระครึ่งเทอมของรัฐบาล กำลังจะมาถึง ในเดือนสิงหาคม 2556 แต่ความคืบหน้าและผลเป็นรูปธรรมของนโยบายในหลายข้อ ยังคารา-คาซัง

 

ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐมนตรีหลายคน ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ-การเมืองและความมั่นคง ส่งการบ้านให้นายกรัฐมนตรี ได้อ่านแกล้มอาหารในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านพิษณุโลก

 

พร้อมกันนี้ มีของขวัญ-กำลังใจ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บังเอิญผ่านมาปักหลักในประเทศย่านเอเชีย เพื่อตรวจการบ้านรัฐบาลครึ่งเทอม พร้อมจัดแถวคณะรัฐมนตรีใหม่...อีกครั้ง

 

ทั้งการบ้านเรื่องข้าว-ผลงานด้านเศรษฐกิจ ถูกนับรวมเป็นสมมติฐานในการจัดโผคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์5” ซึ่งมีแนวโน้มจะ “ปรับใหญ่” ในระยะอันใกล้ ช่วงเวลาทางการเมืองที่เหมาะสม คือ ต้นเดือนสิงหาคม วาระที่รัฐบาลครบรอบครึ่งเทอม 2 ปี วาระก่อนเปิดสมัยประชุม ก่อนการลงมติเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในวาระ 2-3

 

 

 

ภาพที่คนการเมืองบ้านเลขที่ 111 ที่เข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด ของนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก จึงถูกตีความเป็น “โผจริง” ในการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อ "โภคิน พลกุล-จาตุรนต์ ฉายแสง-ภูมิธรรม เวชยชัย" ติดอยู่ในบัญชีเพื่อพิจารณาด้วย

 

ชื่อที่ต้องถูก “ปรับ-เปลี่ยน-ปรับออก” เพราะไปต่อในที่เดิมไม่ได้แน่นอนคือ ชื่อแรก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่อาจสลับกับชื่อที่ 2 นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

อีกชื่อที่ต้องถูก “ปรับออก” ที่โจษจันกันในพรรคเพื่อไทยคือ ชื่อที่ 3 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยเป็นโควตาของ “สายเหนือ” เครือของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ลูกข่าย “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ น้องสาว-พี่สาว นายกรัฐมนตรี ตระกูล “ชินวัตร”

 

 

ชื่อที่ 4 และชื่อที่ 5 อยู่ในกระทรวงเดียวกัน คือ นายประชา ประสพดี และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ที่ผลงานไม่เข้าตานายกรัฐมนตรี

 

ชื่อที่ 6  คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เจ้าของรหัส “มท.1” ด้วยสถานภาพหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจรั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ติดมือไว้ได้

 

เช่นเดียวกับชื่อที่ 7 ที่ถูกสั่งให้ลดบทบาท แต่ยังไม่ถูกปรับออก แค่ปรับเปลี่ยนคือ ชื่อ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี

 

 

 

ชื่อที่ 8 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เผชิญหน้ากับข้าราชการชุดดำ ในกระทรวงจนขยับทำงานไม่ได้

 

 

 

 

ในรอบ 3  เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปรับคณะรัฐมนตรี ไปเพียง 2 ตำแหน่ง เพื่อทดแทนตำแหน่ง ชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในโค้วต้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถึงแก่อนิจกรรม ตามคำโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เป็นวาระ “ยิ่งลักษณ์ 3” ขึ้นสู่วาระ “ยิ่งลักษณ์ 4”

 

แต่หากไม่นับวาระ “ยิ่งลักษณ์ 4” ที่เป็นการปรับตามความจำเป็น การปรับคณะรัฐมนตรี ตามสไตล์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทย ในอัตราเฉลี่ย 5-6 เดือนต่อครั้ง ถือว่า จาก “ยิ่งลักษณ์ 3” ถึงวาระ “ยิ่งลักษณ์ 5” กินบุญเก่าไปแล้วถึง 8 เดือน

 

สารบัญการเมืองที่ล่อแหลม ในการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทน เดือนสิงหาคมนี้ จึงมีทั้งแรงกดจากปัญหาเศรษฐกิจ แรงอัดจากปัญหาไฟใต้ แรงบีบจากปัญหาคอร์รัปชั่น และแรงต้านจากกลุ่มการเมืองหน้ากากขาว ภัยเงียบจากแนวร่วมเสื้อแดงด้วยกัน ที่ไม่พอใจกรณีทิ้งนักโทษการเมือง ลืมไว้ในห้องขังนานนับปี และภัยอันตรายจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ที่เงื้อง่าราคาแพงเก็บความลับกรณีทุจริตการจำนำข้าว ไว้เต็มมือ

 

การชิงปรับคณะรัฐมนตรี อาจแค่บรรเทาปัญหาการเมือง ต่ออายุซื้อเวลาให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปได้อีกระยะเท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: