วิจัยชี้เขื่อนในแม่น้ำโขง อาจทำ‘ปลาบึก’สูญพันธุ์

24 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3887 ครั้ง

 

กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) รายงานว่า ได้มีการจัดทำรายงานฉบับใหม่ เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง อาจกลายเป็นภัยคุกคามเลวร้ายครั้งใหม่ต่อการอยู่รอดของปลาบึกในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่ตัวใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดในโลก

 

การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงสถานภาพใหม่ของสัตว์สายพันธุ์ที่หาได้ยาก ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจำนวน การกระจายตัว ภัยคุกคามและมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้สูญหายไป แม้ยังไม่ทราบถึงจำนวนประชากรที่ชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีปลาบึกในแม่น้ำโขงตัวเต็มวัยเหลืออยู่เพียง 200-300 ตัวเท่านั้น

 

ผลการศึกษาดร.เซ็บ โฮแกน ผู้เขียนรายงานและรองศาสตราจารย์ด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยเนวาดา กล่าวว่า เขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของประเทศลาว เป็นปราการที่ปลาบึกไม่สามารถอพยพไปได้ ทั้งที่โดยธรรมชาติปลาบึกตัวโตจะมีลำตัวยาวถึง 3 เมตรและหนักถึง 300 กิโลกรัม ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้พวกมันสูญพันธุ์

 

 

            “ปลาที่มีขนาดเท่าปลาบึกแม่น้ำโขง จะไม่สามารถว่ายน้ำข้ามกำแพงขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน เพื่อไปยังพื้นที่วางไข่บริเวณต้นน้ำได้ ปลาแม่น้ำยักษ์นี้ ต้องการผืนน้ำกว้างขวางและไม่ถูกปิดกั้นเส้นทางอพยพ และต้องการน้ำที่มีคุณภาพจำเพาะเจาะจง รวมทั้งสภาพการไหล เพื่อขับเคลื่อนวงจรชีวิตของการวางไข่ หาอาหาร และผสมพันธุ์ จำนวนของปลาบึกในแม่น้ำโขงนั้น ลดลงอย่างมากอยู่แล้ว เนื่องจากการประมงที่มากเกินไป การทำลายสถานที่อาศัย และการสร้างเขื่อนตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำมูล ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง มีการสร้างเขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาบึก และตัดขาดแม่น้ำมูลออกจากแม่น้ำโขง ในระยะทางที่เหลืออยู่”

 

รายงานยังอ้างด้วยว่า เขื่อนไซยะบุรีที่เป็นประเด็นถกเถียงนี้ จะขัดขวางหรือปิดกั้นการวางไข่ และเพิ่มอัตราการตาย หากปลาว่ายผ่านไปยังกังหันของเขื่อน

 

 

            “มีความเป็นไปได้ว่า ปลาบึกแม่น้ำโขง ซึ่งใช้ผืนน้ำที่เป็นที่ตั้งของเขื่อนไซยะบุรีเป็นเส้นทางอพยพ ซึ่งหากปลาตัวเต็มวัยจะอพยพผ่าน จากเขตอนุบาลปลาบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ไปยังจุดวางไข่ทางต้นน้ำและยังมีความ เป็นไปได้ว่าปลาบึกอาจวางไข่ในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเขื่อนในตอนนี้” โฮแกนกล่าว

 

 

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและน้ำ ตกลงร่วมกันในการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในปี 2554ว่า จะเลื่อนการตัดสินใจในการสร้างเขื่อนออกไป เพื่อรอผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ข้อตกลงนี้กลับถูกเพิกเฉยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อรัฐบาลลาวตัดสินใจเดินหน้าการก่อสร้าง เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการไซยะบุรี มูลค่ากว่าแสนล้านบาทที่เพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับช่องว่างร้ายแรง ในข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนได้ โดยเฉพาะความกังวลเรื่องการประมง และการไหล ของตะกอนแม่น้ำ

 

บริษัท Pöyry ของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลลาวในการสร้างเขื่อน โต้แย้งว่าสามารถสร้าง ”บันไดปลาโจน” เพื่อให้ปลา สามารถว่ายผ่านกังหันเขื่อน และว่ายน้ำขึ้นลงตามลำน้ำได้ แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ ไม่เคยประสบความสำเร็จในการใช้งานมาก่อน

 

 

            “คุณไม่สามารถคาดหวังให้บันไดปลาโจนทำงานได้ ถ้าหากไม่มีความเข้าใจปลาที่เป็นสายพันธุ์เป้าหมาย ความสามารถในการว่ายน้ำของปลา และกระแสน้ำที่จะเป็นตัวดึงดูดปลาให้ว่ายผ่านช่องทางนี้ ดังนั้นจึงต้องทำการวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าปลาจะสามารถอพยพได้จริง” ดร.เอริค บารัน ศูนย์ปลาโลก กล่าว

 

 

ครั้งหนึ่งปลาบึกเคยอาศัยอยู่ทั่วแม่น้ำโขง และเป็นไปได้ว่าพวกมันเคยอยู่ไกลถึงพม่าและทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และมี ประชากรปลาอยู่มากมายจนกระทั่งช่วงปี 2443 นับตั้งแต่นั้นมาปลาบึกก็ลดจำนวนลง กระทั่งตอนนี้พบปลาบึกได้เพียงแถบ แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในประเทศกัมพูชา ลาว และไทย

ปริมาณของการจับปลายังเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงการลดจำนวนลงของปลาสายพันธุ์นี้ เนื่องจากตัวเลขที่จับได้ ลดลงจาก หลายพันตัวในช่วงประมาณปี 2423 เหลือไม่กี่สิบตัวในปีช่วงปี 2533 และปัจจุบันก็จับได้เพียงไม่กี่ตัว แม้จะมีกฏหมายบังคับ ใช้เรื่องการจับปลาบึกในแม่น้ำโขงทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา โดยทั้งไทยและกัมพูชาต่างห้ามจับปลาบึก แต่ว่ายังมี การลักลอบจับปลาสายพันธุ์นี้ รวมทั้งยังมีปลาบึกมาติดกับดักที่วางไว้เพื่อจับปลาพันธุ์อื่นโดยบังเอิญด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “ควรมีการสังเกตการจับปลาเพื่อให้แน่ใจว่า ปลาบึกจะไม่ตกเป็นเป้าลักลอบจับปลาโดยชาวประมง นอกจากนี้ยังควรสังเกตการจับปลาบึกได้โดยบังเอิญด้วย เนื่องจากมันเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดเพียงแหล่งเดียว ที่จะทำให้ทราบถึงการกระจายตัวของปลา รูปแบบการใช้ชีวิตที่่ผ่านมา และความมากน้อยของปลายักษ์ในแม่น้ำพันธุ์นี้” ดร.โฮแกนกล่าว

 

 

การศึกษายังชี้ให้เห็นถึงมาตรการหลักเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของปลาแม่น้ำยักษ์  ไม่ว่าจะเป็นความพยายามอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องเส้นทางอพยพของปลา และแหล่งดำรงชีวิตที่สำคัญ จนถึงการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น แผนบริหารจัดการตลอดลำน้ำ เนื่องจากปลาสายพันธุ์นี้อยู่ในแม่น้ำสากล และการดำเนินวงจรชีวิตของมัน ยังต้องว่ายน้ำผ่านหลายประเทศ

 

 

            “ปลาบึกในแม่น้ำโขงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวทางนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง เพราะปลาพันธุ์นี้ยังเปราะบางต่อแรงกดดันด้านการประมง และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมของแม่น้ำ สถานภาพของมันเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำทั้งสาย และการฟื้นจำนวนประชากรปลาบึกก็นับเป็นส่วนสำคัญสำหรับการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่าง ยั่งยืน”​ ดร.ลี่เฟง ลี ผู้อำนวยการโครงการ Global Freshwater ของ WWF กล่าว

 

 

            “เราสามารถอนุรักษ์ปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ แต่ประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่างทุกประเทศจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในระดับหนึ่งและยังรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศจนถึงผู้บริจาค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีพันธสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: