ฝรั่งสวีเดนฟ้อง200คดี-จี้แก้กฎหมาย เอาผิดขรก.ใช้อำนาจ-ทำลาย'ยุติธรรม'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2817 ครั้ง

 

ลองคิดดูว่า หากวันหนึ่งคุณหรือญาติ พี่น้องไปตลอดจนเพื่อน คนรู้จัก ถูกตำรวจจับดำเนินคดี โดยไม่มีความผิดคุณจะทำอย่างไร ในฐานะประชาชนคนธรรมดา ที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายมากนัก การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองคงจะดูเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะคิด บางรายต้องยอมก้มหน้ารับชะตากรรมกับความผิดที่ไม่ได้ก่อขึ้น ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จำนวนมากในกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่มีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แต่กลับใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ ในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ของเท็จจริงนั้น จนสามารถหลุดจากข้อกล่าวหาร้ายแรงเหล่านั้นได้ และที่สำคัญพวกเขากำลังคิดที่จะหาแนวทางในการผลักดัน เพื่อให้เกิดการปรับปรุง และพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ให้มีผลที่ถูกต้อง เพื่อลดจำนวน “แพะ” และ “ความผิดพลาด” ของผู้รักษากฎหมาย ที่ดูเหมือนว่าจะมีการทำงานที่ผิดเพี้ยนจากเจตนารมย์ และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมากขั้นในปัจจุบัน

 

 

คปก.ขอข้อมูลเหยื่อไม่ได้รับความยุติธรรมหวังปรับปรุงกฎหมายอาญา

 

นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม และกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวระหว่างการประชุม เรื่อง กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้รับรองสิทธิในคดีอาญา โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตลอดจนรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรม เช่น การเข้าถึงความเป็นธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง การรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) การพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และได้รับปฏิบัติที่เหมาะสมซึ่งรวมถึงได้รับความคุ้มครองโดยเฉพาะต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ และการช่วยเหลือทางคดีจากรัฐ อีกทั้งได้บัญญัติแนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรมที่มุ่งเน้นการบังคับ และการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิ์ และเสรีภาพของประชาชนให้ปลอดพ้นจากการล่วงละเมิด ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลอื่น ตลอดจนอำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน มีระบบการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรภาคเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งประสบการณ์ และข้อคิดเห็น ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่ขั้นตอนการสืบสวน สอบสวน การจับกุม การดำเนินคดี ไปจนถึงการคุมขังในเรือนจำ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นข้อมูลต่าง ๆ ไปเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรมตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีหน้าในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสมชายกล่าวต่อว่า การปฏิรูปกฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 มีอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ทางวิชาการ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรม ทันต่อสถานการณ์ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนี้ หมายรวมถึง การจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น ในกระบวนการยุติธรรมที่เอื้ออำนวย และตอบสนองให้ประชาชน องค์กรวิชาชีพ และผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการยุติธรรมโดยตรงและโดยอ้อม เข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนการปฏิรูป มีเป้าหมายให้กระบวนการยุติธรรม มีกลไกการให้บริการด้านกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีทางเลือกที่หลากหลาย และเป็นกระบวนการเชิงรุก ที่เข้าถึงประชาชนและชุมชน ซึ่งครอบคลุมถึงการร้องทุกข์ ร้องเรียน

 

 

การให้คำปรึกษากฎหมาย การดำเนินคดี การเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลด้านกฎหมายและข้อมูลเชิงคดี บุคลากรด้านกระบวนการยุติธรรมต้องมีความตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อรับประกันการเขาถึงความยุติธรมของประชาชนให้มีศักยภาพ และทางเลือกเพียงพอที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมในด้านและระดับต่าง ๆ  กัน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน

 

เสี่ยรับเหมาแฉถูกขึ้นบัญชีอาชญากรทั้งที่คดีสิ้นสุด

 

ด้าน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลืออาชญากรรม ก่อนหน้านี้เคยตกเป็นข่าวเมื่ออุ้มลูกสาววัย 2 ขวบและ ภรรยาท้อง 6 เดือนไปเรียกร้องความเป็นธรรม ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ลบประวัติอาชญากรรมของตนออก อันเกิดจากคดีฟ้องร้องคดีบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในก่อนหน้านั้น

นายอัจฉริยะเปิดเผยว่า ปัญหาของตนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าทั้งหมดเกิดจากการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการ ทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ แม้ว่าในการต่อสู้ในคดีบุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ของตนกับคู่กรณี ก่อนหน้านี้ศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว แต่ปรากฎว่า พนักงานสอบสวนกลับนำชื่อ และประวัติของตนไปใส่ไว้ในแฟ้มประวัติอาชญากรแผ่นดิน ส่งผลให้ตนไม่สามารถ มีชีวิตหน้าที่การงานอื่น ๆ ต่อไปได้ เพราะมีประวัติอาชญากรรม ทั้งที่คดีสิ้นสุดไปแล้ว และศาลได้พิจารณายกฟ้อง ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

 

 

            “ผมพยายามติดต่อไปยังพนักงานสอบสวนดังกล่าว ว่าทำไมจึงไม่ลบประวัติผมออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ก็ได้รับคำตอบว่า จะจัดการให้ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร ตลอดเวลาที่ผมได้พยายามติดตามทวงถาม ในที่สุดจึงตัดสินใจไปร้องเรียนกับ ผบ.ตร. แต่ก็ไม่ได้เข้าพบตามที่เป็นข่าว ผมต้องไปนั่งบนถนนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงสองครั้ง จนกระทั่งในที่สุดจึงมีการลบประวัติผมออกจากทะเบียนอาชญากรรม โดยหากดูจากต้นเหตุก็คือ พนักงานสอบสวนไม่ยอมส่งเอกสารรายงานคดีสิ้นสุดไปยังสำนักงานทะเบียนประวัติอาชญากร มีการกลั่นแกล้ง และยัดเยียดข้อหา ต่าง ๆ ให้กับผม จนผมต้องสูญเสียทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สินในการต่อสู้คดี รวมไปถึงความเป็นทุกข์ของครอบครัวอย่างแสนสาหัส โดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถูกลงโทษอะไรเลย” นายอัจฉริยะกล่าว

 

ตั้งชมรมช่วยเหลือเหยื่อจากผลสำนวนไม่ชอบของพนักงานสอบสวน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการต่อสู้ จนทำให้เห็นความไม่ยุติธรรมของผู้รักษากฎหมาย ทำให้ปัจจุบันนายอัจฉริยะได้ออกมาก่อตั้งชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน อันเกิดจากการทำหน้าที่มิชอบของ พนักงานสอบสวน อีกคดีหนึ่ง เป็นเรื่องของ น.ส.ณัฐนารี เมลกุล อดีตผู้ช่วยพยาบาล โรงพยาบาลกรุงเทพ สาขาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่เสียชีวิตในที่พัก โดยตำรวจ สภ.บ่อผุด  อ.เกาะสมุย ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากการผูกคอฆ่าตัวตาย แต่ญาติไม่เชื่อ เพราะมีข้อพิรุธหลายประเด็น ตั้งแต่สภาพศพที่มีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส การตรวจสอบที่เกิดเหตุในห้องพัก มีร่องรอยการต่อสู้ รวมทั้งพฤติกรรมผิดปกติของพนักงานสอบสวน แพทย์ และแฟนหนุ่มของผู้ตายที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ขณะที่พ่อแม่ของผู้เสียชีวิต ยังถูกโทรศัพท์ลึกลับข่มขู่เอาชีวิตอีกด้วย

นายอัจฉริยะกล่าวว่า คดีดังกล่าว ชมรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่ได้รับการร้องเรียนจากพ่อแม่ของผู้ตาย ก็พบว่ามีข้อพิรุธต่าง ๆ ที่เชื่อได้ว่า น่าจะเป็นการฆาตกรรมอำพราง มากกว่าการที่ผู้ตายตั้งใจจะผูกคอฆ่าตัวตายเอง เริ่มตั้งสภาพศพ ที่พบว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายหลายแห่ง แต่แพทย์ที่ชันสูตรศพกลับไม่ลงบันทึกประจำวันลงไป ทำให้ตำรวจระบุว่า ไม่พบบาดแผล ขณะที่สภาพศพที่คอของผู้ตายก็พบว่า มีรอยสายไฟรัด ในขณะที่ผ้าผูกคอที่ระบุว่าเป็นสายรัดทำให้เสียชีวิตนั้น ไม่ได้รัดคอทำให้ขาดอากาศหายใจเพราะคล้องไว้ที่ท้ายทอยเท่านั้น ที่สำคัญ ศพผู้ตายอยู่ลักษณะเตี้ยติดพื้น หากจะเอาชีวิตรอดก็เพียงแต่ยืนขึ้นเท่านั้น จึงทำให้คดีนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าถูกบิดเบือน การเขียนสำนวนให้เป็นการฆ่าตัวตายได้อย่างไร

 

 

สำนวนเพี้ยนเพราะพนักงานสอบสวนเป็นเพื่อนกับผู้ต้องสงสัย

 

            “จากการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เราก็พบว่า พนักงานสอบสวน ผู้ตาย พยานผู้พบศพคนแรก และ ผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นแฟนของผู้ตาย ล้วนเป็นเพื่อนสนิทกัน และจากการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อคดีนี้ ก็ได้รับคำตอบที่น่าหดหู่ว่า ส่วนใหญ่คดีฆ่ากันตายในพื้นที่นี้ ตำรวจจะมองเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากจะเป็นนักท่องเที่ยวจะมีความสำคัญมากกว่า เหตุที่ถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าทำไปก็ไม่ได้เงิน ไม่ได้งบประมาณมาทำ อย่างไรก็ตาม จากการที่เราติดตามตรวจสอบคดีนี้ และต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ปัจจุบันได้มีการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว และเปลี่ยนสำนวนใหม่เป็นการฆาตกรรมอำพราง ในขณะที่พนักงานสอบสวนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเช่นกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าแปลกไหมที่ ชมรมฯ ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาถึง 8 เดือน” นายอัจฉริยะกล่าว

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในทำงานทางกฎหมายของตำรวจ จะเห็นได้ว่า พนักงานสอบสวนถือว่าเป็นด่านแรก ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับประชาชนได้ แต่เมื่อกระทำผิดพลาดกลับไม่ถูกลงโทษ แตกต่างกับประชาชนที่หากทำผิดต้องถูกดำเนินคดี และต้องมาต่อสู้กัน ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาแก้ไขกฎหมาย อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เพราะจะพบได้ว่า มีคดีจำนวนมาก ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเขียนสำนวนที่ผิดพลาดทั้งแบบที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจของพนักงานสอบสวน

 

ตำรวจระบุกระบวนการยุติธรรมตำรวจเลวร้ายสุดๆ

 

ในประเด็นเดียวกัน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร รองผู้บังคับการกองตรวจราชการ 10 จเรตำรวจ อดีต ผกก.สภ.อ.ลำลูกกา ซึ่งเคยถูกวางระเบิดหน้าบ้านพักได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังทำงานกวาดล้างผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่กลับปรากฎว่า หลังเกิดเหตุคดีระเบิด การติดตามความคืบหน้ากลับไปไม่ถึงไหน ในขณะที่พยานที่รู้เห็นการวางระเบิดในคดีนี้ที่ไปให้การในฐานะพลเมืองดี กลับถูกแจ้งความจับ ในข้อหาให้การเท็จ กลายเป็นเรื่องราวที่เงียบหายไปในสังคม โดยเชื่อว่าเป็นผลมาจากการเจ้าหน้าที่ตำรวจบางกลุ่มพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา จนถึงปัจจุบันคดีก็ยังไม่คืบหน้า

พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า เรื่องราวของตนเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า แม้กระทั่งตนในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมียศตำแหน่งหน้าที่ ก็มีสิทธิที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน นับประสาอะไรกับประชาชนโดยทั่วไป

 

 

            “หากย้อนกลับไปในช่วงที่เกิดเหตุ ตอนที่ผมอยู่ที่โรงพยาบาลก็เริ่มแปลกใจว่า ทำไมเหตุการณ์ถึงได้กลับตาลปัตรไปหมด กลายเป็นว่าเราทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา จนต้องมาสืบเอง หาพยานเองก็ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองดี แต่ก็ยังไม่สามารถสู้อะไรได้ เราสั่งลูกน้องแบบนี้ แต่มันไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เพราะพนักงานสอบสวนเองกลับถูกคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงสำนวนคดี เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นผมต้องถูกสั่งย้าย และมีความพยายามที่จะให้สั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้เห็นว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายของไทยเลวร้ายมาก

            ซึ่งผมคิดว่าเรื่องความผิดพลาดของพนักงานสอบสวนการเขียนสำนวนคดี จะต้องมีคนรับผิดชอบทั้งอาญาและทางวินัย หากมีการดำเนินการที่ผิดพลาดและไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงเมื่อเห็นว่าพนักงานสอบสวนกระทำความผิด ก็แค่ลุกขึ้นมาโวยวาย และแก้ไขเรื่องราวเท่านั้น และต้องปลุกตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวน ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตน  ไม่ใช่ว่าประชาชนเข้าไปก็ไม่อยากที่จะทำหน้าที่ เพราะตำรวจไม่ได้มีหน้าที่บริการเหมือนโรงพยาบาล แต่ตำรวจจะต้องทำหน้าที่ด้านกฎหมายให้กับประชาชน เมื่อเขาขึ้นมาแจ้งความ ก็ต้องรับแจ้งความ ไม่ใช่ทำเหมือนไม่อยากรับแจ้ง และสิ่งสำคัญคือ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ต้องทำอย่างถูกต้อง มีคนเคยพูดให้เห็นภาพว่า “สอบปากคำ ทำเหมือนจริง เอาไปทิ้งภายหลัง” น่าจะใช้ได้ ผมคิดว่าภัยจากการสอบสวนคดีอาญาที่ถูกบิดเบือน และภัยจากการประชาสัมพันธ์เกินไป เป็นภัยที่ร้ายแรงน่ากลัวมาก”

 

หนุ่มใหญ่สวีเดนแฉตำรวจไร้ความเที่ยงตรง

 

นอกจากนี้ในการนำเสนอเหตุการณ์ดังกล่าว นายเบนนี่ เบห์นาม โมฟี่ นักธุรกิจสัญชาติสวีเดน ที่ถูกจับดำเนินคดีในปี 2538 หลังมีปัญหาเรียกค่าคุ้มครองรายเดือนจากชาวต่างชาติ จนทำให้ถูกขึ้นบัญชีดำว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ แต่ได้เดินทางกลับมาอีกครั้ง เพื่อจัดการทรัพย์สินของตนเองที่เหลือ จนต้องถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุม และแจ้งหลายข้อหาทั้ง หนังสือเดินทางปลอม กรรโชกทรัพย์ และ ปล้นทรัพย์โดยอาวุธปืน จนต้องถูกตัดสินจำคุก 21 ปี 14 เดือน โดยนายเบนนี้กล่าวว่า ทุกข้อหาล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น

 

 

นายเบนนี่กล่าวว่า เขาพยายามต่อสู้คดี เพราะไม่ได้กระทำผิด จนในที่สุดศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดี แต่กลับต้องมาติดคุก เพราะศาลฎีกาตัดสินลงโทษตามศาลชั้นต้น ทำให้รู้สึกว่าตนควรที่จะรู้กฎหมายของไทย จึงตัดสินใจเรียนภาษาไทยและกฎหมายไทยในคุกจาก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนเรียนจบกฎหมายอาญา ปกครอง กฎหมายราชทัณฑ์ และกฎหมายตรวจค้นเข้าเมือง ทำให้ค้นพบความไม่ชอบมาพากลของคดีที่ตนได้รับโทษ และยังพบความไม่เป็นธรรมในคุกไทยมากมายในระหว่างถูกจำคุกอยู่เป็นเวลา 9 ปี 8 เดือน

            “สำหรับคดีต่าง ๆ ผมได้ฟ้องร้องตำรวจกองปราบปราม และ สถานีตำรวจนครบาลที่เกี่ยวข้อง จนได้หลักฐานใหม่ เพื่อรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนสุดท้ายคือศาลฎีกา จะมีคำพิพากษาในประเด็นพยานหลักฐานใหม่ที่ผมนำเสนอ ในฐานะคดีแรกของประเทศไทยที่สามารถรื้อฟื้นคดีใหม่ได้สำเร็จ”

 

แฉคุกไทยละเมิดนักโทษหลายประเด็น

 

นายเบนนี่กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม คือการกระทำละเมิดต่อนักโทษในเรือนจำในหลายรูปแบบ เช่น การทำร้ายร่างกายอย่างมีระบบ ทำให้นักโทษเสียชีวิจ บาดเจ็บสาหัส หรือเป็นอัมพาต การลงโทษโดยไม่มีการสอบสวนทางวินัย การลงโทษตีตรวน ทั้งๆ ที่กฎหมายห้าม การขายสินค้าไร้คุณภาพราคาแพง โดยอ้างว่าเป็นร้านสวัสดิการ การทุจริตเกี่ยวกับสิ่งของบริจาค การขาดแคลนยารักษาโรค หมอ และหมอฟัน น้ำ อาหารและอื่นๆ รวมทั้งการจำกัดสิทธ์ต่าง ๆ ทั้งไม่ให้รับข่าวสาร ห้ามใส่รองเท้าออกศาล และความสกปรกภายในเรือนจำ เป็นต้น

 

          “ครั้งแรกผมได้ฟ้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ในคุกไทย ในเรื่องการห้ามใช้วิทยุของนักโทษ เมื่อศาลรับคดี อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนที จิตสว่าง ได้มีคำสั่งให้ย้ายผมจากเรือนจำคลองเปรมไปยังเรือนจำกลางบางขวาง โดยอ้างว่าย้ายเพื่อระบายคน ทั้งๆ ที่ย้ายผมคนเดียว ตีตรวนหนัก 10 กิโลกรัม แล้วขังผมไว้ที่แดน 10 ห้องขนาดเล็ก เพื่อขังพวกที่มีความผิดวินัย ผมเลยตัดสินใจว่า จะต้องอดข้าวประท้วง และต่อสู้กับตรวนที่กรมราชทัณฑ์ใช้อย่างมิชอบ เพราะตามกฎหมาย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ไม่ได้ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์กระทำเช่นนั้น ผมจึงยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์เรื่องเครื่องพันธนาการ เป็นคดีแรกของประเทศไทย ในนามนักโทษประหารฯ เรื่องการใช้ตรวนในเรือนจำ คดีหมายเลขดำที่ 787/50 ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1958/2554 โดยศาลมีคำพิพากษาว่า กรมราชทัณฑ์นำตรวนมาใช้อย่างผิดกฎหมาย ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ”

 

 

เสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมาย

 

นายเบนนี่กล่าวต่อว่า เขายังได้ฟ้องร้องกรมราชทัณฑ์ เรื่องอาหารการกิน สวัสดิการฯ การย้ายนักโทษ โดยมิชอบ การซื้อของราคาไม่ยุติธรรม เพราะนักโทษต้องซื้อสินค้าในเรือนจำด้วยราคาแพง เช่น เรือนจำขายกล้วยหวีละ 70 บาท ทั้งที่อ้างว่าเป็นร้านค้าสวัสดิการ จึงขอให้มีร้านค้าสวัสดิการที่แท้จริง การมีสิทธิใส่รองเท้าไปปรากฎตัวต่อศาล การมีสิทธิพบแพทย์ การมีสิทธิเรียนหนังสือและอื่น ๆ มากมาย รวมทั้งหมดเกือบ 200 คดี

            “การที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ถูกลงโทษตามความผิดของตน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เกรงกลัวที่จะกระทำความผิดกฎหมายเรื่อย ๆ เช่น การทำรายร่างกายผู้ต้องขังที่มีมากมาย เช่น ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี ซึ่งมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังเป็นประจำ จนมีคนบาดเจ็บสาหัส อัมพาต อัมพฤกษ์ แขนขาหัก ตีตรวนหนัก 20 กิโลกรัม ตามใจชอบของเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีกฎหมายรับรอง ผมเห็นคนที่มีความผิดเล็กน้อยถูกตีตรวน และถูกเจ้าหน้าที่กระทืบทุกวัน ภายในเรือนจำมีน้ำอาบไม่เพียงพอ ก๊อกน้ำดื่มไม่มี ต้องซื้อจากเรือนจำ อาหารสกปรก มีกลิ่นเหม็น อาหารไม่เพียงพอ และยังต้องนั่งเข้าแถวตากแดรอเกือบ 1 ชั่วโมงจึงจะเข้าโรงอาหาร ต้องมีเงินซื้ออาหารขายโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ แม้ราคาแพงและคุณภาพต่ำ แต่ยังดีกว่าอาหารทางราชการหลายเท่า ใครร้องเรียนก็เดือดร้อนเช่นผม ที่ถูกย้ายเรือนจำ 10 ครั้ง ถูกย้ายแดน 30 กว่าครั้ง ถูกกระทืบหัวแตกหลายครั้ง หลายแผล” นายเบนนี่กล่าว พร้อมกับระบุว่า

            “ประเทศไทยจะต้องมีการปรับปรุงทั้งกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐ  ให้ปฏิบัติกับผู้ต้องขังเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อให้นักโทษที่พ้นโทษออกมา มีทัศนคติที่ดีและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เพื่อพัฒนาประเทศชาติได้อย่างดี เนื่องจากนักโทษทุกคนเป็นคนไทย ที่ต้องออกมาอยู่ในสังคมไทย ท่ามกลางผู้คนทุกคนของสังคม ซึ่งคิดว่าสิ่งที่ตนนำเสนอนี้จะเป็นข้อมูลในการประกอบในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายไทยให้ดีขึ้นต่อไป 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: