'สุรนันทน์'ชี้เงินกู้2ล้านล. เพิ่มศึกษา-สาธารณสุข

24 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1415 ครั้ง

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 24 กันยายน นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เขียนลงในเฟซบุ๊ค “ไทยคู่ฟ้า” ระบุว่า จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงโครงการอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 โดยระบุว่าจะนำเงิน 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี มาจากระบบงบประมาณ มีความโปร่งใสกว่า ตรวจสอบได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าในระบบงบประมาณมีเพียงพอเหลือเฟือที่จะรองรับแผนการลงทุน เพื่อจัดสรรให้ 4 เรื่อง คือ

1) โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้านบาท
2) การศึกษา การพัฒนา และการวิจัย 4 แสนล้านบาท
3) การสาธารณสุข 2 แสนล้านบาท
4) ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร 2 แสนล้านบาท
ผมมีความคิดเห็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 การบรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในระบบงบประมาณ มีความโปร่งใสกว่า ตรวจสอบได้มากกว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าเงินในระบบงบประมาณมีเพียงพอเหลือเฟือที่จะรองรับแผนการลงทุนจริงหรือ?
ผมว่ามี 2 ประเด็นย่อยที่ขอทำความเข้าใจ คือ
(1) ประเด็นที่ว่ามีความโปร่งใสกว่า ตรวจสอบได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
การที่รัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีกระบวนการใช้เงินในโครงการต่าง ๆ ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะแต่ละโครงการก่อนที่จะมีการดำเนินการ ต้องผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กลั่นกรองโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และส่งเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะอนุมัติโครงการภายใต้การกำหนดราคากลางที่เป็นธรรมตามกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รวมถึงร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นให้มีส่วนเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย
ทั้งนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เพราะว่าเงินกู้มิใช่เป็นเงินแผ่นดินตามมาตราดังกล่าว เป็นเงินที่มิได้ส่งบัญชีคลัง แต่เป็นเงินกู้จากแหล่งเงินอื่น และต้องใช้จ่ายได้เฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินเท่านั้น 

ที่มา : 
- กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 – 2557 จากสำนักงบประมาณ
- แนวโน้มงบประมาณปี 2558 – 2564 เป็นการประมาณการล่วงหน้า


(2) เงินในระบบงบประมาณมีเพียงพอเหลือเฟือที่จะรองรับแผนการลงทุนของ ปชป.?
วงเงินงบประมาณในแต่ละปี มีกรอบวงเงินซึ่งจะมีที่มาจากการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจสำคัญ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้วงเงินงบประมาณในแต่ละปี จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็จะเป็นไปตามประมาณการรายได้ สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และฐานะทางการคลังของรัฐบาล
การกล่าวว่าเงินในระบบงบประมาณมีเพียงพอเหลือเฟือนั้น จึงไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะหากรัฐบาลผูกพันงบประมาณในอีก 7 ปีข้างหน้า และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในเชิงลบ ก็จะกระทบต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม ที่สำคัญงบประมาณส่วนใหญ่ต้องถูกจัดสรรรเพื่อเป็นเงินเดือนและค่าใช้จ่ายประจำของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐไม่สามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้อย่างต่อเนื่อ
ดังนั้น การที่รัฐบาลได้แยกโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานออกมาจากระบบงบประมาณปกติ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั้งประเทศว่า ประเทศไทยจะพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุขได้พร้อมๆกัน เพียงแต่จะขอเน้นการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและลดต้นทุนโลจิสติกส์ก่อน เนื่องจากหากมีระบบการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ก็จะสามารถนำผู้ป่วยเข้ามารักษาในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรและเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยกว่าได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในระยะต่อไป รัฐบาลก็จะได้ลงทุนดูแลสุขภาพของประชาชนไทย เพื่อป้องกันโรคและลดอัตราการเจ็บป่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้นต่อไป
ประเด็นที่ 2 จะสามารถจัดสรรงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้านบาท และงบประมาณด้านการศึกษา การพัฒนา และการวิจัย 4 แสนล้านบาท ได้จริงหรือ?
ถ้าดูจากแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณย้อนหลัง 7 ปี จะพบว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขเฉลี่ยประมาณ 27% ของงบประมาณทั้งสิ้นในแต่ละปี ซึ่งถ้าประมาณการงบประมาณในอนาคตอีก 7 ปีข้างหน้า คาดว่าจะใช้งบประมาณด้านการศึกษาในปีงบประมาณ 2564 ถึง 686,000 ล้านบาท และงบประมาณด้านสาธารณสุขอีก 310,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2557 ที่ใช้ประมาณ 7 แสนล้านบาท และหากเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในระบบงบประมาณปกติแล้ว ก็จะกระทบต่อการลงทุนด้านการศึกษาและสาธารณสุขด้วย
แต่ถ้าหากเราดึงงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและ โลจิสติกส์ออกจากงบประมาณปกติ ตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการ ในระยะ 7 ปีของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตาม พ.ร.บ.เงินกู้ ก็จะทำให้มีกรอบวงเงินเพิ่มเติมซึ่งอาจสูงถึง 2 ล้านล้านบาทสำหรับการพัฒนาด้านสังคมในเวลาเดียวกัน 
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สมมุติว่ารัฐบาลนำวงเงินงบประมาณที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มาใช้สำหรับการศึกษาและสาธารณสุขในสัดส่วนเท่าๆ กัน รัฐบาลก็จะสามารถลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาและการวิจัยได้ถึง 1 ล้านล้านบาท และใช้ในด้านสาธารณสุขได้อีก 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีวงเงินลงทุนเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขได้มากกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอเสียอีก 
และด้วยแนวทางนี้ จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับการสร้างความสมดุลให้กับการยกระดับคุณภาพชีวิต เด็กไทยจะได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาไทยให้สูงขึ้น ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมากขึ้น ได้อย่างรวดเร็วขึ้น
รัฐบาลอยากเห็นประเทศนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เศรษฐกิจที่ดี ควบคู่กับการได้เห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่ดี มีความมั่นคง และมีความสุขยิ่งขึ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: