นายกฯสั่งแก้‘ปัญหาชาวเล’แต่ไร้ทิศทาง ‘พงศ์เทพ’ไม่เคยนัดประชุมแม้แต่หนเดียว

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1506 ครั้ง

ปัญหาชาติพันธุ์ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาหนึ่ง ที่รอการแก้ไขในหลากหลายประเด็น แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะแสดงให้เห็นว่า ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และแสดงออกด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาการดำเนินการแล้วหลายฝ่าย ก็ยังไม่เห็นว่ามีประเด็นใดคืบหน้าเลยแม้แต่ประเด็นเดียว

จี้‘พงศ์เทพ’เรียกประชุมกรรมการบ้าง

กระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน 2553 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ โดยมอบให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นรองประธาน ร่วมกับคณะกรรมการอีก 33 คน ประกอบด้วยส่วนราชการและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ ส่วนราชการ 17 คน เป็นปลัดกระทรวง 7 คน คือ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการ 5 จังหวัดคือระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกองทัพเรือภาคที่ 3 อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนกรรมการภาคประชาชนและอื่น ๆ ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้แทนชาวเล อาทิ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง นายสุริชัย หวันแก้ว นางนฤมล อรุโณทัย นางเตือนใจ ดีเทศน์ นางปรีดา คงแป้น นายไมตรี จงไกรจักร นางมณีรัตน์ มิตรปราสาท นายเดียว ทะเลลึก นายสนิท แซ่ซั่ว นางแสงโสม หาญทะเล น.ส.พิจิตรา เทียนใส โดยมี ดร.โสมสุดา ลียะวณิช ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักกิจการชาติพันธุ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนมูลนิธิชุมชนไท เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการมีหน้าที่ 7 ประการคือ

1.เสนอนโยบาย แผนงาน ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน และร่วมกันค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรค แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

2.ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นในการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเลอย่างยั่งยืน

3.กำหนดนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนชาวเลและวางแผนเพื่อขยายผลไปสู่การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมของชุมชนพื้นเมืองอื่นๆ รวมทั้งวางวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชุมชนพื้นเมืองในประเทศไทย

4.ผลักดันให้ชุมชนชาวเลที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งเป็นพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษและส่งเสริมให้เกิดการถอดบทเรียนจากพื้นที่นำร่องมาเป็นแนวทางในการสร้างดุลยภาพระหว่างการใช้ประโยชน์ของชุมชนกับการอนุรักษ์พื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ

5.ประสานงานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

6.เชิญผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน ของรัฐเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา และ

7.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลใดเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ตั้งมา 3 ปีแต่ไม่เคยประชุมแม้แต่ครั้งเดียว

            “ที่ผ่านมา ภาคประชาชน เช่น พีมูฟ หรือ เครือข่ายวิชาการด้านชาติพันธุ์ พยายามเรียกร้องให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว นัดประชุมคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็น แต่ก็ไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวใด ๆ ล่าสุดมีข่าวว่าจะมีการนัดประชุมในวันที่ 22 ตุลาคม แต่ก็ไม่ได้มีการนัดประชุม ดังนั้นจึงเป็นข้อสงสัยต่อความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้” หนึ่งในคณะกรรมการฯ ให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ

คณะกรรมการฯ ระบุว่า หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานอยู่หลายชุด แต่ไม่มีความคืบหน้าอะไรในการแก้ปัญหา ขณะที่ชาวบ้านทั้งกลุ่มชาวประมง กลุ่มชาติพันธุ์อีกกว่า 30 กลุ่ม ต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของสัญชาติ เรื่องที่ดินทำกิน การถูกคุกคาม ฯลฯ สร้างความเดือดร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และพยายามส่งเสียงบอกให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาให้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นเพียงนโยบายสวยงามที่ไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาได้จริง

            รัฐบาลอาจจะมองว่าเรื่องของนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย หากเทียบกับปัญหาอื่น ๆ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับคนกลุ่มใหญ่ แต่อย่าลืมว่า ความกดดัน และความเดือดร้อนที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลอาจจะทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องชาติพันธุ์ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กตามที่รัฐบาลเข้าใจ ควรจะแสดงความจริงใจและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง”

ปัญหาสำคัญของชาวเล คือการจัดทำสัญชาติ การถูกแย่งที่ทำกินในบางพื้นที่ ที่รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้กลายเป็นการสนับสนุนนายทุน จนทำให้ชาวเลท้องถิ่นไม่มีที่ทำกิน บางรายถูกฟ้องร้องจากนายทุนให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่เป็นที่ดินเดิมของตัวเอง ในขณะที่นายทุนมีหลักฐานโฉนดที่ดินที่เชื่อว่าออกมาอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายที่จริงจัง ชาวเลจำนวนมากจึงต้องถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

ต้องรอขยายกรอบเวลาทำงาน

ล่าสุด ดร.โสมสุดา ลียะวณิช ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต และแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ในภารกิจสำคัญที่สร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น แต่เนื่องจากระยะเวลาการดำเนินการตามมติครม. เป็นระยะ 1-3 ปี และได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ผลการดำเนินงานตามมติไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีการเสนอที่ประชุมเพื่อขอขยายเวลาตามมติ ครม.ดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี ในการดำเนินการ

เนื่องจากเป็นที่ทราบว่า บางปัญหาเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เช่น ปัญหาเรื่องสัญชาติ พบว่า ขณะนี้ มีชาวเลกว่า 600 คน ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงปัญหาเรื่องอาชีพและพื้นที่ทำกินที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลเปลี่ยนไป เนื่องจากขณะนี้มีกฎหมายต่าง ๆ ออกมา ทั้งเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์พืช สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ชาวเลเคยทำมาหากิน

ดร.โสมสุดาระบุด้วยว่า ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเสนอพื้นที่นำร่องเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษเบื้องต้นไว้ 9 แห่งคือ 1.ชุมชนมอแกนเกาะเหลา จ.ระนอง 2.ชุมชนมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา 3.ชุมชนมอแกนบ้านทับตะวัน จ.พังงา 4.ชุมชนบ้านลำแก่น (ท้ายเหมือง) จ.พังงา 5.ชุมชนบ้านเหนือ (หินลูกเดียว) จ.ภูเก็ต 6.ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสะปำ จ.ภูเก็ต7.ชุมชนอูรักลาโว้ยและมอแกนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต 8.ชุมชนอูรักลาโว้ยโต๊ะบาหลิ่ว เกาะลันตา จ.กระบี่ และ 9.ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสังกาอู้ เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งแนวคิดสำหรับพื้นที่เหล่านี้คือ อาจเป็นพื้นที่ดำเนินงานได้ก่อน ในส่วนของการสร้างความมั่นคงเรื่องพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน พื้นที่ทำมาหากินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และในช่วงต่อไปอาจจะเป็นการสร้างความมั่นคงเรื่องอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรม ซึ่งทางคณะกรรมการ จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป

            “แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดการประชุมเลย แม้ว่าจะมีความพยายามในการกระตุ้น ให้เกิดการประชุมขึ้น แต่ก็ได้รับคำตอบว่าประธานยังไม่ว่าง ดังนั้นจึงยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ และยังไม่เห็นอนาคตว่าการแก้ไขปัญหาจะเคลื่อนไหวไปได้อย่างไร”

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: